“พงศ์เทพ” แนะเปิดเทอมใหม่ลดสอนท่องจำ ให้ปลูกฝังคุณธรรม-ปชต.

9 พฤษภาคม 2556

เสมา 1 กำชับ ผอ.เขตฯ พร้อมรับมือเปิดเทอมใหม่ 2556  ชี้เป็นช่วงเวลาต้องเปลี่ยนการสอนในชั้นใหม่ลดการท่องจำ ใช้เวลาในชั้นเรียนอย่างคุ้มค่าและต้องปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และประชาธิปไตยควบคู่ด้วย

วานนี้ (8 พ.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยระหว่างมอบนโยบายเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2556 ให้แก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างมากและต้องการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการแก่ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น หากเขตพื้นใดพบว่าโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่ดี เป็นแบบอย่างต่อการพัฒนาแก่โรงเรียนอื่น ๆ ได้ขอให้แจ้งมายังเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไป โดยเฉพาะในปีการศึกษา 2556 จะเป็นช่วงเวลาที่ ศธ.เดินหน้าพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเรียนการสอนในชั้นเรียนใหม่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการเวลาในชั้นเรียนคาบละ 50 นาทีให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เวลาเรียนในแต่ละปีการศึกษามีเพียง 5 เดือนเศษ ๆ เท่านั้น จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

นอกจากนี้ จะต้องเชื่อมโยงการศึกษาในภาพรวมทุกระดับตั้งแต่อนุบาลไปถึงอุดมศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามแผนผลิตกำลังคนและปรับโครงสร้างทั้งบุคลากร สถานที่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต่อไปนักเรียนชั้น ม.ปลายจะน้อยลง จากเดิมที่จำนวนนักเรียนสายสามัญอยู่ที่ประมาณกว่า 60% จะต้องเหลือ 50% เพื่อให้เด็กหันไปเรียนสายอาชีพให้มากขึ้นเป็นร้อยละ 50 จากเดิมที่มีเพียงกว่า 30% เท่านั้น ซึ่งตรงนี้เขตพื้นที่ฯจะต้องมองภาพให้ออกและเตรียมการจัดการศึกษาสายสามัญที่เหมาะสม

“ต่อไปจะต้องเลิกเสียเวลามาท่องจำในสิ่งที่ไม่จำเป็น ท่องเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น แล้วนำเวลาเรียนมาส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็ก และต้องแบ่งแยกความสำคัญของเนื้อหา เลือกเน้นในบางเนื้อหา อะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดทิ้งไป ที่สำคัญ นอกจากด้านวิชาการแล้วจะต้องส่งเสริมการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรรมให้กับนักเรียน รวมถึงเรื่องการปลูกฝังประชาธิปไตยด้วย ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ประชาธิปไตยในโรงเรียน เพราะเรื่องเหล่านี้จะเรียนรู้ได้ต้องผ่านการปฏิบัติซ้ำ จนเด็กซึมซับ “รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวต่อว่า เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2556 นี้ สพฐ.จะเริ่มปรับลดการให้การบ้านโดยใช้วิธธีให้ครูแต่ละวิชาบูรณาการการให้การบ้านร่วมกัน จำนวนการบ้านรายวันของเด็กจะได้ลดลง ขณะนี้ สพฐ.ได้จัดทำคู่มือบูรณาการการให้การบ้านแบบครบวงจรเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในเดือนพฤษภาคมนี้ จะได้นำคู่มือดังกล่าวมาจัดอบรมศึกษานิเทศก์ก่อนขยายผลสู่โรงเรียนต่อไป นอกจากนั้น สพฐ.จะได้นำแนวคิดจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่” ห้องเรียนกลับด้าน” หรือ Flipped Classroom มาให้ในปีการศึกษา2556 ด้วย โดยจะให้นำร่องดำเนินการในเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความพร้อม ห้องเรียนกลับด้านนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบ้านและช่วยพัฒาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้เด็กได้

