สถาบันอุดมศึกษาเอกชนยังมีที่ว่าง

ดร. บัญชา  เกิดมณี
ดร. บัญชา เกิดมณี

14 พฤษภาคม 2556 ดร.บัญชา เกิดมณี นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาเอกชน สังกัด สสอท. จำนวน 61 แห่ง ยังมีที่นั่งเหลือ 92,100 คน เพื่อรองรับนักเรียนในปีการศึกษา 2556 ดังนั้นนักเรียนที่พลาดหวังจากการคัดเลือกในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลาง และยังไม่มีที่เรียน สามารถตัดสินใจเลือกเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ เนื่องจากการเรียนการสอน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีความพร้อม และมีคุณภาพไม่ต่างจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้วย

 

 

รวมข่าว admission
http://www.tlcthai.com/education/category/admission/admission-news

สำหรับที่นั่งที่เหลือในแต่ละสถาบันมีดังนี้

1 ม.รังสิต 7,156 คน
2 ม.กรุงเทพ 7,005 คน
3 ม.ศรีปทุม 5,159 คน
4 ม.หอการค้าไทย 5,092 คน
5 ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ 4,964 คน
6 ม.เกษมบัณฑิต 4,159 คน
7 ม.รัตนบัณฑิต 3,816 คน
8 ม.เซาธ์อีสบางกอก 3,672 คน
9 ม.เอเชียอาคเนย์ 3,635 คน
10 ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 3,373 คน
11 ม.สยาม 3,101 คน
12 ม.อัสสัมชัญ 2,789 คน
13 ว.ราชพฤกษ์ 2,025 คน
14 ม.เทคโนโลยีมหานคร 1,925 คน
15 ส.การจัดการปัญญาภิวัฒน์ 1,869 คน
16 ม.หาดใหญ่ 1,776 คน
17 ม.ปทุมธานี 1,683 คน
18 ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,626 คน
19 ว.เฉลิมกาญจนา 1,611 คน
20 ม.นอร์ทกรุงเทพ 1,549 คน
21 ม.พายัพ 1,485 คน
22 ว.สันตพล 1,400 คน
23 ม.ธนบุรี 1,297 คน
24 ม.อิสลามยะลา 1,269 คน
25 ม.การจัดการและเทคโนโลยีอิสเทิร์น 1,177 คน
26 ม.อีสเทิร์นเอเชีย 1,109 คน
27 ว.กรุงเทพสุวรรณภูมิ 1,109 คน
28 ม.วงษ์ชวลิตกุล 1,008 คน
29 ส.เทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 980 คน
30 ว.เทคโนโลยีสยาม 945 คน
31 ว.ดุสิตธานี 765 คน
32 ว.บัณฑิตเอเชีย 753 คน
33 ส.รัชต์ภาคย์ 745 คน
34 ม.กรุงเทพธนบุรี 734 คน
35 ม.เวสเทิร์น 719 คน
36 ว.เฉลิมกาญจนาระยอง 671 คน
37 ม.คริสเตียน 662 คน
38 ม.ราชธานี 657 คน
39 ม.ฟาร์อีสเทอร์น 570 คน
40 ม.นอร์ท-เชียงใหม่ 542 คน
41 ม.เจ้าพระยา 504 คน
42 ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด 495 คน
43 ว.เทคโนโลยีภาคใต้ 464 คน
44 ม.เกริก 423 คน
45 ม.ตาปี 414 คน
46 ว.อินเตอร์เทค ลำปาง 410 คน
47 ว.นครราชสีมา 382 คน
48 ว.นานาชาติเซนต์เทเรซา 298 คน
49 ม.เนชั่น 276 คน
50 ว.ทองสุข 267 คน
51 ม.พิษณุโลก 260 คน
52 ว.เชียงราย 249 คน
53 ม.นานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก 217 คน
54 ว.เซนต์หลุยส์ 212 คน
55 ม.ชินวัตร 150 คน
56 ม.เซนต์จอห์น 116 คน
57 ม.ภาคกลาง 100 คน
58 ว.ลุ่มน้ำปิง 90 คน
59 ว.แสงธรรม 82 คน
60 ม.เว็บสเตอร์ 75 คน
61 ว.พุทธศาสนานานาชาติ 34 คน
รวม 92,100 คน

 

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9560000057831

http://www.facebook.com/download/379363635513471/request_student_of_university.xlsx

ข้อมูลจาก  http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32688&Key=hotnews

 

จำนวนผู้สมัคร
จำนวนผู้สมัคร

ตารางแสดงจำนวนผู้สมัครและผ่านการคัดเลือก
ในระบบ Admissions กลาง ประจำปีการศึกษา 2555
จาก 90 สถาบันแยกคณะเกือบ 4000 คณะ รายงานหนา 188 หน้า
http://www.cuas.or.th/document/55C_stat_sumapply.pdf

max min score and count
max min score and count

ตารางแสดงสถิติจำนวนผู้สมัคร จำนวนรับ จำนวนผู้ผ่าน และคะแนนสูงสุด-ต่ำสุด
ในระบบ Admissions กลาง ประจำปีการศึกษา 2555 รายงานหนา 133 หน้า

http://www.cuas.or.th/document/55D_stat_rpass_web.pdf

 

grouping
grouping

8 พ.ค.56 ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เปิดเผยว่า เปิดรับจำนวน 140,828 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 122,169 คน แล้วผ่านการคัดเลือกมีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย 82,102 คน พลาดหวัง 40,067 คน

