ศธ.หนุนเด็กใต้เรียน ม.ปลาย

6 ธันวาคม 2556

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2556-2558) โดยที่มีเป้าหมายยุทธศาสตร์ 7 ยุทธศาสตร์ เช่น ยุทธศาสตร์การเพิ่มคุณภาพการศึกษา การพัฒนาไอซีที และการให้ทุนการศึกษา เพื่อเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมให้นักเรียนในพื้นที่ได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีหรือจบการศึกษาระดับชั้น ม.3 และเรียนต่อระดับ ม.ปลาย มากขึ้น เนื่องจากพบว่าสัดส่วนนักเรียนที่จบชั้น ม.ปลายยังมีไม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะเรียนด้านศาสนา ซึ่งยังไม่สามารถเทียบโอนระดับชั้น ม.ปลาย ได้จึงยังทำให้ไม่สามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้ ดังนั้นที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปช่วยส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนจนจบระดับ ม.ปลาย เพิ่มขึ้น

“ที่ประชุมยังเสนอให้ส่งเสริมการเรียนการสอนสองภาษา หรือ ทวิภาษาให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนใต้อ่านและเขียนภาษาไทยได้ นอกจากนี้นายจาตุรนต์ได้ย้ำให้ส่งเสริมการเรียนภาษาเพื่อเชื่อมโยงกับความเป็นอาเซียนและสากล โดยตั้งเป้าให้เด็กใต้เรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี และการเพิ่มสัดส่วนการเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีพตลอดจนการพัฒนาครูในพื้นที่ให้ได้อย่างน้อย 80% ด้วย” นางสุทธศรีกล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34994&Key=hotnews

เร่งหารือเกณฑ์เงินเดือนเด็กอาชีวะ

3 ธันวาคม 2556

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอชื่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มอาชีพ (Skill Cluster) 12 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน แม่พิมพ์ พลังงาน อาหาร โรงแรมและท่องเที่ยว อัญมณี ก่อสร้าง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อุตสาหกรรมเคมี และอุสาหกรรมสิ่งทอ กับรมว.ศธ. ในสัปดาห์นี้เพื่อลงนามแต่งตั้งให้คณะกรรมการ ได้ดำเนินการวางแผนผลิตกำลังคนตามกลุ่มสาขาอาชีพต่อไป เมื่อรมว.ศธ. ลงนามแต่งตั้งแล้ว คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะหารือกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อจัดทำรายละเอียดการพัฒนาการเรียนการสอน การจัดทำหลักสูตร และการพัฒนาบุคลากร ที่จะสนองตอบต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และภาคการผลิต

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะหารือถึงเรื่องเงินเดือนสำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่ฝึกปฏิบัติงานและทำงานในสถานประกอบการด้วยว่า ในแต่ละกลุ่มอาชีพควรจะได้รับเงินเดือนเท่าใดถึงจะเหมาะสม เบื้องต้นตั้งเป้าว่า ผู้ที่จบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) จะต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท แต่ขณะนี้มีบางกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มพลังงาน โลจิสติกส์ ที่เด็กระดับ ปวส.ได้เงินเดือนสูง 2-3 หมื่นบาท จึงมั่นใจว่าเด็กที่มาเรียน 12 กลุ่มอาชีพนี้ เงินเดือนจะสูงแน่นอน

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 3 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34972&Key=hotnews

เด็กไทยสุดเจ๋งคว้า 11 เหรียญทองแข่งขันคณิต-วิทยาศาสตร์โอลิมปิก

3 ธันวาคม 2556

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้คัดเลือกและส่งนักเรียนระดับประถมศึกษาจากทุกสังกัดของไทยที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ จำนวน 12 คน และวิทยาศาสตร์ จำนวน 15 คน รวม 27 คน เข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา International Mathematics and Science Olympiad For Primary School 2010 (IMSO 2010) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายน 2556 ณ เมืองอัลฟองโซ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวนรวม 247 คน จาก 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา แอฟริกาใต้ ไต้หวัน คาซัคสถาน มาเลเซีย เนปาล อินเดีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยนั้น ผลปรากฏว่านักเรียนไทยสามารถกวาดรางวัลจากการแข่งขันได้ถึง 28 รางวัล ประกอบด้วย

การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกได้ 6 เหรียญทอง, เหรียญเงินได้ 5 เหรียญ และเหรียญทองแดง 1 รางวัล สำหรับ ผู้ได้รับเหรียญทองได้แก่ เด็กชายลภัส เปรมเจริญ โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราช รังสฤษฎ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา, เด็กชาย นิรวิทธ์ อารยะพิพัฒน์กุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพ มหานคร, เด็กชายปพณ ละเภท โรงเรียนดรุณากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี, เด็กชาย พรพิพัฒน์ กิตติสุภาพ โรงเรียนอนุบาลสุธีธร จ.นครปฐม, เด็กชาย ภานุพงศ์ พุ่มพวง โรงเรียนอยู่เย็นวิทยา จ.นครปฐม และเด็กชายสรรค์เปรม เตชะวิเชียร โรงเรียนพระมารดานิจจา นุเคราะห์ กรุงเทพมหานคร

สำหรับการแข่งขันวิทยาศาสตร์ โอลิมปิก ได้ 5 เหรียญทอง, เหรียญเงิน ได้ 8 เหรียญ และเหรียญทองแดง 2 รางวัล ซึ่งผู้ได้รับเหรียญทอง ได้แก่ เด็กชายชาลี โลหะรุ่งโรจน์ โรงเรียนราชวินิต กรุงเทพมหานคร, เด็กชายจิรภัทร วัฒนเรืองโกวิท โรงเรียนอนุบาลยโสธร จ.ยโสธร, เด็กหญิง ปพิชญา จันทร์ผ่อง โรงเรียนสุวรรณวงศ์ จ.สงขลา, เด็กชายกันตภณ วงศ์แจ่มเจริญ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร และเด็กชายฐิติวัสส์ อัศวเลิศพลากร โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ เด็กชายปพณ ละเภท โรงเรียนดรุณากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ยังสามารถคว้ารางวัลพิเศษคะแนนรวมสูงสุดด้านการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ (Best in Solving Math Exploration Problems) อีกหนึ่งรางวัลด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34970&Key=hotnews

กศน.ย้ำเพิ่มผู้เรียนอาชีวะต้องรุมกันทำ เตรียม 2 ยุทธศาสตร์ควานหาผู้เรียน

3 ธันวาคม 2556

นายสุรพงษ์ จำจด รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี นโยบายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพต่อสายสามัญ จาก 36 ต่อ 64 เป็น 51 ต่อ 49 ในปี 2558 เพื่อผลิตบุคลากรสายอาชีพที่มีแนวโน้มขาดแคลนอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงาน กศน.นั้น ในส่วนของสำนักงาน กศน.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวไว้ 2 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. สำนักงาน กศน.จะจัดการเรียนการสอน ปวช.สำหรับผู้เรียนนอกระบบเอง โดยใช้หลักสูตรปวช. ของ สอศ.แต่จะปรับให้สอดคล้องไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญจะประสานกับสถานประกอบการในพื้นที่เข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคี เพื่อให้ผู้เรียนได้เน้นการฝึกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเรียนอาชีวศึกษามีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายเปิดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ห้องเรียน และห้องเรียนละ 40 คน

นายสุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 จะเน้นกระบวนการแนะแนว โดยใช้สำนักงาน กศน.ตำบลเป็นฐานในการรณรงค์และกระจายข้อมูลข่าวสาร เพราะมีห้องเรียนกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ทั้ง 7,406 ตำบล แล้วจึงส่งต่อผู้เรียนให้แก่สอศ. โดยกศน.จะขอสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะใช้ในการรณรงค์จากสอศ.เพื่อนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ในชุมชน เช่น หอกระจายข่าว หรือวิทยุชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของกศน.จะต่างจากของ สอศ. เพราะผู้เรียนของกศน.จะเป็นกลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และทำงานอยู่แล้ว แต่ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ตนเอง ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ ตนมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้ที่อยู่นอกระบบมีโอกาสเข้าถึงการเรียนอาชีวะได้มากขึ้น และจะตรงกับความต้องการของผู้เรียนด้วย

“การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพให้ประสบความสำเร็จตามนโยบายนั้น ผมเห็นว่าต้องมีการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ร่วมกัน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันทำเชื่อว่าจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนได้ แต่หากทำงานแบบต่างคนต่างพาย แม้จะไปได้ แต่เมื่อไหร่จะไปถึง ดังนั้นการประกอบร่างมาทำงานร่วมกันจะมีพลังมากกว่า” นายสุรพงษ์ กล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

ww.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34968&Key=hotnews

 

สพฐ.ร่อนหนังสือแจง กวพ.อ. – สตง.