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32646&Key=hotnews

“พงศ์เทพ” สั่งยุบ ร.ร.ขนาดเล็กไร้คุณภาพ

9 พฤษภาคม 2556

“พงศ์เทพ” สั่งยุบ ร.ร.ขนาดเล็กเด็กน้อยไร้คุณภาพ ชี้หากมีร.ร.ใกล้เคียงคุณภาพดีให้โอนย้ายเด็กและยุบที่เดิมทิ้งทันที ขณะที่ ร.ร.เดิมที่ยังอยู่ให้ปรับรูปแบบบริหารงานใหม่ ย้ำ สพฐ.มีแนวทางรองรับการดูแลเด็ก พร้อมแนะ ผอ.สพท.ให้ทำความเข้าใจชุมชนถึงเหตุจำเป็นเพื่อลดการต่อต้าน

วานนี้ (8 พ.ค.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเพื่อรับฟังนโยบายเตรียมความพร้อมรับเปิดภาคเรียน 2556 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา นำไปดำเนินการ ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดอยู่ในข่ายไม่จำเป็นต้องคงอยู่ ก็ให้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนั้น โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในข่ายควรยุบรวมนั้น จะเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมาก เป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและมีโรงเรียนใกล้เคียงที่มีคุณภาพรองรับ ทั้งนี้ การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อลดการต่อต้านด้วย ซึ่งต้องชี้แจงให้ชุมชนเข้าใจว่า รัฐบาลไม่มีกำลังและงบประมาณจะพัฒนาโรงเรียนทุกแห่งและไม่สามารถนำงบประมาณจากเงินภาษีมาดูแลทุกโรงเรียนได้เท่าเทียมกัน แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว

โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง อย่างที่จ.สมุทรสาครมีนักเรียนแค่ประมาณ 20 คน เป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น ถามว่า อย่างนี้จะเปิดไว้ทำไม คุณภาพก็ไม่ได้ ขณะที่ โรงเรียนข้างเคียงที่มีคุณภาพก็อยู่ห่างไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ถ้ายุบโรงเรียนแล้วย้ายเด็กไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักเรียนเองและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในภาพรวม ซึ่งแม้แต่ในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ยังมีการปิดโรงเรียนขนาดเล็กแม้แต่ในเมืองหลวงอย่างกรุงวอชิงตัน ดีซีอยู่บ่อยครั้ง ถ้าเห็นว่า โรงเรียนในย่านใดไม่มีประโยชน์จะคงไว้ แม้มีนักเรียน 60 คน หรือโรงเรียนขนาด 300 คน ยังถูกปิด”  นายพงศ์เทพ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน เพราะ สพฐ.ได้จัดระบบรับส่งนักเรียนไว้รองรับแล้ว โดยได้เตรียมงบประมาณไว้จัดซื้อรถตู้รับส่งนักเรียน 1,000 คัน แต่ในบางพื้นที่ตนเห็นว่าอาจให้เอกชนเข้าประมูลรับไปบริหารจัดการแทน จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้มาก หรือในกรณีที่เด็กย้ายไปโรงเรียนใหม่ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก อาจจะจัดงบประมาณจัดซื้อจักรยานให้เด็ก จะเป็นวิธีที่ประหยัดกว่าการจัดรถรับส่งเสียอีก ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังคงอยู่นั้น จะต้องมีการบริหารจัดการใหม่ ใช้วิธีรวมกลุ่มกันจัดการเรียนการสอน นำครูและทรัพยากรที่แต่ละโรงเรียนมีอยู่มาใช้ร่วมกันเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพขึ้น

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่ สพฐ.ตั้งเป้ายุบรวมนั้น จะเป็น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ซึ่งก็ต้องไปสำรวจว่า โรงเรียนที่อยู่ในข่ายจะยุบได้ทันทีนั้น มีจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ลงทั่วประเทศ มีจำนวนประมาณ 17,000 โรง จากจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นโรง

