เราเคยพูดกันเรื่อง Generation X แล้วก็ Generation Y
เดี๋ยวนี้เขาเสนอคำใหม่ Generation ME
น่าสนใจนะครับ .. โดยเฉพาะคำว่า หลงตัวเอง
(คนแถว ๆ บ้านทำตัวเป็นนกหงส์หยก .. ธรรมดาของมนุษย์)
คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ,
นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)
timeseven@gmail.com
เขียนเรื่องเมื่อ 18 พ.ค.56 จากที่พบใน Time U.S. เมื่อ 9 พ.ค.2013
แล้วพบข้อมูลอีกครั้งตามปกนิตยสาร TIME ฉบับ 20 พฤษภาคม 2013
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151458805008732&set=p.10151458805008732
—
Official by Josh Sanburn May 9,2013
http://nation.time.com/2013/05/09/millennials-the-next-greatest-generation/
You might think they’re entitled, lazy and over-confident. You’d be right—but you’d also be wrong
—
จาก FB : Time Chuastapanasiri
ME ME ME Generation “คนรุ่นฉัน ฉัน ฉัน”
ถึงจะขี้เกียจ หลงตัวเอง และยังอาศัยพ่อแม่กิน
แต่ฉันก็จะช่วยโลกและทุกคนได้นะ!
………
ธาม เชื้อสถาปนศิริ,
นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)
timeseven@gmail.com
ภาพปกนิตยสาร “TIME” ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2013 เป็นปกที่เรียกความสนใจได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อนำเสนอบทความพิเศษที่ว่าด้วย “ME GENERATION” พร้อมภาพเด็กหญิงวัยสาวกำลังนอนราบกับพื้นและยกกล้องจากโทรศัพท์มือถือขึ้นโน้มลงมาถ่ายรูปหน้าตัวเอง ปนปกสีฟ้าโทนอ่อน
ข้อความปนปก เขียนว่า “Millennials are lazy, entitled narcissists. Who still live with their parents.– Why they’ll save us all” by Joel Stein
แปลความได้ว่า “คนรุ่นใหม่(สหัสวรรษ)นั้นขี้เกียจ ขึ้นชื่อว่าหลงตัวเอง พวกเขายังอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง – (แต่)ทำไมพวกเขาจะช่วยเหลือเราทุกคนไว้ทั้งหมด?” บทความนี้เขียนโดย โจเอล สไตน์.
โจเอล อ้างข้อมูลที่น่าตกใจจาก “The National Institutes of Health” (สถาบันสุขภาพ แห่งชาติ – อเมริกา) ว่า ผู้คนอเมริกัน ที่อายุเฉลี่ย 20ปี (20-29) มีระดับการ “หลงตัวเอง” มากกว่าคนรุ่นลุงป้า หรือ ยุคเบบี้บูม (ซึ่งน่าจะอายุขณะนี้ประมาณ65 ปี) เป็นอัตราที่มากถึง 3 เท่า!
สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (อเมริกา) เปิดเผยข้อมูลว่า คนรุ่นใหม่กำลังเป็นโรค “Narcissistic Personality Disorder” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีอาการหลงใหลในบุคลิกภาพของตนเอง และมีความเชื่อว่าโลกหมุนเวียนโคจรรอบตนเอง อาการนี้บ่งชี้ได้จากการที่เขาขาดความสามารถที่จะรู้สึก แสดงความสนใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่เขากลับมีแรงปารถนาที่จะมุ่งสนใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา
คนที่มี “บุคลิกภาพหลงตัวเอง” อาจจะมีอาการ/พฤติกรรมดังนี้
(1) ปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความโกรธแค้น สร้างความน่าละอาย/ขายหน้า และความอัปยศน่าอดสู
(2) เอาเปรียบผู้อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการชนะ หรือวัตถุประสงค์ของตนเอง
(3) มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญมากเกินพอดี
(4) พูดขยายเกินกว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับความสำเร็จหรือความสามารถของตนเอง
(5) มีใจหมกมุ่นกับจินตนาการความสำเร็จ พลัง อำนาจ ความงาม สติปัญญา หรือ รักในอุดมคติ
(6) ใช้เหตุผล ที่ไม่สมเหตุสมผล กับสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ หลงใหล คาดหวัง
(7) ต้องการเป็นที่ชื่นชม ยอมรับและหลงใหลอยู่ตลอดเวลา
(8) เพิกเฉย ไม่เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของผู้อื่น และมีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะแสดงความเห็นใจผู้อื่น
(9) คิดหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์และความต้องการของตนเอง
(10) ไล่ตามเป้าหมายที่เห็นประโยชน์แก่ตนเอง
เมื่อวิเคราะห์ถึง “สาเหตุ อัตราการเกิดโรค และ ปัจจัยความเสี่ยง” ของโรค ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามาจากสิ่งใด อาจเป็นได้ทั้งจาก ประสบการณ์ช่วงวัยเด็ก การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ละเลย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักในการพัฒนาสภาวะของโรคนี้
วิธีการรักษาโรคนี้ คือ เข้ารับการบำบัด หรือได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ด้วยความเอาใจใส่ และการดูแลอย่างเห็นอกเห็นใจ
……..
