คิดแต่สิ่งดี ทำแต่สิ่งดีแล้ว บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า

4 มกราคม 2550

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเรื่องสถานการณ์การเมืองที่เป็นช่วงวิกฤติ และไม่มีทางออกในการแก้ปัญหา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ และปรากฏภาพประชาชนแสดงความขอบคุณทหาร ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์และเป็นแห่งเดียวในโลก รวมถึงปัจจุบันที่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่หนักใจที่สุดเวลานี้ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจในบ้านเมือง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดนั้น ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถแก้ไขได้โดยการคิดดี และทำดี คือคิดแต่ในเรื่องที่จะทำให้ประเทศมีความก้าวหน้า พยายามหาแนวทางที่จะทำให้ประเทศมีกติกาที่ยอมรับได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความวุ่นวายซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการศึกษานับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การทำให้สังคมดีขึ้นได้ โดยทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขเรื่องมาตรฐานการศึกษาเป็นอันดับแรก เนื่องจากปัจจุบันบ้านเมืองยังมีโรงเรียนหลายแห่งที่ไม่ผ่านการประเมินเกณฑ์การศึกษามาตรฐาน ซึ่งหากสามารถแก้ไขในส่วนนี้ได้ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ตามมาได้ด้วย เพราะถ้าประชาชนมีความรู้ความสามารถ คิดแต่สิ่งดี ทำแต่สิ่งดีแล้ว บ้านเมืองก็จะมีความเจริญก้าวหน้าตามมา และนอกจากปัจจัยเรื่องการศึกษาที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำไปสู่การคิดดี ทำดีแล้ว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งสร้างคุณธรรมในจิตใจของประชาชนด้วย ซึ่งส่วนนี้ถ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขตามมา

“คนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ และคิดดี ทำแต่สิ่งดี ก็จะทำให้บ้านเมืองเราเจริญก้าวหน้า”

พร้อมกันนั้นในปีหน้าบ้านเมืองยังมีภารกิจสำคัญคือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกผู้บริหารบ้านเมืองต่อไป ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความสมบูรณ์เหมาะสมกับสภาพการณ์ของประชาชนในประเทศยิ่งขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ดีงามกลับมาที่ฝ่ายบริหาร เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง และถ้าหากปล่อยผ่านไปโดยที่ไม่สนใจแล้ว ก็อาจจะเกิดสิ่งไม่ดี ไม่งามตามมาอีก และก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ความขัดแย้งไปได้ แต่ถ้าทุกคนหันมาร่วมมือกัน ก็มั่นใจว่าจะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ และจะทำให้บ้านเมืองสงบสุขอีกครั้ง

ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจจริง และคิดแต่สิ่งดีที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอนถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ดังนั้นถ้าใครเห็นอะไรที่ไม่ดี ไม่งาม ก็อยากให้ช่วย คิดในสิ่งดี ทำแต่สิ่งดี หันมาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งสัญญาณกลับมาให้รับทราบข้อมูลการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ภาครัฐเข้าไปทำหน้าที่หาทางแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น โดยภาครัฐยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากทุกฝ่าย

หมายเหตุ : คำกล่าวของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คิดและทำแต่สิ่งดี ปีใหม่นี้เป็นสุขใจ” ในงานเลี้ยงแสดงความยินดีและเชิดชูเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นผู้ทรงเกียรติ โรงเรียนเซนต์ฟรังค์ซิสซาเวียร์ ( 26ธ.ค.49)

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.thannews.th.com

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2333&Key=hotnews

การศึกษาแนวเสรี บูรณาการความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิด

4 มกราคม 2550

“สฤณี อาชวาทนันกุล” นักวิชาการอิสระ เป็นอีกผู้หนึ่งในได้ร่ำเรียนทางด้าน liberal atrs education มา และได้เคยเขียนบทความเรื่องการศึกษาแนว liberal arts ลงในเว็บไซต์ onopen.com และเห็นว่ายังน่าสนใจอยู่จึงตัดตอนบางส่วนมา

“สฤณี” อธิบาย liberal arts education หรือเรียกสั้นๆ liberal education ว่า “การศึกษาแนวเสรี” การศึกษาแนวเสรี คือปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษาปรัชญาหนึ่ง ที่มีอิทธิพลครอบงำมหาวิทยาลัยเก่าแก่ชื่อดังของอเมริกาหลายแห่ง ปรัชญานี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า นอกเหนือจากวิชาเฉพาะด้านที่เลือกเรียน นักศึกษาปริญญาตรีควรได้รับความรู้เบื้องต้นในสาขาวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุม ตลอดจนมีความสนใจ เข้าใจ และนับถือในวิธีคิดของแต่ละสาขาวิชาเหล่านั้น เพื่อให้สามารถคิดได้อย่าง “บูรณาการ” คือสามารถนำความรู้จากสาขาวิชาอื่นมาประยุกต์ใช้ในสาขาที่ตนมีความชำนาญ

