สอศ.ปรับหลักสูตร ปวช.ปี’ 56 เริ่มทดสอบเด็ก 1.89 แสนคน

13 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 56 นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ได้ประกาศใช้หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) พ.ศ.2556 แล้ว ซึ่งใช้กับนักเรียน นักศึกษาระดับ ปวช.ที่เข้าเรียนในปีนี้ประมาณ 189,650 คนทั่วประเทศจะมีการประเมินทักษะอาชีพนักเรียน นักศึกษาระดับ ปวช.ทุกคนก่อนจบการศึกษา

โดยจะเป็นเงื่อนไขใหม่ที่เพิ่งกำหนดไว้ในหลักสูตรปวช.พ.ศ.2556ว่าเด็กที่จะจบหลักสูตรดังกล่าวต้องผ่านการประเมินทักษะอาชีพไม่เช่นนั้นจะไม่จบการศึกษา ซึ่งการประเมินจะประเมินจากการปฏิบัติอาชีพนั้นจริงๆ เช่น หากเรียนช่างยนต์ก็ต้องประเมินอาชีพด้านช่างยนต์ โดยมีกรรมการประเมินที่ประกอบด้วยอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญอาชีพในพื้นที่ ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลักสูตรปวช.เดิมแค่สุ่มประเมินนักเรียน นักศึกษาปวช.ส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามการประเมินนี้จะใช้ประเมินในปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะครอบคลุมนักเรียน นักศึกษาระดับปวช.ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนด้วย

ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)อยู่ในระหว่างที่จะพิจารณาเพื่อให้มีการประเมินทักษะอาชีพเช่นเดียวกัน ทั้นี้การประเมินทักษะอาชีพนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าอาชีวะจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของคนที่เรียนด้วยไม่ใช่ว่าจะเรียนจบกันง่ายๆและหากเด็กผ่านตรงนี้ไปจะทำให้สถานประกอบการยอมรับด้วยเพราะผ่านการประเมินอาชีพมาแล้ว โดยจากนี้ไปสอศ.จะจัดทำแนวปฏิบัติออกมาเพื่อให้สถานศึกษานำไปใช้การประเมินต่อไปในปีการศึกษา 2558

เลขาธิการกอศ. กล่าวด้วยว่าการทดสอบโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติหรือPISA ประจำปี 2012 ที่ได้มีการทดสอบไปแล้วและคาดว่าจะประกาศผลในเดือนพฤศจิกายนนี้มีนักเรียน นักศึกษาสังกัดสอศ.และอาชีวศึกษาเอกชนเข้าทดสอบ 1,096 คนจากเด็กไทยที่เข้าทดสอบทั้งหมด6,918 คน โดยการสอบคราวนี้มีการให้น้ำหนักวิชาคณิตศาสตร์ 60%วิทยาศาสตร์และการอ่านอย่างละ 20% ซึ่งก่อนการสอบPISAได้มีการทดลองสอบPISA ก่อนและผลที่ออกมานักเรียนอาชีวศึกษาได้คะแนนเท่ากับคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศเพียงฉบับเดียวเท่านั้นจากข้อสอบทั้งหมด 8 ฉบับ ดังนั้นจึงคาดว่าหากผลการประเมินPISAที่ออกมาอาจจะได้คะแนนไม่ดี

ส่วนการสอบในปีPISA ปี 2015 ที่จะมีการให้น้ำหนักวิทยาศาสตร์60% คณิตศาสตร์และการอ่านอย่างละ 20% นั้นการเตรียมตัวของสอศ.ได้เป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานยกระดับPISA แล้ว และสอศ.จะปรับวิธีเรียนวิธีสอนให้เป็นแนวปฏิรูปการเรียนรู้ให้มากขึ้นไม่ว่าการสอบPISAจะเป็นแบบไหนจะทำให้รับมือได้ ดังนั้นการเรียนการสอนจะให้ความสำคัญทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการอ่าน

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34764&Key=hotnews

ร.ร.เอกชนเร่งรัฐพัฒนาครูภาษาไทย

13 พฤศจิกายน 2556

เครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานคร ย้ำภาครัฐ ให้ความสำคัญด้านภาษาไทยให้มากขึ้น ระบุแม้จะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 “ภาษาไทยยังต้องเป็นภาษาชาติ” พร้อมหนุนโยบาย “ปีการศึกษา 2556 เป็นปีแห่งการเพิ่มคุณภาพการศึกษา”

