เปิดบันทึก”กฤษฎีกา” ห้าม!ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

5 มกราคม 2550

เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พรทิพย์ จาละ ได้ลงนามในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกี่ยวกับเรื่องการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สรุปความได้ว่า สพฐ.ได้รับหนังสือขอหารือจากหน่วยงานในสังกัด ดังนี้

1.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ฉะเชิงเทรา เขต 1 หารือกรณีกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นเพิ่มเติม ดังนี้ ตำแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฉะเชิงเทรา ประธานที่ปรึกษานายก อบจ.ฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เมืองฉะเชิงเทรา

2.สพท.นนทบุรี เขต 2 หารือกรณีกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 ในส่วนของกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.นนทบุรี

สพฐ.จึงขอหารือว่า การที่กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามข้อ 3 (6) แห่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2546 หรือไม่ ??

ที่ประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ไว้ในบันทึก เรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ (4) ว่า หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น

ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมจะต้องประกอบไปด้วยการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามนัยมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 โดยเมื่อการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในความหมายของการบริหารราชการแผ่นดินด้วยแล้ว ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารหรือควบคุมการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 291 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติไว้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประเภทหนึ่ง ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ทั้งนี้ เพื่อมิให้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนในการหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับประเด็นที่ว่าเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” แล้ว บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น อันได้แก่ รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น จะอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วยหรือไม่ นั้น

เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 35/3 (7) และมาตรา 37/1 (8) หรือ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 อัฏฐ (9) และมาตรา 48 โสฬส (10) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่นในการอำนวยการบริหารหรือควบคุมการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามที่ผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมาย โดยผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง และเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนั้นๆ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย

และเมื่อเทียบเคียงกับข้าราชการการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองตามมาตรา 4 (11) แห่ง พ.ร.บ.ข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกัน และถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นกันแล้ว บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรณีที่กรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ย่อมมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามข้อ 3 (6) แห่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2546 ที่ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยในขณะเดียวกัน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/maticho

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2378&Key=hotnews

Leave a Comment