มหาลัย มหาหลอก เมื่อป.ตรีเตะฝุ่นทะลุแสน

ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์
ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์

ทะลุแสน! คนไทยจบปริญญาตรีเตะฝุ่นมากที่สุด…เป็นหัวข้อข่าวที่กลายเป็นประเด็นทางสังคม และถูกตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา และทวงถามการเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ เพราะที่ผ่านมา การศึกษาไทยมีแนวโน้มจะดําเนินงานในเชิงธุรกิจที่มุ่งแสวงหากําไรมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพการเรียนการสอน และถูกมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นเรื่องเงินตรามากกว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น

ประเด็นแรก ที่น่าสนใจ
ร่ำเรียนแทบตาย สุดท้ายตกงาน!

       
        “มหาลัย มหาหลอก เด็กชายบ้านนอก เด็กหญิงบ้านนารํ่าเรียนรู้ในวิชา แต่จบออกมายังไม่มีงานทํา ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ออกเดินเดินเดินยํ่าสมัครงานสอบเท่าใดยังสอบไม่ผ่าน มันหัวปานกลาง เขาเอาแต่หัวดีๆ มีความรู้สู้เขาไม่ได้ เส้นเล็กเส้นใหญ่ เส้นก๋วยจั๊บไม่มี นามสกุลไม่สง่าราศี เป็นลูกตามี เป็นแค่หลานยายมา อนาคตคงหมดความหมาย

       
        บทเพลง “มหาลัย” ของคาราบาว ที่สะท้อนถึงหัวอกบัณฑิตหลาย ๆ คนในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
       
        ล่าสุด มีข้อมูลที่น่าตกใจจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีมติรับทราบสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตกงานมากที่สุดถึง 1.13 แสนคนเลยทีเดียว
       
        ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อาจบอกเป็นนัยๆ ว่า ใบปริญญาไม่สามารถเอาไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สมัครงานซึ่งทำได้ง่ายๆ เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว
       
        นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกระแสวิจารณ์ของผู้จ้างบัณฑิตถึงการไม่มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นเมื่อเข้าไปทํางานจริง ทําให้วันนี้สังคมไทยเริ่มตั้งคําถามเรื่องคุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัยว่าสูงขึ้นหรือตกต่ำลงท่ามกลางปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมากของผู้จบการศึกษา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันไปแล้ว
       
        ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษา ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้มีคนจบปริญญาตรีประมาณปีละ 5 แสนกว่าคน (ปี 2554 เป็นยุคปริญญาล้นประเทศ ซึ่งมีมากถึง 6 แสนคนเลยทีเดียว) ปัจจุบันมีบัณฑิตจบใหม่มากมายที่หางานทำไม่ได้ หรือบางคนที่รองานไม่ไหวก็ต้องไปทำงานไม่ตรงวุฒิ หรือต่ำกว่าวุฒิแทน
       
        สำหรับสายที่ผลิตบัณฑิตล้นตลาดมากที่สุด คือ สายศิลป์ เช่น สังคมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นต้น รองลงมาเป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งคนที่เก่งจริง ๆ ถึงจะหางานได้ ส่วนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นสาขาที่จะมีตลาดงานรองรับแน่นอน เช่น แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เป็นต้น
       
ประเด็นที่สอง ที่น่าสนใจ
แย่ที่มหา’ลัย หรือห่วยที่ตัวบัณฑิต
       
        ปัญหาที่เกิดขึ้น มีหลายความเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างก็โทษไปที่มหาวิทยาลัยว่าไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะผลิตบัณฑิตให้จบออกมาอย่างสอดคล้องกับตําแหน่งงานที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ หรือตัวเลขว่างงานจำนวนมาก ๆ ในแต่ละปี เป็นเพราะบัณฑิตเองที่ไม่ขวนขวาย และพัฒนาคุณค่าให้ตัวเอง
       