ในความหมายของปรัชญานี้ “liberal arts” ไม่ได้หมายความเฉพาะวิชาด้าน “ศิลปศาสตร์” ดังคำแปลปกติของศัพท์คำนี้ในภาษาไทย แต่มีความหมายครอบคลุมวิชาด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนข้อเท็จจริงว่า “วิทยาศาสตร์” และ “ศิลปศาสตร์” นั้น ไม่สามารถแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันอันซับซ้อน ที่ต้องอาศัยความรู้ และความเชี่ยวชาญหลายแขนงประกอบกัน ในการเข้าถึงสัจธรรมที่เป็นองค์รวม แก้ไขปัญหา และคิดค้นกระบวนการพัฒนาโลก ทั้งในมิติด้านวัตถุ และมิติด้านจิตใจ

หากมองอย่างผิวเผิน มหาวิทยาลัยของอเมริกาส่วนใหญ่ดูไม่ต่างกันมาก เพราะแต่ละแห่งก็บังคับให้นักศึกษาเรียน “วิชาบังคับ” จำนวนหนึ่ง ควบคู่ไปกับวิชาอื่นๆ ในภาควิชาที่ตนเลือก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนโดยปรัชญาการศึกษาแนวเสรีอย่างเข้มข้น แตกต่างจากมหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนโดยปรัชญาการศึกษาอื่นเป็นหลัก (ซึ่งในที่นี้จะนิยามว่า “การศึกษาแนววิชาชีพ” คือการศึกษากระแสหลัก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน) หลายประการด้วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่อนุรักษ์ปรัชญาการศึกษาแนวเสรีอย่างเหนียวแน่น ไม่อนุญาตให้นักศึกษาปริญญาตรี เลือกเรียนเอกในสาขาที่ถือว่าเป็น “วิชาชีพ” โดยตรง ดังนั้นนักศึกษาที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องการประกอบอาชีพอะไรหลังรับปริญญา จึงจำต้องเลือกเอกในสาขา “วิชาการ” ที่ใกล้เคียงที่สุดกับอาชีพเป้าหมายแทน เช่น ใครอยากเป็นหมอก็ต้องเอกชีวเคมี (biochemistry) อยากเป็นนักการเงินก็ต้องเอกเศรษฐศาสตร์ และถ้าอยากเป็นทนาย ก็ต้องเอกรัฐศาสตร์ (government) แทน

หลักสูตรการศึกษาแนวเสรีของฮาร์วาร์ด – ซึ่งวิชาทั้งหมดคิดเป็นหนึ่งในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมดที่นักศึกษาต้องเรียนก่อนจบปริญญาตรี – เรียกรวมๆ ว่า “core program” มีเป้าหมายที่อธิบายไว้ในเว็บไซต์ core program ดังนี้ :

“ปรัชญาของหลักสูตร core ของเรา ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า บัณฑิตปริญญาตรีจากฮาร์วาร์ดทุกคนควรได้รับการศึกษาในมุมกว้าง ควบคู่ไปกับความชำนาญเฉพาะด้านทางวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่ง ปรัชญานี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า นักศึกษาทุกคนควรได้รับคำชี้แนะในการบรรลุเป้าหมายนี้ และคณาจารย์มีหน้าที่นำพวกเขาไปสู่ความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิดที่เป็นคุณลักษณะของชายหญิงผู้มีการศึกษาทุกคน …แต่หลักสูตร core ของเราแตกต่างจากโปรแกรมการศึกษาทั่วไปที่อื่น ตรงที่เรามิได้กำหนดขอบเขตทางวิชาการไว้ที่ความรอบรู้เรื่องวรรณกรรมอมตะชุดใดชุดหนึ่ง ความรู้ลึกซึ้งด้านใดด้านหนึ่ง หรือแม้แต่ความรู้รอบตัวทันสมัยในบางสาขาวิชา แต่เราต้องการแนะนำกระบวนการค้นหาความรู้ ในสาขาวิชาที่เราเชื่อว่าขาดไม่ได้สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรนี้ต้องการแสดงให้นักศึกษาเห็นว่ามีความรู้ และวิธีการสืบค้นความรู้แบบใดบ้างในสาขาวิชาเหล่านี้ ตลอดจนชี้ให้เห็นวิธีการวิเคราะห์ ประโยชน์ และคุณค่าของแต่ละวิธี คอร์สต่างๆ ในแต่ละสาขาของหลักสูตรนี้ “เหมือนกัน” ตรงที่เน้นให้เข้าใจมุมมองและวิธีคิด แม้ว่าหัวข้อจะแตกต่างกัน”

ปรัชญาของการศึกษาแนวเสรี สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในการออกแบบคอร์สต่างๆ ใน core program ของฮาร์วาร์ด ซึ่งปัจจุบันบังคับให้นักศึก ษาเรียนอย่างน้อยหนึ่งคอร์ส ในแต่ละสาขาต่อไปนี้ :