อ.จินดา ตันตราจิณ ในฐานะประธานกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาพงศ์ กล่าวว่า แม้จะมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ หรือภาษาประจำชาติของอาเซียน เช่นคำทักทายง่าย ๆ เพื่อ เตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซีในปี 2558 แล้ว แต่เด็กไทยยัง ต้องศึกษาภาษาไทยให้แตกฉาน เนื่องจากเป็นภาษาประจำชาติ มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และประเทศเพื่อนบ้านที่ เป็นสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา ก็มีการจัดให้บุคลากรในประเทศเรียนภาษาไทยอย่างขะมักเขม้น เพราะแต่ละประเทศเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปิดเสรีเออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้า

“กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชนได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการเรื่อง “ภาษาไทย ภาษาชาติ” เพื่อต้องการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศให้ “ปีการศึกษา 2556 เป็นปีแห่งการเพิ่มคุณภาพการศึกษา” และพัฒนาครูเอกชนให้มีความรู้ ความเข้าใจตลอดจนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยเพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอนาคตในส่วนของภาคการศึกษากับอาเซียน เรามีการสนับสนุนแนวคิดเรื่อง Education Hub ในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนและการปรับหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรสากลมากขึ้น”

โดยกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานครอยากให้ภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบดูแลธุรกิจการศึกษาภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของโรงเรียนเอกชนของไทย ที่ต้องหันมาแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติ ที่เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งจุดอ่อนของผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนของไทยคือมีทุนหรือแหล่งเงินทุน ไม่มากเพียงพอที่จะแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติได้.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34763&Key=hotnews

สกศ.รื้อแผนการศึกษาชาติล้าสมัย นำร่องถกระดับภาค-หนุนวิจัยพัฒนา 4 หัวข้อหลัก

12 พฤศจิกายน 2556

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (2556-2559) สู่การปฏิบัติ ภาคเหนือ” โดยหารือถึงการขับเคลื่อนกรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษา ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทำมาตั้งแต่ปี 2542 และปรับปรุงมาเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันมีหลายเรื่องที่ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เช่น เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว การศึกษาไม่มีการพูดถึงเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเรื่องยาเสพติด และเรื่องอาเซียน จึงควรเพิ่มเติมเรื่องเหล่านี้ในแผนการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับการประชุมนี้จะจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค โดยจัดที่ จ.เชียงราย เป็นครั้งแรก และอีก 3 ภูมิภาค คือ ภาคกลางที่ กรุงเทพฯ ภาคใต้ที่ จ.สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น ตามลำดับ

เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จัดตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ มุ่งเน้นเรื่องการสร้างสรรค์องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ทางการศึกษา เป็นครั้งแรกที่เริ่มจัดในภาคเหนือ โดยเชิญหน่วยงานทางการศึกษา สถาบันการศึกษา นักวิจัยที่ดำเนินการวิจัยทางการศึกษาตามกรอบการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ ประเด็นและหัวข้อวิจัยทางการศึกษาที่เน้นด้านนวัตกรรมการจัดการศึกษา ที่นำไปสู่การเสนอนโยบาย การแก้ปัญหา งานวิจัยที่ตรงความต้องการของพื้นที่ เป็นต้น มานำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

โดยแบ่งกลุ่มงานวิจัยตามหัวข้อได้ 4 หัวข้อหลัก คือ 1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การสร้างและกระจายโอกาสการศึกษา 2. การปฏิรูปครู 3.การจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องตลาดแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับการเปิดอาเซียน และ 4.การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญา ของชาติ

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

 

ศธ.ไทย-จีนร่วมยกระดับจัดการศึกษา ชู 3 งานใหญ่ส่งเสริมภาษา-อาชีวะ-อุดมฯ

12 พฤศจิกายน 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 37 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือเกี่ยวกับการจัดการศึกษาร่วมกับนายหยวน กุ้ยเหริน รมว.ศธ.สาธารณรัฐประชาชนจีน ใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ ความร่วมมือระดับอุดมศึกษา การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย และความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา โดยเรื่องความร่วมมือระดับอุดมศึกษานั้น ถึงแม้จะ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกันเองแต่ทางจีนก็ยินดีที่ จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือมากขึ้น ส่วนเรื่องการพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอนภาษาจีน ที่พบว่าขณะนี้นักเรียนไทยสนใจเรียนภาษาจีนเป็นจำนวนมาก แต่ต้องมีการปรับระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาจีนในการสนทนาได้ดี ซึ่ง รมว.ศธ.จีน รับที่จะให้ความช่วยเหลือโดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำวิจัยพัฒนา สื่อ หลักสูตร การเรียนการสอนภาษาจีน และส่งอาสาสมัครสอนภาษาจีนมาให้เพิ่มขึ้นด้วย

