หลากหลาย ไว(วัย)และจริยธรรม เท่ากับคนสื่อยุคใหม่

หลากหลาย ไว(วัย)และจริยธรรม เท่ากับคนสื่อยุคใหม่

โดย : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

http://bit.ly/H14kJD

“น้ำอดน้ำทนน้อยลง หนักไม่เอาเบาไม่สู้” “สมาธิสั้น” “ทำงานไม่เป็น ไม่ค่อยฟัง เถียง” วลีสั้นๆ ที่ได้ยินบ่อยครั้ง

เมื่อกล่าวถึงคนสื่อรุ่นใหม่จากปากคนสื่อรุ่นเก่า เหมือนคำตอบที่โยนกลับสู่นักวิชาการสื่อ คนสอนสื่อ ผู้สร้างคนสื่อรุ่นใหม่ถึงผลผลิตที่ป้อนสู่อุตสาหกรรมสื่อ ใส่เครื่องหมายคำถามตัวโตๆ “เป็นความผิดคนรุ่นใหม่หรือที่เป็นอย่างนั้น” ก็คงจะไม่ใช่เพราะเป็นเพียงมุมมองคนรุ่นหนึ่งมองคนอีกรุ่นหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงของตัวสื่อ ไม่ใช่กระทบต่อรูปแบบการทำงานสังคมงานสื่อเพียงประการเดียว แต่มีผลพวงวงกว้าง รวมถึงการเรียนการสอนด้านสื่อก็ด้วย ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าผู้สอนต้องงัดสารพัดเทคนิคมาใช้มากขึ้น เพื่อแข่งขันกับอาจารย์กู (กูเกิล) ที่สามารถรังสรรค์คำตอบให้แก่ผู้เรียนเพียงปลายนิ้วสัมผัสที่ป้อนสิ่งที่ต้องการจะรู้เข้าไป ผ่านแป้นคีย์บอร์ด ความรู้บนโลกไซเบอร์ที่กว้างขวาง ตอบได้ทุกด้านที่ผู้เรียนต้องการ จริงไม่จริง ถูกไม่ถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง แน่นอนว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนวิธีคิดของคน ทำให้อดทนน้อยลงที่จะนั่งค้นหาคำตอบสิ่งต่างๆ บทบาทของผู้สอนจึงเป็นเสมือน “โค้ช” มากกว่าการเป็นครู เป็นผู้ชี้แนะแนวทางแสวงหาความรู้ สร้างบรรยากาศ กระตุ้นการเรียนรู้ แล้วคนสื่อแบบไหนที่สังคมสื่อในยุคปัจจุบันต้องการ

ประการแรก “หลากหลาย” มีทักษะอันหลากหลาย นักสื่อสารมวลชนคนรุ่นใหม่ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ไม่จำเพาะความรู้เฉพาะด้านเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง จะเป็นคนสื่อที่รู้เพียงด้านวิทยุโทรทัศน์ สื่อใหม่ โฆษณา หรือประชาสัมพันธ์เพียงด้านใดด้านหนึ่งคงไม่เพียงพอ ควรมีความรู้รอบด้านอันเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ร่วมด้วย การคอนเวอร์เจนซ์ของสื่อ ต้องการคนสื่อที่เข้าใจธรรมชาติของสื่อที่เปลี่ยน สามารถบูรณาการความรู้ในการทำงานเป็นนักวิชาชีพที่มีองค์ความรู้ทางวิชาการ และที่สำคัญควรเป็นคนสื่อที่รู้เท่าทันสื่อ ส่วนทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่คนสื่อยุคใหม่ต้องมี การใช้งานคอมพิวเตอร์โปรแกรมพื้นฐานในการพิมพ์งาน การนำเสนอ และการใช้โซเชียลมีเดียเป็น ไม่ว่าจะใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทักษะด้านภาษาที่นักสื่อสารมวลชนคนรุ่นใหม่ควรจะสื่อสารได้ 2 ภาษาเป็นอย่างน้อย คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ไม่ต้องมองไปไหนไกล เริ่มจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในปี 58 หรือใกล้ตัวกว่านั้น คือ การใช้ภาษาในการติดตามข่าวสาร แลกเปลี่ยนข่าวสารกับสื่อมวลชนจากทั่วทุกมุมโลก