ขณะที่ บทความชื่อ “7 เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ กลายเป็นคนหลงตัวเอง” เขียนโดย Hannah Kapp-Klote ที่อ้างบทความของ Joel Stein ก็วิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วความหลงตัวเองของคนรุ่นใหม่นั้น ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ คือ
(1) รายการโทรทัศน์ประเภทเรียลิตี้
Hannah วิเคราะห์ว่า คนรุ่นใหม่นั้น เป็นคนรุ่นแรก ที่เติบโตภายใต้รายการโทรทัศน์ประเภทเรียลิตี้ และถูกความบันเทิงประเภทนี้กล่อมเกลาเป็นประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งผู้คนพยายามไต่เต้าจากคนธรรมดาทั่วไป มาประกวดแข่งขัน ผ่านการร้อง เล่นเต้นรำ หรือ ใช้ความสวยงาม ความสามารถ หรือชะตาชีวิตที่พลิกผันมากลายเป็นคนดังมีชื่อเสียงในสังคม
การเป็นคนดัง กลายเป็นงานที่ใฝ่ฝันของผู้คนรุ่นใหม่ในสังคมปัจจุบัน!
(2) อินเตอร์เน็ต
เฟซบุ๊ค ทวิเตอร์ เรดดิท พินเทอเรสต์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ นี้ ได้ผลิตและสร้างให้คนรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อของตนเอง ด้วยเนื้อหาที่พวกเขาสร้าง ผลิต อวด และส่งต่อกันอย่างมากมาย (เฉพาะเนื้อหาที่พูดเกี่ยวกับตนเอง) และการสร้างความสัมพันธ์เสมือนที่ฉาบฉวยบนโลกออนไลน์ บทสนทนากับคนแปลกหน้า ฯลฯ เหล่านี้ได้กลายมาเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ
(3) ป๋าอวย ป๋าชม ป๋าเชลียร์ ป๋าดัน
ยอมรับความจริงเถอะว่า ในสังคมออนไลน์ หรือในสื่อปัจจุบัน ถ้ามีใครสักคนมาพูดมาชมว่าคุณน่ะเป็นคนพิเศษ เป็นคนสวย หล่อ ดี น่าหลงใหล และพูดแบบนี้ทุกวัน เป็นแรมปี คุณจะไม่สนใจเขาเลยหรือ? เราเป็นคนรุ่นพิเศษ ก็ตามที่พวกเขา(สังคมออนไลน์)เป็นลูกช่างอวยนั่นเอง
อธิบายได้ว่า ในสังคมปัจจุบัน มีคนช่างยุ ช่างอวย ช่างเสี้ยม เป็นวัฒนธรรมเฮโลสาระพา คนกลุ่มใหญ่ส่งเสียงเรียกร้องชื่นชมยินดีในความพิเศษที่เรามี ในสิ่งที่เรานำเสนออยู่ตลอดเวลา ก็เลยกลายเป็นวัฒนธรรม “ไปไหนไปด้วย เฮไหนเฮด้วย” (bandwagon)
(ข้อนี้ เปรียบเทียบจาก สังคมอเมริกัน จะรู้จัก Mr.Fred Rogers คนทำสื่อทางโทรทัศน์เกี่ยวกับรายการเด็ก ข่าว และวาระทางสังคมซึ่งมีอิทธิผลในการโน้มน้าวใน ชักจูงกระแสสังคมในอเมริกา อาจเปรียบเทียบได้กับ คนดังในวงการสื่อบ้านเราทั้งหลาย
แต่ในที่นี้ ผู้เขียนบทความหมายถึงว่า เราทุกๆ คนล้วนก็เป็น คนอวย คนเชียร์ คนดันกันทั้งนั้นในโลกสังคมออนไลน์)
เราทุกคนล้วนอยู่ในสังคมผู้ชม (spectacle society)
(4) วัฒนธรรมบริโภคนิยม
ใครกัน ที่จะชื่นชอบแนวคิดการสร้างวัฒนธรรมคนรุ่นต่างๆ มากที่สุดล่ะ ถ้าไม่ใช่ “นักการตลาด” คนรุ่นเรา (รุ่น generation x-อายุของผู้เขียน?) มีจุดกำเนิดมาจากโทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต (สำหรับรุ่น millennial) ซึ่งเป็นคนรุ่นที่เกิดมาในวัฒนธรรมของการบริโภค การซื้อ การขาย และกระทั่ง การขายบุคลิก หน้าตา ตัวตน ก็เป็นเรื่องปกติ
(5) การไร้ซึ่ง “คนต้นแบบ”
คนรุ่นใหม่ (Millennials) นั้น เติบโตมากับพ่อแม่ (เจเนอเรชั่นเอ็กซ์) ในรูปแบบครอบครัวเดี่ยวมากกว่าการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายาย (ซึ่งเป็นรุ่นเบบี้บูมเมอร์-ยุคทารกเกิดใหม่หลังสงครามโลก) คนรุ่นใหม่นี้อยู่กับเพื่อนๆ มากกว่า และพวกเขาต่างก็สนใจว่า ในบรรดาเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ใครเด่น ใครเท่ห์ ใครเฟี้ยว ใครเฉี่ยว ใครเป็นผู้นำแฟชั่นและกิจกรรมสุดเจ๋ง