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของอาชีวศึกษานั้น สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีของจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยและได้มีการลงนามร่วมกันใน 6 ด้าน ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นเรื่องการศึกษาที่เน้นด้านการอาชีวศึกษาเป็นการเฉพาะ ตนจึงได้เสนอว่าควรจะเลือกวิทยาลัยบางแห่งมาพัฒนาโดยใช้รูปแบบของจีนมาเป็นต้นแบบ เนื่องจากปัจจุบันจีนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องการอาชีวศึกษาอย่างมากโดยถือเป็นเรื่องใหญ่ของจีน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของประเทศไทยในขณะนี้

“ศธ.มีนโยบายที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเรียนภาษาต่างประเทศของคนไทยให้มีศักยภาพ ซึ่งมีคนสนใจทุกภาษา แต่ที่พูดถึงการส่งเสริมการเรียนภาษาจีนมากกว่าภาษาอื่น เพราะทุกวันนี้มีเด็กไทยเรียนภาษาจีนมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาษาอังกฤษ และความต้องการคนที่พูดภาษาจีนก็มีค่อนข้างสูง เพราะมีการค้าการลงทุนและมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงเรามีการทำความร่วมมือกับจีนในหลายเรื่องด้วย” นายจาตุรนต์ กล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34749&Key=hotnews

สกัดทุจริตสอบครูผู้ช่วย กศน. 59 อัตรา

12 พฤศจิกายน 2556

นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เปิดเผยว่า ตามที่ อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการเปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงาน กศน.จำนวน 59 อัตรา ได้แก่ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา) จำนวน 3 อัตราพื้นที่ทั่วไป จำนวน 50 อัตรา และอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จำนวน 6 อัตรา ซึ่งปิดสมัครไปเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีผู้สมัครทั้งสิ้น 8,945 คนและจากการตรวจสอบคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 พบว่ามีผู้ไม่มีสิทธิ์สอบ เนื่องจากขาดคุณสมบัติกว่า 300 คนโดยส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า หลังจากตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกในเร็วๆ นี้ และขณะนี้ได้มีการกำหนดวันและสถานที่คัดเลือกแล้ว โดยกำหนดวันสอบคัดเลือกวันที่ 15 ธ.ค. 56 ภาคเหนือ จัดสอบที่ จ.เชียงใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น ภาคใต้ ที่จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนภาคกลางและกรุงเทพฯ สอบที่กรุงเทพฯ

“การดำเนินการคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันการทุจริตอย่างรัดกุม โดยประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจตราและคุมสถานที่จัดสอบ ส่วนกรรมการผู้ออกข้อสอบ จะมีการเก็บตัวโดยยึดอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด ไม่สามารถติดต่อกับบุคคลภายนอกได้เป็นเวลา 4 วัน กระทั่งการสอบจะเสร็จสิ้นสำหรับสถานที่ออกข้อสอบ และสถานที่จัดสอบ จะมีการติดกล้องวงจรปิดด้วย โดยขณะนี้ได้เตรียมไว้แล้วกว่า 40 ตัว เพราะผมตั้งใจให้การจัดสอบคัดเลือกครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความโปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้สมัครสอบทุกคน ไม่มีเด็กเส้น ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง” นายประเสริฐ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34747&Key=hotnews

พระเทพฯทรงห่วงโรงเรียนขนาดเล็ก สสวท.-สพฐ.นำร่องสื่อต้นแบบชูผลสัมฤทธิ์เพิ่ม

12 พฤศจิกายน 2556

นายสมเกียรติ ชอบผล ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักพระราชวัง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานโครงการได้ร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำโครงการพัฒนาสื่อต้นแบบ 60 พรรษา ที่มี 5 วิชาหลัก คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และบูรณาการเพื่อโรงเรียนขนาดเล็กนั้น หลังจากนำสื่อต้นแบบของช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ไปทดลองใช้กับโรงเรียน 40 แห่ง สังกัด สพฐ.ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 นั้น พบว่าผลสัมฤทธิ์ในวิชาต่างๆ ของเด็กดีขึ้น โรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชา หรือครูใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์สอน สามารถนำสื่อต้นแบบไปประยุกต์ใช้ในการสอนแบบคละชั้นเรียนได้ เนื่องจากสามารถอ่านแผนการสอนฉบับย่อที่ให้ไปพร้อมสื่อต้นแบบได้