จำแนกเป็นมหาวิทยาลัย
1. สถาบันของรัฐ รับได้ 76,778 ที่นั่ง มีผู้ผ่าน 64,248 คน รับได้ร้อยละ 83.68
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏ/ราชมงคล รับได้ 25,321 ที่นั่ง มีผู้ผ่าน 13,913 คน รับได้ร้อยละ 54.95
3. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รับได้ 38,573 ที่นั่ง แต่มีผู้ผ่าน 3,785 คน รับได้ร้อยละ 9.81

สาขาวิชายอดนิยม
1. คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ ผู้สมัคร 2,850 คน รับได้ 56 ที่นั่ง (1:51)
2. คณะวิทยาศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ หาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้สมัคร 1,906 คน รับได้ 160 ที่นั่ง (1:12)
3. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สมัคร 1,813 คน รับได้ 150 ที่นั่ง (1:12)

http://news.mthai.com/general-news/164682.html

 

ชี้การศึกษาไทยเน้นวิชาการจนลืมชีวิตจริง

14 พฤษภาคม 2556

จากการประชุมเครือข่ายสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “บูรณาการภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา” โดยมีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้แทนสถาบันการศึกษาเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า เวทีการศึกษาท้องถิ่น และภาคเอกชน เห็นตรงกันว่า การศึกษาปัจจุบันมุ่งเน้นในเชิงวิชาการ และมีการวัดผลกันที่คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และเปรียบเทียบคะแนนต่างประเทศด้วยคะแนนสถาบันปิซ่า (Pisa) ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตจริงของเด็กไทย กับสังคมไทย ทั้งเรื่องการมีงานทำ การสร้างคนคุณภาพ คนที่มีจิตอาสาและมีสำนึกรักษ์ท้องถิ่น

ดร.อมรวิชช์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย จะต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ 2 เรื่อง คือ 1. การจัดการศึกษาต้องมีความหลากหลายมากพอที่จะตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่ได้ และ 2. ภาคเอกชนและท้องถิ่นชุมชน ต้องเข้าร่วมจัดการศึกษาทางเลือก ร่วมทำงานกับภาครัฐให้มากขึ้น ไม่หันหลังให้กันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ อยากจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับลูกหลานซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ โดยเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าแค่คะแนนเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ในชีวิต มีงานทำ และสร้างคนที่มีคุณภาพได้จริงด้วย

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ วธ. กล่าวว่า การจัดการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะต้องมองในมิติของวัฒนธรรมด้วย เพราะที่ผ่านมาเราสอนเด็กแต่วิชาการจนลืมไปว่ารอบ ๆ ตัวเขาคือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและทรงคุณค่า วัฒนธรรมของเราถือเป็นทุนต้นน้ำ ในการนำมาปรับใช้ต่อยอดจัดกระบวนการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เช่น แหล่งภูมิ ปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้สามารถบูรณาการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เศรษฐกิจและสร้างชุมชนเข้มแข็ง และยังก่อให้เกิดมิติในการดำเนินชีวิตที่เชื่อมโยงกันจากอดีตปัจจุบันสู่อนาคตได้ด้วย

นายวรวัส สบายใจ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก ผู้ประสานงานเวทีพลังเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันหลาย ๆ กลุ่มมีจุดร่วมกันที่สำคัญว่า เราเรียนรู้เพื่อค้นพบตัวเอง และมีอาชีพที่เลี้ยงตนเองได้เช่น กลุ่มเด็กม.ปลาย ที่มีเป้าหมายศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เด็กการศึกษาทางเลือกเน้นการค้นพบตัวเอง จึงมักจะมีปัญหากับระบบภายนอก เช่น สมัครฝึกงานในตำแหน่งผู้ช่วยกุ๊ก ก็ถูกจำกัดด้วยวุฒิทางการศึกษาในระบบ เป็นต้น ส่วนเด็กนอกระบบที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการดึงเด็กให้กลับมาเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ดังนั้น การศึกษาไทยควรต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เด็ก สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่การจัดการศึกษาแค่เพียง 8 ชั่วโมงในห้องเรียน เพราะเวลาที่เหลือส่วนใหญ่เด็กต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริง.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32687&Key=hotnews