(ตัวอย่างหนังเรื่อง “Mean Girls (2004)” จะมีตัวละคร 2 คนที่คอยตามผู้นำกระแสวัยรุ่นที่โรงเรียน และยึดเธอ/เขาเป็นแบบอย่างในชีวิต) และคนรุ่นใหม่นี้ (ในวัฒนธรรม/สังคมอเมริกัน) ก็ชอบที่จะทำงานหาเลี้ยงตนเองเพื่อได้ค่าเทอม พวกเขาจึงมีสภาวะ “หยิ่งทะนง” (ego) ไปด้วย แต่ก็ยังขัดแย้งในตัวเอง เพราะไม่มีคนต้นแบบชีวิตให้ได้เรียนรู้นอกจากเพื่อนๆ ด้วยกันในวัยเรียน
(6) เราอยู่อุตสาหกรรม “ถ้วยรางวัลแห่งการมีส่วนร่วม”
สำหรับคนที่กังวลว่าคนรุ่นใหม่จะสนใจเฉพาะเรื่องตัวเองเท่านั้น พวกเขามักบ่นว่าคนรุ่นใหม่ชอบมีส่วนร่วมกับเรื่องต่างๆ อย่างบริสุทธิ์ใจเพราะมีแรงดึงดูดใจว่าจะได้ “ประกาศนียบัตร ป้ายประกาศ ถ้วยรางวัล”
เราจะเห็นภาพพ่อแม่ปัจจุบัน ต่างพะเน้าพะนอลูกๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมประกวดแข่งขัน ต่างๆ (ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ การศึกษา หรือร้องเล่น เต้นรำ) และทางโรงเรียน ครู หรือผู้จัด ก็จะต้องมี “ประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ” เหน็บท้ายติดตัวกลับบ้านกันไปทุกๆ คน
แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ที่กว่าจะได้ถ้วย โล่ห์รางวัล หรือประกาศคุณงามความดี ต่างก็ต้อง “ทำสิ่งนั้นจนสำเร็จบรรลุผล” เป็นที่หนึ่ง ยอดเยี่ยม กว่าคนอื่นๆ แบบพิสูจน์เห็นผลสัมฤทธิ์จริง ถึงจะได้รางวัล แตกต่างกับสมัยนี้ เพียงแต่การเข้าร่วม คือ ความสำเร็จ และหากเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดใดๆ แล้วไม่ได้รับโล่ห์ ประกาศ เด็กรุ่นใหม่ก็จะรู้สึกเสียใจ เศร้าใจมาก
กลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ ถูกเลี้ยงดูปลูกฝังค่านิยมการทำทุกอย่างโดยได้รับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณ ถูกหล่อหลอมมาในอุตสาหกรรมถ้วยรางวัลแห่งการเข้าร่วม (The Participation Trophy Industrial Complex) โดยมีครู พ่อแม่สร้างแรงจูงใจสนับสนุนให้พวกเขาให้ความสำคัญตัวเองมากยิ่งขึ้น เสพติดความสำเร็จแบบสำเร็จรูปมากขึ้น
ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เวลาที่พวกเขาทำงาน ทำการบ้าน รายงาน พวกเขาจะต้องพึ่งพิงพึ่งพา กูเกิ้ลมากขึ้น เพราะมันง่าย เร็ว สะดวกกว่าที่จะต้องใช้ความพยายามค้นคว้า คนทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สำเร็จรูป
(7) นิตยสารไทม์ แม็กาซีน. TIME Magazine
ก็เป็นนิตยสารไทมส์เองนั่นแหละ ที่ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด นำเสนอเรื่องต่างๆ ที่กำหนด ชี้นำ ครอบงำโลกด้วยเรื่องราวข่าวสารต่างๆ “เป็นคุณมาโดยตลอด” (นิตยสารไทมส์) ลองไปดูปกเก่าๆ ของนิตยสารไทมส์ดู จะค้นพบว่า ทั้งยูทูบว์ เฟซบุ๊ค ไอโฟน และ เทคโนโลยีมากมายที่พาเหรดกันขึ้นปกอย่างต่อเนื่อง เพราะนิตยสารไทมส์ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดวาระทางสังคมโลก (และในลักษณะประชดประชัน ว่า มีศูนย์กลางมาจากประเทศอเมริกาเท่านั้น ไม่เคยมองเห็นชาติอื่นสำคัญ)
(อันนี้ด่านิตยสารไทมส์ ในแบบจิกกัดเล็กน้อย)
……..