3 ธันวาคม 2556

สพฐ.ส่งหนังสือแจงประมูลอี-ออกชัน โซน 3 เพิ่มเติมให้ กวพ.อ. แล้วพร้อมส่งหนังสือถึง สตง.ขอข้อมูลเพิ่มเติมปัญหาจัดซื้อแท็บเล็ตด้วย “จาตุรนต์” ระบุต้องรอผลตัดสินการอุทธรณ์ที่ชัดเจนจาก กวพ.อ.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 แท็บเล็ต ต่อ 1 นักเรียน มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งข้อมูลเพิ่มเติมชี้แจงการยกเลิกผลการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอีเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน แท็บเล็ตโซน 3(ภาคกลางและภาคใต้) ของนักเรียนชั้นม. 1 และครู ไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) นั้น คงต้องรอคำตัดสินของ กวพ.อ.ก่อน แต่ที่ห่วงคือ ส่วนที่ประมูลและทำสัญญาไปแล้วก่อนหน้านี้ในโซน 1, 2 ระดับ ป. 1 และโซน 4 ระดับ ม.1 ที่ยังมีความล่าช้า เนื่องจากยังไม่สามารถส่งแท็บเล็ตให้โรงเรียนตามที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เรื้อรังมานาน สะท้อนชัดว่าระบบวิธีการจัดซื้อแท็บเล็ต มีปัญหา

นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ.ได้ทำหนังสือ 2 ฉบับ ส่งไปยัง กวพ.อ.และ สตง. โดยในส่วนของ กวพ.อ.นั้นเป็นการส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมการจัดซื้อจัดจ้างในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการอี-ออกชันในโซน 3 ที่ผ่านมามีการดำเนินการอะไรบ้าง ซึ่งสำนักการคลังและสินทรัพย์ ของ สพฐ.ได้รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อแท็บเล็ตโซน 3 ว่ามีการจัดซื้อแพงกว่าโซน 4 อย่างมีนัยสำคัญอย่างไร ส่วน ของ สตง.นั้น เป็นการสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเติมว่า สตง. มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อแท็บเล็ต ประจำปีการศึกษา 2556 ในประเด็นปัญหาอื่นๆ นอกจากที่เคยได้ให้ข้อสังเกตมาหรือไม่และขอให้ส่งกลับมา เพื่อที่ สพฐ.จะได้รวบรวมปัญหาทั้งหมดและนำดำเนินการแก้ไข

“คงต้องรอฟังผลตัดสินของ กวพ.อ.ว่าจะมีมติเช่นไรซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ แต่หากมีมติให้ยกเลิกผลอี-ออกชันโซน 3 ตามที่บอร์ดบริหารแท็บเล็ตมีมติ ก็จะต้องเปิดอีออกชันใหม่ แต่บริษัทเดิมที่ชนะการประมูลก็คงยื่นฟ้องศาลปกครอง หรือหากพิจารณาให้ดำเนินการต่อ สพฐ.ก็อาจจะต้องประชุมเพื่อหาแนวทางที่จะรักษาประโยชน์ให้ราชการ เช่น อาจจะเจรจากับบริษัทเพื่อต่อรองราคา หรือหาวิธีการอื่น ๆ แต่ที่สุดแล้วจะต้องเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้พิจารณา” นาย กมล กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34966&Key=hotnews

 

ไมโครซอฟท์ ให้สิทธิ์ นศ.ใช้ ‘ออฟฟิศ 365’ ฟรี ยกระดับการศึกษา

28 พฤศจิกายน 2556

“ไมโครซอฟท์” มอบสิทธิ์สำหรับนักศึกษาผ่านโครงการ “Student Advantage” เพิ่มโอกาสให้นักศึกษาทั่วโลก ใช้บริการ Office 365 เพื่อการศึกษาได้ฟรี…

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเปิดตัวโครงการ “สิทธิประโยชน์สำหรับนักศึกษา” (Student Advantage) สำหรับสถาบันการศึกษาที่เลือกใช้ Office หรือ Office 365 เพื่อการศึกษา ในประเภทไลเซ่นส์ โปรแกรม ออฟฟิศ โปรเฟสชันนอล พลัส (Office Professional Plus) หรือออฟฟิศ 365 โปรพลัส (Office 365 ProPlus) สำหรับคณาจารย์และบุคลากรทั้งสถาบัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป นักศึกษาในสถาบันการศึกษานั้นๆ จะสามารถใช้งานโปรแกรม Office 365 Pro Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งข้อเสนอดังกล่าว จะมอบแก่นักศึกษาทั่วทุกมุมโลกรวมถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ บริการ Office 365 เพื่อการศึกษา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน โดยสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น Office ที่ประกอบด้วย Word PowerPoint และ Excel ผ่านทุกดีไวซ์ และจดบันทึกผ่าน OneNote โดยมีข้อมูลที่เชื่อมต่อกันตลอดเวลา กับพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์ (Sky Drive หรือ Sky Drive Pro) ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้บริการเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมั่นใจว่าข้อมูลจะมีความเป็นส่วนตัว

นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ We Make 70 Million Lives Better โดยปฏิรูปการเรียนการสอนของผู้สอนให้ทันสมัย ตอบรับความต้องการของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้งานนวัตกรรมไอที และผลิตภัณฑ์นำสมัยอย่าง Office 365 เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และสร้างผู้ริเริ่มนวัตกรรมในอนาคต ด้วยการมอบโอกาสให้เยาวชน สามารถใช้งานโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพผ่านระบบคลาวด์ได้

สำหรับโครงการ Student Advantage เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงโปรแกรมชั้นนำ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในเวอร์ชั่นที่ทันสมัย และอัพเดต ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับนักศึกษา ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษากว่า 35,000 แห่งทั่วโลก ที่ได้สิทธิ์ในการมอบสิทธิประโยชน์การใช้งานให้กับนักศึกษา ตามเงื่อนไขโครงการ Student Advantage โดยอัตโนมัติ ซึ่งกว่า 98% ของนักศึกษาที่ใช้งานซอฟต์แวร์เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้ใช้งานไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365โปรพลัส ประกอบไปด้วย แอพพลิชั่นออฟฟิศต่างๆ ที่คุ้นเคยแบบครบวงจร โดยสามารถติดตั้งได้บนเครื่องพีซีหรือแมคได้ถึง 5 เครื่อง และสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ได้ถึง 5 ดีไวซ์ และสามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้ เมื่อผนวกการใช้สิทธิ์ในโครงการ Student Advantage พร้อมกับการใช้งานคลาวด์เซอร์วิสของไมโครซอฟท์ อาทิ Exchange Online , SharePoint Online and Lync Online ที่สามารถใช้งานได้ฟรีในบริการ Office 365 เพื่อการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ไมโครซอฟท์ เชิญชวนมหาวิทยาลัยที่สนใจร่วมงานสัมมนา “ระบบคลาวด์สู่การศึกษายุคใหม่” เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ประโยชน์ และผลของการใช้งานของบริการ Office 365 จากสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ และรายละเอียดโครงการ Student Advantage โดยงานดังกล่าว จะจัดขึ้นที่สำนักงานบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย.

ที่มา: http://www.thairath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34945&Key=hotnews

แนะแนวเรียนอาชีวะ 1.2 แสนคน

28 พฤศจิกายน 2556

บอร์ด กอศ.ชี้เอกชนอุดหนุนทุนเรียน ถ้าเด็กไทยไม่สน “พม่า-ลาว” เสียบแทน
ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)โดยกลุ่มอาชีวศึกษาภาคเหนือ จัดประชุมสัมนาการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเรียนสายอาชีพ ให้กับครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ

โดยนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาการลงทุนมากมาย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องน้ำการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหา คือมีบุคลากรไม่เพียงพอ เพราะตามแผนการพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ต้องการกำลังคนถึง 5 แสนคน แต่วันนี้สามารถผลิตช่างเทคนิคได้ไม่ถึง 70% หรือไม่ถึง 3 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นการที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนให้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายสายอาชีวะต่อสายสามัญที่ 51:49 ขณะที่ปัจจุบันมีนักศึกษาอาชีวะเพียง 2.8 แสนคน ฉะนั้นหากจะให้ได้ตามเป้าหมายต้องมีเด็กเข้าเรียนอาชีวะไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งยังขาดอีก 1.2 แสนคน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า หากมองตัวเลขนักเรียน ม.3 ในปัจจุบันที่มี 8.5 แสนคน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงเด็กมาเรียนอาชีวะได้ทันทีภายในปีสองปีนี้ แต่ถ้าทำได้ภายใน 5 ปีก็ถือว่าไม่สายเกินไป โดยทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความร่วมมือ ในการแนะแนวทางเลือกให้เด็ก อย่าปล่อยให้เป้าหมายอยู่แต่ในกระดาษ ต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำให้ได้อย่างน้อยปีละ 5 หมื่นคน โดยเฉพาะครูแนะแนว ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เด็กมากขึ้น ต้องมีการจัดโรดโชว์ในโรงเรียนมัธยม นักเรียนคนใดชอบเรียนปฏิบัติก็แนะนำให้มาเรียนอาชีวะ เพราะประเทศเราต้องพัฒนาถ้าไม่แนะนำให้เด็กมาเรียนอาชีวะโอกาสพัฒนาประเทศก็จะยากขึ้น และขณะนี้มีบริษัทเอกชน หลายแห่งให้ทุนเรียนอาชีวะมากขึ้น ถ้าเด็กไทยไม่เรียน ต่อไปเด็กจากพม่าและลาวจะมาเรียนและทำงานแทน