ศธ.เร่งสร้างคุณธรรมในโรงเรียน

14 พฤษภาคม 2556

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในด้านวิชาการและคุณธรรมแบบบูรณาการ โดย สพฐ. จะต้องส่งเสริมให้โรงเรียนมีการพัฒนาคุณธรรมนำวิชาการมากขึ้น ซึ่งผู้บริหาร ครู และนักเรียนทุกคนจะต้องได้รับการอบรมคุณธรรมและจริยธรรมผ่านภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เรื่องการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในสถานศึกษา ถือเป็นสิ่งแรกที่ตนได้พูดเอาไว้เมื่อครั้งเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมช.ศธ. ว่าต้องการที่จะพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้คู่คุณธรรม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันส่งเสริมทั้งในเด็กและครู โดยเน้นที่เด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เพราะเป็นหัวใจของชาติ ถ้าได้รับการปลูกฝังที่ดี โตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและช่วยแก้ไขปัญหาประเทศได้

“ผมมีแนวคิดที่จะจัดโครงการเด็กดีขึ้น โดยอาจทำความร่วมมือกับวัด เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้ารับการอบรมเป็นหลักสูตรภาคปฏิบัติแบบเฉพาะ เพื่อต้องการสร้างจิตอาสาให้แก่เด็กและเยาวชน เพราะมีแต่เด็กเก่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ประเทศชาติต้องได้เด็กเก่งควบคู่กับการมีคุณธรรม จริยธรรมในใจด้วย” นายเสริมศักดิ์ กล่าวและว่า ตนจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าว แต่หากมีการดำเนินการโครงการในลักษณะนี้อยู่แล้ว เช่น โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โครงการครูพระสอนศีลธรรม เป็นต้น ก็ให้นำมาต่อยอดพร้อมเดินหน้าต่อให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งตนเชื่อว่าโครงการดี ๆ แบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือปัญหาท้องในวัยเรียน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันและแก้ปัญหาเองอย่างมีสติมากขึ้น.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32686&Key=hotnews

อนาคตโรงเรียนขนาดเล็กของเมืองไทย การแก้ปัญหาจะต้องไม่มีรูปแบบเดียว

14 พฤษภาคม 2556

ดร.พิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ

…ไม่มีผู้ปกครองคนใดที่ไม่ต้องการให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ!
หากท่านได้เดินทางไปในชนบทหรือต่างจังหวัดมักจะพบเห็นรถรับส่งนักเรียนวิ่งขนเด็กจากตำบลหมู่บ้านเข้ามาเรียนในเมืองเป็นจำนวนมาก บางรายอาจจะต้องเดินทางถึง 30-40 กม. เพื่อมาเรียนโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด หรือโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนเอกชนหลายแห่งจะมีรถไปรับนักเรียนถึงหน้าบ้าน มีครูพี่เลี้ยงนั่งรถดูแลมาด้วย ภาพเช่นนี้เป็นปกติในทุกจังหวัดทุกเช้า เด็กก็จะนั่งหลับอ่อนเพลีย เพราะการตื่นแต่เช้าและต้องเดินทางไกล แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองยินดีเพราะลดภาระการรับส่งลูกไปโรงเรียนและเชื่อมั่นว่าลูกได้ไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ

ดังนั้นหากผู้ปกครองมีกำลังทางเศรษฐกิจพอที่จะส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพได้ก็จะส่งไปแน่นอน รถขนนักเรียนก็จะวิ่งผ่านหน้าโรงเรียนในหมู่บ้านในชนบทสู่เมืองใหญ่ ลูกของคนมีฐานะดีในเมืองใหญ่ก็จะถูกส่งไปเช่าหอพัก บ้านเช่า ในจังหวัดที่มีโรงเรียนดัง ๆ คุณภาพดี ลูกของคนร่ำรวยในจังหวัดก็จะถูกส่งไปเรียนยังเมืองหลวงหรือโรงเรียนนานาชาติ หรือคนในเมืองหลวงก็ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศเพราะข้อสรุปก็คือ ทุกคนรักลูกอยากให้ลูกเรียนในโรงเรียนดีมีคุณภาพ มีสังคมที่ดี มีอนาคตดี มีใครไม่รักลูกบ้าง

แต่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวที่พ่อแม่ติดขัดปัญหาด้านการเงิน หรือฐานะยากจนจึงไม่มีปัญญาส่งลูกไปเรียนที่ไหน จำใจให้ลูกเรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้บ้านในหมู่บ้าน ดังที่เห็นเป็น “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่มีอยู่ถึง 14,816 โรงเรียนของ สพฐ. ในปัจจุบัน
จากสาเหตุดังกล่าวจึงเกิดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่หากจะจำกัดคำว่า “โรงเรียนขนาดเล็ก” หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนต่ำกว่า 120 คนลงมาเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจะพบข้อมูลดังนี้ ปีการศึกษา 2546 มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก 10,877 โรง, ปีการศึกษา 2550 เพิ่มเป็น 13,518 โรง, ปีการศึกษา 2554 เพิ่มเป็น 14,669 โรง ปีการศึกษา 2555 เพิ่มเป็น 14,816 โรง และในปีการศึกษา 2556 ยังไม่มีการสำรวจแต่คาดว่าจำนวนจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน และในจำนวนนี้ย่อมมีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนลงมาอยู่ไม่น้อยกว่า 5,962 โรงเรียน เช่นเดียวกัน
ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร ? ปัญหาสำคัญอันดับแรก คือ คุณภาพของนักเรียน จากการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหรือรางวัลจากการแข่งขันทักษะทางวิชาการต่าง ๆ จะพบว่า โรงเรียนขนาดเล็ก คุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนขนาดกลาง คุณภาพต่ำกว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ และหากนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนขนาดเล็กตัดออกจากค่าเฉลี่ยรวมของ สพฐ.ในระดับประเทศ คิดเทียบค่าเฉลี่ยรวมจากโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่จะทำให้ค่าเฉลี่ยรวมของ สพฐ. สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นข้อสรุปว่า คุณภาพนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กโดยภาพรวมต่ำจริง แล้วทำไมต้องให้เด็กไทยเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ

ปัญหาลำดับที่สองโรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนทรัพยากร เพราะการจัดสรรงบประมาณของ สพฐ. ยืนอยู่บนบรรทัดฐานของค่าใช้จ่ายรายหัว แม้จะบวกเพิ่มพิเศษอย่างไรก็ได้ไม่เท่าโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากอยู่ดี การลงทุนด้านค่าก่อสร้างอาคาร ค่าครุภัณฑ์ วัสดุสื่อต่าง ๆ ก็มีข้อจำกัด เพราะ สพฐ.เป็นพ่อแม่ที่มีลูกมาก มีโรงเรียนในสังกัดถึง 31,116 โรง แม้จะมีงบประมาณรวมกันแล้วจะมากที่สุดนับเป็น 3 แสนล้านบาท ก็ตาม

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงบางประการว่าในประเทศนี้ โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งยังมีคุณภาพที่ดี ได้รับรางวัลโรงเรียนรางวัลพระราชทาน 2-3 ครั้ง เป็นเกียรติประวัติ เพราะผู้อำนวยการและครูเอาใจใส่จริงจังบวกกับผู้นำชุมชนและผู้ปกครองในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของโรงเรียน ทุกคนมีความสุขอยู่กับโรงเรียนที่เป็นศูนย์รวมในการพัฒนาของหมู่บ้านและชุมชน และในขณะเดียวกันยังมีโรงเรียนขนาดเล็กที่จำเป็นต้องคงอยู่ อาทิ โรงเรียนเกาะโหลน เกาะแก่งอีกหลายเกาะ โรงเรียนบนยอดดอยและป่าเขา โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่สงบและปลอดภัย ที่ถึงอย่างไรโรงเรียนเหล่านี้จะต้องคงอยู่เพื่อให้เด็กไทยที่เกิดในถิ่นฐานเหล่านี้ได้สิทธิและโอกาสในการก้าวถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงก็ต้องได้รับการแก้ปัญหาและดูแลอย่างมีคุณภาพด้วย แม้ว่าจะเป็นการลงทุนต่อหน่วย (จำนวนเด็กนักเรียน) สูงกว่าพื้นที่ปกติก็ตาม

ทุกปัญหาต้องมีทางออก ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก จะต้องได้รับการแก้ไขแน่นอน ทั้งในเรื่องของคุณภาพและเชิงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ และความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอย่างไม่หยุดหย่อน จนโรงเรียน ของ สปช. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเดิม) ประมาณ 35,000 โรง จึงเหลือเพียงโรงเรียนซึ่งนับรวมโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิมประมาณ 31,116 โรงแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความคงอยู่และเลิกล้มไปตามสภาพของความจำเป็นและการจำยอม

แต่การยุบเลิกย่อมไม่ใช่ทางออกทางเดียว! เมื่อครั้งผู้เขียนอยู่ในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงผลักดันโครงการวิจัยเพื่อกำหนดอนาคตโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยไว้โดยมีหัวเรื่องวิจัย 16 เรื่อง (ตามข้อมูลล้อมกรอบ) ใช้นักวิจัย ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการสังกัด สพฐ. และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 100 กว่าคน มาร่วมเป็นทีมวิจัย 16 ทีม ซึ่งหัวเรื่องการวิจัยล้วนแล้วแต่จะสามารถตอบปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่ถกเถียงกันในเวทีสื่อสาธารณะในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน เป็นการแก้ปัญหาอย่างมีอนาคต มองอนาคตระยะยาวและรองรับด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

หลักการวิจัยทั้ง 16 เรื่อง จะอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการคือ 1. คุณภาพของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก 2. สิทธิและโอกาสในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยทุกคนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และ 3. ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของภาครัฐ

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพลังและการขับเคลื่อนของนักวิจัยทั้ง 16 ทีม ซึ่งขณะนี้น่าจะดำเนินการไปได้ใกล้จะเสร็จแล้ว และจะเป็นคำตอบอันสำคัญต่อรัฐบาล และประชาชนของประเทศไทยทั้งผู้ยากไร้ขาดโอกาส และผู้ที่กำลังวุ่นอยู่กับปัญหาและแสวงหาคำตอบว่าอนาคตของโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร แต่คำตอบสุดท้ายจะต้องยืนอยู่บนหลักการว่า ‘การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยจะต้องไม่มีรูปแบบเดียวที่ใช้แก้ปัญหาได้ ทุกโรงเรียนทั่วประเทศจะต้องขึ้นอยู่กับบริบท และสภาพการณ์ของแต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชนเป็นสำคัญ”.
16 หัวข้อวิจัยฯ