– วัฒนธรรมต่างชาติ (foreign cultures) – ประวัติศาสตร์ศึกษา (historical study) – วรรณกรรมและศิลปะ (literature and arts) – การใช้เหตุผลเชิงคุณธรรม (moral reasoning) – การใช้เหตุผลเชิงตัวเลข (quantitative reasoning) – วิทยาศาสตร์ (science) – สังคมวิทยา (social analysis) คอร์สที่บรรจุอยู่ใน core program ของฮาร์วาร์ดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น “วิชาพื้นฐาน” เช่น ประวัติศาสตร์โลก 101 หรือวรรณกรรม 101 หรือศิลปะ 101 แบบที่นักเรียนไทยคุ้นเคย แต่เป็นวิชาเกี่ยวกับหัวข้อหรือประเด็นแคบๆ เช่น “ฟลอเรนซ์สมัยเรอเนสซองส์” หรือ “แนวคิดเรื่องฮีโร่ในวรรณกรรมกรีกโบราณ” หรือ “สถาปนิกเอก แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์” คอร์สเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้น่าติดตาม สอนโดยอาจารย์ที่เก่งที่สุดของภาควิชาต่างๆ เปรียบเสมือนเป็น “คอร์สแม่เหล็ก” ดึงดูดให้นักศึกษาใหม่เลือกเรียนเอกในภาควิชาของตน

นอกจากนี้ core program ยังเป็น “พื้นที่แนวร่วม” ให้อาจารย์ต่างสาขา ต่างคณะ มาร่วมสอนนักเรียนด้วยกันแบบ “บูรณาการ” เพื่อชี้ให้เห็นวิธีมองประเด็นต่างๆ จากมุมมองของแต่ละสาขา คอร์สแบบนี้ส่วนใหญ่ได้รับความนิยมมาก อาทิ คอร์ส core ชื่อ “Thinking about Thinking” (คิดเกี่ยวกับคิด) สอนพร้อมกันโดยอาจารย์สามคนจากสามภาควิชา ได้แก่ กฎหมาย วิทยาศาสตร์ และเทววิทยา (theology) มุ่งเน้นการตีกรอบ ให้นิยามคำว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” และ “ความจริง” ในแต่ละสาขา ตลอดจนกระบวนการต่างๆ สาขาเหล่านี้ใช้ค้นหาความจริงเหล่านั้น สไตล์การสอนของคอร์สนี้คือ ในแต่ละวันอาจารย์สามคนจะหยิบยกประเด็นขึ้นมาถกกันหนึ่งเรื่อง เช่น ความยุติธรรม ความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ การแสดงความเห็นต่างของพลเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล และความน่าจะเป็น ฯลฯ

กว่าคอร์สนี้จะจบ นักศึกษาไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีคิดของนักคิดในสามสาขานี้เท่านั้น แต่ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ในโลก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการหลากหลายสาขา ในการสำรวจ วิเคราะห์ และอภิปราย เพื่อพัฒนาสังคมมนุษย์

เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาแนวเสรี คือ ทักษะในการคิด คุณธรรมที่มั่นคง และวุฒิภาวะทางอารมณ์

เพราะวิธีปฏิบัติของปรัชญาการศึกษาแนวเสรีคือการบังคับให้นักศึกษาเรียนคอร์สต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเชื่อว่า จะช่วยให้พวกเขามี “…ความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิด” ในภาษาของฮาร์วาร์ด เป้าหมายของการศึกษาแนวเสรี จึงเป็นได้มากกว่า – และควรเป็นมากกว่า – การศึกษาแนววิชาชีพ

กล่าวคือ ถ้าเราคิดว่านักศึกษาควรมีคุณสมบัติอื่น นอกเหนือจากทักษะการใช้เหตุผล เช่น คุณธรรมหรือศีลธรรม และวุฒิภาวะทางอารมณ์ เราก็ควรรวมคุณสมบัติเหล่านี้เข้าเป็น “เป้าหมาย” ของการศึกษาแนวเสรี และออกแบบหลักสูตรมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายนี้

การ “ขยาย” ขอบเขตของเป้าหมาย และโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาแนวเสรีไปในแนวนี้ จะไม่กระทบกระเทือนหลักสูตรการศึกษาแนววิชาชีพ ซึ่งเป็นส่วนของ “วิชาเอก” ที่นักศึกษาต้องเรียนอยู่แล้วก่อนจบปริญญา

หากเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาแนววิชาชีพ (สามในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมด) คือการผลิต “ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพ” ในสาขาต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน เป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาแนวเสรี (หนึ่งในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมด) ควรเป็นการผลิต “ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม” เพื่อสนองความต้องการของสังคมและโลก ซึ่งกำลังถูกกลบด้วยเสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ของตลาดแรงงาน