“ไม่ว่าใครก็ต้องมีอาชีพ แต่จะเลือกเมื่อไหร่เท่านั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนจะบอกว่าคนเรียนเก่งให้เรียน ม.ปลายสายสามัญ ถ้าไม่เก่งให้เรียนสายอาชีพ ทำให้สายอาชีพกลายเป็นชนชั้น 2 และสมัยนี้ยังมีปัญหาว่าค่านิยมว่า พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนปริญญาตรีเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้เด็กก็เรียนไม่ตรงกับความต้องของตลาดแรงงาน เพราะไม่สามารถเรียนในสาขาที่ตัวเองต้องการเรียนได้เพราะมีอัตราแข่งขันสูง อีกทั้งบริษัทชั้นนำ ก็จะคัดเลือกคนที่ได้เกียรตินิยม เพราะมีตัวเลือกมาก ทำให้เด็กจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร ขณะที่เด็กที่เรียนจบ ปวส. จะสามารถทำงานได้ทันที และยังสามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของอาชีวะ โดยเฉพาะปัญหาทะเลาะวิวาท ที่ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานเข้าเรียน จึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ภาพลักษณ์นั้น”ประธาน กอศ.กล่าว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34943&Key=hotnews

นักวิชาการชี้ปฏิรูปครู ศธ.ต้องฟื้นโครงการ “ครูพันธุ์ใหม่”

28 พฤศจิกายน 2556

นักวิชาการ แนะปฏิรูปครูต้องเริ่มต้นที่การผลิต จี้ ศธ.ฟื้นโครงการครูพันธุ์ใหม่ ชี้ข้อดีคัดคนดี คนเก่งมาเป็นครู เสนอไอเดีย เปลี่ยนวิธีให้ทุนตรงที่คณะ ไม่ผ่านมหา’ลัยเช่นที่ผ่านมา

นายประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบัน กล่าวถึงกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายปฏิรูปครูทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการพัฒนาครู ว่า หาก รมว.ศึกษาธิการ จะเดินหน้าเรื่องปฏิรูปครูทั้งระบบนั้น อันดับแรกที่ต้องทำ คือ คิดหาวิธีจูงใจให้คนดี คนเก่งมาเป็นครู โดยเฉพาะควรเร่งเดินหน้าโครงการครูพันธุ์ใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี ที่สามารถคัดคนเก่ง คนดีมาเป็นครูได้ แต่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ต้องหาวิธีการที่จะให้สถาบันฝ่ายผลิตลดจำนวนการผลิตลงด้วย เนื่องจากขณะนี้แต่ละสถาบันต่างฝ่ายต่างผลิต จนทำให้มีบัณฑิตครูออกมาจำนวนมากแต่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และได้ครูที่ไม่มีคุณภาพ โดย ศธ.อาจจะใช้วิธีการส่งทุนโดยตรงมาที่คณะครุศาตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่ต้องผ่านสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยโดยตรง เพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้ออ้างในการหารายได้ และรับนักศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มากเกินความจำเป็น ส่วนการใช้ทุนอาจจะทำลักษณะเดียวกับทุนผลิตแพทย์ ที่ให้ทุนผ่านคณะโดยตรง และคณะเองก็สามารถไปกำหนดจำนวนรับนักศึกษาเข้าเรียนได้ วิธีการนี้จะช่วยลดการผลิตในเชิงปริมาณได้มาก

“ภาครัฐเองก็จะต้องมีความชัดเจน ในเรื่องจำนวนความต้องการครูในว่ามีเท่าไหร่ และสาขาใด เพื่อช่วยให้สถาบันมีความชัดเจนในการผลิตมากขึ้น ขณะเดียวกันต่อไปศธ.ควรจะต้องมีการประเมิน และยกระดับคุณภาพการผลิตครูของแต่ละสถาบันโดยควรจะต้องมีสอบใบประกอบวิชาชีพครูทุกปี ไม่ใช่ว่าจบครู 5 ปี แล้วจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ เพื่อให้แน่ใจว่าได้คนที่มีคุณภาพจริง ๆ มาเป็นครู” นายประวิต กล่าว

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34942&Key=hotnews

24 โรงเรียน กทม. ปิดเรียนต่อถึง 28 พ.ย.