        มาดูกันที่มหาวิทยาลัย หากมองในภาพความเป็นจริง หลาย ๆ แห่งมีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่รูปแบบธุรกิจการศึกษามากขึ้น ซึ่งบางแห่งเราคงต้องยอมรับว่า มีการฉวยโอกาสที่จะแสวงหากําไรจนบางครั้งอาจส่งผลต่อคุณภาพทั้งระบบการเรียนการสอน ผู้เรียนและตัวบัณฑิตที่จบการศึกษา
       
        ดร.วิริยะ ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย แย่ง และแข่งกันรับนักเรียนให้เข้ามาเรียน แต่ไม่ได้พิจารณา และให้ความสำคัญกับรากฐานปรัชญาของความเป็นสถาบันแห่งสติปัญญาของสังคมที่จะผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดงานอย่างมีทักษะ
       
        “บางแห่งผลิตบัณฑิต 2 ล้อ เน้นแค่จำ และวิเคราะห์เป็น แต่ไม่ได้ออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กรู้จักวิธีสื่อสาร คิดสร้างสรรค์ ไม่แปลกที่บัณฑิตยุคใหม่หลายคนจะมีคุณสมบัติเป็นบัณฑิตที่เชื่อฟังอย่างยิ่งยวด เป็นหุ่นยนต์ที่ต้องคอยป้อนคำสั่งอย่างเดียว จบออกมาก็แบบซิกแซ็ก หวังว่าใบปริญญาจะช่วยการันตีได้ แต่เข้าไปทำงานแล้วกลับทำไม่ได้ตามคุณค่าที่การันตีในใบปริญญา เมื่อทำไม่ได้ ก็อยู่ไม่ได้ ตรงนี้อันตรายมากๆ” นักวิชาการด้านการศึกษาขยายความ
       
       

ประเด็นที่สาม ที่น่าสนใจ
คุณภาพไม่ถึง ใครเขาจะเอา!

       
        กระนั้น ใช่ว่าจะโทษมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียว เพราะผู้ชี้ชะตาว่าจะตกงานหรือไม่ คือ ตัวผู้เรียนเอง โดยปัญหาใหญ่ ที่นักวิชาการด้านการศึกษาท่านนี้เป็นห่วง ก็คือ บัณฑิตหลายคนยังไม่รู้ว่าตัวเองมีดีอะไร นี่คือตัวการสำคัญว่าทำไมบัณฑิตหลาย ๆ คนตกงาน และไม่มีงานทำ
       
        “เข้าปี 1 ก็หางานทำได้แล้ว แต่ปัญหาคือ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีดีอะไร ประมาณว่า รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้เรื่องตัวเอง ทางที่ดี ไม่ใช่มัวแต่ เรียน สอบ และ เที่ยวไปวันๆ แต่ต้องรู้จักพัฒนาคุณค่าในตัวเองด้วย” นักวิชาการด้านการศึกษาคนเดียวกันเผย
       
        แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนจะตกงานหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การเลือกสาขาไม่ตรง แต่อยู่ที่ตัวบัณฑิตเองว่า มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ต่อความต้องการในโลกการทำงานเพียงพอแล้วหรือไม่ เช่น ความขยัน ความอดทน ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
       
       

ประเด็นที่สี่ ที่น่าสนใจ
ทางออก ลดบัณฑิตเตะฝุ่น

       
        สำหรับทางออกของเรื่องนี้ ดร.วิริยะ พยายามพูด และนำเสนอมาตลอดว่า อุดมศึกษาไทยต้องมองตลาดงานในประเทศในภูมิภาค และในโลก แล้วร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรสาขาใหม่ ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับตลาดงาน ไม่ใช่เดินผิดที่ผิดทาง มุ่งแต่จะแย่งรับนักศึกษา หรือแย่งกันแข่งขัน โดยขาดการมองไปข้างหน้า
       
