เปิดอัพโหลดเนื้อหาแท็บเล็ต ป.2 .. 354 + เดิม 50 = 404

one tabletpc per child
one tabletpc per child

          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มอบหมายให้สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสรุปถึงจำนวนเนื้อหาใหม่ที่จะสามารถบรรจุใส่ในแท็บเล็ตตามโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน(One Tablet PC Per Child) ของรัฐบาลสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 ที่เลื่อนขึ้นชั้น ป.2 เพราะแต่ละกลุ่มสาระวิชาหลัก มีแอพพลิเคชันให้เลือกค่อนข้างมาก ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมวิธีการอัพเดทข้อมูลเนื้อหาใหม่ไว้เรียบร้อย เมื่อได้ข้อสรุปว่าจะเอาเนื้อหาใดมาใส่บ้าง ก็จะมีการอบรมครู และศึกษานิเทศก์เกี่ยวกับการอัพโหลดข้อมูลดังกล่าวต่อไป
ด้านนายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.กล่าวว่า ขณะนี้มีเนื้อหาใหม่ที่จะใส่ในแท็บเล็ตของนักเรียนชั้นป.2 จำนวน 354 เรื่อง แบ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ 348 เรื่อง และอีบุ๊ก 6 เรื่อง มีความจุรวม 5 กิกะไบต์ โดยหลังจากนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง จะต้องดาวน์โหลดและคัดลอกเนื้อหา เพื่อให้โรงเรียนนำแท็บเล็ตของนักเรียนชั้น ป.2 ไปอัพโหลดเนื้อหาใหม่ซึ่งได้มีการนำร่องดำเนินการไปแล้ว 5 เขตพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แม้จะเปิดภาคเรียนไปแล้ว แต่การที่ยังไม่ได้อัพเนื้อหาใหม่คงไม่ใช่ปัญหา เพราะแท็บเล็ตไม่ได้เอามาแทนครูและแท็บเล็ตนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนแค่บางวิชาเท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32773&Key=hotnews

 

+ | + | + | + | +

 

ยลโฉม”แท็บเล็ตเสิ่นเจิ้น” โชว์50แอพ ตำราเรียนเด็กป.1
ข่าว 30 พ.ค.2555

และแล้วความฝันของเด็กป.1 ทั่วประเทศ ก็เป็นจริง เมื่อคอมพิวเตอร์พกพา หรือ “แท็บเล็ต” ล็อตแรก จำนวน 2,000 เครื่อง ตามโครงการ One Tablet PC Per Child ของรัฐบาล ที่ต้องการจะแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 8.5 แสนคน ทั่วประเทศ ทุกสังกัด ในปีการศึกษา 2555 มาถึงเมืองไทยแล้ว

ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการตรวจรับที่มี นายสมบูรณ์ เฆมไพบูลย์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริม และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน จะตรวจสอบสเป๊กทั้ง 2,000 เครื่อง โดยมีทีมงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้ตรวจนับ

โครงการแจกแท็บเล็ตให้เด็กป.1 กระทรวงเทคโนโลยีสาร สนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กับ บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคปไซ แอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ประเทศจีน ลงนามเซ็นสัญญาจัดซื้อแท็บเล็ตร่วมกัน เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยตกลงจัดซื้อแท็บเล็ตชุดแรก 4 แสนเครื่อง ราคาเครื่องละ 82 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,700 บาท) จากทั้งหมด 9.3 แสนเครื่อง มูลค่าราว 948 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณ 1,900 ล้านบาท กำหนดส่งมอบใน 60 วัน โดยบริษัทจะทยอยส่งเครื่องล็อต ละ 1 แสนเครื่อง ซึ่งจะครบกำหนดสิ้นเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ก่อนที่จะมีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมส่วนที่เหลืออีก 5.3 แสนเครื่อง

สําหรับคุณสมบัติแท็บเล็ตในสัญญา ประกอบด้วย หน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว หน่วยบันทึกข้อมูล 8 GB หน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียูแบบดูอัล คอร์ 1.2 GHz ซีพียูเพิ่มจาก 1 เป็น 1.2 กิกะเฮิร์ตซ์

ความจุของแรมเพิ่มจาก 512 MB เป็น 1 GB แบตเตอรี่ ชนิด Lithium Polymer 3,600 มิลลิแอมป์ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 (Ice Cream Sandwich) พร้อมติดตั้งจีพีเอส มูลค่า 2,000-3,000 บาท ให้ฟรี และรับประกัน 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สูงกว่าที่คณะกรรมการจัดซื้อกำหนดไว้

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) บอกว่า ได้รายงานความคืบหน้าโครงการ ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้ ศธ.ดำเนินการพร้อม เมื่อไอซีทีตรวจสอบเครื่องแล้วจะนำแท็บเล็ต 1,000 เครื่อง ไปจัดอบรมการใช้เครื่องให้แก่วิทยากรครูแกนนำทั้ง 183 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อนำไปขยายผล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำคู่มือการใช้แท็บเล็ต 10 เล่ม อาทิ การใช้แท็บเล็ตเบื้องต้น การเปิด-ปิดเครื่อง การแก้ไขปัญหา และคู่มือเชื่อมโยงบทเรียนกับหลักสูตร และมาตรฐานการเรียนรู้ โรงเรียนสามารถดาวน์โหลดคู่มือดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ สพฐ. www.obec.go.th