เพราะ “ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพ” และ “ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม” นั้น ควรเป็นคุณสมบัติของคนคนเดียวกัน ไม่เช่นนั้นสังคมก็จะมีแต่ผู้เชี่ยวชาญที่ไร้คุณธรรม ใช้ความฉลาดและความรู้เพื่อรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตัวเองถ่ายเดียว

ดังนั้น คอร์สที่บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาแนวเสรี จึงไม่ควรเป็นแค่ “วิชาเบื้องต้น” ของภาควิชาต่างๆ เท่านั้น หากควรถูกออกแบบมาอย่างประณีต เฉพาะเจาะจง และคำนึงถึงมิติด้านคุณธรรม และอารมณ์เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น คอร์สสาขา moral reasoning ใน core program ของฮาร์วาร์ด เป็นตัวอย่างของความพยายามให้นักศึกษามองเห็นมุมมองด้านศีลธรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่คอร์สสาขา foreign cultures พยายามสอนให้นักศึกษามองเห็น เข้าใจ และนับถือแนวคิดและคุณค่าต่างๆ ในวัฒนธรรมที่ต่างจากพื้นเพของตน

หลักสูตรการศึกษาแนวเสรีที่ดี ไม่ควรพยายาม “บังคับ” ให้คนเป็นคน “ดี” ในกรอบที่อาจารย์หรือสังคมตีความ (เช่น ด้วยการบังคับให้จำว่าศีล 5 มีอะไรบ้าง ฯลฯ) แต่เน้นที่หลักเหตุผล และบริบทของประเด็นทางคุณธรรมมากกว่า ว่าทำไมมุมมองนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับที่ไม่ควรบังคับให้นักศึกษาท่องจำปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์ แต่เน้นการอภิปรายเรื่องบริบท เหตุผล และประเด็นต่างๆ ในเหตุการณ์เหล่านั้นแทน

ซึ่งแน่นอน ก่อนที่เราจะสอนแบบนี้ได้ สังคมไทยและสถาบันการศึกษาเองจะต้องเลิก “ยึดติด” อยู่กับแบบแผนการสอนในอดีต ซึ่งสอนเพียง “ประวัติศาสตร์กษัตริย์ไทย” ในฐานะ “ความจริงตายตัว” ที่ไม่อนุญาตให้ใครซักถามหรือตีความ ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยในขอบเขตประเทศไทย” อย่างที่วิชาประวัติศาสตร์ควรจะเป็น

“สฤณี” ตั้งคำถามว่า…

เราต้องการให้บัณฑิตปริญญาตรีไทยเป็นคนฉลาด เก่งภาษาอังกฤษ มีทักษะความรู้พอที่จะหางานทำ เอาตัวรอดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้ เท่านั้นเองหรือ ?

เราคิดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ มีหน้าที่ “ป้อน” ลูกจ้างที่มีศักยภาพให้กับตลาดแรงงาน เท่านั้นเองหรือ ?

ถ้าเป้าหมายของการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเพียงแค่นี้ เราจะหา “พลเมืองดี” รุ่นใหม่ ที่มีคุณธรรม มีสำนึกทางสังคม รู้ทันนักการเมืองขี้โกง พร้อมสละเวลามาช่วยวิเคราะห์แก้ไขปัญหาบ้านเมืองเมื่อชาติต้องการ ได้จากที่ไหน ?

หรือเราจะโทษแต่พ่อแม่และผู้นำทางศาสนา ว่าอบรมบ่มนิสัยเยาวชนมาไม่ดีพอ โทษสภาพแวดล้อม ค่านิยม และนามธรรมอื่นๆ ที่จับต้องไม่ได้ ว่าทำให้เขาเสียคน หรือโทษตัวเด็กเองว่า ไม่เข้มแข็งพอที่จะทนแรงดึงดูดอันเย้ายวนของลัทธิบริโภคนิยมสุดขั้วได้ ?

ขอบข่าย “ความรับผิดชอบ” ของสถาบันการศึกษาไทย เริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหน ?

ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะเริ่มอภิปรายกันอย่างจริงจังว่า “เป้าหมาย” หรือ “ปรัชญา” ของการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น คืออะไรกันแน่ ?