ด้าน Josh Sanburn เขียนในบทความข้างเคียงบทความเด่นในนิตยสารไทมส์เล่มเดียวกัน ชื่อ “Millennials: The Next Greatest Generation?” (คนรุ่นใหม่-สหัสวรรษ รุ่นถัดไปที่เยี่ยมยอด?)
โดยอ้างข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (อเมริกา) ว่า คนรุ่นใหม่กว่า 80 ล้านคนในอเมริกาที่เกิดระหว่างปีค.ศ. 1980 – 2000 นั้นหลงตัวเองเป็นสามเท่าของคนรุ่นพ่อแม่ และ กว่า 80% ของคนรุ่นนี้ ที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปี ต้องการได้งานที่มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ 10 ปีถัดมา จะมีเพียง 60% เท่านั้นที่ได้ทำตามที่ฝัน คนรุ่นใหม่นั้นได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดูภายใต้วัฒนธรรม “แค่เข้าร่วม ก็ได้แล้วได้รางวัล ประกาศนียบัตร” (participation trophies) ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่า หากทำงาน พวกเขาควรได้รับการโปรโมทเลื่อนขั้นทุกๆ สองปีโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาที่ผลงาน/ประสิทธิภาพ
คนรุ่นใหม่ พวกเขาหวังในอนาคต อย่าคิดว่าพวกเขาไม่สนใจไม่ได้ยินในสิ่งที่เราเรียกว่า “ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ” นะ
…….กลับไปที่จุดเริ่มต้นของบทความหลักในนิตยสารไทมส์……
Joel Stein ตั้งคำถามสำคัญว่า “แล้วทำไมคนรุ่นใหม่นี้ ถึงจะช่วยเหลือพวกเราไว้ทั้งหมด?” (ก็ทั้งๆ ที่พวกเขาขี้เกียจ หลงตัวเอง และยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ – ไม่มีงานทำ) เสียจนาดนั้น
Joel บอกว่า “ภายใต้สภาวะถาโถมของข้อมูลสารสนเทศ มหาศาลอันน่ากังวล สิ้นหวัง ในโลกสังคมข่าวสารปัจจุบัน และข้อถกเถียงเชิงกังวลมากมายจากคนรุ่นเก่าก่อนต่อคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาจะไปรอดน่ะหรือ?”
ที่สุดแล้ว แต่คนรุ่นใหม่จะพิสูจน์อะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่คนรุ่นเก่ากังวล!
พวกเขามีความมั่นใจมาก พวกเขาเรียนรู้ได้เร็ว พร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับโลก ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นอกจากนี้แล้ว คนรุ่นใหม่ยังเป็นคนมองโลกในแง่ดี สร้างสรรค์ พวกเขาเป็นนักปฏิบัติที่ดี ในเวลาที่เผชิญความยากลำบาก และก็สามารถแก้ไขทุกอย่างลุล่วงไปได้ แม้ว่าพวกเขาจะเสียเวลาไปกับโทรศัพท์มากไปหน่อยก็ตาม!
===============
บรรณานุกรม
• Millennials: The Me Me Me Generation อ่านเพิ่มเติมที่
http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,2143001,00.html
• Millennials: The Next Greatest Generation? อ่านเพิ่มเติมที่ http://nation.time.com/2013/05/09/millennials-the-next-greatest-generation/
• Narcissistic personality disorder อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000934.htm
• “7 Reasons Millennials Are Such Narcissists” อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.policymic.com/articles/40753/7-reasons-millennials-are-such-narcissists
• Every Every Every Generation Has Been the Me Me Me Generation อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.theatlanticwire.com/national/2013/05/me-generation-time/65054/
• Me generation อ่านเพิ่มเติมที่
http://en.wikipedia.org/wiki/Me_generation
• Generation Me อ่านเพิ่มเติมที่
http://eubie.com/genme.pdf
—
http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9560000064309
—
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=717728818253686&set=a.419037914789446.114737.100000497233295
—
http://www.thairath.co.th/column/pol/thai_remark/348271