ครูภาคเหนือชี้ยุบโรงเรียนเด็กเล็กมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

10 พฤษภาคม 2556

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาภาคเหนือ ชี้ยุบโรงเรียนเด็กเล็กมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยผู้บริหารโรงเรียนในอ.ฝาง มองว่า การยุบโรงเรียนต้องคำนึงให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ครูในอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอย ไม่เห็นด้วยยุบโรงเรียนในท้องถิ่นธุรกิจกันดาร เพราะเด็กอาจต้องเดินทางไกล และทำให้การขยายโอกาสทางการศึกษาลดลง

ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า นโยบายยุบรวมโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการนั้นมาจากการที่โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีคุณภาพการศึกษาต่ำ โดยผลการประเมินของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่จะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากมีจำนวนครูไม่เพียงพอและไม่ครบถ้วนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่กระทรวงกำหนดไว้ เมื่อประกอบกับการจัดสรรงบประมาณที่ต้องใช้ในโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ซึ่งรัฐอาจจะมองว่าไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ภาครัฐเห็นว่าควรมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกันจะทำให้รัฐไม่ต้องกระจายงบประมาณออกไปในหลายๆ จุด และทำให้แต่ละโรงเรียนได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถนำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์กับการเรียนการสอนได้มากกว่าและคุ้มค่ากว่า

ขณะเดียวภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในส่วนของบุคลากรระดับสูงก็จะลดลงด้วย กล่าวคือหากเป็นไปตามลักษณะเดิมรัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย งบประมาณที่โรงเรียนได้รับในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวนั้นก็จะมีจำนวนไม่มากและไม่เพียงพอในการใช้งาน การใช้วัสดุอุปกรณ์ก็อาจจะไม่คุ้มค่า และยังมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากรระดับสูงอย่างผู้บริหาร แต่เมื่อยุบรวมโรงเรียนแล้ว งบประมาณที่ได้รับก็จะสูงขึ้นซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เช่นเดียวกับการใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนที่จะคุ้มค่ากว่า รวมไปถึงยังลดค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนผู้บริหารไปได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของสังคมแล้ว การยกเลิกหรือยุบรวมโรงเรียนอาจสร้างความไม่สบายใจและความไม่พอใจให้กับสังคมในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนจะวิตกว่าการจัดการศึกษาในพื้นที่จะหายไป หรือนักเรียนจะประสบปัญหาในการเดินทางไปศึกษายังสถานศึกษาแห่งใหม่ อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดของกระทรวงได้ชี้แจงแล้วว่าอาจจะมีการจัดหารถตู้หรือรถรับส่งเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งหากสามารถจัดการในส่วนนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าประชาชนสามารถยอมรับได้
ผู้บริหารคนดังกล่าวระบุว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรจะพิจารณาควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายยุบรวมโรงเรียน ได้แก่ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการศึกษาด้วย เนื่องจากจะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของพื้นที่ ซึ่งจะดีกว่าการรวมการบริหารและตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางที่ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ ดังจะเห็นได้จากกรณีการยุบรวมโรงเรียนซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ลงมือดำเนินการอย่างจริงจัง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับชุมชนและมีผลต่อฐานคะแนนเสียง รวมทั้งมีการต่อต้านจากบุคลากรระดับสูงที่เห็นว่าการยุบรวมโรงเรียนจะส่งผลให้การก้าวสู่ตำแหน่งในระดับบริหารเป็นไปได้ยากขึ้น

ผู้บริหารคนดังกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หากภาครัฐตัดสินใจที่จะเดินหน้าแนวทางการยุบรวมโรงเรียนจริง ควรจะดำเนินการใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า โรงเรียนมีปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา ในพื้นที่ใกล้เคียงมีโรงเรียนที่สามารถรองรับนักเรียนได้โดยไม่ลำบากในแง่การเดินทางมากจนเกินไป และทั้งบุคลากรทางการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ยอมรับ ก็สามารถดำเนินการยุบรวมได้เลย แต่หากมีข้อจำกัดในแง่ของโรงเรียนใกล้เคียงที่จะรองรับ หรือประชาชนยังต้องการที่จะมีสถานศึกษาในพื้นที่ของตนอยู่ ก็ควรดึงเอาประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปว่าควรจะดำเนินการอย่างไร โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนหากจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และในขณะเดียวกันบุคลาการทางการศึกษาก็ต้องปรับตัวเพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ด้านครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ ยกตัวอย่างในพื้นที่ที่สอนอยู่ปัจจุบัน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กสัญชาติไทย เชื้อสายกะเหรี่ยง ทั้งตำบลมีโรงเรียนอยู่ 3 แห่ง แต่ว่าการเดินทางระหว่างโรงเรียนแต่ละโรงเรียน และจากบ้านของนักเรียนไปโรงเรียนมีความยากลำบากทุรกันดารมาก เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา การคมนาคมไม่สะดวก นักเรียนบางคนต้องใช้เวลาถึง 1 วัน 1 คืนในการเดินทางจากบ้านมาเรียนที่โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านและทำให้จำเป็นต้องพักนอนที่โรงเรียน

ทั้งนี้แม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีจำนวนนักเรียนไม่มาก แต่เห็นว่าการที่มีโรงเรียนกระจายกันตั้งอยู่ใกล้บ้านของนักเรียนมากที่สุด น่าจะจูงใจให้ผู้ปกครองสนับสนุนการเรียนของบุตรหลานมากกว่า และเป็นการขยายการศึกษาให้เข้าถึงเด็กมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่สูงที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทภูเขาเช่นที่อำเภอแม่สะเรียงนี้ ซึ่งหากมีการยุบรวมโรงเรียนยอมรับว่า มีความเป็นห่วงว่าผู้ปกครองและนักเรียนในพื้นที่บางส่วนอาจจะเลือกที่จะทำงานเลี้ยงชีพมากกว่าเรียนหนังสือ

