19 มิ.ย.56 รายงานข่าวแจ้งว่ามีกลุ่มนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 คน ถูกแจ้งย้อนหลังให้พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต ในวิชาที่เรียนในระดับชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 วิชาหนึ่ง ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่นิสิตทุกคนต้องเรียน เพราะเหตุจากการที่อาจารย์ผู้สอน ส่งผลคะแนนการศึกษาในวิชาดังกล่าวล่าช้ามากกว่า 2 ปี หรือกว่า 5 ภาคการศึกษา โดยในขณะนั้นนิสิตกลุ่มดังกล่าวกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่หนึ่ง ในรายวิชา “กฏหมายกับสังคม” ซึ่งเป็นวิชาที่เรียนในระดับชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 โดยผลคะแนนของวิชาดังกล่าวเพิ่งออกมาเมื่อไม่นานมานี้ รวมระยะเวลามากกว่า 2 ปี
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1371628676&grpid=01&catid=01
ปัจจุบันนิสิตกลุ่มดังกล่าวกำลังศึกษาในชั้นปีที่ 4 ภาคการศึกษาต้น ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การขยับขึ้นชั้นเรียนในชั้นปีที่2-3 แม้ว่าผลคะแนนวิชาดังกล่าวจะยังไม่ประกาศผล ระบบการลงทะเบียนเรียน ก็อนุญาตให้นิสิตกลุ่มดังกล่าว สามารถที่จะลงทะเบียนเรียนในชั้นปีที่ 2- 3 ได้โดยปกติ เมื่อขึ้นชั้นปี 4 นิสิตกลุ่มดังกล่าว ได้ทำการลงทะเบียนเรียนปกติ แต่ภายหลังกลับถูกแจ้งว่า ให้พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต เนื่องจากผลคะแนนวิชา “กฎหมายกับสังคม” ที่เคยเรียนเมื่อชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 เมื่อหลายปีก่อนได้ประกาศผล โดยเป็นการประกาศผลคะแนนถึงสามชั้นปีในครั้งเดียว (เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2556) ทำให้เมื่อนำผลคะแนนวิชาดังกล่าว มาคำนวณผลคะแนนเฉลี่ยรวมสมัยชั้นปีที่ 1 ทั้งสองภาคการศึกษาแล้ว ปรากฏว่า ผลการเรียน ไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้ศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อีกต่อไป
เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ของ สำนักงานการทะเบียนและประมวลผล ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายหลักเกณฑ์ การจำแนกสภาพนิสิต ว่าต้องกระทำครั้งแรกเมื่อสิ้นภาคการศึกษาที่สอง ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผลคะแนนของ วิชา “กฎหมายกับสังคม” กลับไม่สามารถประกาศได้ทัน จนเวลาล่วงเลยมามากกว่า 2 ปี ซึ่งไม่สามารถจำแนกสภาพนิสิตครั้งแรกได้ กลับมาจำแนกสภาพนิสิตในการประกาศผลคะแนนวิชาดังกล่าวเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นิสิตกลุ่มดังกล่าว ได้พยายามที่จะติดต่ออาจารย์ผู้สอนรายวิชาดังกล่าว เพื่อติดตามผลคะแนน แต่ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังเร่งในการตรวจอยู่ เมื่อสอบถามไปยังหน่วยงาน และ บุคคลที่เกี่ยวข้องก็ได้รับคำตอบว่า จะประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนให้ ซึ่งนิสิตเองก็มีความกังวลกับผลคะแนนที่ประกาศช้าเป็นอย่างมาก เพราะมีผลต่อการวางแผนการศึกษาในชั้นปีต่อไป และเมื่อล่าสุดผลคะแนนได้ประกาศออกมา ก่อนเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ชั้นปีที่ 4 ทำให้ผลการเรียนเฉลี่ยรวมในสองภาคการศึกษาของชั้นปีที่ 1 ต่ำกว่าเกณฑ์และต้องถูกถอนสถานภาพนิสิต ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตของนิสิตกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก รวมทั้งครอบครัว ของนิสิตด้วย
หลังเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ทางคณะกรรมการบริหารคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน รวมทั้งเชิญนิสิตที่ได้รับผลกระทบทั้ง 5 คน เข้าพบหารือ เพื่อหาทางออก พร้อมทั้งได้เปิดเวทีชี้แจงให้นิสิตทุกชั้นปีรับฟัง และในคราวการประชุมคณะกรรมการบริหารคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 12/2556 ได้มีมติออกมา โดยมีใจความสำคัญ คือ การยอมรับผิดที่คณะได้ส่งคะแนนการศึกษาล่าช้า และมีมาตราการในการเยียวยาออกมา 4 ข้อ คือ
1.มาตรการเยียวยาทางการเงิน เห็นควรให้นิสิตได้รับการเยียวยา ดังต่อไปนี้
1.1 คืนค่าธรรมเนียมทางการศึกษานับตั้งแต่เวลาที่พ้นสภาพ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
1.2 ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการศึกษาตามความเป็นจริง เป็นรายกรณีไป
1.3 ชดเชยค่าเสียโอกาส
2. เห็นควรเสนอให้มหาวิทยาลัยให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ในกรณีดังกล่าว
3.ทั้งนี้ในส่วนของรายวิชาดังกล่าว คณะกรรมการเห็นพ้องให้มีการเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 นี้เป็นต้นไป
4.ในส่วนของการส่งคะแนนช้าในรายวิชาต่างๆนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรเพิ่มมาตราการ ดังต่อไปนี้
4.1ให้มีการออกหนังสือทวงถาม ครั้งที่1 และ 2 ถึงอ.ผู้สอนในรายวิชา เมื่อครบ 1 ถึง 2 เดือน นับแต่วันสอบวันสุดท้ายของภาคนั้น
4.2 หากครบสามเดือนแล้ว พึงมีการตั้งกรรมการสอบวินัยอาจารย์ผู้สอนต่อไป เว้นแต่มีเหตุจำเป็นบางประการที่ทำให้ส่งคะแนนภายในกำหนดไม่ได้
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกตั้งคำถามจาก ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจำนวนมากถึงเรื่องความรับผิดชอบของคณะที่ควรจะมีมากกว่านี้ตั้งแต่คณะผู้บริหารจนกระทั่งถึงอาจารย์ผู้สอน เพราะเมื่อนิสิตกลุ่มดังกล่าวได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ต้องถูกรีไทร์ (Retire) ตั้งแต่การเรียนในชั้นปีที่ 1 นิสิตก็ควรจะต้องรู้ตั้งแต่เวลานั้น การปล่อยให้เวลาล่วงเลยจนถึงปีสี่ แล้วเกรดปีหนึ่งจึงได้ประกาศ และมารู้ตัวตอนปี 4 ว่าต้องถูกรีไทร์ ซึ่งคณะจะเยียวยาโดยจ่ายเงินตั้งแต่ปี 2 ถึง ปี 4 นั้นเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วหรือ เมื่อเป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ชัดเจน ทำไมจึงไม่มีเวลาในการตรวจข้อสอบนิสิต
นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามจากศิษย์เก่ากันอีกว่ามาตรการดังกล่าวที่ออกมานอกจากเป็นการไม่ช่วยเหลือนิสิตทั้งห้าคนแล้วยังเป็นการลอยตัวของผู้บริหารคณะ ที่ให้อาจารย์เพียงท่านเดียวแบกความรับผิดชอบ โดยมิได้ตระหนักว่า ในคณะมีอาจารย์เพียงไม่ถึงสิบท่านที่ออกเกรดตรงเวลา โดยจำนวนมากตั้งคำถามและวิพากษ์กับความเป็นมาตรฐานและตัวระบบโครงสร้างการคิดคะแนนและการจัดการเรียนการสอนของคณะที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดร้ายแรงดังกล่าว
เรื่องดังกล่าวนี้น่าจะเป็นที่จับตามองของประชาคมจุฬาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอย่างกว้างขวาง โดยปัญหาดังกล่าว สะท้อนระบบการบริหารงาน และการจัดหลักสูตรการศึกษา ของ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ส่งผลกระทบต่อ “นิสิต” เพราะจะไม่ใช่เพียง 5 คน ที่ได้รับผลกระทบกับเรื่องที่เกิดขึ้น หากแต่อาจส่งผลกระทบกับ “นิสิต” รุ่นต่อไป และเรื่องนี้อาจต้องไปต่อสู้ในศาลปกครองกลางต่อไป