สช.ดิ้นอุ้ม ร.ร.เอกชนงัดมาตรา 6 สู้-ต่ออายุประกันสังคม (

8 กรกฎาคม 2551

สช.ดิ้นช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ร.ร.เอกชน ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาวินิจฉัยหาทางรับมือมาตรา 86 ของ พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน ชง 2 ทางเลือก ระหว่างให้ รมต.ศธ.ใช้มาตรา 6 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ยกเว้นเจ้าหน้าที่ ร.ร.เอกชนไม่ต้องออกจากประกันสังคม หรืออาศัยมติ ครม.ต่ออายุประกันสังคม

นายสำรวม พฤกษเสถียร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า สช.สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนที่ถูกมาตรา 86 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 บังคับให้ออกจากกฎหมายประกันสังคม ด้วยวิธีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใช้อำนาจตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ยกเว้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเอกชนไม่ต้องออกจากกฎหมายประกันสังคม หรือสามารถใช้มติคณะรัฐมนตรีคุ้มครองชั่วคราวให้เจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนไม่ต้องออกจากกฎหมายประกันสังคมได้หรือไม่

“คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทราบปัญหาตามที่ผมเป็นตัวแทนของ สช.และรับทราบข้อมูลจากตัวแทนโรงเรียนเอกชน เป็นผู้ชี้แจ้งไปว่าเจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนได้รับความเดือดร้อนจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนจริงๆ เวลานี้ สช.รอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ หลังจากกฤษฎีกาตอบกลับมาแล้ว สช.จะทำเรื่องเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการพิจารณา หากได้รับความเห็นชอบ สช.จะดำเนินการตามนั้น เพื่อเร่งแก้ปัญหา” นายสำรวมกล่าว

น.ส.จินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมโรงเรียนอนุบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ได้ข้อสรุปว่าจะมีการช่วยเหลือลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 86 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนแน่นอน กฤษฎีการายหนึ่งซึ่งเคยร่วมในการพิจารณา พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ระบุด้วยว่า ไม่เคยคิดว่า พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนที่กฤษฎีกาผ่านร่างกฎหมายไปนั้นจะทำร้าย ทำให้ลูกจ้างโรงเรียนเอกชนต้องเสียสิทธิ์ แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติว่าวิธีช่วยเหลือลูกจ้างโรงเรียนเอกชนจะเป็นอย่างไร

อนึ่ง มาตรา 6 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ระบุว่า กรณีมีเหตุจำเป็นรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการจะประกาศให้โรงเรียนใดได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ในเรื่องใดก็ได้ ส่วนมาตรา 86 กำหนดให้ผู้อำนวยการ ครู เจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนออกจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายประกันสังคม–
จบ–แหล่งที่มา/ผู้ส่ง http://www.komchadluek.net

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2432&Key=hotnews

Leave a Comment