Education News

ข่าวการศึกษา เน้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

การศึกษาเพื่อผู้สูงอายุ

7 กรกฎาคม 2551

โครงสร้างประชากรไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยอัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มจากร้อยละ 12 ในปี พ.ศ.2551 เป็นร้อยละ 21.5 ในปี พ.ศ.2568 และด้วยการแพทย์ก้าวหน้า ส่งผลให้ผู้คนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น 8.8 ปี ประกอบกับอัตราส่วนประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลง โดยอัตราการเจริญพันธุ์ที่เคยสูงถึง 6-7 คน เหลือเพียง 1.7 คน (2548) ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน

หลายประเทศที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับไทย ซึ่งต่างพยายามกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งด้านสวัสดิการ การสังคมสงเคราะห์ การสาธารณสุข การบริการสาธารณะ และการศึกษา บทความนี้จะนำเสนอเฉพาะนโยบายด้านการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ

ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ชะลอภาวะสมองเสื่อมและป้องกันโรคซึมเศร้า โดยมีตัวอย่างบางประเทศ ดังนี้

เกาหลีใต้ กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Information and Communication : MIC) ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการใช้ไอซีทีของเกาหลี (KADO) จัดโครงการการศึกษาไอซีทีเพื่อผู้สูงอายุที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป (ICT Education for the Elderly) โดยร่วมมือกับภาคเอกชน วิทยาลัย ศูนย์สวัสดิการสังคม และศูนย์สวัสดิการผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ เพื่อฝึกอบรมทักษะไอซีทีแก่ผู้สูงอายุเป็นเวลา 20-30 ชั่วโมง

ไต้หวัน เมื่อต้นปี ค.ศ.2008 กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ได้ประกาศเพิ่มงบประมาณจำนวน 46.54 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (NT$) เพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก ค.ศ.2007 และก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning centers) และศูนย์การเรียนรู้เพื่อผู้สูงอายุ (grey-haired learning centers) ในมณฑลต่างๆ

สหรัฐอเมริกา ผู้สูงอายุในสหรัฐฯ ให้ความสนใจกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ประชาชนที่เกษียณอายุเข้าเรียนในหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย นอกจากนี้ ภายในวิทยาลัยยังมีที่พักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยเช่นกัน

ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ ไทยก็เช่นกันต้องเร่งส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ โดยอาจให้ กทม. เป็นต้นแบบการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านหลักสูตร กิจกรรมฝึกอบรม และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชนทั่ว กทม. เช่น สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ สถาบันอาชีวศึกษาจัดโครงการและกิจกรรมเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เช่น สอนอินเตอร์เน็ต ภาษาอังกฤษ ทักษะอาชีพตามความสนใจ ฯลฯ

รวมถึงให้ผู้สูงวัยมีส่วนใช้ประสบการณ์และใช้เวลาว่างในการดูแลและพัฒนาสังคม เช่น การช่วยดูแลเด็กเล็กด้อยโอกาสในชุมชน การปันประสบการณ์และความรู้เป็นวิทยาทาน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ลดภาวะโรคซึมเศร้า และมีความสุข

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

–บางกอกทูเดย์ วันที่ 8 ก.ค. 2551–  แหล่งที่มา/ผู้ส่ง บางกอกทูเดย์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2404&Key=hotnews

ราชบัณฑิตมอบ สทศ.ออกข้อสอบ โทเฟลภาษาไทย

7 กรกฎาคม 2551

ตามที่ราชบัณฑิตยสถานมีนโยบายจัดเกณฑ์มาตรฐานภาษาไทย ทั้งจัดสอบแบบทดสอบภาษาไทยเพื่อทดสอบความรู้ด้านภาษาไทยของคนไทย ในลักษณะการสอบโทเฟลภาษาอังกฤษนั้น ดร.ชลธิชา สุดมุข ราชบัณฑิตยสถาน ผู้รับผิดชอบโครงการเกณฑ์มาตรฐานภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า ราชบัณฑิตยสถานมอบหมายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกข้อสอบแบบทดสอบภาษาไทย โดยระดมอาจารย์ผู้สอนด้านภาษาไทยระดับมัธยม และอุดมศึกษา ร่วมกันออกข้อสอบ จากนั้นให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) นำแบบทดสอบภาษาไทยไปทดลองใช้ โดยสุ่มตัวอย่างครู นักเรียน ทั่วประเทศ จำนวน 3,000 คน มาทดลองใช้แบบทดสอบภาษาไทย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแบบทดสอบให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยสามารถวัดทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งแบบทดสอบก็จะมีทั้งปรนัย อัตนัย และการพูด ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติ

ดร.ชลธิชา กล่าวต่อว่า คาดว่าปลายปี 2551 จะสามารถสร้างแบบทดสอบภาษาไทยได้เสร็จเรียบร้อย และใช้ทดสอบกลุ่มครูและนักเรียน โดยกลุ่มครูจะแบ่งเป็น 1.ครูอนุบาลและประถมศึกษา 2.กลุ่มที่สอนสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการสอน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กีฬา ศิลปะ สังคม 3.ครูอาชีวศึกษา 4.ครูภาษาไทย ส่วนนักเรียนแบ่งการทดสอบเป็น ป.6 ม.3 ม.6 ปวช. ปวส. และอุดมศึกษา ทั้งนี้ การทดสอบนั้นจะเปิดกว้างให้ครูและนักเรียนเข้ามาทดสอบตามความสมัครใจ โดย สทศ. รับที่จะเป็นหน่วยจัดทดสอบให้ จากนั้นราชบัณฑิตฯ จะจัดทำคู่มือเพื่อพัฒนาครู ในลักษณะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง สทศ. คาดหวังว่าแบบทดสอบภาษาไทยจะมีส่วนช่วยพัฒนาให้นักเรียนไทยสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ได้ดีขึ้นด้วย

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ประชาทรรศน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2402&Key=hotnews

ทปอ.ฟุ้งแก้การศึกษาใต้

7 กรกฎาคม 2551

กรุงเทพฯ-07 ก.ค.–          ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยว่า จากที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 26 แห่ง ได้ร่วมกันทำ “ปฏิญญาหาดใหญ่” เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่ง มอ. รับเป็นศูนย์ประสานงาน ทปอ. ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวนั้น ตนได้สรุปผลการแก้ปัญหาภาคใต้รายงานต่อ ทปอ. โดยสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดได้พิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีการศึกษา 2551 จำนวน 1,100 ทุน มีทั้งทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน ทุนหอพัก และทุนค่าใช้จ่ายประจำวันของนักศึกษา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังได้กันที่นั่งเรียนสำหรับรับนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเรียนด้วย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้เด็กจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เลือกเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาที่หลากหลาย ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ที่ มอ. แห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้เด็กก็ยังเลือกศึกษาต่อในสาขาที่หลากหลายมากขึ้นด้วย ไม่เฉพาะในสาขาด้านศาสนาอิสลามเหมือนในอดีตเท่านั้น

“การที่เด็กกระจายตัวไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกพื้นที่ และเรียนสาขาที่หลากหลายขึ้นนั้น เป็นผลมาจากความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด ที่ต้องการนำการศึกษาช่วยแก้ปัญหาในภาคใต้ จึงได้มีการจัดสรรที่เรียนให้เด็กใน 3 จังหวัด และประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทำให้เด็กรู้ว่าเขามีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และสามารถเรียนที่ไหนได้บ้าง ที่สำคัญการเลือกเรียนสาขาที่หลากหลายมากขึ้นของเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นเรื่องดี เพราะหลังศึกษาจบเด็กเหล่านี้จะมีโอกาสได้งานทำมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเด็กจะเลือกเรียนสาขาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีงานรองรับ ซึ่งการมีงานทำของเด็กในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ จะสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างยั่งยืน และอยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ทุนการศึกษากับเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยเอกชนที่ต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษา สามารถติดต่อได้โดยตรงที่ สกอ.” ดร.บุญสม กล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ประชาทรรศน์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2396&Key=hotnews

ดันงบอาหารกลางวันเพิ่ม 3 บ.เข้า ครม.

7 กรกฎาคม 2551

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอขอปรับเพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันนักเรียน ตามโครงการอาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ที่รัฐจัดให้แก่นักเรียนชั้นอนุบาล ถึง ป.6 ที่ยากจนและด้อยโอกาส จากเดิมอัตราคนละ 10 บาทต่อวัน เป็น 13 บาทต่อวัน ตามที่กรมอนามัยได้คำนวณให้นั้น ขณะนี้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ซึ่งน่าจะได้รับการอนุมัติจาก ครม. เนื่องจากดัชนีผู้บริโภคและค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับตัวเลขที่เสนอไปนั้น กรมอนามัยเป็นผู้คำนวณตามหลักโภชนาการ ทั้งนี้การขอปรับเพิ่มงบประมาณดังกล่าว จะเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป โดยจะใช้งบประมาณปีละ 12,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2551 จำนวน 2,821.384 ล้านบาท

ด้าน นายสมนึก มีแสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 กล่าวว่า งบอาหารกลางวันที่ได้รับอยู่ขณะนี้นั้น แม้ว่าในภาพรวมจะยังจะพอดำเนินการอยู่ได้ แต่รัฐบาลก็ควรพิจารณาปรับงบดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1-2 บาท เพื่อให้การจัดอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมเด็กยากจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนที่ประสบปัญหางบอาหารกลางวันไม่เพียงพอ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ก็ควรประสานกับ อปท. เพื่อหาทางแก้ปัญหา

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ประชาทรรศน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2400&Key=hotnews

