กสทช. ต้องตอบโจทย์สังคม

กสทช. ตอบโจทย์สังคม เรื่องทีวีสาธารณะในระบบดิจิทัล ได้ไหม
จาก กรุงเทพธุรกิจ 3 เมษายน 2556

วนิดา วินิจจะกูล
วนิดา วินิจจะกูล

มีกี่คนที่รู้และเข้าใจว่า… กสทช. มีประกาศ เรื่อง แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัล และ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555

ซึ่งทั้ง 2 ประกาศนี้ มีผลบังคับใช้แล้ว เพราะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปลายปีที่แล้ว

การที่ประชาชนไม่ติดตามกฎหมายก็คงไม่น่าแปลกใจ แต่สำหรับ 2 ประกาศนี้ และระเบียบอื่นๆ ที่สืบเนื่องกัน เป็นเรื่องที่ทุกคนปล่อยผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะจะส่งผลต่อสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน และลูกหลานของเราอย่างมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เพราะจะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของคนทั้งประเทศ เป็นทีวีสาธารณะ ในระบบดิจิทัล จำนวน 12 ช่อง ไปให้กับผู้ประกอบการทีวีวิทยุ ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ๆ ที่อยากจะเข้ามาแบ่งเค้กก้อนนี้ (ความจริงยังมีทีวีช่องธุรกิจอีกที่ยังต้องถกเถียงกันอีกเยอะ)

จากวงเสวนา “ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิทัล : กสทช.ควรทำอย่างไรให้บรรลุเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ” และจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในกลุ่มนักวิชาการ หัวข้อ “การปฏิรูปสื่อในทีวีดิจิทัลสาธารณะ : รูปแบบที่ควรจะเป็น

มีหลายประเด็นที่ กสทช. ต้องออกมา “ตอบ
จะงุบงิบทำไป แบบค้านสายตาคนดู คงจะไม่ได้

เบื้องต้นขอให้ข้อมูลไว้ก่อนว่า กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ที่ กสทช. กำหนดจะให้ใบอนุญาตสำหรับกิจการบริการสาธารณะ มี 3 ประเภท

กิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 1 ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ สุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

กิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 2 ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ

กิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 3 ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชนและรัฐสภากับประชาชน การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่น

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ประชาชนอย่างเราๆ เกิดคำถาม ข้อสงสัย อะไร หรือไม่ ?

แต่ในวงเสวนา ฟันธง ตรงไปถึง กสทช. ว่าต้องตอบ อย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

กสทช. จะนิยามคำว่า “กิจการบริการสาธารณะ” ว่าอย่างไร และเหมือนหรือต่างจาก “ทีวีสาธารณะ” อย่างไทยพีบีเอส อย่างไร ตลอดจนเรื่องรูปแบบรายการ สัดส่วนรายการ ผังรายการ กลไกการกำกับดูแล เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อเนื้อหาสาระ คุณภาพของรายการ และเป็นเงื่อนไขการหารายได้ของแต่ละช่อง

กิจการฯ ประเภทที่ 2 เขียนไว้ไม่เกิน 2 บรรทัด แต่ กสทช. กำหนดจะให้ใบอนุญาตถึง 2 ช่อง ซึ่งขณะนี้ กองทัพบก ช่อง 5 ประกาศตัวชัดเจนมาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่แล้วว่า จะยื่นขออนุญาตเพื่อให้ช่อง 5 เป็นช่องเพื่อความมั่นคงของรัฐ เรียกว่า ประกาศไว้ ใครก็ห้ามแย่ง แล้วล่าสุด กสทช.ก็ให้สิทธินั้นไปแล้วโดยอัตโนมัติ

ส่วนอีกช่อง ที่บอกว่าเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ก็คาดเดากันได้อย่างไม่น่าพลาดว่า โทรทัศน์ตำรวจ คงขอจอง

ข้อสังเกตที่คาใจมากที่สุดอีกเรื่อง คือ การที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2551 มาตรา 9 และ 11 เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงหารายได้จากการให้เช่าเวลาได้ไม่เกินร้อยละ 40 และการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ ซึ่งสถานีวิทยุจุฬาฯ บอกว่าแค่ร้อยละ 20 เขาก็อยู่ได้สบายๆ แล้ว และถ้าสถานีจะดำเนินการเองเพียงร้อยละ 60 เช่นนี้ควรจะยังเรียกว่า “กิจการบริการสาธารณะ” อีกหรือ ?

นอกจากนี้ เรื่องที่ กสทช. ควรต้องตอบด้วยในเชิงของการปฏิรูปสื่อ คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีสาธารณะครั้งนี้ จะทำให้เกิดการจัดสรรโครงสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างไร ให้ถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิรูปสื่อที่เรียกร้องกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540

ม. เนชั่น และเหล่านักวิชาการทางสายนิเทศศาสตร์ ที่เข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศ
จึงทำข้อเสนอถึง กสทช. ขอให้ “ตอบโจทย์” สังคมในเรื่องเหล่านี้
ผลจะเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันติดตาม !

http://bit.ly/10rHgYQ

http://blog.nation.ac.th/?p=2552

Leave a Comment