“ที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นห่วงปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กมาก เราจึงจัดทำสื่อต้นแบบขึ้น เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในวโรกาสเฉลิมพระ เกียรติ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เม.ย. 58 เนื่องจากพระองค์ท่านมีพระราชดำริตั้งแต่ต้นว่าควรยึดวิธีการสอนแบบพื้นฐานเดิม คือ การอ่าน เขียน ท่องจำ และสะกดคำไว้ด้วย ส่วนสื่อที่จะนำมาใช้ก็ควรเป็นสื่อพื้นฐานที่ไม่พึ่งพาเทคโนโลยี เพราะบางพื้นที่ยังมีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีอยู่” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 นี้จะนำสื่อต้นแบบไปใช้ในช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) ขณะเดียวกันจะปรับปรุงสื่อต้นแบบให้ดียิ่งขึ้น สำหรับกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ขณะที่สื่อต้นแบบนี้ยังยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี ’51 คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะสามารถทำใบแทรกเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34746&Key=hotnews

สพฐ.จับมือเอกชนส่งตัวแทนนร.ไทยแข่งขันหุ่นยนต์โลกที่อินโดนีเซีย

12 พฤศจิกายน 2556

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และบริษัทแกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนและครูผู้สอนทั่วประเทศ ได้มีการศึกษาค้นคว้าโดยเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ คิดค้นผลงานการบูรณาการความรู้เกี่ยวกับแมคานิคทางกลศาสตร์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ กับสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ และสาระวิชาอื่นๆ โดยได้จัดจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556

ทั้งนี้  เพื่อคัดเลือกทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลก WRO 2013 :World Robot Olympiad 2013 ระว่างวันที่ 14-18 พ.ย. 56 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมี 4 ประเภทการแข่งขันด้วยกัน ประกอบด้วย ประเภทโรบอทซอคเกอร์ หรือการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล จำนวน 5 ทีม ได้แก่ทีม RBT-ZADENT,ทีม RBT-Sentinel และทีม RBT-SKELIC จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ทีม YB-Newgen และทีม Mile Militis จากโรงเรียนโยธินบูรณะ กทม.ประเภทหุ่นยนต์อัตโนมัติ หัวข้อ”World Heritage : หุ่นยนต์กับการอนุรักษ์มรดกโลก” รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ได้แก่ ทีม F.F.P.จากศูนย์หุ่นยนต์ Robot Create กทม., ทีม Robomac Miracle โรงเรียนไอแมคจินตคณิต จังหวัดลำพูน, ทีม Impossible กลุ่ม Robot play กรุงเทพมหานครและทีม Robomac A+ จากกลุ่ม Robomac KORAT จังหวัดนครราชสีมา
รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ได้แก่ ทีมทำดีได้ดี จากโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ,ทีม Impossible จาก Internation Pioneer school กทม.,ทีมเด็กโต จากโรงเรียนสามเสนนอก(ประชาราษฎร์อนุกูล) กทม. และทีมTUM-BOT จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันกทม.และรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ได้แก่ ทีม Raja-o-ros Dream Team 2 จากโรงเรียนวัดราชโอรส กทม.,ทีมอืดอาด และ ทีมเอาจริงแล้วนะ จากศูนย์หุ่นยนต์ไทยบริดจสโตน ชัยภูมิ และทีมจักรคำ 4 จากโรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน

ส่วนประเภทความคิดสร้างสรรค์ หัวข้อ World Heritage : หุ่นยนต์กับการอนุรักษ์มรดกโลก รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปีได้แก่ ทีม Raise Rise Rose จากศูนย์หุ่นยนต์ Raise Genius School กทม.และทีมนครภูเก็ต 6 โรงเรียนเทศบาลภูเก็ต ภูเก็ต รุ่นอายุไม่เกิน15 ปี ได้แก่ทีม PCM Robot จากโรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิตจ.นครราชสีมา และทีม  T.5 robot โรงเรียนเทศบาล 5  (พหลโยธินรามินทรภักดี) จ.ราชบุรี และรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ได้แก่ ทีม ลูกท้าวสุรนารี จากโรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต จ.นครราชสีมา และทีม TWK ROBOT โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จ.ขอนแก่น