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32645&Key=hotnews

 

เตือนสอศ.ใช้งบฯซื้อเครื่องมือฝึกทักษะตรงสเปก-โปร่งใส

8 พฤษภาคม 2556

นายวีรวัฒน์ วรรณศิริอุปนายกสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยกล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายจัดซื้อเครื่องมือประจำตัวให้แก่นักศึกษาช่างในสังกัด สอศ.ทุกคน ว่า เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเนื่องจากที่ผ่านมา นักศึกษาช่างของ สอศ.ยังขาดเครื่องมือพื้นฐานในการฝึก ทั้งที่เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่ง สอศ.ควรดูแลมานานแล้ว ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะเป็นแนวทางหนึ่งในการผลักดันเรื่องคุณภาพการอาชีวศึกษาได้ ซึ่งจะดีกว่าไปเน้นเรื่องการสร้างอาคารสถานที่เป็นหลัก แม้แต่การจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีวศึกษาระดับอำเภอก็ยังไม่จำเป็นเท่ากับการยกระดับคุณภาพเครื่องมือให้แก่นักศึกษา

“เมื่อสอศ.มีแนวคิดที่ดี ที่จะจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว ในการจัดซื้อควรให้ครูผู้สอนเป็นผู้กำหนดสเปกเอง เพราะครูประจำสาขาจะทราบดีว่าสาขาใดต้องการเครื่องมือประจำตัวช่างชิ้นใดบ้าง อีกทั้งในการจัดซื้อก็ต้องมีความโปร่งใสยุติธรรมจัดหาเครื่องมือที่มีคุณภาพ และป้องกันเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้ รวมถึงต้องตรวจสอบได้ด้วย อย่าให้เหมือนการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จัดซื้อมาแล้วกลับใช้ไม่ได้เหมือนที่ผ่าน”

นายวีรวัฒน์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาการลงทุนด้านการศึกษาถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ก็ไม่ได้ลงไปที่เด็กอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนบุคลากร และยิ่งวันนี้การลงทุนด้านการศึกษาก็ถึงทางตัน เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้น การจัดหาครุภัณฑ์สำหรับนักศึกษาในอนาคตอยากให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กโดยตรง ถึงแม้ต้องลงทุนมหาศาลก็ต้องทำเพื่อให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าซึ่งประโยชน์ก็จะตกกับประชาชนในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32638&Key=hotnews

ผุดเกณฑ์เยียวยาวิทยฐานะ

8 พฤษภาคม 2556

นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ก.ค.ศ. มี นโยบายพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้มีโอกาสพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถที่จะนำไปใช้ใน การปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งเยียวยาให้ เลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ ที่ผ่านมา ก.ค.ศ.ได้รับร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะและไม่ได้พิจารณาจากความสามารถที่แท้จริง

นายสุขุมกล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้ความเป็นธรรมจึงให้ดำเนินโครงการการเยียวยาผู้ที่ยังไม่ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะเป็นครั้ง สุดท้าย โดยการเยียวยาเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครั้งนี้จะมีการกำหนดเกณฑ์ออกมา โดยเฉพาะไม่เหมือนกับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ ครั้งที่ผ่านๆ มาเพื่อเยียวยาจริงๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะ มีศักดิ์และสิทธิเหมือนกับรุ่นอื่นๆ ทุกประการ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32637&Key=hotnews

ทปอ.ดันตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ตั้ง ‘วันชัย ‘นั่งประธาน กก.ศึกษาฯ

8 พฤษภาคม 2556

นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำโครงการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย โดยมีนายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นรองประธานและมีกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 15 คนนั้น เร็วๆ นี้ จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการนัดแรก โดยกรอบการทำงานจะศึกษาข้อมูลรอบด้านที่เกี่ยวข้องทั้งปัญหา อุปสรรค การบริหารจัดการหลังจากที่การอุดมศึกษาได้อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในรูปของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งข้อเสนอจากการพิจารณาก็อาจจะออกมาใน 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแยกออกจาก ศธ. เพียงแต่ปรับปรุงการบริหารจัดการและรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แนวทางที่สองก็อาจจะเห็นถึงความจำเป็นที่จะให้มีการจัดตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย เพื่อประสิทธิภาพในการบริการจัดการและการพัฒนาประเทศ

“อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งเป็นกระทรวงมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่การดำเนินการของคณะกรรมการคงไม่มีอคติในการพิจารณาว่าควรเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แต่ต้องพิจารณาจากข้อมูลรอบด้าน รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน เพื่อให้เกิดความรอบคอบทุกด้านและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบ้านเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาและยังมีขั้นตอนการดำเนินงานหลายขั้นตอน” นายวันชัยกล่าว

อธิการบดี มฟล.กล่าวต่อว่า การที่ ทปอ.หยิบยกประเด็นนี้มาพิจารณาถือเป็นบทบาทหน้าที่ของ ทปอ.ที่จะเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการอุดมศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับรัฐบาล ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากที่การอุดมศึกษาได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ศธ.มาเป็นระยะเวลาพอสมควร เพื่อเสนอแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุดให้กับรัฐบาลพิจารณาต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32635&Key=hotnews

เผยเด็กเก่งทิ้ง ‘หมอ’ แห่เรียน ‘ครู’ เพียบอธิการบดี มข. ชี้รุ่นใหม่ฮิตสายสังคมฯ

8 พฤษภาคม 2556

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮ้าส์ ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งมีผู้ขอสละสิทธิ จำนวน 11,735 คน จากผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 43,445 คน โดยในส่วนของ มข.รับ 3,647คน แต่สละสิทธิ 1,429 คน ว่า มข.มีผู้สละสิทธิมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งหลายคนสละสิทธิเพื่อไปเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันเด็กไทยไม่ค่อยสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์ แต่หันไปเรียนสายสังคมศาสตร์มากกว่า เพราะแม้แต่เด็กเก่งๆ ที่จบชั้น ม.6 สายวิทยาศาสตร์ แทนที่จะเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ กลับเลือกเรียนสายสังคมศาสตร์มากกว่า โดยคณะยอดนิยมของ มข.ที่สนใจเข้าเรียนมากที่สุดคือ คณะศึกษาศาสตร์ มีสัดส่วนการแข่งขันประมาณ 1 ต่อ 30 และคณะนิติศาสตร์ มีสัดส่วนการแข่งขัน 1 ต่อ 20 ขณะที่สัดส่วนการแข่งขันในภาพรวมของ มข.อยู่ที่ 1 ต่อ 18 ส่วนสาเหตุที่เด็กสนใจเลือกเรียนแพทย์น้อยลง อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่แพทย์ถูกฟ้องร้องได้ ทำให้เด็กสนใจเรียนน้อยลง เพราะแม้แต่แพทย์ด้วยกันเอง ก็ยังเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางที่มีโอกาสถูกฟ้องน้อย และมีรายได้ดี เช่น ศัลยแพทย์ เป็นต้น

“ที่เด็กๆ นิยมเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะจะทำให้ประเทศไทยได้ครูเก่งๆ อย่างการรับตรงของ มข.เอง พบว่าคนที่สอบเข้าได้ ที่สุดท้ายของคณะศึกษาศาสตร์ ยังมีคะแนนสูงกว่าเด็กสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และแม้แต่คนที่คะแนนสูงพอที่จะเลือกคณะทันตแพทยศาสตร์ได้สบายๆ ก็ยังเลือกที่จะเรียนครู ส่วนที่เกรงว่าเมื่อเด็กแห่เรียนครูจำนวนมาก อาจเกิดการทุจริตเช่นเดียวกับการสอบเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ในขณะนี้นั้น เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น เพราะหลักสูตรที่คณะศึกษาศาสตร์ใช้อยู่ขณะนี้เป็นหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ 4+1 ปี เมื่อเรียนจบแล้ว จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการทันที ซึ่งขณะนี้รุ่นแรกจบ และได้รับการบรรจุแล้ว ซึ่งต่างจากกรณีของครูผู้ช่วยที่ไม่ได้เรียนครูโดยตรง เป็นเพียงพนักงานราชการ หรืออัตราจ้าง และต้องสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย นายกิตติชัยกล่าว