ขณะนี้น่าจะอยู่ในระหว่างการดำเนินการและบางเรื่องดำเนินการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำเสนอเพื่อให้เป็นแนวคิดและการมองปัญหาทั้งระบบ อาทิ

1. เรื่องผลคุณภาพนักเรียนใน รร.ขนาดเล็ก

2. เรื่องการศึกษาผลการประเมินคุณภาพภายนอก

3. เรื่องการบริหารจัดการ

4. เรื่องปัจจัยที่ทำให้ รร.ขนาดเล็กอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

5. เรื่องรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา

6. เรื่องการศึกษาความคุ้มค่า เชิงการลงทุน

7. เรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิทธิและโอกาสทางการศึกษา จากการยุบรวม รร.ขนาดเล็ก

8. เรื่องความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการควบรวม รร.ขนาดเล็ก

9. เรื่องปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมหรือเลิกล้มรร.ขนาดเล็ก

10. เรื่องการบริหารงานบุคคล เพื่อรองรับการบริหารจัดการ รร.ขนาดเล็กในอนาคต

11. เรื่องรูปแบบการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของ รร.ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ

12. เรื่องการจัดการศึกษารร.ขนาดเล็ก โดยอาศัยองค์กรเอกชนเป็นแนวคิดใหม่

13. เรื่องการบริหารทรัพย์สิน รร.ขนาดเล็ก กรณีที่ยุบรวม หรือเลิกล้มเป็นการเตรียมหาทางออกไว้ก่อน

14. เรื่องรูปแบบการใช้แท็บแล็ต เพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียนใน รร.ขนาดเล็ก

15. เรื่องการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบคละชั้นใน รร.ขนาดเล็ก และ

16. เรื่องสามทศวรรษ รร.ขนาดเล็กของประเทศไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่บ่งบอกถึงความพยายามในการแก้ปัญหาที่ผ่านมากว่า 30 ปีเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานและสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์และกำหนดนโยบายอนาคตได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32684&Key=hotnews

สกอ.รุกตั้งเครือข่ายสหกิจศึกษาอาเซียนพัฒนาปัญญาไทย

14 พฤษภาคม 2556

นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า จากการรวมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้น ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสหกิจศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มอาเซียนปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ส่วนประเทศที่ยังไม่ได้ดำเนินการ คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า และบรูไน ซึ่งถือได้ว่าการดำเนินงานสหกิจนานาชาติ ยังอยู่ในวงจำกัดสำนักงานคณะกรรมการการ

อุดมศึกษา(สกอ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้สนับสนุนสหกิจศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่ายสหกิจศึกษา เพื่อให้เกิดความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และสามารถวางแนวทางในการพัฒนาให้เกิดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสหกิจศึกษานานาชาติในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพรองรับความต้องการของประชาคมอาเซียนรวมถึงการศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานสหกิจศึกษานานาชาติของประเทศกลุ่มอาเซียน ตั้งแต่การหาเครือข่ายความร่วมมือ การหางานให้นักศึกษา มาตรการด้านการลดหย่อนภาษีแนวทางและกรรมวิธีการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศ ต่างๆ จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีการดำเนินงานสหกิจศึกษามาประมาณ 20 ปี ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย 100 กว่าแห่ง มีนักศึกษา30,000 กว่าคน มีสถานประกอบการ 7,000-8,000 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสหกิจศึกษาระดับชาติและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้รับการยอมรับและยกย่องจากสมาคมสหกิจศึกษาโลก ทั้งนี้ สกอ. ได้ร่วมกับสมาคมสหกิจศึกษาไทยและเครือข่ายสหกิจศึกษา 9 เครือข่าย จะจัดงานวันสหกิจศึกษาไทย ครั้งที่5 ประจำปี 2556 ในวันที่ 6 มิ.ย. 56 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาภายใต้แนวคิดสหกิจศึกษา: กลไกสู่การพัฒนาประชาคมอาเซียนพลัส เพื่อเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาสหกิจศึกษาไทยให้ต่อเนื่องก้าวหน้าต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32683&Key=hotnews

กองทุน กรอ.เปิดยื่นกู้เรียน 1 แสนทุนเงื่อนไขไม่ดูรายได้ครอบครัว-ปลอดหนี้ 2ปี/ ง.ด. 1.6 หมื่นชำระคืน

