พงศ์เทพเด็ดขาดสั่งไม่เลี้ยงอาชีวะก่อเหตุ

30 เมษายน 2556
   

 

          “พงศ์เทพ” ชี้ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดกับเด็กอาชีวะที่ก่อเหตุรุนแรง ต้องออกจากโรงเรียน เพื่อจะได้สำนึกและส่งสัญญาณต่อไปยังเด็กรุ่นหลัง จิตแพทย์ระบุนักเรียนตีกันเป็นปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบน ก่อตัวตั้งแต่ระดับประถม

          ในการประชุมปฏิบัติการจัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุกการป้องกันและแก้ปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่ จ.ตรัง ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ซึ่งกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาได้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การวิจัยและวิเคราะห์ทางการแพทย์ถึงสาเหตุของพฤติกรรมเบี่ยงเบนในเด็กอาชีวศึกษา สำหรับการใช้มาตรการให้ออกจากโรงเรียน เด็กที่ก่อเหตุรุนแรงนั้น ตนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณให้นักเรียนที่ก่อเหตุรู้ว่า ถ้าทำแบบนี้จะได้รับผลกระทบอะไร เพราะถ้าเราไม่มีมาตรการ พฤติกรรมใช้ความรุนแรงก็จะเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กรุ่นหลังต่อไป ขณะที่บุคคลที่ก่อปัญหานั้น เราจะจัดระบบอื่นที่จะได้รับการศึกษา ซึ่งเขาจะไม่อยู่ในสังคมที่สามารถทำให้ประชาชนเดือนร้อน หรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตามแบบได้อย่างแน่นอน

          ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผอ.รพ.จิตเวช นครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้วิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเบี่ยงเบนของเด็กอาชีวศึกษาที่ใช้ความรุนแรงและต่อต้านกฎระเบียบ พบว่า 10% ของชั้นเรียน ส่วนใหญ่เป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ ระบบการศึกษาและค่านิยม ซึ่งระบบการศึกษาชั้นประถมศึกษา ส่วนหนึ่งทำให้เด็กมีปัญหาสมาธิสั้น ไม่สามารถปรับตัวกับระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกส่วนหนึ่งคือสติปัญญาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และภาวะไม่สามารถเรียนบางวิชาได้ ส่วนค่านิยมนั้นคือ ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่อยากให้เรียนสายสามัญมากกว่า รวมถึงเด็กที่เรียนหนังสือเก่งส่วนใหญ่ไม่เลือกเรียนต่อสายอาชีวศึกษา จึงทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งไปรวมอยู่สายอาชีพ

          “เด็กเบี่ยงเบนไม่ใช่เป็นเด็กเลว แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร จึงต้องแสดงออกให้สังคมได้เห็นว่าเขามีพลัง บางคนมีอาการป่วยทางจิต ซึ่งหลายท่านไม่ทราบ ถ้ามองปัญหานี้เขาน่าสงสาร เราต้องร่วมมือกัน ใช้วิธีการป้องกันก่อนเกิดความรุนแรง โดยมอบหมายให้ครูที่มีความเข้าใจและใกล้ชิดกับเด็กให้เป็นทั้งพ่อแม่และเพื่อน เอาใจใส่และให้คำปรึกษา หรือมีจิตแพทย์พิเศษดูแล” นพ.พิทักษ์พลกล่าว

          ขณะที่ตัวแทนนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษากล่าวว่า สาเหตุที่มีการทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นเรื่องการปกป้องศักดิ์ศรีของสถาบัน จึงมีการใช้ความรุนแรงกับคู่อริ ส่วนใหญ่จะใช้อาวุธปืนและมีด ส่วนแนวทางการแก้ปัญหานั้น อยากให้เพิ่มจุดระวังให้มากกว่าเดิม และอยากให้ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์รีบแจ้งเบาะแสแก่ตำรวจทันที รวมถึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมที่แต่ละสถาบันสามารถทำร่วมกัน เช่น การเข้าค่าย เป็นต้น.

          ที่มา: http://www.thaipost.net

! http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32562&Key=hotnews

Leave a Comment