สมศ.ขอบคุณ”มติชน”จัด”I see U” เชิญทุกฝ่ายทำบุญการศึกษาเด็ก

5 มกราคม 2550

สมศ.หนุนมติชนจัดโครงการ “โรงเรียน I see U มติชน 30 ปี” ระบุเป็นผู้นำการทำบุญด้านการศึกษาแก่เด็ก เชิญชวนทุกฝ่ายร่วมบริจาค เตรียมประกาศผลประเมินสถานศึกษารอบสองในเดือน ก.พ. กว่า 2 พันแห่ง คาดคุณภาพดีขึ้น แต่ยังมีอีก 560 แห่งที่อยู่ระดับโคม่า เพราะคะแนนต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน่าเป็นห่วง ถ้าไม่ช่วยเหลือ คงไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินรอบสองอีกแน่

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “มติชน” ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิอาจารย์บรรจง พงศ์ศาสตร์ จัดโครงการ “โรงเรียน I see U มติชน 30 ปี” เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานจำนวน 100 แห่ง เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน มีอายุครบรอบการก่อตั้งปีที่ 30 ว่า ถือเป็นโครงการที่ดีมากและขอชื่นชมยินดีอย่างยิ่งกับมติชนที่เข้ามาช่วยเหลือโรงเรียน คิดว่าทุกฝ่ายควรต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยการศึกษาคงไม่มีคุณภาพและจะเป็นการศึกษาที่ยั่งยืนของประเทศไปไม่ได้

“ในนามของประชาชนคนไทยจึงขอขอบคุณและอยากขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยบริจาคด้วยซึ่งการทำบุญกับการศึกษาเป็นสิ่งดีมาก ถือว่ามติชนเป็นผู้นำเรื่องการทำบุญกับการศึกษากับเด็ก” ดร.สมหวังกล่าว

ดร.สมหวังกล่าวต่อว่า สำหรับคำจำกัดความของโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้น คือโรงเรียนที่ได้คะแนนจากการประเมินคุณภาพผู้เรียน ครู ผู้บริหารและการบริหารรวม 14 มาตรฐาน ในระดับปรับปรุงและพอใช้ โดยระดับปรับปรุง คือ 1 คะแนน ระดับพอใช้คือ 2 คะแนน และระดับดี คือ 3 คะแนน ซึ่งรอบแรก สมศ.ได้ประเมินสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวนรวม 38,000 แห่ง พบว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในระดับปรับปรุงและพอใช้ จำนวนรวม 20,000 แห่งซึ่งตนเรียกว่าไอซียูคือเป็นโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ และในจำนวนนี้มี 560 แห่งที่ตนเรียกว่าโคม่า เนื่องจากได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน่าเป็นห่วงคือได้ต่ำกว่า 1.75 คะแนนเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ช่วยเหลือ จะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานในรอบสองอีกแน่

ดร.สมหวังกล่าวว่า ในจำนวน 560 โรงเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถมฯขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 300 คน ขาดแคลนครู อุปกรณ์การเรียนการสอน อยู่ไกลตามชนบทชายขอบ งบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนรายหัวไม่เพียงพอ เมื่อขาดปัจจัยเหล่านั้นจึงส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ตามที่หลักสูตรกำหนด การใฝ่รู้ใฝ่เรียนไม่ได้มาตรฐาน และเนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ห่างไกล ครูและผู้บริหารจึงมักขอย้ายออกบ่อย และแม้จะมีครูก็มักจะเป็นครูที่ไม่มีคุณภาพ เพราะที่มีคุณภาพมักจะขอย้ายไปอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ จึงส่งผลต่อมาตรฐานการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารไม่ได้มาตรฐานด้วย

ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สมศ.ได้ตกลงในหลักการกับกระทรวงศึกษาธิการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนโคม่าทั้ง 560 แห่งเหล่านั้น เนื่องจากเห็นว่าถ้าไม่เข้าไปช่วย โรงเรียนจะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินในรอบสองอีกแน่ ซึ่งรอบสองเริ่มประเมินระหว่างปี 2549-2553 ทั้งนี้ เป็นโครงการช่วยเหลือ 3 ปี ระหว่างปี 2550-2552 เลื่อนจากเดิมเล็กน้อยเนื่องจากมีการเปลี่ยนคณะกรรมการของ ศธ.ที่ดูแลเรื่องนี้ คาดว่าจะลงตัวและเริ่มเดินหน้าต่อได้ในอีกราว 1 เดือน โดยหลักการคือจะเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนในลักษณะวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ช่วยจัดหาทรัพยากรอุปกรณ์สื่อการเรียน ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและอาจจะจัดจ้างครูเพิ่มหากจำเป็น โดยแต่ละโรงเรียน จะใช้งบฯเพื่อพัฒนาแห่งละ 3 แสนบาท แยกเป็น สมศ.ช่วย 2 แสนบาท และ ศธ.ช่วย 1 แสนบาท

ดร.สมหวังกล่าวอีกว่า สำหรับการประเมินรอบสองนั้น ขณะนี้เริ่มประเมินไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งปลายเดือนมกราคมนี้ จะเสนอคณะกรรมการบริหาร สมศ.พิจารณาเห็นชอบผลการประเมิน หลังจากนั้นจึงจะเผยแพร่ได้ คาดว่าล็อตแรกของรอบสองจะเผยแพร่ได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ประมาณ 2,300 แห่ง แยกเป็นสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐานประมาณ 2,000 แห่ง ระดับอุดมศึกษาประมาณ 30 แห่ง และที่เหลือเป็นระดับอาชีวะ เท่าที่ดูเบื้องต้นสถานศึกษาเหล่านั้นคุณภาพดีขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นน่าจะผ่านการประเมินโดยไม่มีปัญหาอะไร

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2373&Key=hotnews

Leave a Comment