14 พฤษภาคม 2556

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ฐานะประธานคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มีอยู่ 2 กองทุนคือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกกู้จากกองทุนใดก็ได้ แต่วันนี้ก็ยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่า ถ้าเคยกู้ กยศ. มาก่อนตอนเรียนระดับมัธยมศึกษา เมื่อมาเรียนระดับอุดมศึกษาแล้วต้องกู้ กยศ. ต่อเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะนิสิตนักศึกษาสามารถโยกมากู้ กรอ. ได้ โดยจะมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเท่ากันทั้ง 2 กองทุน และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติการกู้ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน คือสาขาที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ โดยเน้นสาขาทางวิทยาศาสตร์ก่อน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ทิ้งสาขาสังคมศาสตร์เพราะมีหลายสาขาที่ยังจัดให้อยู่ โดยนิสิตนักศึกษาที่จะขอยื่นกู้สามารถดูรายละเอียดผ่านระบบ e-Studentloan ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th

เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไบว่าสำหรับประเด็นหลักที่แตกต่างกันระหว่าง 2 กองทุน คือ กยศ. จะมีการกำหนดรายได้ของครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปีขณะที่ กรอ. ไม่ดูรายได้ของครอบครัวส่วนการชำระคืน กรอ. จะใช้คืนก็ต่อเมื่อมีเงินเดือนเกิน 1.6 หมื่นบาทต่อเดือนส่วน กยศ. จะมีระยะปลอดหนี้ 2 ปีหลังจบการศึกษาแต่จะไม่พูดถึงรายได้ เพราะฉะนั้น หลังจากการศึกษา 2 ปีก็ต้องจ่ายแต่ถ้ายังไม่มีงานก็ต้องติดต่อเพื่อขอผ่อนผัน ซึ่งทั้งสองกองทุนต่างก็มีจุดเด่นที่นักศึกษาสามารถเลือกกู้ได้

“อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กรอ. เพิ่งเปิดให้นักศึกษากู้ได้ไม่นาน นักศึกษาจึงอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ ทำให้โควตาเหลือเยอะมาก อย่างภาคเรียนที่2 ของปีการศึกษา 2555 รัฐบาลให้เป้าหมายมา 70,000 คน แต่มีคนมากู้เพียง17,000 คน สำหรับปีการศึกษา 2556 มีเป้าหมายมาถึง 100,000 คน จึงอยากเชิญชวนให้นักศึกษามายื่นกู้ กรอ.ได้ และตอนนี้ผลแอดมิสชั่นส์ก็ออกมาแล้ว นิสิตนักศึกษาที่ต้องการกู้เงินเรียนควรเตรียมตัวไปยื่นขอกู้เงินได้แล้วโดยเข้าไปศึกษารายละเอียดผ่านระบบe-Studentloan” นายอภิชาติ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32682&Key=hotnews

ปลัดศธ.ดันสกสค.กู้ซอฟต์โลนช่วยครูหนี้วิกฤต-ลดดอกเบี้ย 5 %

14 พฤษภาคม 2556

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว โดยได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ไปพิจารณาหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน มาซื้อหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้เสียเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่และให้ครูกลุ่มนี้มีหนี้อยู่ที่เดียว โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปีจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่สูงประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า แนวทางดังกล่าวนี้จะให้เฉพาะกลุ่มครูที่มีหนี้เสียจริงๆ คือเป็นครูที่มีหนี้วิกฤตขั้นรุนแรง เช่น โดนฟ้องเรื่องบัตรเครดิต ถูกอายัดทรัพย์ หรือผ่อนหนี้ต่องวดแล้วไม่เหลือเงินใช้จ่ายดำรงชีวิตเลย เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับวิธีการที่คิดไว้ คือจะกู้เงินในนาม สกสค. และปล่อยให้ครูกลุ่มนี้กู้ในอัตราที่เป็นดอกเบี้ยถูกเพื่อผ่อนปรนภาระที่แบกอยู่ ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครูในระยะยาวนั้น ถึงจะพูดและทำกันมานาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นวิธีการที่ยั่งยืนควรจะส่งเสริมให้ครูที่เป็นหนี้ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า

“การแก้ปัญหาโดยส่งเสริมให้ครูมีรายได้เพิ่มนั้น มีอยู่หลากหลายวิธี เช่น อาจประสานสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ส่งครูหรือนักเรียน นักศึกษา มาให้ความรู้กับครูกลุ่มนี้ ทั้งเรื่องการผลิตสินค้าเพื่อนำไปขาย หรือการนำสินค้าโอท็อปไปปรับปรุงต่อยอด หรือในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ซึ่งกำกับดูแล สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างอาชีพอยู่แล้ว ก็จะสั่งการให้เข้ามาช่วยฝึกอาชีพสร้างรายได้ให้กับครูอีกทางหนึ่งด้วย เพราะการจะช่วยให้ครูใช้จ่ายอย่างประหยัดคงเป็นเรื่องยากกว่าการส่งเสริมให้ครูมีรายได้เพิ่มขึ้น” ปลัด ศธ.กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32680&Key=hotnews

ครูเฮ! ก.ค.ศ.ปรับเงินเดือนปี’ 56 – 57 สูงสุด ป.ตรี – โท 1.7 – 1.8 หมื่นบาท เร่งตั้งงบชง’ครม.’จ่ายย้อนหลัง