ทุกคนรู้ดีว่า ระบบการศึกษาไทยต้องมีการปฏิรูปขนานใหญ่ แต่มีน้อยคนที่เสนอว่า เป้าหมายของการปฏิรูปนั้นคืออะไร รูปแบบของการศึกษาที่เราอยากเห็นนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2319&Key=hotnews

“วิจิตร” ฟื้นทุนส่งครูเรียนเอก เร่งพัฒนาการศึกษาม.ราชภัฏ

4 มกราคม 2550

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)ให้เป็นที่ยอมรับในคุณภาพการศึกษาทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นว่า การจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นจะต้องเร่งพัฒนาคณาจารย์ให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการเพิ่มจำนวนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน มรภ.เริ่มเปิดสอนเกือบทุกสาขาวิชา ทั้งที่ไม่มีการเพิ่มจำนวนอาจารย์ ทำให้อาจารย์ มรภ.มีภาระด้านการสอนค่อนข้างหนัก ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถทำได้ทั้งสองส่วนจะทำให้คุณภาพมาตรฐานของ มรภ.ดีขึ้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ทาง มรภ.ก็จะต้องเร่งพัฒนาตนเองให้เข้าสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย เพราะจนถึงวันนี้กลายเป็น มรภ.แล้ว แต่โครงสร้าง กระบวนการบริหาร และกระบวนการจัดการก็ยังไม่ใช่ในรูปแบบของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเร่งรัดพัฒนาผู้บริหารด้วย เนื่องจากผู้บริหารซึ่งมีบทบาทเป็นภาวะผู้นำถือเป็นตัวแปรสำคัญของการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเติบโตเร็วหรือช้า

“มันเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาตนเอง และอีกส่วนหนึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มอัตรากำลัง การเพิ่มงบประมาณ การพัฒนาอาจารย์ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องรื้อฟื้นโครงการเดิมที่มีการจัดสรรทุนให้กับอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ และเมื่อจบปริญญาเอกมาแล้วก็จะจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ผมได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปดูแลเรื่องนี้ และการจัดทำแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาวแล้ว เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐบาลต่อไป” นายวิจิตร กล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.siamrath.co.th

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2315&Key=hotnews

สพท.กำแพงเพชรเขต2ปลุกสำนึกเยาวชนสืบทอดความเป็นชาติ

4 มกราคม 2550

ผุดโครงการสภานักเรียนไทยหัวใจสมานฉันท์ยึดมั่นธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาล หมายถึง การบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ซึ่งเป็นทั้งรากฐานวิธีการและเป้าประสงค์ในการสร้างสังคม ที่มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความเป็นธรรมและสันติสุขเป็นสังคมที่คนทุก กลุ่ม ทุกระดับชั้นมีโอกาสและมีอำนาจในการต่อรองและประสานประโยชน์กันอย่างสันติทุกกลุ่มในสังคมสามารถแสดงความต้องการและแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดแห่งตนได้อย่างเท่าเทียมกันตามศักยภาพเพราะมีกฎระเบียบที่ทันสมัย ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและมีระบบการให้และรับข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมาและทันต่อเหตุการณ์ โดยสรุปก็คือ สังคมที่มีกลไกให้ทุกฝ่ายสามารถประสานประโยชน์และความต้องการ ตลอดจนแก้ไขความทุกข์ร้อนได้อย่างเป็นธรรมจึงเกิดความสมดุลและพอดี

นายพชรศักดิ์ อินมล ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร เขต 2 กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนไทยซึ่งเป็นพลังในการพัฒนาประเทศให้เจริญงอกงามเทียบเท่านานาอารยประเทศ และเป็นความหวังของสังคมในการสืบทอดความเป็นชาติ ศาสนา ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดังนั้นเด็กควรได้รับการเรียนรู้บทบาทหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตยสามารถพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาสังคมโดยใช้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมการนักเรียนและองค์กรนักเรียนเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่จะดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามกระบวนการนิติธรรมให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดังนั้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร เขต 2 ได้จัดโครงการ “สภานักเรียนไทย หัวใจสมานฉันท์ ยึดมั่นธรรมาภิบาล” ขึ้น เพื่อพัฒนาองค์กรนักเรียนให้มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนได้ เพื่อสร้างสังคมในโรงเรียนให้เป็นสังคมเปิด มีความพอเพียงและยึดมั่นใน หลักการตามวิถีชีวิตประชา ธิปไตย โดยหวังว่านักเรียนที่ผ่านชีวิตในสังคมโรงเรียนธรรมาภิบาล สามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ สำหรับการจัดโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการกับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3-4 ที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 62 คน โดยมีครูที่ปรึกษาโครงการ 62 คน ใช้เวลาในการจัดกิจกรรม 3 วัน 2 คืน มีวิทยากร 22 คน รวมทั้งสิ้น 146 คน

นายกมล สุขศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชรเขต 2 กล่าวว่า จากการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพง เพชร เขต 2 ได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้นก็เพื่อมุ่งจะพัฒนาองค์กรนักเรียนให้มีความเข้มแข็งสามารถดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลได้ จึงขอฝากให้คณะกรรมการดำเนินการและวิทยากรพร้อมทั้งครูที่ ปรึกษาโครงการทุกคน ได้ช่วยกันจัดกิจกรรมค่ายตามโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จและหวังว่าคณะวิทยากรและครูที่ปรึกษาจะได้ถ่ายทอดร่วมกันตามหลักธรรมาภิบาล โดยปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องของธรรมาภิบาลให้นักเรียนได้เรียนรู้เพื่อประโยชน์ในภายหน้า และสามารถนำความรู้ความสามารถที่ได้จากการอบรมไปพัฒนากิจกรรมสภานักเรียนในโรงเรียนของตน ตลอดจนชุมชนและสังคมของประเทศชาติสืบไป

