รายงานพิเศษ : อาชีวศึกษางัดไม้เด็ดจีบเด็กเรียนสายอาชีพ

23 เมษายน 2556

ชลธิชา  ภัทรสิริวรกุล ประเทศไทยกำลังต้องเตรียมระบบสาธารณูปโภคและกำลังคนเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม แต่ทว่ากำลังคนในสายปฏิบัติของไทยยังมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่นิยมเรียนสายสามัญและปริญญาตรีมากกว่า

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง จึงต้องพยายามงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อจูงใจให้เด็กหันมาเรียนอาชีวะสายปฏิบัติมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าว่าจะปรับสัดส่วนระหว่างเด็กสายสามัญกับสายอาชีวะให้เป็น 50:50 จากปัจจุบันที่มีเด็กเรียนอาชีวะเพียง 36% ของจำนวนเด็กทั้งหมด

ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ.กำลังขะมักเขม้นกับการหากลยุทธ์ดึงเด็ก โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขการสมัครเรียนอาชีวะของเด็กในปีการศึกษานี้ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะลดลงจากปกติมากถึง 16%  เบื้องต้นได้พยายามปรับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีพให้น่าสนใจขึ้น พร้อมการรับประกันคุณภาพการเรียน การันตีเรียนจบมีงานทำ 100%

มาตรการแรกเป็นเรื่องของการปรับภาพลักษณ์ โดยจัดงบประมาณเพิ่มเติม 150 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวิทยาลัยขนาดเล็กระดับอำเภอ และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้มีคุณภาพและมาตรฐานซึ่งจะเริ่มทยอยเห็นในปีการศึกษา 2556

มาตรการที่ 2 จัดสรรงบประมาณวงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อดูแลเด็กอาชีวะที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเลิกเรียนกลางคัน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 16% โดยจะจัดครูพี่เลี้ยงคอยดูแล
ช่วยเหลือ นอกจากจะช่วยดึงเด็กให้อยู่ในระบบต่อได้แล้วยังสามารถช่วยป้องกันปัญหายาเสพติดและการทะเลาะวิวาทได้ด้วย

มาตรการถัดมาคือ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ต้องการเรียนสายอาชีวะ แต่ยังติด ร. ติดศูนย์อยู่ สามารถมาเรียนอาชีวะได้ โดยเด็กจะได้เรียนต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้วุฒิจนกว่าจะแก้เกรดผ่าน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กับหลักสูตรพรีดีกรีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คาดว่ามาตรการนี้จะดึงเด็กให้มาเรียนอาชีวะได้ประมาณ1 หมื่นคน

อีกมาตรการคือ เปิดอาชีวะอำเภอ ซึ่งเป็นการลงไปแบบดาวกระจาย เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในระดับอำเภอมีเพียง 300 อำเภอ จากทั้งหมด 900 อำเภอ ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดนำร่องไปแล้ว 5 อำเภอ และปีนี้จะทยอยเปิดเพิ่มอีก 15 อำเภอ โดยจะเน้นอำเภอในพื้นที่ห่างไกล  การเปิดสถาบันอาชีวะให้ครอบคลุมอำเภอต่างๆ จะช่วยเกลี่ยให้เด็กที่เลือกเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาประจำอำเภอที่เต็ม มีโอกาสได้เรียนในสถาบันใกล้เคียง คาดว่าน่าจะช่วยดึงเด็กให้อยู่ในระบบได้อีกไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน

“มาตรการเหล่านี้น่าจะช่วยจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้สัดส่วนตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็น่าจะสามารถรักษาจำนวนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไว้ได้ที่ระดับ 1.88 แสนคน” ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ถือว่าน่าห่วงกว่าระดับ ปวช. เพราะตัวเลขล่าสุดทำได้แค่ 6.64 หมื่นคนห่างจากตัวเลขเดิมที่ระดับ 1.28 แสนคนประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้ สอศ.เตรียมมาตรการเสริมไว้รองรับ คือ อาจจะพิจารณาเพิ่มรอบรับสมัครเด็กในช่วงวันที่ 20-30 เม.ย.อีกรอบ

สอศ.ยังมีแผนที่จะเปิดปริญญาตรีสายเทคโนโลยีบัณฑิตใน 16 สาขาวิชา 85 วิทยาลัยที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและการประสานงานกับสถานประกอบการเอกชนในรูปแบบทวิภาคี โดยแต่ละแห่งจะรับเพียง 20 คนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 คน ที่สำคัญจะเปิดรับสมัครเฉพาะเด็กที่จบจากระดับ ปวช.มาเท่านั้น ซึ่งน่าจะช่วยปรับทัศนคติของเด็กและผู้ปกครองได้ระดับหนึ่ง

ทั้งหมดนี้เพื่อดึงเด็กให้หันมาเรียนสายปฏิบัติมากขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการตลาดแรงงาน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32490&Key=hotnews

Leave a Comment