14 พฤษภาคม 2556

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ จะเสนอร่างบัญชีอัตรา เงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษากับอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ รวมทั้งบัญชีเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนและจำนวนเงินที่ได้ปรับตามคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองกับอัตราเงินเดือน และจำนวนเงินที่ได้ปรับตามคุณวุฒิที่ ก.พ.รับรอง ใช้บังคับใน วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายการปรับเงินเดือน 15,000 บาทของรัฐบาล โดยในปี 2555 ได้มีการปรับเงินเดือนตามคุณวุฒิไปแล้วตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่ถึง 15,000 บาท และได้กำหนดให้มีการปรับให้ครบในปี 2556 และปี 2557 โดยในร่างบัญชีอัตราเงินเดือนที่จะนำเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบได้กำหนดอัตราเงินเดือนบรรจุใหม่ในอันดับครูผู้ช่วยที่จะใช้บังคับ ดังนี้ ปี 2556 ได้แก่ ปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี เงินเดือน 13,470 บาท ปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี 14,300 บาท ประกาศนียบัตรบัณฑิตที่มีหลักสูตรการศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี 14,300 บาท ปริญญาตรี หลักสูตร 6 ปี 16,570 บาท ปริญญาโททั่วไป 16,570 บาท ปริญญาโทที่มีหลักสูตร กำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรีที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 5 ปี 17,690 บาท และปริญญาเอก 20,320 บาท

เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราเงินเดือนที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2557 ได้แก่ ปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี 15,050 บาท ปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี 15,800 บาท ประกาศนียบัตรบัณฑิตที่มีหลักสูตรการศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี 15,800 บาท ปริญญาตรี หลักสูตร 6 ปี 17,690 บาท ปริญญาโททั่วไป 17,690 บาท ปริญญาโทที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรีที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 5 ปี 18,690 บาทและปริญญาเอก 21,150 บาท ทั้งนี้ในการปรับเงินเดือนดังกล่าวจะมีการปรับให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือน 15,000 บาทด้วย โดยได้มีการจัดทำรายละเอียดไว้ในบัญชีเปรียบเทียบอัตราเงินเดือน ที่จะนำเสนอไปพร้อมกัน เช่น ผู้ที่มีคุณวุฒิปริญญาโทที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกวา 2 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรีที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษา ไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีเงินเดือนอยู่ในอันดับ คศ.4 มีอัตราเงินเดือนก่อนปรับวันที่ 1 มกราคม 2556 จำนวน 24,400 บาท จะได้รับการปรับเงินเดือนในวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็น 27,090 บาท เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบในเรื่องนี้แล้ว จะต้องเสนอที่ประชุม ครม.อนุมัติและจะต้องตั้งงบประมาณที่จะนำมาปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้

“เรื่องนี้เป็นการดำเนินการเช่นเดียวกันการปรับเงินเดือน 15,000 บาท ในปี 2555 ซึ่งตอนนั้นมีการปรับเงินเดือนให้ไม่ถึง 15,000 บาท แต่จะมีเงินค่าครองชีพส่วนอื่นสมทบให้จนมีรายได้ครบ 15,000 บาท โดยในปี 2556 และปี 2557 ก็ต้องตั้งงบประมาณมารองรับเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ ก.ค.ศ.กำลังทำรายละเอียดจำนวนข้าราชการครูทั้งหมดที่จะได้รับการปรับและงบประมาณที่จะต้องใช้” นางรัตนากล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32679&Key=hotnews

ป.1 ปีนี้ได้ใช้แท็บเล็ตแน่ ศธ.แจงช้าแต่ดีกว่าเดิม

14 พฤษภาคม 2556

โพสต์ทูเดย์ สพฐ.ลุยแจกแท็บเล็ต 1.6 ล้านเครื่องให้เด็ก ป.1 และ ม.1 แต่ได้ใช้เทอมสอง ยันเนื้อหาหลากหลายกว่าเดิม

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต)ต่อ 1 นักเรียน มีมติอนุมัติทีโออาร์สำหรับการประกวดราคาจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ตเรียบร้อยแล้ว โดยในปีการศึกษา 2556 นี้ รัฐบาลจะจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ตแจกนักเรียน ป.1 และ ม.1 รวมประมาณ 1.6 ล้านเครื่อง

