ศรัทธาแห่งการศึกษา วิถีแห่งสันติภาพ

5 มกราคม 2550

คอลัมน์ เจาะใจจีน

โดย แทนคุณ จิตต์อิสระ eee004@hotmail.com

ความรู้คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งจะกำหนดชะตาอนาคตของโลกและมนุษย์ให้เป็นไปตามสิ่งที่รับรู้นั้นๆ ยิ่งสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามสภาวะคุกคามจากความรู้ที่ไหลบ่าเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระบบการศึกษาของไทยยังตั้งรับอย่างเชื่องช้า ไม่เพียงแต่ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงไปของกระแสโลก แต่ยังขาดระบบภูมิคุ้มกันที่ดีพอ

ดังสะท้อนผ่านภาพปัญหาความเครียดต่อการแข่งขันเสรีในระบบการศึกษา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยมีปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนดอย่างชัดเจน ในที่สุดผู้มีฐานะน้อยก็อาจจะกลายเป็นผู้ด้อยการศึกษาไป อีกด้านหนึ่งเป็นปัญหาการขาดระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียน นักศึกษา ทั้งการแต่งกาย พฤติกรรม ค่านิยม ความฟุ้งเฟ้อ โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายการแก่งแย่งแข่งขัน และการใช้ความรุนแรงของสังคมไทย ที่เยาวชนเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสะท้อนวิกฤตศรัทธาของการศึกษาบ้านเราทั้งสิ้น

เพราะเมื่อการศึกษาไม่สามารถสร้างอุปนิสัยที่ดีให้กับมนุษย์ได้ ตรงกันข้ามกลับเป็นต้นทางแห่งความแตกต่างและแตกแยก ในที่สุดความรุนแรงในมิติต่างๆ จึงระเบิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็นฝักฝ่าย พรรคพวก เป็นสถาบันนั้นสถาบันนี้ มหาวิทยาลัยนั้นมหาวิทยาลัยนี้ พวกนั้นพวกนี้ เป็นต้น

เมื่อมองเห็นปัญหา ต้องมองหาสาเหตุ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เมื่อปัญหาของการศึกษาเกิดจากความไม่มั่นใจ หรือไม่ได้รับคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา ซึ่งควรหมายถึง วิธีการสร้างและขยายองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนามนุษย์และสังคม ให้การลดความเห็นแก่ตัว ประสานสามัคคี และสมประโยชน์ คือสังคมได้รับประโยชน์ มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จิตใจและปัญญาสูงขึ้น การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติและประสบการณ์ของผู้เรียนให้เกิดแรงบันดาลใจที่ดี และมีการสร้างเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้อยู่เสมอ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาต้องมีคุณธรรม และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภูมิปัญญา ที่ได้จากพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้าน ที่สังกัดกลุ่มหรือเครือข่ายท้องถิ่น และดำเนินการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ชนรุ่นหลัง

ผมยังเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของไทยเราที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ที่ดีงามให้กับเยาวชนในแต่ละภูมิภาคได้ภาคภูมิใจได้ โดยไม่ต้องหมุนไปตามกระแสที่สังคมเมืองกำหนดหรือครอบงำระบบคิดของพวกเขา ซึ่งจะทำให้เยาวชนของเรามีความมั่นใจในความเพียรพยายามและประสบความสำเร็จได้ โดยบูรณาการความรู้รอบตัวกับความรู้ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นภาคการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด ผ่านกิจกรรมที่พวกเขาควรจะมีสิทธิในการเลือกแนวทางที่ตนชอบและเชื่อมั่น ทั้งการเกษตร การแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การอนามัยและสาธารณสุข การป้องกันยาเสพติด และสิทธิชุมชน เป็นต้น

ผมเชื่อในการศึกษาหาความรู้ที่มีคุณค่าและความงดงามเสมอ ยิ่งในสังคมไทยปัจจุบันความรู้ที่นำพาสันติภาพมาสู่ผู้คนในสังคมยิ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างที่สุด ความรู้และการศึกษาต้องมีเป้าหมาย และเป้าหมายนั้นต้องรวดเร็วและเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการองค์ความรู้และความคิด ปลูกฝังคุณธรรม และค่านิยมที่ดี เพื่อคุ้มครองเยาวชนให้พ้นจากภัยจากสื่อละครโทรทัศน์ที่ไม่สร้างสรรค์และพัฒนาเท่าที่ควร เต็มไปด้วยความรุนแรง ฉากตบตีกัน ความฟุ่มเฟือย ราคะวิสัย ชิงรักหักสวาท ที่มีให้เห็นทุกวันจนกลายเป็นรอยพิมพ์ฝังใจให้เลียนแบบ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้พวกเขาให้ได้

ผมหวังว่า ปีใหม่เราจะได้สิ่งใหม่ๆ ขึ้นในระบบการศึกษาที่ต้องเน้นคุณธรรม จริยธรรมในเชิงการปฏิบัติการ ส่งเสริมการเรียนรู้และการค้นพบความชอบหรือศรัทธาแห่งการศึกษาด้วยตัวของพวกเขาเอง ที่สำคัญที่สุดการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วย การศึกษา เพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ครับ

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2369&Key=hotnews

Leave a Comment