นายกิตติชัยกล่าวว่า ส่วนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ หรือแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2556 ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้รับแจ้งให้ยืนยันจำนวนที่จะรับนักศึกษาอีกครั้ง ซึ่ง มข.จะแจ้งตัวเลขนักศึกษาที่สละสิทธิจากระบบรับตรง ไปเพิ่มในยอดรับสมัครของแอดมิสชั่นส์แล้ว ทั้งนี้ โดยภาพรวมการรับนักศึกษาผ่านระบบรับตรง และผ่านระบบแอดมิสชั่นส์ของ มข.อยู่ที่ 75 ต่อ 25

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32634&Key=hotnews

ลงพื้นที่เค้น ‘บิ๊กมมส.’ 13 พ.ค. หลังตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรง

8 พฤษภาคม 2556

นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรงนายศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และผู้เกี่ยวข้อง กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูล เรื่องการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินโครงการก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มมส.วงเงิน 88 ล้านบาท มีพฤติการณ์ไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงิน หรือทรัพย์สินของราชการ และกรณีร้องเรียนกล่าวหาการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษอธิการบดี โดยใช้เงินรายได้ ให้แก่นายศุภชัย โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือกฎหมายกำหนด ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า นายศุภชัยมีพฤติการณ์น่า เชื่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสอบสวนได้เชิญนาย ศุภชัยและผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือด้วยดี และวันที่ 13-14 พฤษภาคมนี้ ตน และคณะกรรมการสอบสวน จะลงพื้นที่ มมส.เพื่อสอบปากคำนายศุภชัย และผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นายพิษณุกล่าวต่อว่า หลังแจ้งข้อกล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหารับทราบแล้ว จะให้ผู้ถูกกล่าวหาแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งมีทั้งการสอบปากคำ และให้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่วนใหญ่เลือกชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นคณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาเอกสารหลักฐานว่า การแก้ข้อกล่าวหาฟังขึ้นหรือไม่ หากฟังไม่ขึ้นก็ต้องสืบหาหลักฐานพยานต่อไป โดยจะสอบสวนให้เสร็จภายใน 180 วัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม และส่งสรุปผลการสอบสวนทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณา ส่วนจะมีโทษสถานใด ขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัด

“ที่นายศุภชัยกำลังจะหมดวาระอธิการบดี มมส.ในเดือนมิถุนายน และมีแนวโน้มจะเข้ารับการสรรหาต่อนั้น จะเหมาะสมหรือไม่ คง ตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหา ผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งอธิการบดี” นาย พิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอักขราทร จุฬารัตน นายกสภา มมส.ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เพราะปัญหาการทุจริตใน มมส.และการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ โดยนาย อักขราทรเสนอให้คัดเลือกผู้ที่เป็นกลางมาทำหน้าที่ แต่ฝ่ายบริหารไม่ยอม และพยายามใช้วิธีโหวตเลือก ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้นายอักขราทรตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหานายก มมส.คนใหม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32633&Key=hotnews

อึ้ง! 30 เขตพื้นที่ไร้ ‘ผู้อำนวยการ’ ทำ ‘ผลการเรียนต่ำ-บริหารงานย่ำแย่’

8 พฤษภาคม 2556

อึ้ง! 30 เขตพื้นที่ไร้ ‘ผู้อำนวยการ’ ทำ ‘ผลการเรียนต่ำ-บริหารงานย่ำแย่’ สพฐ.เล็งทบทวนวิธีตั้ง’รก.ผอ.’ใหม่