สำหรับธรรมาภิบาลนั้นจะมีอยู่ 6 หลักด้วยกันคือ หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาสำคัญ หลักการรับผิดชอบตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่าและหลักคุณธรรม โดยหลักเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อนักเรียน โรงเรียนและประเทศเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการนักเรียนเปรียบเสมือนจุดเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษาทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหาร ครูและเพื่อนนักเรียนหรือผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ จึงสมควรได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสังคมในโรงเรียนทุกด้าน

การที่จะทำให้สังคมที่ดีดำเนินไปสู่ความเจริญของประเทศได้นั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ดี และสามารถนำไปพัฒนาองค์กรขนาดเล็กไปสู่องค์กรขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.dailynews.co.th

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2310&Key=hotnews

ทปอ.ถกรูปแบบรับนิสิตนักศึกษาปี”52

3 มกราคม 2550

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยถึงระบบการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2550 ว่า ทปอ.ยังยืนยันการดำเนินการในรูปแบบระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ แต่ก็จะศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินการในปีที่ผ่านมาและปี 2550 ว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร สามารถแก้ปัญหาการมุ่งกวดวิชา และสามารถกระจายโอกาสทางการศึกษาและให้ความเป็นธรรมได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ต้องศึกษาและหาคำตอบ เพื่อหารูปแบบการรับนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม หากต่อไประบบแอดมิสชั่นส์ไม่ได้รับความเชื่อถือ มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็อาจจะหันไปรับนิสิตนักศึกษาในระบบรับตรงกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้นักเรียนต้องเดือดร้อนตามไปด้วย

ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า ในการประชุม ทปอ.นัดหน้าวันที่ 20 มกราคม ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีประเด็นสำคัญที่จะหารือกันคือเรื่องระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2552 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ โดยแนวทางที่มีการนำเสนอเข้ามาในขณะนี้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น เสนอลดค่าน้ำหนักพิจารณาในผลการเรียนเฉลี่ยสะสมชั้น ม.ปลาย (GPAX) จาก 30% เหลือ 10% หรืออาจจะไม่ใช้เลย หรืออาจจะเปลี่ยนค่า GPAX เป็นค่าเปอร์เซ็นไทล์ เช่นเดียวกับการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต อาจจะลดค่าคะแนนลง หรือไม่มีสอบก็ได้ นอกจากนี้ ทาง ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ยังเสนอเพิ่มเติมในเรื่องการพิจารณา General Attitude Test และ Professional Attitude Test

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2307&Key=hotnews

ศึกษาธิการเสนอของบฯ 350 ล้าน สานโครงการรายได้ระหว่างเรียน

3 มกราคม 2550

นายชินภัทร ภูมิรัตน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ผลการประชุมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการมีงานทำของนักเรียนนักศึกษาให้มีรายได้ระหว่างเรียน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก สามารถช่วยให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และมีรายได้มาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว โดยแต่ละปีจะมีนักเรียนนักศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 165,000 คน โดยล่าสุดปี 2549 มีนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมโครงการ 71,769 คน นักศึกษาอาชีวศึกษา 25,949 คน นักศึกษาระดับอุดมศึกษา 10,846 คน นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) 4,246 คน และนักเรียนสถานศึกษาเอกชนจำนวน 3,556 คน ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2550 ตนจะเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการต่อเนื่อง จำนวน 350 ล้านบาท ซึ่งตนได้นำเสนอ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว และเห็นชอบที่จะให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไป เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ โดยให้ตนจัดทำแผนโครงการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป

“ที่ผ่านมาพบว่ามีนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ชนบทและฐานะยากจนจำนวนมากอยากเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย แต่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ดังนั้น หากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้จากปีละประมาณ 200 ล้านบาท เป็น 350 ล้านบาทดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถขยายจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการได้อีกเท่าตัว” นายชินภัทรกล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2302&Key=hotnews

อบจ.นครปฐม ดึงนักเรียนเข้าค่ายลูกเสือ-เนตรนารี นำธรรมะสอดแทรกิจกรรมขัดเกลาจิตในเยาวชน

3 มกราคม 2550 .. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่กำหนดให้นักเรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งในการพัฒนาการศึกษา ได้กำหนดให้วิชาลูกเสือ-เนตรนารี เป็นหนึ่งกิจกรรมที่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้มีการสร้างวินัยให้กับนักเรียนและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ นอกจากนี้ยังสามารถประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของโรงเรียน เพื่อให้บรรลุผลตามหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