ทั้งนี้ หลังจากทีโออาร์ได้ข้อยุติแล้วสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำขึ้นประชาพิจารณ์ในเว็บไซต์ของ สพฐ.เพื่อเตรียมขายซองประกวดราคา หากไม่มีปัญหาใดๆ จะประกวดราคาได้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า แม้จะมีความล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้บ้าง แต่ก็เพื่อความรอบคอบจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ซึ่งเด็กทุกคนจะมีแท็บเล็ตใช้ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2556 แน่นอน ส่วนเรื่องเนื้อหาที่จะนำมาบรรจุในเครื่องแท็บเล็ตนั้นปีนี้จะมีเนื้อหาสำหรับบรรจุมากขึ้นจากปีที่แล้วทั้งระดับป.1 ป.2 ม.1 และ ม.2 เฉพาะ Learning Object ก็มีเป็นร้อยเครื่องและ สพฐ.จะมีแอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นจากการประกวดสร้างสื่อการเรียนการสอนในแท็บเล็ตของครูและคนทั่วไป ซึ่งปีนี้น่าใช้กว่าปีที่แล้วด้วย โดยเป็นสื่อที่พัฒนาขึ้นใช้กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์โดยเฉพาะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32678&Key=hotnews

จี้สพฐ.บรรจุผอ.ลงร.ร.ต่ำกว่า 60 คน ห่วง 300 รายชื่อ ขึ้นบัญชีผู้อำนวยการแห้ว

คุณครูโรงเรียน
คุณครูโรงเรียน

17 มกราคม 2556 นายวุฒิชัย ชินรัตน์ ผู้แทนผู้ผ่านการสรรหาขึ้นบัญชีรวมผู้อำนวยการสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตน และคณะได้ยื่นหนังสือถึงนาย พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ.และนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อคัดค้านกรณีที่ สพฐ.ไม่บรรจุผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ว่า ตามที่ สพฐ.ได้ดำเนินการสรรหาเพื่อบรรจุแต่งตั้ง ผู้อำนวยการสถานศึกษาในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งมีบัญชีของกลุ่มประสบการณ์ และบัญชีกลุ่มทั่วไป แต่ขณะนี้ ศธ.และ สพฐ.มี นโยบายที่จะไม่บรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หลายเขต รับย้ายเพิ่มเติมหลายรอบ ทำให้มีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน เพิ่มจำนวนมาก ซึ่ง สพป.ส่วนมากยังไม่รายงานตำแหน่งว่างให้ สพฐ.ทราบ ทำให้มีผลกระทบกับผู้ที่ผ่านการสรรหา และขึ้นบัญชีไว้ทั้ง 2 กลุ่ม หรืออาจจะไม่ได้บรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าวตามจำนวนที่ขึ้นบัญชีไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านการสรรหา และขึ้นบัญชีไว้ทั้ง 2 กลุ่ม ที่ผ่านการอบรม และพัฒนาแล้ว จะทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินที่ใช้อบรมโดยสูญเปล่า ดังนั้น จึงขอให้บรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน และให้ สพฐ.เร่งรัดการส่งตำแหน่งว่างใน สพป.ให้ชัดเจน และรวดเร็ว

การสอบขึ้นบัญชีผู้อำนวยการสถานศึกษา สอบตั้งแต่ปีที่ผ่านมา น่าจะเหลือผู้ที่ขึ้นบัญชีในกลุ่มประสบการณ์ และกลุ่มทั่วไปกว่า 300 คน ที่ยังรอการบรรจุแต่งตั้ง หากไม่บรรจุในโรงเรียนที่ต่ำกว่า 60 คน เกรงว่าจะทำให้ผู้ที่สอบขึ้นบัญชีไว้ไม่ถูกเรียกบรรจุภายใน 2 ปี และบัญชีต้องถูกยกเลิกจนเสียสิทธิ เพราะขณะนี้การขึ้นบัญชีครบ 1 ปีแล้ว เหลือเวลาอีก 1 ปีเศษเท่านั้น นอกจากนี้ การไม่บรรจุ ผู้อำนวยการสถานศึกษาดังกล่าว ยังกระทบ กับการเรียนการสอนที่จะไม่มีคุณภาพเต็มที่ ครูขาดขวัญกำลังใจ และยังทำให้การบริหารงานโรงเรียนไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ไม่ได้เป็นโรงเรียนที่ควบรวมกับโรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ ยังเป็นโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนอยู่ แต่ไม่มี ผู้อำนวยการโรงเรียนเท่านั้นนายวุฒิชัยกล่าว

นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า กรณีที่ สพฐ.ไม่บรรจุแต่งตั้ง ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนนั้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะให้โรงเรียนขนาดเล็กมีความร่วมมือในการบริหารจัดการร่วมกัน สพฐ.จึงให้นโยบายกับเขตพื้นที่การศึกษาไปดำเนินการ ทั้งนี้ ผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง เพราะตำแหน่งที่เปิดสอบบรรจุในครั้งที่ผ่านมา มีตำแหน่งว่างมากกว่าผู้ที่สอบขึ้นบัญชี ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวล เพราะจะทยอยบรรจุตามบัญชีที่สอบไว้ อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้บริหารสถานศึกษานั้น จะต้องไม่เลือกสนามรบ พร้อมจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เหมือนกับผู้บริหารสถานศึกษาในอดีต ที่ไม่เคยได้ไปบรรจุในจังหวัด หรือบ้านเกิดของตนเองเลย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=31282&Key=hotnews

เรื่อง “การสอนของคุณครู”
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=lungboon&date=24-11-2010&group=5&gblog=63