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการติดตามและประเมินผลด้านประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่ง สพฐ.ได้จัดทำระบบติดตามประสิทธิภาพการทำงานของเขตพื้นที่ฯ แบบเจาะลึกในกลุ่มที่ยังไม่มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตัวจริงประมาณ 30 เขต พบปัญหาการบริหารงานด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิชาการ เมื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจากการสอบประเมินคุณภาพการศึกษา (Nation Test) มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และยังพบว่าระบบการ นิเทศก์ หรือการติดตามประเมินผลของเขตพื้นที่ฯ กลุ่มนี้ ไม่ตื่นตัว รวมถึงทักษะด้านเทคโนโลยีของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว อยู่เกณฑ์ปานกลางถึงต่ำ

“นอกจากนี้ การดูแลโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ด้านการเรียนการสอนที่ชำรุดเสียหาย ก็ดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญตัวชี้วัดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเรื่องอัตราการออกกลางคัน พบว่าระบบการแนะแนวยังไม่ดีพอ และความสัมพันธ์ระหว่างเขตพื้นที่ฯ กับเครือข่ายผู้ปกครองยังไม่ดี จากปัญหาดังกล่าว สพฐ.จะนำมาสร้างความเข้มแข็งให้กับเขตพื้นที่ฯ เหล่านี้ต่อไป”  นายชินภัทรกล่าว
นายชินภัทรกล่าวอีกว่า จากนี้คงต้องทบทวนระบบวิธีการตั้งรักษาการผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เพราะที่ผ่านมามักเลือกผู้ที่อาวุโส แต่ไม่ได้คำนึงภาวะผู้นำ ส่วนการแก้ปัญหาเขตพื้นที่ฯ ที่ยังไม่มีผู้อำนวยการตัวจริงนั้น คงต้องพยายามกระตุ้นเตือน และเป็นพี่เลี้ยงให้ เพราะในสภาวะที่ขาดผู้นำ ส่งผล กระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสะท้อนมาถึงตัวนักเรียน ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักติดตามฯ ลงพื้นที่หารายละเอียดเพิ่ม โดยเฉพาะประเด็นการบริหารงาน เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้กระบวนการทำงานไม่เกิดประสิทธิภาพ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนมากขึ้น จะหาทางแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32632&Key=hotnews

ยอดสมัครครูผู้ช่วยกว่า 8 หมื่น

8 พฤษภาคม 2556

ศึกษาธิการ * สพฐ.เผยยอดสมัครครูผู้ช่วยกว่า 8 หมื่น สมัครมากสุด สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 รองลงมา สพป.ตาก เขต 2 วิชาคอมพิวเตอร์มีคนสมัครมากที่สุด รองลงมาสังคมศึกษา ปฐมวัย สาขากายภาพบำบัดไร้คนสมัคร

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตามที่ สพฐ.เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปีการศึกษา 2556 ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เปิดสอบครูผู้ช่วย จำนวน 79 เขต ในจำนวนนี้เป็นสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 แห่ง รวมจำนวน 34 สาขาวิชา 1,070 อัตรา

ขณะนี้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการได้สรุปข้อมูลผู้สมัครสอบแข่งขันแล้ว พบว่ามีผู้สมัครทั้งสิ้น 84,583 คน โดยเขตพื้นที่การศึกษาที่มีผู้สมัครสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 จำนวน 6,385 คน, สพป.ตาก เขต 2 จำนวน 3,207 คน, สพป.กระบี่ จำนวน 3,105 คน, สพป.สมุทรปราการ เขต 1 จำนวน 3,095 คน และ สพป.นครราชสีมา เขต 3 จำนวน 2,749 คน โดยกลุ่มวิชาที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มวิชาคอมพิวเตอร์ จำนวน 12,236 คน, กลุ่มวิชาสังคมศึกษา จำนวน 9,673 คน, กลุ่มวิชาปฐมวัยศึกษา/อนุบาลศึกษา จำนวน 8,974 คน, กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 8,222 คน และกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 7,028 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับสาขาที่ไม่มีผู้สมัครเลยคือ สาขากายภาพบำบัด ขณะที่สาขากิจกรรมบำบัดมีผู้สมัครเพียง 3 ราย.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32631&Key=hotnews

คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ปัญหา…อนาคต’แท็บเล็ต’

8 พฤษภาคม 2556

ธเนศน์ นุ่นมัน ผ่านไปกว่า 8 เดือน นักเรียนชั้น ป.1 ทั้งหมด 8.6 แสนคน ได้ลองใช้แท็บเล็ตจากนโยบายรัฐบาล ที่เริ่มแจกตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยสรุปว่า แท็บเล็ตยังสนับสนุนการเรียนการสอนได้ไม่ดีนัก เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือที่มีอยู่ในแท็บเล็ตเน้นการแปลงจากหนังสือเรียนมาเป็นไฟล์พีดีเอฟ หรือส่วนใหญ่ยังเป็นเพียง 2 มิติขาดการสร้างรูปแบบบทเรียนต่างๆ อยู่
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำวิจัยผลการใช้งานแท็บเล็ตของนักเรียนชั้น ป.1 กับโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 503 โรงเรียน นักเรียน 7,078 คน ครูผู้สอน 533 คน เน้นเก็บข้อมูลผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจริงๆ หวังจะนำผลการวิจัยมาเป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับแนวทางการใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แบบใหม่
ผลวิจัยที่ได้ระบุในเชิงบวกว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เด็กชั้น ป.1 ตื่นตัวใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการได้ดียังพบด้วยว่าเด็ก 72% ใช้แท็บเล็ตสืบหาความรู้เอง รวมถึงนำมาทำความเข้าใจและสรุปเป็นองค์ความรู้
ปัญหาที่พบจากการใช้แท็บเล็ตเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่น การชาร์จแบตในโรงเรียน แบตเตอรี่หมดเร็วเครื่องทำงานช้าและดับเองเด็กมีอาการปวดเมื่อยนิ้วปวดตา เคืองตา แสบตา เวียนหัว ปวดบริเวณคอและไหล่ และปวดหลังบ้างเล็กน้อยจากการใชแท็บเล็ต ยังพบอีกว่าเด็กชั้น ป.1 เล่นกับเพื่อนน้อยลง หลังจากได้รับแท็บเล็ตประมาณ 35.96%
งานวิจัยของ สพฐ.เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาว่า ทำเอง ชงเอง จึงยากที่จะเห็นผลลบต่อโครงการแท็บเล็ต  เพราะเนื้อหางานวิจัยไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ปกครองทั่วประเทศอยากได้ยินจาก สพฐ. คือแผนระยะยาวที่วางไว้สำหรับแท็บเล็ตที่จะเริ่มกลายเป็นอุปกรณ์ตกรุ่นใกล้สิ้นสุดระยะประกัน
แท็บเล็ตรอบแรกยังมีคำถามหลายเรื่องอย่างไรก็ตามการจัดซื้อแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ปีการศึกษานี้ อีก 1.7 ล้านเครื่องก็เดินหน้าเต็มสูบ ขณะเดียวกันสำนักงบประมาณ ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับลดงบปี 2557 ในโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.4 และ ม.4 วงเงิน 7,000 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของโครงการ

สพฐ.ได้ออกมาชี้แจงกรณียื่นงบแบบตีเช็คเปล่าว่านักเรียนหรือ ม.4 เป็นต้นไป ต้องใช้คอมพิวเตอร์สำหรับชิ้นงานที่ซับซ้อนขึ้น ต้องมีสมรรถนะสูงกว่าแท็บเล็ต ถือเป็นครั้งแรกที่ สพฐ.ออกมาแตะเบรกการจัดซื้ออุปกรณ์นี้ และเป็นคำถามใหม่ถึงโครงการนี้ว่าในอนาคตจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32630&Key=hotnews