หากได้รับเครื่องล็อตแรก 100,000 เครื่องแล้ว ไอซีทีจะตรวจสอบเครื่องก่อนส่งมาที่สพฐ. เพื่อกระจายไปยัง สพป. เขต 1 ก่อน โดยเรียงลำดับตามพยัญชนะไทย และจะให้สพป.มารับแท็บเล็ตที่ส่วนกลาง โดยค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะใช้งบฯ สพฐ. เมื่อสพป.กระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ แล้ว โรงเรียนจะต้องตรวจสอบความเรียบร้อย และบันทึกข้อมูล เช่น หมายเลขเครื่อง เพื่อส่งข้อมูลไปยัง สพป.ให้ลงบันทึกในฐานข้อมูลต่อไป” นายชินภัทรกล่าว

เลขาธิการกพฐ.กล่าวด้วยว่า นายกฯ ต้องการให้ใช้แท็บเล็ตแบบพี่สอนน้อง โดยให้นักเรียนรุ่นพี่มาช่วยสอนน้องป.1 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู เพราะในช่วงแรกการใช้เครื่องอาจมีปัญหา และครูคนเดียวก็อาจจะดูแลไม่ทั่วถึง

สำหรับเนื้อหาหลักสูตร 4 ส่วน ที่จะปรากฏอยู่บนหน้าจอหลักของแท็บเล็ตก็เป็นส่วนสำคัญ ขณะนี้สพฐ.ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 อีบุ๊ก (e-Book) เมื่อเด็กและผู้ปกครองเปิดเข้าไปจะพบว่า เป็นสิ่งที่คุ้นตาดีอยู่แล้ว เพราะเป็นการแปลงเนื้อหาในหนังสือเดิม โดยจัดทำเป็นรูปแบบไฟล์ PDF 8 เล่ม ครบ ทั้ง 5 กลุ่มสาระหลักคือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ เป็นไฟล์เข้าไปไว้ แต่จะเปิดอ่านได้อย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขหรือขีดเขียนได้

ส่วนที่ 2 อีเลิร์นนิ่ง (e-Learning) หรือบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์มี 336 บท ส่วนนี้ถูกออกแบบเป็นสื่อมัลติมีเดียมีเนื้อหาภาพ เสียง ให้ตอบโต้กับผู้ใช้หรือนักเรียนได้  เช่น นักเรียนใช้นิ้วคลิกเข้าไปฟังเสียงหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม ขีดเขียนลงไปในบางบทได้ ส่วนใหญ่ประยุกต์มาจากที่ สพฐ.เคยออกแบบไว้ในโครงการสื่อการเรียน อีเลิร์นนิ่งเดิม และเป็นส่วนที่มีเนื้อหาที่ใช้ประกอบการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ประกอบการอธิบายหรือสร้างความเข้าใจ ขณะที่บางบทอาจจะจำเป็นต้องมีครูผู้สอน หรือผู้ปกครองแนะนำเพิ่มเติม จึงจะเข้าใจเรื่องนั้นๆ

ส่วนที่ 3 มัลติมีเดีย (Multimedia) จะมีเนื้อหาภาพนิ่ง คลิปภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นไฟล์เสียงเพลงสำหรับเด็ก และเพลงของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนนี้สพฐ.ยอมรับว่า ยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังมีส่วนที่อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไข ในส่วนของเพลงสำหรับเด็กบางเพลงยังต้องรอขอลิขสิทธิ์จากผู้เป็นเจ้าของด้วย

ส่วนสุดท้าย แอพพลิเคชั่น (Application) หรือโปรแกรมที่ออกแบบมาใช้งานตามจุดประสงค์การออกแบบ โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อน ส่วนนี้เป็นทั้งแบบฝึกหัด แบบทดสอบ เช่น การคัดลายมือ วาดภาพ ระบายสี ข้อสอบต่างๆ เกม การเรียนรู้ทั้งหมดประมาณ 50 แอพพลิเคชั่น ที่สพฐ. คัดเลือกและรวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ

เนื้อหาหลักสูตรดังกล่าวจะใช้ความจุ 4 กิกะไบต์ จากทั้งหมด 8 กิกะไบต์ ส่วนที่เหลือ สพฐ.จะให้นักเรียนดาวน์โหลดเนื้อหาการเรียนอื่นๆ แต่นักเรียนหรือผู้ปกครองอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลดเอง

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศธ. กล่าวว่า การนำคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับนักเรียน เพราะยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเรียนรู้ ส่วนการใช้งานที่บ้าน ผู้ปกครองจะช่วยดูแลอยู่แล้ว

ทั้งนี้ศธ.จะให้นักเรียนใช้เรียนจนจบชั้น ป.1 และนำไปใช้ต่อเนื่องในชั้น ป.2 ได้ ศธ.คาดหวังว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน และช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กป.1 ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนมาตรการจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง โดย นางอาทิตยา สุธาธรรม ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไอซีที เผยว่า หากเป็นการใช้งานที่โรงเรียน จะมีระบบป้องกันไม่ให้นักเรียนเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่หากเป็นการใช้แท็บเล็ตที่บ้าน ควรเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองดูแล

ไอซีทีเตรียมพร้อมรองรับปัญหาโดยเปิดคอลเซ็นเตอร์ โทร.1111 บริการให้คำปรึกษาการใช้งาน ประสานการแก้ไขปัญหา แจ้งซ่อมแจ้งเสีย และแก้ไขปัญหาเบื้องต้น นอกจากนี้ บริษัทเสิ่นเจิ้นฯ จะตั้งศูนย์บริการเป็นจุดรับซ่อมแท็บเล็ต 30 แห่งทั่วประเทศ ในสิ้นปีนี้ และอาจขยายเพิ่มตามจำนวนการสั่งซื้อในอนาคต

โครงการแจกแท็บเล็ตเด็กป.1 จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีทางการศึกษาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคม 2555 จะส่งแท็บเล็ตถึงมือนักเรียนชั้นป.1 ทั่วประเทศทุกคน

ที่มา : ข่าวสด

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVE13TURVMU5RPT0=