นายพเยาว์ เนียะแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ตามข้อความเบื้องต้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ได้เล็งเห็นว่าการเข้าค่ายพักแรมลูกเสือ-เนตรนารี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจภายนอกห้องเรียน จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการค่ายพักแรมลูกเสือ-เนตรนารีสามัญ และบูรณาการค่ายพัฒนาจริยธรรมของกลุ่มโรงเรียนโรงเรียนบูรพาศึกษา เพื่อให้เกิดความรู้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมได้หลายหลาก ได้รับประสบการณ์ตรง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฝึกทักษะในการคิดวิเคราะห์หาเหตุและผลในการแก้ไขตัดสินปัญหาและสามารถบรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังได้ตามต้องการ

นายก อบจ.นครปฐม กล่าวอีกว่า ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้มีโรงเรียนในกลุ่ม จำนวน 8 โรงเรียนเข้าร่วม ประกอบด้วยโรงเรียนวัดธรรมศาลา โรงเรียนบ้านต้นสำโรง โรงเรียนวัดพระประโทนเจดีย์ โรงเรียนวัดดอนยายหอม โรงเรียนบ้านรางมะเดื่อ โรงเรียนบ้านบ่อพลับ โรงเรียนหลวงพ่อแช่มตาก้องอนุสรณ์ และโรงเรียนลำท่าโพ โดยมีนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในการเข้าค่ายจำนวน 408 คน จำนวนครู 31 คน รวมทั้งสิ้น 439 คน

นายพเยาว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้นักเรียนมีระเบียบวินัยในตนเองและสามัคคีในหมู่คณะ และสามารถปฏิบัติตนตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของโรงเรียนโดยใช้กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี เป็นเครื่องมือในการฝึกปฏิบัติได้เป็นอย่างดี และได้มีโอกาสฝึกทักษะแลกเปลี่ยนความรู้ ฝึกความอดทน เสียสละและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ โดยได้มีการเน้นกลุ่มเป้าหมายให้เกิดคุณภาพในตัวนักเรียนด้านความสามัคคีในหมู่คณะ และให้นักเรียนมีลักษณะพึงประสงค์ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ทำงานอย่างเป็นระบบ ยอมรับกติกาของสังคมที่กำหนดไว้ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 180,700 บาท ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และได้นำนักเรียนทั้งหมดไปเข้าค่ายในรูปแบบของการนำคำสอนจริยธรรม ตามหลักพระพุทธศาสนาเข้าแทรกในการเข้าค่ายเพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับเอาคำสั่งสอนของศาสนาเข้าไปชโลมจิตใจให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมโดยกิจกรรมดังกล่าวได้นำนักเรียนไปเข้าค่ายที่ ค่ายสิทธิศึกษา อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เป็นเวลา 3 วัน

“กิจกรรมที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ได้สนับสนุนงบประมาณไปให้ นับเป็นประโยชน์แก่ตัวของนักเรียนโดยตรง ซึ่งวันนี้เราอาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าหลังจากที่เด็กนักเรียนชายหญิงได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น เขาเหล่านั้นจะได้รับการซึมซับนำเอาสิ่งดี ๆ ที่ได้แสดงออกกับกลุ่มเพื่อนมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี และจะเป็นส่วนกระตุ้นให้เขาเหล่านั้นเป็นคนดีในสังคมโดยที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงแม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ แต่ถ้ามองถึงผลที่จะได้รับนั้นนับว่าคุ้มค่ามากจริง ๆ” นายพเยาว์กล่าว

เด็กวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า หากชี้แนะให้เดินในทางที่ถูกที่ควร ในอนาคตจะสามารถพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี.

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: –เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ม.ค. 2550

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2298&Key=hotnews

ก.ค.ศ.ลงโทษ”ไล่ออก-ปลดออก”20ครู ความผิดเชิงชู้สาว-ละเมิดทางเพศ น.ร.

3 มกราคม 2550

นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2549 สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้พิจารณาความผิดข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกดำเนินการทางวินัยยุติแล้วทั้งสิ้น จำนวน 133 คน เพิ่มจากปีงบประมาณ 2548 จำนวน 53 คน โดยเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยข้าราชการมากที่สุด 30 คน รองลงมาได้แก่ ความผิดเชิงชู้สาว อนาจาร 25 คน และความผิดทางการพนัน 22 คน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการกระทำผิดล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 5 คน ด้วย ซึ่งในจำนวนผู้กระทำผิดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู จำนวน 63 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา 48 คน และบุคลากรทางการศึกษา 16 คน โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจากมีบุคลากรจำนวนมาก ส่วนการพิจารณาโทษมีทั้งผู้ที่ได้รับโทษร้ายแรงถูกไล่ออกจากราชการ จำนวน 11 คน และปลดออกจากราชการ 9 คน สำหรับโทษไม่ร้ายแรง มีได้แก่ ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน และภาคทัณฑ์ รวม 82 คน