ประการที่สอง “ไว (วัย)” ไวอันแรกคือ ปรับตัวไว วัยทำงานของคนสังคมสื่อมีความหลากหลายคนสื่อรุ่นใหม่ต้องสามารถทำงานเป็นทีม เมื่อคนหลายเจนเนอเรชั่นมาทำงานรวมกัน ความแตกต่างเรื่องวัยสัมพันธ์กับเข็มไมล์ประสบการณ์ ปัญหาและทัศนคติการทำงานที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้นได้เสมอ ก็เหมือนองค์กรธุรกิจอื่น ที่ประกอบไปด้วยคนตั้งแต่ยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน (Work for Life) คนเจนเนอเรชั่น X โตมากับพัฒนาการของสื่อ ทำงานในลักษณะสมดุลงานกับครอบครัว (Work-Life Balance) มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเองสูง และคนเจนเนอเรชั่น Y โตมากับสื่อใหม่ มีทักษะการทำงานที่หลากหลาย มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบ การเปิดใจยอมรับ ปรับทัศนคติเข้าหากันและกัน สำคัญที่สุดคือใช้ “การสื่อสาร” เพื่อการป้องกันปัญหา ลดช่องว่างระหว่างวัยที่จะเกิดขึ้น

ไว อันที่สอง ไวต่อการเรียนรู้ ด้วยสื่อสมัยปัจจุบันที่มีการคอนเวอร์เจนซ์ เทคโนโลยีสื่อที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา การเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับสื่อ สามารถหยิบเอาประโยชน์ เทคโนโลยีจากสื่อ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง คนที่พร้อม คนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จึงจะสามารถอยู่รอดในวิชาชีพนี้

ประการสุดท้าย “จริยธรรม” การเป็นคนสื่อที่มีจริยธรรม การประพฤติและปฏิบัติที่ดี มองเรื่องจริยธรรมสื่อแล้วก็น่าใจหายที่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยก มองเห็นความสำคัญกันน้อย ทั้งที่ในความเป็นจริงควรให้ความสำคัญระดับต้นๆ เริ่มที่ครอบครัวและสถาบันการศึกษา การไปแก้ไขเมื่อเข้าสู่สังคมสื่อกระทำได้ยาก ปัญหาจริยธรรมนับวันเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในสังคมทุกสังคม ตัวอย่างง่ายๆ ที่ประสบพบเจอในฐานะนักวิชาการ ผู้สอนทางด้านสื่อคือ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในรูปแบบใดก็ตาม การลอกเลียนแบบผลงานคนอื่น การหยิบ หรือนำผลงานคนอื่นมาใช้ในผลงานตนเองโดยไม่ได้ให้การอ้างอิง ถึงแหล่งที่มาของข้อมูล จนผู้เรียน บุคคลที่จะก้าวขึ้นมาเป็นคนสื่อรุ่นใหม่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้ผิดอะไร เป็นความคุ้นชินที่ทำมาตลอด หรือการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไข ลอกเลียน บิดเบือนข้อเท็จจริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ควรที่จะได้รับการแก้ไข ให้ความตระหนักจากทุกภาคส่วน ลำพังจะรอองค์กรวิชาชีพสื่อ ขับเคลื่อนกลไกเรื่องนี้คงจะไม่ได้

ไม่ว่าสังคมสื่อ ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไปมากเท่าใด หากเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ และคงไว้ซึ่งกรอบความคิดและจุดยืนในวิชาชีพที่เปี่ยมด้วยจริยธรรมคุณธรรม ก็สามารถเป็นคนสื่อคุณภาพได้ไม่ยาก
http://bit.ly/H14kJD
Tags : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล