17 เมษายน 2556
นางสุพร คมขำ ผู้อำนวยการภารกิจกองทุนและสวัสดิการทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงการดำเนินการโครงการเงินทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สำนักงาน ก.ค.ศ. ว่าโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 จนปัจจุบันมีเงินทุนอยู่ประมาณ 1,200 ล้านบาท และมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากได้มาขอกู้เพื่อนำเงินไปแก้ไขหนี้สินครู แต่ในปัจจุบันมีแหล่งเงินกู้ให้กับข้าราชการครูฯ หลายแห่งและมีการปล่อยเงินกู้กันจำนวนมาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และธนาคารต่างๆ เป็นต้น โดยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วนอาจจะไปกู้เงินจากหลายๆ แหล่งหรือบางส่วนอาจจะกู้ทุกแหล่งที่ปล่อยกู้ ซึ่งในส่วนของโครงการเงินทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจะปล่อยให้กู้ไม่มาก สูงสุดประมาณ 2 แสนบาทต่อราย เพื่อนำไปใช้หนี้ให้กับข้าราชการครูฯที่ไปกู้มาจากแหล่งที่อัตราดอกเบี้ยสูง
ผอ.ภารกิจกองทุนฯกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นเมื่อข้าราชการครูฯต้องนำเงินไปใช้หนี้ที่กู้จากแหล่งต่างๆ ทำให้ไม่มีเงินมาใช้หนี้โครงการเงินทุนหมุนเวียนฯ จนทำให้ต้องมีการฟ้องร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้มีการชำระหนี้ โดยปัจจุบันมีข้าราชการครูฯที่ได้กู้เงินไปและถูกฟ้องร้องประมาณ 4,000-5,000 ราย วงเงินรวมอาจจะไม่มากและอยู่ในหลักไม่ถึงร้อยล้านบาท เนื่องจากวงเงินที่ให้กู้ไม่มากนักและบางส่วนที่จะกู้เป็นเงินฉุกเฉินประมาณ 1-2 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าราชการครูฯที่ถูกฟ้องก็เห็นใจเพราะบางคนก็ไม่มีเงินที่จะจ่ายจริงๆ ทำให้ต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย
“แนวโน้มของข้าราชการครูฯที่จะถูกฟ้องร้องเพราะไม่มีเงินมาจ่ายเงินค่างวดในแต่ละเดือนมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกหักเงินเพื่อใช้หนี้ส่วนอื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์และส่วนอื่นๆ ก่อน จนไม่เหลือเงินมาจ่ายให้กับเงินทุนหมุนเวียนฯ ซึ่งจากปัญหาตรงนี้จะต้องนำเสนอผู้บริหาร ก.ค.ศ.และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้สิทธิโครงการเงินทุนหมุนเวียนฯ ในการหักเงินเดือนจากข้าราชการครูฯที่กู้ ด้วยการใช้สิทธิของโครงการเงินทุนหมุนเวียนฯที่เป็นเงินนอกงบประมาณของราชการ ฉะนั้น จะต้องสามารถหักเงินดังกล่าวเพื่อให้มีการใช้หนี้” นางสุพรกล่าว และว่า สำหรับการปล่อยกู้รอบใหม่ปี 2556 ยังอยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการและคาดว่าจะปล่อยกู้ได้ภายในปีนี้และวงเงินให้กู้ยังเท่าเดิมที่ 200,000 บาท
แหล่งข่าวจาก ก.ค.ศ.กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน ศธ.จะได้ออกระเบียบว่าข้าราชการครูฯที่จะไปกู้เงินและจะต้องถูกหักเงินเดือนจะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% แต่มีข้าราชการครูฯจำนวนหนึ่งที่เงินเดือนเหลือน้อยกว่าที่กำหนดไว้แต่ยังสามารถกู้เงินได้เพราะมีการไปตบแต่งบัญชีให้มีเงินเหลือจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหาไม่มีเงินที่จะไปจ่ายหนี้ส่วนต่างๆ ได้
–มติชน ฉบับวันที่ 17 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–
http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32434&Key=hotnews