27 พฤศจิกายน 2556

กทม.สั่งให้ปิดโรงเรียนในสังกัด กทม.ในเขตพื้นที่ชุมนุม จำนวน 24 โรงเรียน จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่ สพฐ. ให้อำนาจผู้อำนวยการตัดสินใจสั่งหยุดการเรียนการสอน หากเห็นว่าสุ่มเสี่ยงต่อเด็กและครู

น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกทม. เปิดเผย หลังจากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการกระจายไปยึดที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานของ กทม.ปรับแผนปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดกทม. จำนวน 24 โรงเรียนในพื้นที่ 3 เขตคือ เขตพระนคร ดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อไปจนถึงวันที่ 27-28 พ.ย.56 ส่วนโรงเรียนในเขตอื่นๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนที่ไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการสั่งปิดการเรียนการสอนหรือไม่ ทั้งนี้ กทม.จะมีการสอนชดเชยให้กับนักเรียนของกทม.ที่มีการปิดการเรียนการสอน เพื่อให้ครบตามหลักสูตร

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับให้จัดเวรยามดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ตามอาคารสถานที่ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบริเวณพื้นที่การชุมนุม เพราะเป็นห่วงมือที่สามจะเข้ามาสร้างสถานการณ์ และยืนยันว่าในวันที่ 26 พ.ย. ข้าราชการและผู้บริหาร ยังคงเข้าทำงานตามปกติ โดยในวันนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้นัดประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ที่กระทรวงศึกษาธิการ

นายอภิชาติ จีรวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนต่างๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนในการสั่งปิดการเรียนการสอนได้ หากเห็นว่าสถานการณ์สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อเด็กและครู โดยโรงเรียนมีอำนาจสั่งปิดโรงเรียนได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกิน 15 วัน จะเป็นอำนาจของเลขาธิการ สพฐ. สั่งปิดโรงเรียน ในส่วนของครูและนักเรียนที่จะไปร่วมชุมนุมนั้นถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้ปิดการเรียนการสอน ถ้าครูต้องการจะไปร่วมชุมนุมก็ต้องใช้วิธีขอลาราชการตามสิทธิ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34939&Key=hotnews

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย
ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

26 พ.ย.56 นักศึกษา และเพื่อนอาจารย์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
ประกอบด้วย นายไวภพ ตุ้ยน้อย อาจารย์วิเชพ ใจบุญ และนายณภัทร เทพจันตา
เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.56
โดย กสทช. จัดเวิร์กช็อปนักศึกษา
เรื่อง ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย
(Threats on Cyber security and Its Implication on Thai Culture Workshop)

ตามที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทุกประเทศในโลกมีอัตราการเติบโตของปริมาณผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบที่เรียกกว่า สมาร์ทโฟน ขึ้นสูงมาก วิวัฒนาการได้ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด จนทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยของข้อมูลที่ตนเองได้ใช้ในการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนดังกล่าว ทำให้เกิดช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดี และแฮคเกอร์ต่างใช้โอกาสนี้ในการโจรกรรมข้อมูล และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลและองค์กรเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ใช้เครือข่ายออนไลน์ โดยเฉพาะเฟชบุ๊คในกรุงเทพมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ยิ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มแฮคเกอร์ได้โดยง่าย

กสทช. เห็นความสำคัญ ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย ทุกภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงภัยคุกคามออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ส่งเสริมให้เยาวชนและผู้เข้าร่วมประชุมใช้วัฒนธรรมนำชีวิต รู้จักใช้วัฒนธรรมในโลกไซเบอร์ รู้จักวิธีป้องกันปัญหาและวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม และเพื่อสร้างความตื่นตัวของภาคการศึกษา ประชาชนและกรรมการสภาวัฒนธรรม ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน นักธุรกิจ และประชาชนที่สนใจ

http://www.pracharkomnews.com/hilight/%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%81/