Daily News Flash – iSnap คือ คำตอบ
โดย : จักร์กฤษ เพิ่มพูล
http://bit.ly/1hyQZ6R
ความพยายามที่จะค้นหา นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นทางออกให้กับหนังสือพิมพ์ อย่างน้อยเมื่อกลุ่มโพสต์ เปิดพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์เป็นเจ้าแรก
เมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราเร่งที่เร็ว และแรงกว่า เมื่อกิจการหนังสือพิมพ์เผชิญกับยุคที่สื่อกระจายเสียงและภาพเข้ามาสู่สังคมไทย และเคลื่อนผ่านไป โดยที่สื่อหนังสือพิมพ์ก็ยังอยู่ได้ ปรากฏการณ์ในห้วงเวลานั้น ทำให้เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หลายแห่งนอนใจ และเชื่อว่าถึงอย่างไรหนังสือพิมพ์ก็ยังไม่ตาย
แต่ความมั่นใจนั้น อยู่ได้ไม่นาน ยอดขายหนังสือพิมพ์ที่ปักหัวลง เป็นอัตราผกผันกับการเติบโตขยายตัวของสื่อออนไลน์ ส่งสัญญาณเตือนให้เจ้าของกิจการพิมพ์ มองหาเครื่องมือที่จะช่วยฟื้นความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง ข้อเสนอของนักวิชาการ ที่ให้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวในรูปแบบของข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน หรือ Investigative Reporting เพื่อสร้างความต่าง และแข่งขันกับสื่อออนไลน์ในเชิงลึก ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ตรงกันข้าม เมื่อนักข่าวพลเมือง ในสื่อสังคมออนไลน์ โพสต์ภาพและเรื่องราวต่างๆ อย่างคึกคัก ทั้งกรณี เสก โลโซ เณรคำ หรือเรื่องของดาราสาว ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น หนังสือพิมพ์ก็หยิบฉวยข่าวเหล่านั้น ไปขยายความต่อ หนังสือพิมพ์กระแสหลักกลายเป็นสื่อชั้นสอง ที่ทำมาหากินกับความฉวบฉวย โดยไม่สนใจความถูกผิดอีก
ภาวะกลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึงนี้ อาจยกเว้นกรณี หนังสือพิมพ์แนวการเมืองเข้ม เช่น หนังสือพิมพ์แนวหน้า ไทยโพสต์ ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่อดีตหนังสือพิมพ์คุณภาพการเมืองเข้ม บางฉบับถดถอยลง
แน่นอนว่า สื่อออนไลน์ยังตอบโจทย์ทางธุรกิจไม่ได้ชัดเจน แต่พฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุค I หนังสือพิมพ์กลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขา บรรดาเจ้าของกิจการทั้งหลายที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็มุ่งไปที่สื่อใหม่ๆ พื้นที่โฆษณาของหนังสือพิมพ์ที่อย่างน้อยต้องมี 70 เปอร์เซ็นต์ สั่นคลอน หลายฉบับมุ่งไปที่งบโฆษณาภาครัฐ ที่เป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรม และตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม
การทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ที่เงียบงัน นอนนิ่งไม่ไหวติง กลับมามีชีวิต ชีวามากขึ้น ก็ต้องทำให้ตัวหนังสือและภาพนิ่ง แปรรูปเป็นภาพและเสียงได้ และนั่นก็อาจเป็นผลให้กลุ่มคนอ่านหนังสือพิมพ์ รวมทั้งผู้ลงโฆษณา หันกลับมามองและให้ความสำคัญกับสื่อหนังสือพิมพ์ในรูปแบบของมัลติมีเดีย ด้วยความเชื่อว่า ผู้รับสารจะได้ครบในสิ่งที่เขาต้องการ ทั้งภาพและเสียง ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว และนั่นเป็นที่มาของ iSnap ของกลุ่มเนชั่น และ Daily News Flash เมื่อต้นปีนี้
แต่ หากดูพฤติกรรมของผู้รับสาร โดยไม่ต้องอิงกับทฤษฎีและหลักคิดใด หากผู้รับสารต้องการสื่อที่เป็นภาพและเสียง เหตุใดเขาจะต้องดูผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีขั้นตอน มีความยุ่งยากมากกว่า และต้องอาศัยสมาร์ทโฟนที่มีราคาแพง และคนโดยทั่วไปยังเข้าไม่ถึง ผลสัมฤทธิ์หรือประสิทธิภาพของการสื่อสาร จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างสารที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อไปยังผู้รับสาร หากการรับรู้ความหมายผิดไป ก็ไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดูภาพ ฟังเสียง หรือแม้กระทั่งดูโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์
เมื่อเริ่มเปิดตัว “เดลินิวส์แฟลช” ผู้บริหารอธิบายว่า เป็นอีกหนึ่งของเทคโนโลยี ที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ร่วมมือกับบริษัท เวฟยี (ไทยแลนด์) จำกัด ทำแอพพลิเคชันมัลติมีเดีย เพื่อเชื่อมโยงสื่อหนังสือพิมพ์กับมัลติมีเดียอย่างวีดิโอหรือคลิปเข้าด้วยกัน โทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” ที่โหลดแอพพลิเคชันฯเวฟอายส์ จากนั้นเพียงแค่นำโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ไปถ่ายภาพที่มีสัญลักษณ์ “เดลินิวส์แฟลช” ปรากฏอยู่ในภาพข่าวหน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็สามารถตอบสนองความต้องการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและผู้อ่านได้อย่างครบถ้วนเสมือนหนึ่งได้เข้าไปอยู่ร่วมรับรู้ได้สัมผัสความจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นวิธีการที่ง่ายกว่า iSnap ที่อาศัยพฤติกรรมชอบถ่ายรูปของคนไทย
ผ่านมาแล้ว ราวครึ่งปี เดลินิวส์แฟลช หายไป ในขณะที่ iSnap ยังอยู่ ไม่ว่าคำตอบแท้จริงจะเป็นอย่างไร แต่ความพยายามที่จะหาทางออกให้กับสื่อหนังสือพิมพ์ ก็ยังคงเป็นความพยายามอยู่ หลุมดำของโลกดิจิทัล มีเดีย กำลังดูดกลืนทุกสิ่ง
http://bit.ly/1hyQZ6R
Tags : จักร์กฤษ เพิ่มพูล