เห็นข่าวเด่นทางทีวีที่เล่าถึงการกระทำผิดของผู้คน เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำความผิดไม่น้อย ขาดจริยธรรมตั้งแต่ขั้นที่ 1 ที่มักพบในเด็กอายุ 2 – 10 ขวบ ตามทฤษฎีของ Kohlberg ที่ ผศ.ดร.ดุจเดือน ได้ไปสังเคราะห์มา ก็ไม่อยากจะยกตัวอย่าง เพราะตัวอย่างมีให้เห็นแทบทุกวันในข่าวเช้าเกือบทุกช่อง วันไหนไม่มี ถือว่าผิดปกติมากมาย
โดยเล่าเรื่องของ พัฒนาการทางจริยธรรม (Moral Development)
ตามทฤษฎีของ Kohlberg (1969) ในหน้า 9 ว่า ระดับจริยธรรม และอายุมี 3 ระดับ
แต่ละระดับมี 2 ขั้นของการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ดังนี้
ระดับที่ 1 ก่อนกฎเกณฑ์ อายุ 2 – 10 ขวบ
– ขั้นที่ 1 หลักการหลบหลีกการถูกลงโทษ (คล้ายกับคำว่า หิริโอตัปปะ) สมัยเด็ก แค่เด็กไม่ร้องไห้เอาแต่ใจ เพราะกลัวถูกตีก็เรียกว่ามีจริยธรรมได้
– ขั้นที่ 2 หลักการแสวงหารางวัล สมัยเด็ก เด็กคนไหนเชื่อฟัง อาบน้ำกินข้าว เพราะหวังขนม เรียกว่ามีจริยธรรมได้
ระดับที่ 2 ตามกฎเกณฑ์ อายุ 10 – 16 ปี
– ขั้นที่ 3 หลักการทําตามความเห็นชอบของผู้อื่น สมัยแรกรุ่น ใครว่าสิ่งไหนดี แล้วทำตาม เรียกว่ามีจริยธรรมได้
– ขั้นที่ 4 หลักการทําตามหน้าที่และกฎข้อบังคับในสังคม สมัยแรกรุ่น แต่ชุดนักเรียน ไม่ไว้ผมยาว ไม่เข้าเรียนสาย เรียกว่ามีจริยธรรมได้
ระดับที่ 3 เหนือกฎเกณฑ์ อายุ 16 ปี ขึ้นไป
– ขั้นที่ 5 หลักการทําตามคํามั่นสัญญา สมัยผู้ใหญ่ ไม่โกหก ไม่นอกใจ ไม่หักหลัง เรียกว่ามีจริยธรรมได้
– ขั้นที่ 6 หลักการยึดอุดมคติสากล สมัยผู้ใหญ่ คิดดี พูดดี ทำดี อย่างที่สังคมต้องการ เรียกว่ามีจริยธรรมได้
ต่อมา Lawrence Kohlberg ได้เขียนบทความถึงขั้นที่สูงกว่าไว้หลายบทความ
แล้วนักวิชาการได้ให้ความสําคัญกับขั้นที่ 7 มากขึ้น (Lapsley, 1996)
โดยเรียกเหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นนี้ว่า “Ultimate faith”
หรือ ขั้น “ความเชื่อศรัทธาขั้นปรมัตถ์ในความเกี่ยวเนื่องของชีวิต”
เป็นการที่บุคคลกระทําหรือไม่กระทําสิ่งใด โดยคํานึงถึงความเกี่ยวเนื่องของผลการกระทํา
ทั้งในเชิงของสถานที่ และ/หรือ เวลา
ซึ่งใกล้เคียงกับหลักทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับ การเวียนว่ายตายเกิด (อเนกชาติ)
---
คนมีจริยธรรมถึงขั้น 7 นี่ต้องดีโดยสมบูรณ์พร้อมเผื่อชาติหน้า ถึงจะเรียกว่ามีจริยธรรมในขั้นนี้