ส่วนที่มีการระบุว่าหากมีการยุบโรงเรียน แล้วจะมีการจัดรถรับส่งนักเรียนให้เดินทางระหว่างบ้านกับโรงเรียนได้อย่างสะดวกนั้น ครูคนเดียวกันนี้ แสดงความเห็นว่า หากเป็นพื้นที่ในเขตตัวเมืองที่ถนนหนทางสะดวกการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีดังกล่าวน่าจะสามารถทำได้ แต่ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทำเช่นนั้นได้แน่ เพราะสภาพพื้นที่ยังทุรกันดารมาก
ทั้งนี้ มองว่าแทนที่จะนำเงินในการจัดหารถไปใช้รับส่งนักเรียนในกรณีที่จะยุบโรงเรียน น่าจะนำเงินส่วนนั้นไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานและสิ่งจำเป็นต่างๆ ในกับโรงเรียนที่อยู่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกลมากกว่า เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลเหล่านั้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องยุบโรงเรียน

“ในฐานะที่เป็นครูผู้สอนและปฏิบัติหน้าที่อยู่จริงในพื้นที่ มองว่าสำหรับในพื้นที่ห่างไกลแล้ว การยุบโรงเรียน ที่แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กนักเรียนไม่กี่คน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับจะยิ่งกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กมากกว่า ทั้งนี้มองว่าการยกระดับ และพัฒนาพัฒนาการศึกษาสามารถทำได้ด้วยการสนับสนุนสิ่งจำเป็นที่โรงเรียนขาดแคลนมากกว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอเท่านั้น” ครูคนเดียวกันนี้ กล่าว
ขณะที่นักวิชาการการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น น่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะสำหรับตัวเด็กนักเรียน เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาไม่ทั่วถึงได้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้วโรงเรียนส่วนใหญ่ที่จะเข้าข่ายถูกยุบส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั้งสิ้น ซึ่งนอกจากปัญหาในเรื่องการศึกษาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของนักเรียนด้วย จากการที่ต้องเดินทางไกลขึ้น ซึ่งเห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะต้องมีการทบทวนและพิจารณาแนวความคิดนี้อย่างรอบคอบและรอบด้าน

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32669&Key=hotnews

ชี้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มภาระให้เด็กผู้ปกครอง-ทำลายชุมชน

10 พฤษภาคม 2556

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-บุคคลากรทางการศึกษาในภาคอีสาน ไม่เห็นด้วยยุบโรงเรียนเด็กเล็ก คาดกระทบพ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กแน่ เพราะต้องไปเรียนไกลขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตลอดจนทำลายวิถีชุมชน ชี้นโยบายนี้เป็นเรื่องทางการเมือง เชื่อการศึกษาจะมีคุณภาพหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ขนาดหรือจำนวนนักเรียน แต่อยู่ที่ผู้บริหาร และผู้คุมนโยบาย

small classroom
small classroom

http://www.psychtronics.com/2012/08/smaller-school-classes-increases.html

นายปัญญา แพงเหล่า ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 จ.อุบลราชธานี แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกัน เพราะทำให้เสียเสาหลักของบ้านเมืองคือ บ.ว.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่สืบทอดกันมานานเป็นร้อยปี และเป็นการทำร้ายจิตใจผู้ปกครองของนักเรียนอย่างรุนแรง เพราะโรงเรียนตามหมู่บ้าน ถือเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชุมชนนั้น การไม่มีโรงเรียนเหลืออยู่ในหมู่บ้าน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองรับไม่ได้แน่นอน

การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ยังสร้างผลกระทบในการเดินทางไปเรียนของนักเรียนที่เป็นเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กตามชนบทที่การคมนาคมยังเป็นถนนฝุ่น ถนนลูกรังเป็นส่วนมาก ฤดูฝนทำให้การเดินทางไปโรงเรียนลำบาก และยังเป็นการเพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองที่ต้องส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน

นายปัญญา ยังตอบคำถามกรณีครูผู้สอนอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่อย่างไรก็ยังมีโรงเรียนให้สอนอยู่ดี แต่ผลกระทบตกอยู่กับเด็กนักเรียนและชาวบ้าน หากคิดว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมารวมกันเป็นเรื่องดี ทำให้คุณภาพการสอนดีขึ้น อยากให้ทดลองทำจังหวัดละ 1 โรงเรียน เป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา แล้วให้วัดผลก็จะรู้ว่าการยุบรวมกันไม่ได้ทำให้เรียนการสอนดีขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับจุดประสงค์ที่ต้องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก นายปัญญามองว่า เป็นเรื่องของนักการเมืองที่มองมุมเดียว ต้องการให้มีแต่โรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อบริหารจัดการเงินงบประมาณได้ง่าย ทั้งที่ความจริงโรงเรียนขนาดเล็กชุมชนเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าน้ำค่าไฟมานานแล้ว ไม่ต้องใช้จ่ายงบประมาณที่รัฐจัดให้ด้วยซ้ำไป
ดังนั้น การอ้างค่ารายหัวของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่รัฐจัดให้ จึงไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเกมของนักการเมือง เหมือนการยุบเขตการศึกษาทั่วประเทศมารวมกันกว่า2 ปี แต่คุณภาพการศึกษาไม่ได้ดีขึ้นเหมือนที่พูดไว้ ตรงข้ามกลับแย่ลงเรื่อยๆ นักการศึกษารายนี้ให้ความเห็นไว้

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน และอยู่ในข่ายที่ต้องถูกยุบประมาณ 150 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมดกว่า 1,300 แห่ง

ดร.อุทัย ปลีกล่ำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเลยตาดโนนพัฒนา อ.ภูหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลยเขต 2 จ.เลย กล่าวว่า โรงเรียนนั้นอยู่ร่วมกับชุมชนมานาน มีการช่วยเหลือ ดูแลและมีการประสานงานในด้านต่างๆ ด้วยกัน เดิมนั้นเรามี บ้าน วัด โรงเรียน ที่อยู่ด้วยกันมาตลอด โรงเรียนนั้นเป็นศูนย์รวมการประสานความร่วมมือและการพัฒนาชองหมู่บ้าน ในหมู่บ้านซึ่งจะขาดไม่ได้ตรงนี้ ไปก็คงลำบาก