ประเภท Pilot ซึ่งเป็นการทดลองแข่งขันหุ่นยนต์ปฏิบัติภารกิจในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ทีมขนมชั้น จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์กทม.จังหวัดกรุงเทพมหานคร และทีม IRON BEAR จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ทั้งนี้เลขาฯแสดงความยินดีและอวยพระพร้อมเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ของตนเอง พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งจากการแข่งขัน และการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนานาประเทศ และประสบผลสำเร็จในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34745&Key=hotnews

ศธ.เล็งแก้ ‘1 อ.’ รุ่น 5 อิงกลุ่มแทน หลังรับสมัครถี่แต่ไม่ถึงเกณฑ์คะแนน 70 % เปิดทางให้เด็กได้แต้มสูงสุดในอำเภอซิวทุน

12 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกรับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ในรุ่นที่ 4 รอบสอง ซึ่งมียอดสมัครกว่า 10,000 คนและสามารถรับทุนได้ประมาณ 1,000 คน โดยจะประกาศผลการสอบข้อเขียน วันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะสอบสัมภาษณ์และทราบผลต้นเดือนธันวาคมและจะจัดอบรมผู้ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถเลือกมหาวิทยาลัยได้ตามที่ต้องการและเรียนจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ช่วงเดือนกันยายนปี 2557 ทั้งนี้ หากผลการคัดเลือก ปรากฏว่า มีจำนวน ผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนวิชาที่สอบ 70% ขึ้นไป น้อยกว่าจำนวนทุน 1,000 กว่าทุน จะต้องพิจารณาว่าจะต้องรับสมัครสอบรุ่นที่ 4 รอบที่สามหรือไม่ หรืออาจจะต้องนำทุนที่ไม่มีผู้สอบได้ไปสมทบรวมกับการคัดเลือกโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนในรุ่นที่ 5 แทนหรือไม่ ทั้งหมดจะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน พิจารณาว่าจะดำเนินการเช่นไร

“ในการสอบโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนรุ่นที่ 5 จะต้องปรับเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ เพราะทุกวันนี้การที่เราไปอิงเกณฑ์มากๆ ทำให้เป้าหมายของนักเรียนที่จะผ่านเกณฑ์รับทุนมีน้อยเพราะปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 บางครั้งนักเรียนต่างจังหวัดที่สอบได้ที่หนึ่งในอำเภอ แต่ไม่ถึงร้อยละ 70 จึงทำให้ไม่ได้รับทุน ดังนั้น เกณฑ์ใหม่จะเน้นการอิงกลุ่ม การกระจายโอกาสให้มากขึ้น และอาจจะไปเข้มข้นในเรื่องการเตรียมพร้อมก่อนจะไปเรียนต่อ เช่น การเตรียมด้านสภาพแวดล้อม มีการสอนเสริมให้มากขึ้น เป็นต้น เพื่อให้สามารถสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้” ปลัด ศธ.กล่าว

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า เกณฑ์อิงกลุ่มอาจจะไม่ได้ยึดคะแนนร้อยละ 70 ทั้งหมด เช่น ใครที่สอบได้คะแนนที่หนึ่งของอำเภอแต่ไม่ถึง ร้อยละ 70 จะให้รับทุนดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักการเดิมของโครงการนี้ที่ให้เด็กเก่งแข่งกันในอำเภอ โดยให้นักเรียนที่ได้ที่หนึ่งของอำเภอได้รับทุน ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้เกณฑ์อิงกลุ่มเพิ่ม จะต้องมีการจัดกลุ่มของเด็กที่ได้รับทุน เช่น อาจจะเป็นกลุ่มที่พร้อมมาก พร้อมปานกลางและพร้อมน้อย เพื่อมาเตรียมความพร้อมให้แต่ละกลุ่ม ส่วนการเลือกมหาวิทยาลัยนั้น จะมีช่องทางเพิ่มขึ้น คือ มีมหาวิทยาลัยที่มีข้อตกลงกับทาง ศธ.ให้เด็กได้เข้าไปเรียนจากเดิมที่เด็กจะเป็นผู้เลือกมหาวิทยาลัยเอง ส่วนนักเรียนอาชีวศึกษา อาจจะต้องปรับเกณฑ์ให้สอดคล้อง ไม่ใช่ว่าจะให้เด็กอาชีวะมาสอบรวม อย่างไรก็ตามทั้งหมดจะรีบนำเสนอคณะกรรมการบริหาร พิจารณาต่อไป ทั้งนี้นายจาตุรนต์ ยังได้มอบให้ ศธ.วิจัยติดตามผลของโครงการว่าที่ผ่านมาเป็นเช่นไรบ้าง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34744&Key=hotnews