“ยืนยันว่าการกระทำผิดของข้าราชการครูจะไม่มีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรณีล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ซึ่งโทษอย่างต่ำต้องถูกปลดออกจากราชการ โดยจะไม่มีการให้ลดโทษ และหากพบว่าผู้บังคับบัญชาปิดบังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ใต้บังคับบัญชา ก็จะต้องได้รับโทษไปด้วย นอกจากนี้ ในกรณีความผิดทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ก็เป็นอีกเรื่องที่ยอมไม่ได้เช่นกัน เพราะคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ต้องการให้วงการครูมีความโปร่งใส” นายประเสริฐกล่าว

เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวด้วยว่า จากที่รัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายคุณธรรมนำความรู้ ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ.จึงได้พยายามที่จะเสริมสร้างคุณธรรมให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับทางต้นสังกัด โดยในช่วงเดือนมกราคมนี้จะจัดอบรมการพัฒนาคุณภาพการบริหารการศึกษาตามระบบคุณธรรม ซึ่งจะมีผู้บริหารสถานศึกษาเข้าร่วม จำนวน 200 คน และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะอบรมผู้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยและปฏิบัติงานด้านวินัย จำนวน 300 คน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ไปขยายผลต่อครูและบุคลากรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรม นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้เปิดหลักสูตรออนไลน์สำหรับผู้ที่มีความสนใจงานทางด้านวินัย สามารถเข้ามาค้นคว้าข้อมูลได้ที่ www.moe.go.th/webtcs

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2292&Key=hotnews

โรงเรียนยะลายังปิด

3 มกราคม 2550

โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย จ.ยะลา กว่า 100 โรง ยังปิดการเรียนการสอน ขณะสมาพันธ์ครู เตรียมประชุมพิจารณาปิดโรงเรียนทั้งหมดหรือไม่ วันนี้

บรรยากาศทั่วไป ในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งในวันนี้เป็นสัปดาห์แรกของการเปิดเรียนในพื้นที่ แต่เนื่องจากสถานการณ์เหตุการณ์ที่คนร้ายลอบยิงและเผาผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาโด่ และ ครู ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา เสียชีวิตทั้ง 2 คน เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนทั่วไป และครูในพื้นที่มีความสะเทือนใจและเสียขวัญเป็นอย่างมาก และในวันนี้มีโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เขตการศึกษา พื้นที่เขต 1 ยะลา กว่า 100 โรง ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ยังคงปิดโรงเรียนอีกต่อไปตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ก็คงจะรอดูท่าทีของทางสมาพันธ์ครู จ.ยะลา ว่า จะไปในทิศทางใดจะปิดโรงเรียนทั้งหมดหรือไม่ ก็คงจะมีการประชุมพิจารณาของทางสมาพันธ์ในวันนี้ หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: กรุงเทพฯ ไอ.เอ็น.เอ็น

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2288&Key=hotnews

การเขียนบทความวิชาการขั้นต้น

 การเขียนบทความวิชาการขั้นต้น โดย อ.ดร.อติชาต หาญชาญชัย
การเขียนบทความวิชาการขั้นต้น โดย อ.ดร.อติชาต หาญชาญชัย

การสัมมนาในหัวข้อ การเขียนบทความวิชาการขั้นต้น
– ความสำคัญของงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ
– บทความวิชาการและบทความวิจัย
– ประสบการณ์วิทยากร
– กุญแจสู่ความสำเร็จ

โดย อ.ดร.อติชาต หาญชาญชัย
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเนชั่น
วันที่ 21 มีนาคม 2556 เวลา 13.30 – 15.30น.
ณ ห้อง 1203 อาคารบริหารธุรกิจ ม.เนชั่น

ส่วนประกอบของชื่อเรื่อง (Subject) ควรประกอบด้วย
คำว่า MIS (Acronym)
1. วิธีการ (Method)
2. จุดประสงค์ (Intention/Purpose)
3. ตัวอย่าง (Sample)

การเขียนบทคัดย่อ (Abstract) ควรประกอบด้วย
1. เกริ่นนำ (Introduction)
2. สิ่งที่ทำ (Method)
3. สรุปผล (Conclusion)

การเขียนบทนำ (Introduction) ควรประกอบด้วย
1. หลักการและเหตุผล (Rationale) หรือความเป็นมา (Background)
2. วัตถุประสงค์ (Objective)
3. ขอบเขตของเรื่อง (Scope)
4. คำจำกัดความหรือนิยามต่าง ๆ (Definition)

คาถาที่ฝากไว้ : Just do it
http://www.scribd.com/doc/131768793/

reviewer comment
reviewer comment

http://www.facebook.com/photo.php?fbid=616479848366150&set=a.616476891699779.1073741832.506818005999002