ส่วนข้อดี หากมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจริง ๆ นั้น โรงเรียนไหนที่มีครูน้อย การจัดการไม่ครอบคลุม การเรียนการสอนก็อาจจะไม่คุ้มค่า หากจะมีการยุบโรงเรียนก็น่าจะมาบอกกันล่วงหน้าหลายๆ ปี ไม่เร่งรีบจนเกินไป หากจะยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ก็จะต้อง ศึกษาดีๆ หากจะยุบก็ให้ยุบโรงเรียนที่มีน้อยไปมาก ไม่ควรตั้งมาจาก 60 คน หากจะยุบจริงก็ให้ยุบโรงเรียนที่มีครู แค่ 1 หรือ 2 คน และให้เวลาโรงเรียนหรือชุมชนเหล่านั้นปรับตัว

ด้าน นายมงคล ชูทิพย์ ผู้อำนวยโรงเรียนมโนบุเรศรบำรุงการ เลขที่ 268 หมู่ที่ 1 ถนนเลย -ด่านซ้าย บ้านไร่ม่วง ต.น้ำหมาน อ.เมืองเลย จ.เลย สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลยเขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนนั้นผูกพันกับชุมชนมาช้านาน ยิ่งโรงเรียนนี้แล้ว ชาวบ้านมีความภาคภูมิใจในชื่อโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนนี้ก็มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ชื่อพระราชทาน จากสมเด็จย่า ชาวบ้านหวงแหนและถือเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดเลย มีความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาวบ้านในหมู่บ้านสามารถร่วมแก้ปัญหาในชุมชนและโรงเรียนได้ เป็นจุดบริการชุมชนในด้านวิชาการต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โรงเรียนเป็นเหมือนสถาบันในหมู่บ้าน
ขณะที่แหล่งข่าวระดับรองผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง แถบชานเมืองขอนแก่น กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการว่า หากมองในประเด็นยุบแล้วนำเด็กนักเรียนและครูไปรวมกับโรงเรียนขนาดที่ใหญ่กว่าที่ตั้งอยู่ไม่ไกลชุมชนเดิมของเด็กมากนัก ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ปกครองมากนัก

แต่ทั้งนี้กระทรวงศึกษาฯ ต้องชัดเจนในแนวทางปฏิบัติว่า หลังยุบรวมโรงเรียนแล้วจะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ยุบรวมกันแล้วการเรียนการสอนยังเหมือนเดิม งบพัฒนาครู งบจัดซื้ออุปกรณ์เสริมทักษะเด็กไม่ได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะยิ่งโรงเรียนใดมีเด็กนักเรียนน้อยและมีครูผู้สอนในอัตราส่วนที่พอเหมาะกับจำนวนนักเรียน ครูที่มีอยู่สามารถที่จะทุ่มเทความรู้ความสามารถทุ่มเทเวลาสอนเด็กได้เต็มที่ เมื่อเด็กมีน้อยการดูแลการสอนก็ทำได้อย่างทั่วถึง ดีกว่าโรงเรียนชื่อดังในตัวเมืองเสียอีก เพราะโรงเรียนยิ่งดังเด็กนักเรียนยิ่งเยอะการเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่เท่ากับโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดเล็กควรได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเป็นพิเศษ
การจัดการบริหารการศึกษาจะมีคุณภาพหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ขนาดของโรงเรียนหรือจำนวนนักเรียนว่าจะมีน้อยหรือมาก อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารมากกว่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีและผู้ใหญ่ในกระทรวงผู้กำหนดแนวนโยบายว่าใส่ใจจริงจังที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนมากน้อยแค่ไหนมากกว่า

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32668&Key=hotnews

สภาการศึกษาทางเลือกเตรียมจัดหนัก “พงศ์เทพ” หากไม่เลิกยุบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก

10 พฤษภาคม 2556

สภาการศึกษาทางเลือก จวก ศธ.ผุดนโยบายยุบควบรวม ร.ร.ขนาดเล็กแก้ปัญหาปลายเหตุ ทั้งที่ต้นเหตุมาจากการบริหารจัดการของ ศธ.ที่ไร้ประสิทธิภาพ ลั่นไม่ยกเลิกแนวทางดังกล่าว เตรียมประสานองค์กรศึกษาทั่วประเทศจัดหนัก “พงศ์เทพ”

นายสมบูรณ์ รินท้าว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จ.น่าน ในฐานะประธานชมรมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน จำนวน 14,186 แห่ง ว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยยกประเด็นเรื่องคุณภาพ ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาและทางการบริหารให้เลย ทั้งครู อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะการนำผลคะแนนทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาเป็นตัวตัดสินยิ่งใช้ไม่ได้ในเวลานี้ เพราะหากติดตามผลการทำงานของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นรายโรงไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบว่าในปีการศึกษา 2555 นี้คะแนนโอเน็ตของเด็กป.6 ดีขึ้นติดอันดับต้น ๆ ของจังหวัดด้วยซ้ำ เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์บางโรงเรียนทำได้สูงขึ้นถึง 40% และหลายวิชาก็ได้ค่าเฉลี่ยสูงกว่า 5% ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดด้วย หรือแม้การรับรองคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบที่ 3 ปัจจุบันก็มีโรงเรียนขนาดเล็กได้รับการรับรองด้วย นั้นเพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งได้ทำให้เห็นแล้วว่าคุณภาพของเด็กดีขึ้น แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรก็ตาม

“เมื่อยกเหตุผลเรื่องไร้คุณภาพเพื่อยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และยังปัญหางบประมาณที่มีจำกัดอีก แต่เสนอการแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถตู้เพื่อรับส่งนักเรียน ถามว่าการซื้อรถตู้กรณีนี้ปัญหาที่จะตามมา คือ ค่าน้ำมัน ค่าคนขับ ค่าซ่อมแซม ค่าเสื่อมราคา เหล่านี้ใครจะมาเป็นคนรับผิดชอบ แล้วจะช่วยลดงบประมาณได้จริงไหมก็ไม่จริง แล้วถามต่อว่าเงินค่าน้ำมันจะเอามาจากที่ไหน ถึงบอกว่าจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจ่าย แต่เอาเข้าจริงอปท.ก็ไม่ได้มีรายได้นอกเหนือจากงบประมาณอุดหนุนเพียงอย่างเดียว แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายมาสนับสนุนค่าน้ำมันรถรับส่งนักเรียนได้ เพราะฉะนั้น เหตุผลและวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพดีขึ้น” นายสมบูรณ์ กล่าว

นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญการยุบโรงเรียนทิ้ง หรือการควบรวมยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าส่วนกลางใช้ทรัพยากรบุคคลได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะหากยุบโรงเรียนแล้วกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน ครูที่ไม่มีตำแหน่งที่ลงจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ไม่มีที่ลง ทั้งที่ หากยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ยังสามารถทำประโยชน์และพัฒนาโรงเรียนได้เต็มศักยภาพมากกว่า

“ยกตัวอย่างง่ายๆ กลุ่มของพวกผมรวมตัวกันมาแต่ปี 2554 เคยยื่นเรื่องขอกับทางต้นสังกัด สพฐ.เพื่อบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นโรงเรียนชุมชน เราเสนอของบประมาณ 200,000 บาทต่อปีนำมาบริหารจัดการทั้งจ้างครูให้เพียงพอต่อการสอนเด็กแต่ก็ไม่เคยได้รับอนุมัติ แต่การจะจ่ายเงินซื้อรถตู้คันเป็นล้านบาทกลับซื้อได้ โดยที่ผ่านมาผมเคยไปรอพบ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่มีโอกาสได้พบ ล่าสุดเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นเช้าวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังหน้าห้อง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะผมมีความเชื่อว่าถ้า นายพงศ์เทพ ได้ฟังข้อเท็จจริงจะเข้าใจปัญหาและไม่สั่งยุบโรงเรียนแต่ก็ไม่ได้พูดคุยแต่อย่างใด” นายสมบูรณ์ กล่าว

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทั้งที่ต้นเหตุของปัญหามาจากการที่ ศธ.บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ จัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ไม่ทั่วถึงจากโรงเรียนในมือกว่า 3 หมื่นโรงทำไปมาจนกลายเป็นขนาดเล็กไปกว่า 1.7 หมื่นโรง เพราะให้ความสำคัญแต่การดูแลพัฒนาเด็กโรงเรียนในเมือง แต่หลงลืมโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ชายแดนต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมทางการศึกษาที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องเผชิญอย่างชัดเจน ดูได้จากเงินอุดหนุนรายหัว จำนวนครูที่น้อยมีไม่ครบชั้นแต่ภาระงานการสอนกับต้องสอนเท่ากับโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่มีพร้อม ทั้งยังถูกมองว่าไม่มีคุณภาพการศึกษาโดยไปยกตัวอย่างจากคะแนนโอเน็ต ซึ่งในความจริงภาพรวมคะแนนโอเน็ตของเด็กทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ขณะที่ตนได้คุยกับผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งกลับพบว่า เด็กของโรงเรียนเหล่านี้ทำคะแนนโอเน็ตได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้น ปัญหาไม่ใช่ที่คุณภาพ แต่เป็นการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพจนทำให้โรงเรียนขนาดเล็กกลายเป็นแพะรับบาป
นายชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า ศธ.ควรพิจารณาปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง นั่นคือการบริหารงานของ ศธ.ที่กระจุกตัวส่วนกลางไม่กระจายอำนาจ กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม สุดท้ายก็ดูแลไม่ได้ทั่วถึง ทั้งที่ในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หรือแม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ก็ระบุชัดเจนว่า ศธ.จะต้องกระจายอำนาจ และลดบทบาทของตัวเองจากผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้สนับสนุนให้ท้องถิ่นมาร่วมจัดการศึกษา ไม่ใช่บริหารผิดแล้วก็มาจัดประชุมสั่งยุบโรงเรียนแบบนี้ คือ การทำงานแบบผิดทิศผิดทาง แล้วเดี๋ยวพอนานเข้ามีปัญหาก็สั่งยุบอีกเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

“ร.ร.ขนาดเล็กควรจะปรับพัฒนาให้เป็น ร.ร.ของชุมชน กระจายอำนาจออกไปให้ท้องถิ่นมาช่วยดูแลแบบนี้จึงจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก เพราะต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนเหล่านี้เกิดจากชาวบ้านที่เขาร่วมระดมทุน ร่วมสร้างมีความผูกพัน พอเด็กเหลือน้อยก็แก้ปัญหายุบทิ้งย้ายไปเรียนรวมที่อื่นเช่นนี้ผมมองว่าเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน ต้องคิดถึงใจชาวบ้านด้วย ขณะที่ สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดแม้ที่ผ่านมาจะพูดมาหลายรอบว่าการยุบจะต้องสำรวจก่อน แต่ปัญหาคือพอฝ่ายการเมืองมีทิศทางว่าจะยุบ ข้าราชการก็ตอบสนองนักการเมือง ตั้งธงยุบเป็นหลักตามเพราะฉะนั้น การจะทำอะไรต้องคุยกับผู้รู้ คนในพื้นที่เพื่อจะได้แก้ปัญหาตรงจุด โดยทางกลุ่มไม่ได้นิ่งนอนใจมีการหารือเพื่อกำหนดท่าทีหาก ศธ.ไม่ยุติหรือทบทวนเรื่องนี้ใหม่ ก็จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่แน่นอน” นายชัชวาลย์ กล่าว

นายชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทางสภาการศึกษาทางเลือก เคยพยายามติดต่อเพื่อขอเข้าพบ นายพงศ์เทพ แต่ก็ได้รับการเลื่อนนัดมา 2-3 ครั้งและเร็วนี้ ๆ จะพยายามประสานเพื่อขอพบและชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กต่อไป

นายวิทยา พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ รองประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ข่าวเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กได้สร้างความรู้สึกเจ็บปวดและหวั่นวิตกให้กับ ครู อาจารย์ ชาวบ้านทั่วประเทศ และจะให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ที่สำคัญนโยบายปิดโรงเรียนขนาดเล็กเป็นการฉีกกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศชาติ ซึ่งในมาตรา 49 กล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ทุพลภาพ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบากต้องใช้รับสิทธิตามวรรค 1และได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น ซึ่งตามกฎหมายมาตรานี้รัฐได้จัดให้โรงเรียนทั่วประเทศเพียงพอหรือยัง

