สิทธิในการฟ้องคดี กับเสรีภาพวิชาการ
มีประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณี คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ฟ้องคดีนักวิชาการ และสื่อมวลชนว่า เป็นสิทธิอันชอบธรรมของ กทค.
โดย จักร์กฤษ เพิ่มพูล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/13FdELP
! http://blog.nation.ac.th/?p=2832
ทั้งในฐานะส่วนตัว และองค์กรที่จะฟ้องคดีคนที่ทำให้พวกเขาเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันก็มีประเด็นโต้แย้งว่า ถึงแม้จะเป็นการใช้สิทธิ แต่เป็นการใช้ในลักษณะลิดรอนในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการ และสื่อมวลชน ซึ่งได้รับรองโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่
เรื่องที่ กทค. ใช้เป็นฐานความผิด ในการฟ้องคดีนี้ คือ การวิพากษ์เรื่องสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 1800 ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะ แม้จะกระทบพาดพิงไปถึงบุคคลที่ประกอบขึ้นเป็น กทค.บ้าง ก็ถือว่า กทค. เป็น public figure หรือบุคคลสาธารณะด้วย บุคคลสาธารณะย่อมได้รับการยกเว้น ในการที่สื่อหรือสาธารณชนจะติดตาม ตรวจสอบ หรือนำเสนอเรื่องราวของเขาเหล่านั้น และหากพิจารณาประกอบกับข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท เรื่องประเด็นสาธารณะ การแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมต่อสาธารณะ ในประมวลกฎหมายอาญา ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายคดีเป็นบรรทัดฐาน
คำว่า ใช้สิทธิในการลิดรอนเสรีภาพ หรือการแสดงออกในลักษณะข่มขู่ คุกคาม นอกเหนือจากการใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น ขู่จะฟ้องทั่วราชอาณาจักร ซึ่งทำไม่ได้โดยข้อกฎหมาย หรือข้อหา คำขอท้ายฟ้องที่มุ่งหมายจะแก้แค้นตอบแทนในแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน มุ่งหมายจะให้จำเลยรับโทษหนักกว่าที่ควร อาจตีความได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งในทางคดีแพ่งเขียนไว้ชัด แต่ในคดีอาญา ประมวลกฎหมาย มาตรา 175 บอกว่า ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หากพิเคราะห์ในแง่เสรีภาพ นักวิชาการ และสื่อมวลชน
ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขต หรือไม่มีความรับผิดชอบหรือไม่
การใช้เสรีภาพจนเกินเลยไปจากหน้าที่นักวิชาการ ที่มุ่งจะเสนอแง่มุมทางวิชาการด้วยเหตุ และผลเพื่อให้สังคมตื่นรู้และเท่าทันบางเรื่องราวที่ยากเข้าถึงและเข้าใจ หรือการใช้เสรีภาพของสื่อในการรายงานและอธิบายปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ ไม่มีประเด็นที่จะชี้ให้เห็นเลยว่า สื่อและนักวิชาการได้ใช้เสรีภาพในทางที่จะไปกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของบุคคลใดในฐานะส่วนตัวเลย ตรงกันข้าม กลับแสดงให้เห็นว่า กทค. ใน กสทช. กำลังใช้สิทธิโดยไม่เข้าใจบริบท หรือบทบาทของนักวิชาการ และสื่อ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อ กสทช. มากกว่า
“การฟ้องร้องครั้งนี้กลับยิ่งทำให้องค์กรได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะการที่ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์และอาจไม่พอใจกับข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบนั้น ก็สามารถใช้สิทธิในการโต้แย้งเพื่อชี้แจงข้อมูลผ่านการแถลงข่าว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการใช้งบประมาณซื้อพื้นที่สื่อเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานของ กสทช. ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด รวมทั้งพบว่าสถานีโทรทัศน์บางช่องได้เชิญกรรมการบางท่านไปออกรายการเพื่อชี้แจง แต่กลับได้รับการปฏิเสธไม่ร่วม การกระทำเช่นนี้ย่อมอาจถูกมองได้ว่าเป็นการปฏิเสธการตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งขัดเจตนารมณ์การเป็นองค์กรอิสระที่ต้องมีหลักธรรมาภิบาลเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้” สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าว
กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” จากกรณีนำเสนอข่าวการสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ณ ศาลอาญา
กรณีเช่นนี้ เคยปรากฏมาก่อน จากการที่บริษัทโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งฟ้องผู้ร่วมรายการ และจอมขวัญ หลาวเพ็ชร พิธีกรรายการ คม ชัด ลึก ทางเนชั่นแชนแนล ศาลยกฟ้องชั้นไต่สวน โดยให้เหตุผลว่า
“…การตั้งประเด็นคำถาม เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่ ความไม่โปร่งใสในการประมูล เป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน”
ซึ่งศาลได้ยกฟ้องผู้ร่วมรายการในเวลาต่อมา ด้วยเหตุว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ไม่ว่า กสทช. โดย กทค. จะเดินหน้าใช้อำนาจศาลข่มขู่ คุกคาม นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ตามวิชาชีพครั้งนี้อย่างไร ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ กทค. และกสทช. ทั้งคณะอย่างเข้มข้นต่อไปได้
กสทช. ตัดสินใจเดินหน้า ไม่ถอนฟ้อง ไม่เจรจา ไม่อ่อนข้อกับคู่กรณีอย่างใดทั้งสิ้น นี่นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเท่ากับ กสทช. กำลังยื่นดาบให้ศาลเชือดคอตัวเอง
โดย จักร์กฤษ เพิ่มพูล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/13FdELP
! http://blog.nation.ac.th/?p=2832