เผยเกษตรกร…แห่เทียบระดับกับ กศน.

7 พฤษภาคม 2556

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2556 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2556 ส่งผลให้นโยบายจบ ม.6 ภายใน 8 เดือนสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มตัวแล้ว เพราะทำให้การประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานมี 2 วิธี คือ 1. การประเมินระดับการศึกษา ซึ่งเป็นการประเมินความรู้ ความคิด โดยการสอบ สามารถประเมินได้ทีละระดับ และ 2. การประเมินเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการประเมินประสบการณ์ โดยกรรมการ 5 คน หรือ จบ ม.6 ใน 8 เดือน เนื่องจากการประเมินวิธีนี้สามารถประเมินข้ามระดับได้ และผู้ที่ผ่านการประเมินประสบการณ์จะสามารถสะสมผลการประเมินส่วนนี้ไว้ได้เป็นเวลา 5 ปี ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสจบได้ภายใน 8 เดือน อย่างไรก็ตามเมื่อมีวิธีการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2 วิธี ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ส่วนใครควรจะเข้ารับการประเมินด้วยระบบใดนั้นต้องเป็นหน้าที่ของศูนย์เทียบระดับที่จะต้องให้คำแนะนำหรือแนะแนวการศึกษาให้

รองเลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการประเมินเทียบระดับปีการศึกษาที่ 2/2555 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้ารับการประเมิน 6,536 คน ใน 356 สถานศึกษา พบว่า มีผู้ผ่านการประเมิน 4,819 คน หรือ ร้อยละ 73.73 เมื่อจำแนกตามระดับพบว่า ระดับประถม มีผู้สมัคร 1,049 คน ผ่าน 863 คน ม.ต้น สมัคร 2,397 คน ผ่าน 1,738 คน และ ม.ปลาย สมัคร 3,090 คน ผ่าน 2,432 คน ส่วนอายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้ารับการประเมินอยู่ที่ 40 ปีขึ้นไป สำหรับอาชีพที่เข้ารับการประเมินมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เกษตรกร ค้าขาย และ รับจ้าง

“ที่ผ่านมาผู้ที่เข้ารับการประเมินเทียบระดับ กับ กศน. จะมีทั้งที่นำผลการเทียบไปใช้ในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องการคะแนนทดสอบความถนัดทั่วไป หรือแกต และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือแพต ขณะที่จำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ใช้เรียนต่อ แต่ก็เป็นการสร้างความภาคภูมิใจว่าสามารถเรียนจบ ม.ปลาย อย่างไรก็ตามคงต้องมีการทำวิจัย เพื่อดูว่ามีการนำผลการเทียบระดับไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง” ดร.ชัยยศ กล่าว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32615&Key=hotnews

Leave a Comment