“เมื่อ3 ปีที่ผ่านมานักเรียนจากจังหวัดหนองคายที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพ(มหิดลวิทยานุสรณ์) เกิดความเครียดจากการเรียน จุดไฟเผาห้องวิทยาศาสตร์มูลค่า130 ล้านบาท นี่คือโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนบ้านโคกอีแล้งมีนักเรียน 20 คน ได้เงินรายหัวแค่เล็กน้อย ตรงนี้เป็นปัญหาเรื่องความเสมอภาค นี่คือการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 มาตราที่ 4 ว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับด้วย”นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ประชากรได้เรียนอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีปัญหาความเท่าเทียม เสมอภาคระหว่างโรงเรียนอยู่ แต่ ศธ.กลับมีนโยบายยุบโรงเรียน นโยบายนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เมื่อถูกย้ายไปเรียนไกลบ้านเชื่อว่านักเรียนบางส่วนจะไม่ไปเรียน ดังนั้นเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กต้องถามชุมชนด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวมีครูโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนถึงขนาดจะนำผู้ปกครอง และนักเรียนเดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ทางส.ค.ท.จะรวบรวมนำเสนอนายกฯในคราวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชนได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของภาครัฐ โดยระบุว่า การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำ ดังนี้ 1.ความไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความล้มเหลวด้านหารบริหารจัดการศึกษาของ ศธ. 2.ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน 3.ความไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง 4.ความไม่เป็นธรรมต่อเด็กในการเรียนรู้ 5.ความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน และ 6.ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการศึกษาแบบรวมศูนย์ของรัฐ ซึ่งท่าทีและแนวทางนี้เป็นการหักหาญและทำลายหัวใจพ่อแม่และชุมชน

สำหรับการบริการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ สภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชนเสนอดงันี้

1. ศธ.ต้องกระจายอำนาจการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น และ

2. ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน ยกเลิกนโยบายยุบควบรวมดรงเรียนขนาดเล็ก หาก ศธ.ยังเดินหน้าเรื่องนี้ โดยไม่ฟังแนวทางจากภาคประชาชน สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษา ที่เป็นต้นตอของวิกฤตการศึกษาไทย

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32667&Key=hotnews

 

หลากหลายทัศนะ การยุบรวมโรงเรียนคือการตัดสินใจทำสิ่งที่ควรทำ

10 พฤษภาคม 2556

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์  หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กของ “ปราบ เลาหะโรจนพันธ์” มติชนออนไลน์เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์มันเป็นเรื่องง่ายมากจะพูดว่าคำสั่งยุบโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัดกว่า 6,000 แห่งเพื่อรวม 3-4 โรงเรียนเข้าด้วยกันนั้นนั้นทำลายคุณภาพการศึกษาแต่มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะอธิบายต่อไปว่าการมีอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันอย่างไรเพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่โรงเรียนซึ่งมีนักเรียนไม่ถึง 50 คน จะมีห้องสมุด มีห้องคอมพิวเตอร์ มีสื่อการสอน และสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆที่ดีเทียบเท่าโรงเรียนขนาดกลาง-ใหญ่ ที่มีนักเรียนเป็นร้อยเป็นพันคนไม่ต้องพูดถึงปัญหาขาดแคลนครูอันเกิดจากโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากที่ต้องการครูที่ดูแลนักเรียนเพียงไม่กี่คนคน ไม่สามารถแยกชั้นปี หรือแยกความเชี่ยวชาญเฉพาะวิชาได้หรือหากไม่ใช่เพราะในปัจจุบัน คุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กนั้นน้อยจนมองไม่เห็นอนาคตว่าเด็กที่เรียนจะสามารถแข่งขันกับโรงเรียนอื่นๆได้นอกจากนี้ ความจำเป็นของโรงเรียนขนาดเล็กลดน้อยลงไปทุกทีเมื่อทุกวันนี้เรามีถนนที่ดีขึ้น มีขนส่งมวลชน (เช่นรถสองแถว) มีมอเตอร์ไซค์ และต่างๆอีกมายที่ส่งผลให้คนในชุมชนนิยมส่งลูกไปเรียนโรงเรียนใหญ่ๆจนโรงเรียนใกล้บ้านมีนักเรียนเหลืออยุ่น้อยนิดแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างไรก็ตามแม้ข้อโต้แย้งบางประการจะดูฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย อาทิการที่โจมตีว่ารัฐบาลไม่มีเงินอุดหนุนโรงเรียนแต่มีเงินแจก tablet (เราต้องการให้รัฐบาลเอาเงินไปละลายแม่น้ำกับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีอนาคตและบั่นทอนโอกาสของเด็กๆด้วยความไร้คุณภาพของโรงเรียน หรือเราจะเอา tablet ที่เป็นอนาคตของการศึกษาเพราะโลกก็จะพัฒนาไปในทางนี้)แต่ข้อโต้แย้งในรายละเอียดบางประการก็น่ารับฟังอาทิ เราจะพัฒนาการขนส่งนักเรียนด้วยรถโรงเรียนอย่างไรเพื่อไม่ให้มีนักเรียนตกหล่นในบางพื้นที่ รถตู้ 1,000 คันจะเพียงพอหรือไม่และถึงที่สุดแล้วมีโรงเรียนไหนไม่ควรถูกยุบโดยส่วนผมมีโอกาสได้รู้จักโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่งในป่าชายเลนที่หมู่บ้านขาหย่าง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่มีนักเรียนเพียง 30 คน ทั้งหมดนี้เป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนการเดินทางมหาศาลวันละหลายร้อยบาทเพื่อการส่งลูกเรียนบนฝั่ง ในกรณีนี้ถ้าหากโรงเรียนบ้านขาหย่างถูกยุบ ครอบครัวชาวประมงกว่า 30 ครอบครัวออกจากโอกาสในการศึกษาที่อาจต้องรออีกหลายปีหรือหลายเจเนเรชั่นของตระกูลถึงจะมีเงินเพียงพอที่จะส่งลูกเรียนบนฝั่งได้แต่ในภาพรวมทั้งหมด การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเป็นสิ่งที่ต้องทำ มันเป็นหนทางหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อยกคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นจริงๆแล้วนโยบายนี้มีการนำเสนอมาหลายยุคหลายสมัยครับแต่รัฐมนตรีบางท่านไม่กล้าตัดสินใจเพราะกังวลคะแนนนิยมทางการเมืองจะลดหายลงไป.. เพียงแต่รัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้แค่ตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำเท่านั้นเอง… ตั้งแต่เรื่อง “ยกเลิกทรงผมเกรียน” แล้วครับ

–มติชนออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32665&Key=hotnews

ศธ.เตรียมชงร่างกฎกระทรวงกำหนดทรงผมนักเรียน

10 พฤษภาคม 2556

ศธ.ชงร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบทรงผมนักเรียนให้ ครม.เห็นชอบ เด็กชายปล่อยยาวห้ามเกินตีนผม ส่วนเด็กหญิงต้องม้วนเก็บให้เรียบร้อย ห้ามซอย ห้ามย้อม พร้อมเริ่มใช้ภาคเรียนแรกปี 2556

วานนี้(9พ.ค.)นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้เสนอร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับความประพฤติ การแต่งกายและแบบทรงผมของนักเรียนและนักศึกษา ให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบก่อนประกาศใช้ ซึ่งเนื้อหาในร่างกฎกระทรวงได้แบ่งเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 ความประพฤติ กำหนดให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่สังกัดอยู่และต้องไม่พฤติตน ดังต่อไปนี้ หนีเรียนหรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน พกพาอาวุธ หรือวัตถุอันตราย แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และโรงเรียนหรือสถานศึกษาอาจกำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและ นักศึกษาได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับหมวด2 การแต่งกาย นักเรียนและนักศึกษาต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับวัยและสภาพการเป็นนักเรียนและนักศึกษา นักเรียนต้องแต่งกายหรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบ นักเรียน นักศึกษาต้องแต่งกายหรือแต่งเครื่องแบบนักศึกษาตามข้อบังคับหรือระเบียบของสถานศึกษา และนักเรียน นักศึกษาไม่ใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งปลอมเพื่อเสริมสวย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็น ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียนหรือสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป และหมวด 3 แบบทรงผม กำหนดให้นักเรียนต้องไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาละเทศะ ดังนี้ 1.นักเรียนชายให้ไว้ผมด้านข้างและด้านหลังยาวไม่เลยตีนผมหรือผมรองทรงก็ได้ 2.นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย ห้ามนักเรียน ดัดผม ซอยผม ทำสีผม ไว้หนวดเครา หรือทำการอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน โดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้ไม่ใช้บังคับกับนักเรียนในสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและนักศึกษา โดยให้ไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาละเทศะตามข้อบังคับหรือระเบียบของสถานศึกษา

” ในหมวด 3 ยังระบุว่า หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไว้ทรงผมแตกต่างจากที่กำหนดไว้เนื่องจากมีความจำเป็นทางศาสนา ประเพณีหรือความจำเป็นอื่นใดก็ให้อยู่ในอำนาจของโรงเรียนเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้โรงเรียนอาจกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ โดยให้รับฟังความคิดเห็นหรือทำประชาพิจารณ์จากนักเรียนและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา” นางพนิตา กล่าวและว่า ในส่วนของหมวด 1 เรื่องความประพฤตินั้นเป็นเรื่องเดิมที่กำหนดไว้อยู่แล้วไม่ได้กำหนดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เช่น การห้ามออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะประกาศใช้ได้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2556นี้

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32664&Key=hotnews

เลขาธิการ กบข.คาดสมาชิกเดิมไม่ถึง 5% เลือกรับรับบำนาญสูตรเดิม

10 พฤษภาคม 2556

น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นคาดว่าข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะออกจากระบบ กบข. ไม่ถึง 5% เพื่อไปรับบำนาญสูตรเดิม

“สัดส่วน 5% ถือว่าไม่มากนัก จากที่กรมบัญชีกลางคาดว่าจะมีสมาชิกออกจากระบบไม่เกิน 30% โดยสมาชิกที่จะออกจะเป็นพวกอายุราชการเหลือน้อย และข้าราชการที่ได้เบี้ยทวีคูณ เช่น ทหาร ตำรวจ ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ถิ่นทุรกันดาร หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลตอบแทนในระบบเดิมคุ้มกว่า” เลขาธิการ กบข.กล่าว

ทั้งนี้ กบข.จะนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกประจำปี 56 ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 23 เม.ย.56 ที่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)โดยให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกเลือกกลับไปใช้สิทธิ รับบำเหน็จบำนาญแบบเดิม (พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494) ได้

น.ส.โสภาวดี กล่าวว่า ขณะนี้ กบข.อยู่ระหว่างเดินสายสัญจรให้ข้อมูลกับข้าราชการเกี่ยวกับการเสนอแผนการลงทุนระยะยาวของกบข.โดยจะเสนอให้นักลงทุนลงทุนแบบใหม่“แผนสมดุลตามอายุ” ตามความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนปัจจุบัน จากแผนการลงทุนเดิมที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อย เช่น ตราสารหนี้ในสัดส่วนไม่เกิน 60% และตราสารทุนไม่เกิน 40% ซึ่งต้องสำรวจความสนใจของสมาชิกก่อนว่ามีคนสนใจมากน้อยเพียงใด จากนั้นค่อยกลับมาพิจารณาว่าจะปรับแผนการลงทุนของกบข.เป็นแผนสมดุลตามอายุ เนื่องจากตอนนี้ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นดี ซึ่งแผนสมดุลตามอายุจะเหมาะเพราะปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นโดยอัตโนมัติ ตามช่วงอายุของสมาชิก

–อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32663&Key=hotnews

เด็กเตรียมฯ เข้ารัฐศาสตร์จุฬา แอดมิชชั่นสูงสุด 94.29%

10 พฤษภาคม 2556

เปิดคะแนนแอดมิชชั่น เด็กเตรียมอุดมศึกษา ซิวที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำแต้มสูงที่สุด 94.29 เปอร์เซ็นต์

วานนี้ (9 พ.ค.) ที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้มีการแถลงข่าวประกาศผลแอดมิชชั่น ปี 2556 โดยในปีนี้มีผู้สมัครทั้งสิ้น 113,410 คน สมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทยดำเนินการคัดเลือกให้รวม 91 สถาบัน เพื่อเข้าศึกษาใน 729 คณะ/สาขาวิชา ซึ่งผลการสอบพบว่า ผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดของคณะ/สาขาวิชา จำนวน 11 คน มีดังนี้