เล็งผุดแผนแม่บทไอซีทีการศึกษา

12 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษนโยบาย Smart Education เพื่อคุณภาพการศึกษา ณ ศูนย์การประชุมวายุภักษ์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า กำลังให้ช่วยกัน คิดว่าควรจะมีอัตราครูด้านเทคโนโลยีการศึกษาให้เพียงพอได้อย่างไร โรงเรียนหนึ่ง จะมีครูด้านนี้หนึ่งคนได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะรับจากผู้ที่จบการศึกษาด้านนี้อยู่แล้วหรืออาจใช้วิธีการอบรมพัฒนาครูที่มีอยู่ แต่เรื่องใหญ่มากของประเทศไทย คือ การคิดวางแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการที่จะทำให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องการพัฒนาเนื้อหาสาระ แบบเรียน บทเรียน แบบฝึกหัดและบททดสอบที่จะนำมาใช้ในลักษณะของแอพพลิเคชั่น ที่จะใช้ในการเรียนการสอน โดยการวางแผนนี้ ต้องรีบทำ จะทำให้มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาในการเรียนการสอนสมัยใหม่ได้เร็วขึ้น เป็นระบบและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34743&Key=hotnews

คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ. : เงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2556 และ ปี 2557

11 พฤศจิกายน 2556

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
สวัสดีค่ะเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน หลายท่านคงได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับมติการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กันไปบ้างแล้วว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง (การกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ) ปี 2556 และปี 2557 และเห็นชอบการกำหนดอัตราเงินเดือนและจำนวนเงิน ที่ได้ปรับตามคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง (การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ) ปี 2556 และปี 2557 ตามที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอ โดยมีหลักการที่สำคัญในการปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวคือ

1.) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท

2.) การกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องกำหนดให้ใกล้เคียงกับข้าราชการพลเรือนสามัญ และ

3.) การกำหนดอัตราเงินเดือนนั้นจะต้องยึดโยงตามบัญชีเงินเดือนชั่วคราวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ซึ่งจากมติ ครม.ที่เห็นชอบการกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับอัตราเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปี 2556 และปี 2557 นี้ จะส่งผลให้

1.ผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุที่สูงขึ้น เช่น คุณวุฒิปริญญาตรี 4 ปี เดิม ในวันที่ 1 มกราคม 2555 ได้รับเงินเดือนในอัตรา 11,920 บาท เงินเดือนใหม่ในปี 2556 จะได้รับในอัตรา 13,470 บาท และปี 2557 จะได้รับในอัตรา 15,050 บาท คุณวุฒิปริญญาโททั่วไป จากเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2555 ได้รับเงินเดือนในอัตรา 15,430 บาท เงินเดือนใหม่ในปี 2556 จะได้รับในอัตรา 16,570 บาท และปี 2557 จะได้รับในอัตรา 17,690 บาท เป็นต้น

2.สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในครั้งนี้ คือผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ในวันที่ 1 มกราคม 2556 เช่น คุณวุฒิปริญญาตรี 4 ปี อันดับครูผู้ช่วย ช่วงอัตราเงินเดือนที่จะได้รับการปรับชดเชย คือ อัตรา 11,920-17,690 บาท อันดับ คศ 1 ช่วง 11,920-23,360 บาท และปี 2557 ในวันที่ 1 มกราคม 2557 คุณวุฒิปริญญาตรี 4 ปี อันดับครูผู้ช่วย ช่วงอัตราเงินเดือนที่จะได้รับการปรับชดเชย คือ อัตรา 13,470-17,690 บาท อันดับ คศ 1 ช่วง 13,860-25,240 บาท เป็นต้น

ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการปรับอัตราเงินเดือนทั้ง 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้เงินเหลือจ่ายจากส่วนราชการก่อน หากไม่พอให้ใช้จ่ายจากงบกลางรายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆ สำนักงาน ก.ค.ศ.จะได้มีหนังสือแจ้งไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเร่งดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องต่อไป และพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้าค่ะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34727&Key=hotnews