        “เปิดรับกันมากมายในสาขาที่เหมือนๆ กันทุกมหาวิทยาลัย พอจบมาแล้วบัณฑิตจะไปทำอะไรกัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่กระเตื้องกันนะ อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็เริ่มตระหนักแล้ว แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังมีอิสระกันอยู่มาก ต่างคนต่างสบาย ไม่เห็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร นี่แหละปัญหา เรียนแบบเดิม ๆ จดกันเข้าไป เน้นแต่การแข่งขัน แข่งกันไปตาย (ในโลกการทำงาน) จบออกมาก็ไม่มีทักษะอื่น ๆ ไว้นำไปใช้ในการทำงาน” นักวิชาการด้านการศึกษาให้ทัศนะ พร้อมกับฝากไปถึงมหาวิทยาลัยไทยหลาย ๆ แห่งว่า
       
        “ส่วนตัวคิดว่า เงินเพื่อการอยู่รอด มันเป็นอดีตไปแล้ว ยุคนี้ มีคุณค่าถึงจะอยู่รอด โดยสร้างคุณค่าให้แก่มหาวิทยาลัย และตัวนักศึกษา เน้นให้ปัญญา ไม่ใช่รับเงินแล้วจบ เมื่อเป็นแบบนี้ ไม่มีใครทิ้งคุณหรอก แต่ถ้ามัวแต่มุ่งปั้มใบปริญญาแจก แจก สักวันสังคมทิ้งคุณแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ อีก 30 ปี คนไทยจะไปใช้แรงงานในพม่าก็อย่ามาว่าก็แล้วกัน”
       
        คล้ายกันกับแนวทางของ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เคยออกมาเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาบัณฑิตปริญญาตรีตกงานกว่า 1 แสนคนต่อปีว่า ระบบอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันใช้เวลาเรียน 4 ปี ทั้งนี้ ช่วงที่เรียนชั้นปีที่ 1-2 มหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องจัดการศึกษาโดยเน้นพัฒนาความรู้ความสามารถของนักศึกษาเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น ความรู้และทักษะอาชีพในสาขาวิชาที่เรียน ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน หลังจากนั้นเมื่อเรียนชั้นปีที่ 3 จะต้องสำรวจว่าถึงความต้องการของนักศึกษาแต่ละคนแต่ละสาขาภายในมหาวิทยาลัยว่า เมื่อเรียนจบแล้วต้องการจะไปประกอบอาชีพอะไรบ้าง
       
        เมื่อได้ข้อมูลข้างต้นแล้วทางมหาวิทยาลัยก็ประสานไปยังสถานประกอบการด้านต่างๆเพื่อหาข้อมูลว่าสถานประกอบการต้องการบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะอาชีพอย่างไรบ้างแล้วเติมเต็มความรู้ในการประกอบอาชีพดังกล่าวให้แก่นักศึกษาเมื่อเข้าสู่ชั้นปีที่ 4 เพื่อจะได้มีความรู้ความสามารถรอบด้านและสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อที่เมื่อเรียนจบแล้ว จะสามารถทำงานได้ทันที สถานประกอบการไม่ต้องเสียเวลาไปฝึกงานให้เพิ่มเติม
       
        “การแก้ปัญหาระยะยาว รัฐบาล ศธ.และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ควรร่วมมือกับภาคธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆปรับแผนการผลิตบัณฑิตจากปัจจุบันสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสายศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์อยู่ที่ 70% และสายวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 30% เปลี่ยนเป็น ผลิตบัณฑิตสายศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์ให้อยู่ที่สายละ 50% โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพและภาษาต่างประเทศและภาษาอาเซียนให้แก่บัณฑิตปริญญาตรีและแรงงานไทยในทุกสาขาด้วย”
       
        ถึงตอนนี้ ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยไทยที่จะต้องกลับมาตระหนักเพื่อทบทวนการทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตอย่างจริงจังมากกว่าจะไปมุ่งแสวงหากําไรอย่างเดียวเหมือนที่บางแห่งคิดผลิตหลักสูตร “เรียนง่ายจบเร็ว” ตัวผู้เรียนที่กำลังจะออกไปสู่โลกของการทำงานเองก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน
       
        …เพราะถ้าคิดเพียงอยากได้ใบปริญญาแต่จบออกไปอย่างคนที่ไม่มี “ปัญญา” เตรียมสะกดคำว่า “ตกงาน” รอไว้ได้เลย
       
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000058957