ประวัติ พิพิธภัณฑ์วัดเสลาบัพพาตาราม
ประวัติ พิพิธภัณฑ์วัดเสลาบัพพาตาราม (วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน)
ตั้งอยู่ที่ ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา ลำปาง วัดไหล่หินเป็นวัดเล็กๆ ในอำเภอเกาะคา อยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุลำปางหลวงนัก มีตำนานเล่ากันว่าเป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยพระนางจามเทวี สร้างขึ้นก่อนการสถาปนาวัดพระธาตุลำปางหลวง ด้วยเหตุนั้น จึงมีแผนผังคล้ายคลึงกัน เพียงแต่มีสัดส่วนย่อมกว่า นอกจากนั้น ภูมิสถานที่ตั้ง ก็ยังเป็นเนินใหญ่คล้ายกับวัดพระธาตุลำปางหลวง และเป็นที่มาของชื่อ ไหล่หิน (ไหล่/หล่าย คือเนิน) ด้วย
น่ายินดีที่ทางวัดไหล่หินได้รักษาโบราณวัตถุสถานต่างๆ ไว้ได้อย่างดี ปูชนียสถานสำคัญในเขตพุทธาวาสได้แก่ วิหารไม้และองค์พระธาตุ ซึ่งล้อมรอบด้วยศาลาบาตร ทางด้านหน้ามีซุ้มประตูโขง ส่วนในเขตสังฆาวาสก็ยังมีโรงธรรม โครงสร้างไม้ ผนังก่ออิฐถือปูน เป็นที่เก็บรักษาหีบพระธรรม และคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก คัมภีร์บางฉบับที่พบในวัดไหล่หิน มีอายุถึงกว่าห้าร้อยปี
ตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ทางวัดไหล่หิน ริเริ่มเก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ไว้ ในชั้นต้นนำไปวางแสดงในกุฏิหลังเก่า ต่อมาจึงได้สร้าง “หอพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา สุวัณณะกีฏะศรัทธาสามัคคี” ขึ้น แยกเป็นเอกเทศออกมา ในปี พ.ศ.2530 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2532
ายใน ตรงกลางห้องประดิษฐานพระพุทธรูปบุเงิน บุทอง ขนาดเล็กๆ จำนวนมากไว้ในตู้ มีลูกกรงเหล็กล้อมรอบไว้อย่างมั่นคงถึงสองชั้น ของอื่นๆ ที่นำมาเก็บไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ ก็มีอาทิเครื่องถ้วย เครื่องเขิน เงินตราโบราณ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี หากแต่ที่โดดเด่นก็คือบรรดาเครื่องไม้จำหลักทางศาสนา นอกจากนั้นก็ยังเครื่องรางของขลัง ผ้ายันตร์และตะกรุดแบบต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นคติความเชื่อในท้องถิ่นที่ยังมิได้มีการศึกษาค้นคว้ากันนัก
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือได้ว่ามีกำเนิดมาจากหมู่คณะศรัทธาของชาวบ้านร่วมกับพระสงฆ์โดยแท้ จนถึงบัดนี้ คณะกรรมการสองคน จากจำนวน 20 คน จะผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้าดูแลทุกวัน ท่านเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นขุมคลังความรู้มหาศาล ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของวัด ชุมชน และวัตถุสิ่งของที่นำมารวบรวมไว้ ได้ดียิ่งกว่าแผ่นป้าย หรือหนังสือนำชมใดๆ
ช่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ ภายใต้โครงการวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันราชภัฏลำปาง โรงเรียนวัดไหล่หิน และชุมชน ได้ทำให้วัดไหล่หินหลวงมีฐานะกลายเป็น “พิพิธภัณฑ์” ที่เป็น “แหล่งเรียนรู้” ของนักเรียน ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรียนเพื่อรู้ แต่เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องสืบเนื่องกับชีวิตจริง เช่นการเรียนเกี่ยวกับตุงในวิชาศิลปะ ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้จากผู้อาวุโสในครอบครัวหรือในชุมชน เมื่อเข้าใจแล้วจึงฝึกหัดทำ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ต้องใช้งานจริง จึงมีการจัดงานบุญก่อพระทรายกันที่วัดไหล่หิน อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น ความผูกพันระหว่างเด็กๆ ในชุมชนกับวัดไหล่หิน ยังปรากฏออกมาในรูปของชมรมมัคคุเทศก์น้อย ซึ่งจะร่วมกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัดไหล่หิน เนื่องในโอกาสเทศกาลต่างๆ อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ปัจจุบันบทบาทของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีการทำงานร่วมกันของวัดและชุมชนนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น จากการสำรวจพบว่าในจังหวัดลำปางมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์กลางของศิลปะทางพระพุทธศาสนาของภาคเหนือ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ในล้านนามีจำนวนมาก จากฐานข้อมูลในประเทศไทย มีจำนวน 316 แห่ง (Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre (Public Organization), 2022) ซึ่งการพัฒนาระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งเสริมการท่องเที่ยว (Thongkamnush, Buddhabhumbhitak, and Apichayakul, 2021) ช่วยพัฒนาชุมชนด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนที่ดำเนินการร่วมกันโดยชุมชนที่ใช้หลักการประสานร่วมมือกันแบบส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน

Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre (Public Organization). (2022). Thai Museums Database. Retrieved 6/20/2022, from https://db.sac.or.th/museum/.

Thongkamnush, T., Buddhabhumbhitak, K., & Apichayakul, O. (2021). Promoting of museum tourism in Thailand with the concept of destination museum. Journal of Graduate Studies Valaya Alongkron Rajabhat University, 15(1), 38-52.

ณฤณีย์ ศรีสุข, พระครูสิริธรรมบัณฑิต, บุษกร วัฒนบุตร, และ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์. (2565). การจัดการพิพิธภัณฑ์วัดและชุมชนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของชุมชนในล้านนา. วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง, 11(3), 74-83.

แผนที่วัดไหล่หินหลวง

 

การจัดการพิพิธภัณฑ์ชุมชนในระบบอิเล็กทรอนิกส์