ครูผู้ช่วย

ตอนที่ 14 ประเมินครูผู้ช่วย เตรียมและพัฒนาอย่างเข้ม นิทานเรื่อง โรงเรียนเทียมดาว

ปัจจุบันในระบบการศึกษาของรัฐนั้น
ข้าราชการครูเริ่มต้นอาชีพ ด้วย ตำแหน่งครูผู้ช่วย
ย่อมถูกมองว่าเป็นมือใหม่ในโรงเรียน

และอยู่ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการ
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ซึ่งคุณครูผู้ช่วยทุกคน
ต้องเข้ารับการประเมินอย่างเป็นระบบ
เพื่อก้าวสู่การเป็นครูเต็มตัวต่อไป

ดังนั้นครูผู้ช่วย ต้องมีการเตรียมความพร้อม
เพื่อรับการประเมินโดยคณะกรรมการ
แล้วพบเอกสารเผยแพร่ใน
เว็บไซต์ของ สำนักงาน ก.ค.ศ.

ได้พบ แบบประเมินการเตรียมความพร้อม และพัฒนาอย่างเข้ม
ซึ่งมีหัวข้อประเมิน 2 ด้าน คือ
1. ด้านการปฏิบัติตน
2. ด้านการปฏิบัติงาน
โดยข้อสรุปผลการประเมินโดยกรรมการ
คือ ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

ส่วนสรุปข้อสังเกต แบ่งได้เป็น
1. ข้อเสนอแนะ
2. จุดเด่น
3. จุดควรพัฒนา

ดังนั้นครูผู้ช่วย จึงต้องพัฒนาตนเอง 
และสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
โดยเฉพาะ ด้านการจัดการเรียนการสอน
ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านครับ

นักเรียนโดย copilot : ai
แบบประเมินโดยคณะกรรมการ

https://vt.tiktok.com/ZSYB254or/

https://otepc.go.th/th/content_page/item/2456-26-61.html

ตอนที่ 14 ประเมินครูผู้ช่วย
เตรียมและพัฒนาอย่างเข้ม
นิทานเรื่อง โรงเรียนเทียมดาว
#teacher
#evaluation
#development
#suggestion
#presentation
#beginner
#school

พื้นที่ระงม กคศ. โยน เผือกร้อน ชี้ขาดครูผู้ช่วย

25 มีนาคม 2556 หนึ่งในบอร์ด ‘อ.ก.ค.ศ.’ เซ็งมติสอบโกงครูผู้ช่วย โยนเขตพื้นที่แก้เอง ทั้งที่หลักฐานทุจริตชัด ด้านนายกเขตพื้นที่การศึกษาซัดส่วนกลางลอยตัวเหนือปัญหา เชื่อระดับพื้นที่ไม่กล้ายกเลิกการสอบ หวั่นโดนฟ้องอื้อ

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 เพื่อพิจารณาทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ซึ่งพบหลักฐานการทุจริตชัดเจนหลายรูปแบบ ในหลายเขตพื้นที่การศึกษา และมีผู้ได้คะแนนสอบสูงผิดปกติ จำนวน 514 คนใน 129 เขตพื้นที่การศึกษา แต่ปรากฏว่า ก.ค.ศ. มีมติส่งกลับไปให้คณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ. (อ.ก.ค.ศ.) ในเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ตรวจสอบว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ และให้เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเกรงว่าการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นมวยล้ม โดยมีกระแสข่าวว่ามีความพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้เรื่องนี้ค่อยๆ เงียบลง

โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2556 นายสุบัน ประทุมทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ค.ศ.ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการสอบครูผู้ช่วย ชุดที่มีนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน กล่าวว่า ในการประชุม ก.ค.ศ. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ได้พยายามชี้แจงว่าขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วยได้ทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ที่ได้ลงไปสืบหาข้อมูล และพยานต่าง ๆ มา ซึ่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในฐานะประธาน ก.ค.ศ.ก็บอกว่ามีทุจริตจริง แต่มติ ก.ค.ศ.กลับออกมาอีกลักษณะหนึ่ง ทำให้รู้สึกผิดหวัง โดยเฉพาะกรณีของผู้ที่มีคะแนนสูงผิดปกติ 486 ราย ที่สอบบรรจุได้ ก็ได้นำเสนอข้อมูลต่อประชุมรับทราบว่าเข้าข่ายการทุจริต เพราะมีคะแนนเต็มวิชาใดวิชาหนึ่งใน 4 ชุดวิชา ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
นายสุบันกล่าวว่า การที่ ก.ค.ศ. มีมติให้ 129 เขตพื้นที่ฯไปพิจารณาเองว่าจะยกเลิกการสอบครูผู้ช่วยหรือไม่นั้น ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯเริ่มสะท้อนว่าค่อนข้างลำบากใจ และเห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ส่วนกลางกลับโยนไปให้เขตพื้นที่ฯแก้ปัญหา ทั้งที่เดิมการสอบครูผู้ช่วยเป็นอำนาจของเขตพื้นที่ฯ แต่ส่วนกลางก็ดึงไปดำเนินการเอง พอเกิดปัญหากลับส่งมาให้เขตพื้นที่ฯรับผิดชอบ
“ตามขั้นตอนเมื่อ ก.ค.ศ.แจ้งเรื่องไปยัง 129 เขตพื้นที่ฯ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะต้องสั่งตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงต่อไป ผมเชื่อว่าเขตพื้นที่ฯที่จะช่วยผู้ที่คะแนนสูงผิดปกติให้รอดนั้น น่าจะมีน้อย และอยากให้แต่ละเขตพื้นที่ฯยึดกฎหมาย ใช้ดุลพินิจในการสืบหาข้อเท็จจริง เพื่อให้รู้ว่าคนไหนทุจริต หรือไม่ทุจริต” นายสุบันกล่าว

นายธวัชชัย พิกุลแก้ว ผู้อำนวยการ สพป.กาญจนบุรี เขต 4 และนายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุม ก.ค.ศ.ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการเองหมด จึงไม่เห็นด้วยที่จะโยนการแก้ปัญหาทุจริตสอบมาให้เขตพื้นที่ฯเป็นผู้ตัดสินว่า ควรยกเลิกการสอบหรือไม่ ทั้งที่ที่ประชุม ก.ค.ศ.มีอำนาจสูงสุด เหนือกว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ดังนั้น ควรสั่งการได้เลยว่าจะยกเลิกการสอบในเขตพื้นที่ฯใดบ้าง เพราะการให้เขตพื้นที่ฯตัดสินใจเองทำได้ยาก เนื่องจากมีข้อมูลน้อย และสุดท้ายหากสั่งยกเลิกการสอบ เมื่อมีผู้ฟ้องร้อง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯก็ต้องรับผิดชอบ ขณะที่ ก.ค.ศ.ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าใน 129 เขตพื้นที่ฯ ส่วนใหญ่คงไม่กล้ายกเลิกการสอบอย่างแน่นอน
“ขณะนี้เขตพื้นที่ฯอยู่ในลักษณะเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ยังเอากระดูกแขวนคออีก เพราะการสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา เขตพื้นที่ฯไม่ได้ดำเนินการเอง ทั้งหมด สพฐ.ดูแล ตอนประกาศผลสอบก็ไม่ส่งคะแนนให้ แต่พอจะให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ถึงจะยอมส่งคะแนนมาให้ ทั้งที่ควรส่งให้ตั้งแต่แรก” นายธวัชชัยกล่าว

นายสานิตย์ พลศรี กรรมการใน อ.ก.ค.ศ.สพป.ชัยภูมิ เขต 1 กล่าวว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.จะโยนความรับผิดชอบมาให้เขตพื้นที่ฯตัดสินเรื่องการทุจริตครูผู้ช่วยไม่ได้ เพราะช่วงประกาศผลสอบ ทำไม สพฐ.ไม่แจ้งคะแนนให้รับรู้ แจ้งแต่เพียงรายชื่อมาเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครสอบได้คะแนนสูงผิดปกติ เพื่อตรวจสอบและคงไม่ประกาศรับรองผลแน่นอน แต่ สพฐ.กลับเร่งรัดให้ประกาศผลการสอบคัดเลือกและเร่งบรรจุแต่งตั้ง เช่น กรณีของ สพป.ชัยภูมิ เขต 1 มีคนได้คะแนนเต็มในชุดวิชาใดวิชาหนึ่งถึง 8 คน หากรู้คะแนนก่อนคงไม่รับรองผลการสอบคัดเลือกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามมติของที่ประชุม ก.ค.ศ. คงต้องขอดูเรื่องและหนังสือที่จะแจ้งมาก่อน จากนั้น จึงนำมาวิเคราะห์ และหารือกันใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ว่าทำอย่างไร
“การให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯรับผิดชอบเป็นเรื่องยาก สืบหาข้อเท็จจริงค่อนข้างยาก เนื่องจากกระบวนการต่างๆ อยู่ที่ต้นเหตุคือส่วนกลางหมด การส่งมาให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯลงดาบยกเลิกการสอบ เชื่อว่าคงมีหมายศาลปกครองมาจากผู้ที่ถูกยกเลิกยื่นฟ้องส่งมาที่เขตพื้นที่ฯแน่นอน ผมเชื่อว่าทุกเขตพื้นที่ฯไม่พอใจกับมติดังกล่าวแน่ เพราะเหมือนกับว่าที่ประชุม ก.ค.ศ.และ สพฐ.ลอยตัวเหนือปัญหา” นายสานิตย์กล่าว

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม ก.ค.ศ.กรณีการสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยให้ฟื้นการสอบสัมภาษณ์กลับมาเหมือนเดิม เพราะจะยิ่งเป็นช่องทางให้เรียกรับผลประโยชน์ได้ เพราะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้สั่งให้ยกเลิกการสอบสัมภาษณ์ไปแล้ว เพราะมีครูร้องเรียนจำนวนมากว่าถูกเรียกรับเงิน
“ส่วนมติที่ให้เขตพื้นที่ฯรวมกลุ่มจัดสอบกันเองนั้น หากมีทุจริตก็คงไม่มีใครทราบ แต่ถ้ายืนยันจะให้เขตพื้นที่ฯจัดสอบเอง ควรให้สถาบันการศึกษาในส่วนกลางออกข้อสอบให้เหมือนกันหมด” นายสุชาติกล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงจาก ศธ.กล่าวว่า สาเหตุที่ ก.ค.ศ.มีมติให้ 129 เขตพื้นที่ฯที่เข้าข่ายทุจริตสอบครูผู้ช่วย ไปพิจารณาเองว่าจะยกเลิกการสอบหรือไม่นั้น มีกระแสข่าวว่ามีสามีของแกนนำในพรรคร่วมรัฐบาลคนหนึ่ง ได้ประสานมายังฝ่ายการเมือง ขอไม่ให้เอาผิดกับผู้บริหารระดับสูงใน สพฐ.บางคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า ผู้บริหารคนดังกล่าวพยายามวิ่งเต้นกับนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อไม่ให้ถูกย้ายออกจาก สพฐ.

— มติชน ฉบับวันที่ 26 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย) —