คะแนนสูงอันดับ 1 คือ นายสุธิวิชญ์ สร้อยสุวรรณ นักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนสอบ 94.29 เข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 2 คือ น.ส.พิมพิกา ประสานศักดิ์สกุล นักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนสอบ 90.06 เข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 3 คือ น.ส.ฌานิกา เลิศชัยวรกุล นักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนสอบ 89.89 เข้าคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 4 คือ น.ส.ชนม์นิภา นิ่มธุกะริยะ นักเรียนของโรงเรียนสระบุรีวิทยา ได้คะแนนสอบ 87.83 เข้าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คะแนนสูงอันดับ 5 คือ น.ส.ณิชนันทน์ ขันทะยา นักเรียนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คะแนนสอบ 86.62 เข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 6 คือ นายวีรประพันธ์ กิติพิบูลย์ นักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนสอบ 85.72 เข้าคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 7 คือ นายธนดล หิรัญวัฒน์ นักเรียนของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้คะแนนสอบ 84.12 เข้าคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 8 คือ นายจารุเดช บุญญสิทธิ์ นักเรียนของโรงเรียนจิตรดา ได้คะแนนสอบ 82.03 เข้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 9 คือ นายจิรวัฏ สมรักษ์ นักเรียนของโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน ได้คะแนนสอบ 80.51 เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนสูงอันดับ 10 คือ น.ส.ธันย์ชนก กล้าณรงค์ นักเรียนของโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้คะแนนสอบ 80.28 เข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คะแนนสูงอันดับ 11 คือ น.ส.เวธกา อภิภัทรานันต์ นักเรียนของโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ได้คะแนนสอบ 80.21 เข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทั้งนี้ สอท.พร้อมประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันนี้ (9 พ.ค.) โดยนักเรียนสามารถเข้าตรวจผลการคัดเลือกผ่านทางเว็บไซต์ www.cuas.or.th และเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ร่วมการประกาศผลอีก 17 แห่ง

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

รวม 22 ช่องทางสุดฮิต ประกาศผลแอดมิชชั่นปี 56 เริ่มลุ้นตั้งแต่บ่าย 3 วันที่ 9 พ.ค.นี้

9 พฤษภาคม 2556

วันนี้แล้ว (9พ.ค.) ที่จะมีการประกาศผลแอดมิชชั่น (admission) ประจำปี 2556 ซึ่งในปีนี้ก็ไม่ต่างจากปีก่อนๆ ที่น้องๆ ต่างตั้งหน้าตั้งตารอลุ้นกันมานานพอสมควร

เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่ตื่นเต้นไม่แพ้ลูกๆ ต่างเฝ้าหน้าจอติดตามมาหลายวันเหมือนกัน
บ้างก็มีข่าวลือว่าจะประกาศผลล่วงหน้า 1-2 วัน แต่ต้องตามลุ้นกันว่าเย็นวานนี้ (8พ.ค.) จะมีการประกาศผลสอบแอดมิชชั่นหรือไม่ แล้วจะมีวิธีไหนบ้างล่ะ ที่จะสามารถติดตามการประกาศผลสอบแอดมิชชั่นได้

เริ่มแรก ขอแนะนำวิธีทางเอสเอ็มเอส (SMS) และในปีนี้ทางสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) แจ้งว่า มีเพียง 2 เครือข่ายเท่านั้น ที่จะร่วมประกาศผลนั้นคือ ดีแทค (DTAC) และเอไอเอส (AIS) โดยจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ง่ายๆ ลูกค้าดีแทค เพียงกด *751*เลขที่สมัคร 7 หลัก # แล้วโทรออก สำหรับภาษาไทย หรือ *751*เลขที่สมัคร 7 หลัก*9 # แล้วโทรออกสำหรับแสดงผลเป็นภาษาอังกฤษ โดยระบบจะแจ้งผลการสอบกลับทาง SMS ให้ทราบ

ลูกค้าเอไอเอส เพียงลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทาง SMS โดยพิมพ์เลขที่ใบสมัคร 7 หลัก ส่งไปที่หมายเลข 4268855

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางประกาศผลผ่านทางเว็ปไซต์ ซึ่งในปีนี้ มีเว็ปไซต์ที่ให้บริการจำนวนมาก ดังนี้
1.สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย www.cuas.or.th
2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน http://gpa.moe.go.th
3.สมาคมนักเรียนเก่าบดินทรเดชา www.bodinzone.com
4.บริษัท ไล้ท์ ไดนามิค อินเตอร์แอคทีฟ www.mxphone.com
5.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ http://buadmissions.bu.ac.th
6.มหาวิทยาลัยศรีปทุม www.spu.ac.th
7.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ www.facebook.com/assumptionuniversity
8.มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย www.utcc.ac.th
9.มหาวิทยาลัยรังสิต www.rsu.ac.th
10.มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด www.stamford.edu
11.บริษัท eduzones ที่ www.eduzones.com
12.บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง จำกัด www.247friend.net
13.บริษัท วัฏฏะ คลาสสิฟายด์ส จำกัด www.elearneasy.com
14.บริษัท Mass Media Solution Co.,Ltd ที่ www.unigang.com
15.เด็กทาเล้นท์ดอทคอม www.dektalent.com
16.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) www.catclever.com
17.บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด http://campus.sanook.com/admission2013
18.เว็บไซต์ Sleipnir ที่ www.sleipnir.in.th
19.บริษัท ไล้ท์ ไดนามิค อินเตอร์แอคทีฟ www.entrance.in.th
20.เครือข่าย AIS www.ais.co.th/12call

ทั้งนี้ ช่องทางต่างๆ ดังกล่าว อาจมีหลายช่องทางก็จริง แต่ในการติดตามการประกาศผล ควรตรวจสอบจากเว็บไซต์หลักของ สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ www.cuas.or.th เพื่อความถูกต้องอีกครั้ง

โดยมีรายงานว่า บางเว็ปไซต์ อาจจะชิงประกาศผลก่อนตั้งแต่ เวลา 15.00 น. ขณะที่เว็ปไซต์หลักจะประกาศตอนเวลา 18.00 น.   ขอให้น้องๆ ทุกคนโชคดี
ขอบคุณข้อมูลจาก Dek-D.com

มติชนออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32652&Key=hotnews

รวม 22 ช่องทางสุดฮิต ประกาศผลแอดมิชชั่นปี 56 เริ่มลุ้นตั้งแต่บ่าย 3 วันที่ 9 พ.ค.นี้

9 พฤษภาคม 2556

วันนี้แล้ว (9พ.ค.) ที่จะมีการประกาศผลแอดมิชชั่น (admission) ประจำปี 2556 ซึ่งในปีนี้ก็ไม่ต่างจากปีก่อนๆ ที่น้องๆ ต่างตั้งหน้าตั้งตารอลุ้นกันมานานพอสมควร

เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่ตื่นเต้นไม่แพ้ลูกๆ ต่างเฝ้าหน้าจอติดตามมาหลายวันเหมือนกัน
บ้างก็มีข่าวลือว่าจะประกาศผลล่วงหน้า 1-2 วัน แต่ต้องตามลุ้นกันว่าเย็นวานนี้ (8พ.ค.) จะมีการประกาศผลสอบแอดมิชชั่นหรือไม่  แล้วจะมีวิธีไหนบ้างล่ะ ที่จะสามารถติดตามการประกาศผลสอบแอดมิชชั่นได้

เริ่มแรก ขอแนะนำวิธีทางเอสเอ็มเอส (SMS) และในปีนี้ทางสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) แจ้งว่า มีเพียง 2 เครือข่ายเท่านั้น ที่จะร่วมประกาศผลนั้นคือ ดีแทค (DTAC)และเอไอเอส (AIS) โดยจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ง่ายๆ ลูกค้าดีแทค เพียงกด *751*เลขที่สมัคร 7 หลัก # แล้วโทรออก สำหรับภาษาไทย หรือ *751*เลขที่สมัคร 7 หลัก*9 # แล้วโทรออกสำหรับแสดงผลเป็นภาษาอังกฤษ โดยระบบจะแจ้งผลการสอบกลับทาง SMS ให้ทราบ

ลูกค้าเอไอเอส เพียงลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทาง SMS โดยพิมพ์เลขที่ใบสมัคร 7 หลัก ส่งไปที่หมายเลข 4268855

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางประกาศผลผ่านทางเว็ปไซต์ ซึ่งในปีนี้ มีเว็ปไซต์ที่ให้บริการจำนวนมาก ดังนี้
1.สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย www.cuas.or.th
2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน http://gpa.moe.go.th
3.สมาคมนักเรียนเก่าบดินทรเดชา www.bodinzone.com
4.บริษัท ไล้ท์ ไดนามิค อินเตอร์แอคทีฟ www.mxphone.com
5.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ http://buadmissions.bu.ac.th
6.มหาวิทยาลัยศรีปทุม www.spu.ac.th
7.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ www.facebook.com/assumptionuniversity
8.มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย www.utcc.ac.th
9.มหาวิทยาลัยรังสิต www.rsu.ac.th
10.มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด www.stamford.edu
11.บริษัท eduzones ที่ www.eduzones.com
12.บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง จำกัด www.247friend.net
13.บริษัท วัฏฏะ คลาสสิฟายด์ส จำกัด www.elearneasy.com
14.บริษัท Mass Media Solution Co.,Ltd ที่ www.unigang.com
15.เด็กทาเล้นท์ดอทคอม www.dektalent.com
16.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) www.catclever.com
17.บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด http://campus.sanook.com/admission2013
18.เว็บไซต์ Sleipnir ที่ www.sleipnir.in.th
19.บริษัท ไล้ท์ ไดนามิค อินเตอร์แอคทีฟ www.entrance.in.th
20.เครือข่าย AIS www.ais.co.th/12call

ทั้งนี้ ช่องทางต่างๆ ดังกล่าว อาจมีหลายช่องทางก็จริง แต่ในการติดตามการประกาศผล ควรตรวจสอบจากเว็บไซต์หลักของ สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ www.cuas.or.th เพื่อความถูกต้องอีกครั้ง

โดยมีรายงานว่า บางเว็ปไซต์ อาจจะชิงประกาศผลก่อนตั้งแต่ เวลา 15.00 น. ขณะที่เว็ปไซต์หลักจะประกาศตอนเวลา 18.00 น.   ขอให้น้องๆ ทุกคนโชคดี ขอบคุณข้อมูลจาก Dek-D.com

มติชนออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32652&Key=hotnews

ครม.ขึ้นเงินเดือน พนง.มหาวิทยาในกำกับ

9 พฤษภาคม 2556

ครม.ไฟเขียวงบ 1.1 หมื่นล้านบาท ขึ้นเงินเดือน พนง.มหา’ลัยทั่วประเทศ มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือน ม.ค.55 หลังอั้นมานาน แม้จะมีหลายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่องกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่ ศธ.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มคุณวุฒิให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยจำนวน 54,801 คน จากมหาวิทยาลัย 79 แห่ง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,792,432,440 บาท ทั้งนี้ สำหรับในปีงบประมาณ 2556 ขอให้มหาวิทยาลัยใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของมหาวิทยาลัยเบิกจ่ายไปก่อน ขณะที่สำนักงบประมาณจะตั้งงบให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้เบิกจ่าย ดังนี้ พ.ศ.2555 จำนวน 3,014,836,290 บาท, พ.ศ.2556 จำนวน 4,260,969,010 บาท และ พ.ศ.2557 จำนวน 4,516,627,140 บาท แบ่งเป็นจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยพนักงานมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้งหมด 10,688 คน ใช้งบประมาณ 2,648,751,120 บาท, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จำนวน 4,263 คน ใช้งบประมาณ 1,062,998,880 บาท, มหาวิทยาลัยส่วนราชการ จำนวน 19,410 คน ใช้งบประมาณ 5,013,891,610 บาท และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ จำนวน 20,440 คน ใช้งบประมาณ 3,102,790,830 บาท

“การปรับงบประมาณเพิ่มเติมให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เหมือนเช่นที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการปรับเงินเดือนแรกบรรจุและเงินปรับเพิ่มตามคุณวุฒิ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย” นายพงศ์เทพกล่าว.

ที่มา: http://www.thaipost.net

! http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32650&Key=hotnews