สำรวจ Camfrog โลกมืดใน Cyber Space ของวัยทีน

5 มกราคม 2550

โดย – วรัทยา ไชยลังกา

“You” หรือ “พวกคุณ” คือบุคคลแห่งปี ของนิตยสารไทม์ ประจำปี 2549 ในฐานะ คนในยุคปัจจุบันเป็นผู้ครอบครองสื่อทั่วโลก และเป็นผู้กำหนดทิศทางประชาธิปไตยในยุคดิจิตอลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างสรรค์และใช้เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต จนทำให้เกิดเนื้อหาข่าวสารมากมายอย่างเว็บไซต์เครือข่ายบนอินเทอร์เน็ต “มายสเปซ” และเว็บไซต์แลกเปลี่ยนไฟล์วิดีโอ “ยูทิวบ์” เป็นต้น

แต่ “You” โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในประเทศไทยกลับใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นพนันฟุตบอล เข้าเว็บไซต์เพื่อดูภาพลามก โดยเฉพาะในยุคไร้พรมแดนได้ก้าวไปสู่การโชว์เนื้อหนังกันโจ๋งครึ่ม …ไม่…ไม่ใช่แค่นั้น พวกเขาในโลกมืดที่ไปสร้างชุมชนคนในเว็บ โชว์กันถึงขนาดการสำเร็จความใคร่ รวมไปถึงการร่วมเพศ ไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกัน ผ่านโปรแกรมวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ที่สุดอื้อฉาว นั่นคือ “แคมฟรอก” (Camfrog)

“แคมฟรอก” เป็นโปรแกรมแชตผ่านเว็บแคม (กล้องที่ติดกับคอมพิวเตอร์ที่ทำให้สามารถเห็นหน้าของคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่ง) เป็นซอฟต์แวร์ชองบริษัท แคมแชร์ (Camshare) ผลิตออกมาเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถแชร์เว็บแคมผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะมีการพูดคุยและแสดงวิดีโอในหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว กีฬา ภาษา ดนตรี วัฒนธรรม หรือแม้แต่เรื่องราวที่สร้างความฮือฮามากที่สุดในเวลานี้คือ “เรื่องราวทางเพศ” มีการโชว์ภาพลามก ซึ่งกำลังระบาดในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา

ในประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้โปรแกรมนี้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และจีน โดยเฉลี่ยคนไทยเข้าไปใช้บริการถึงวันละ 1,000-2,000 คน และอยู่ดูกันตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว ดูกันนานกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ทั้งที่โปรแกรมนี้ใช้กันมานานทั้งในอเมริกา จีน สเปน เยอรมนี แต่ก็มีประชาชนให้ความสนใจเพียงวันละ 100-150 คน ดูกันเพียง 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น

หลายคนที่เข้ามาใช้โปรแกรมแคมฟรอกเพื่อหาเพื่อนคุยแก้เหงา คลายเครียด รวมไปถึงการเข้ามาศึกษาพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีของสังคมไทย

แต่สำหรับบางคน แคมฟรอกกลายเป็นช่องทางหรือเวทีการแสดงออกเพื่อให้ตนเองเป็นที่รู้จักหรือ “แจ้งเกิด” โดยคิดว่าการโชว์ตัวตนผ่านที่แห่งนี้ ซึ่งมีผู้คนสนใจดูเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นที่รู้จัก รายที่เคยโชว์การร่วมเพศ ก็จะมีซ้ำอีกรอบ 2 3 และ 4 แบบไม่อาย

 

สำหรับห้องสนทนาในแคมฟรอกแบ่งเป็น 2 หมวด คือ General และ 18+Only ห้องที่โชว์ลามกอนาจารจะอยู่ในหมวดหลัง และห้องที่กิตติศัพท์โด่งดังเป็นข่าวฉาวโฉ่คือ ห้อง “Junrai” เป็นห้องของคนไทยซึ่งใหญ่ที่สุดในหมวดหมู่ 18+Only มีผู้เล่นมากสุดขึ้นหลักพันเลยทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น ช่วงเวลาที่เล่นยังเป็นตอนกลางวันแสกๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการทำงาน นอกจากห้อง “Junrai” แล้วก็จะมีห้อง “MunzSudSud” ห้อง “xxxx Thai Girl Move xxxx” ห้อง “Gay Thai Cam” ห้อง “Chaina The GreatWall” ห้อง “Yed Hia” ห้อง “OoO CHINA Myth OoO” ห้อง “SiamX” ห้อง “SilkyWomen GoCracy” เป็นต้น

การโชว์ในรูปแบบต่างๆ ในแคมฟรอก จะมี 2 รูปแบบ คือ แบบเห็นหน้าและไม่เห็นหน้า ซึ่งในแต่ละห้องจะมีการโชว์ทั้งสองรูปแบบปะปนกันไป และเป็นที่รู้กันว่าจะมีกฎของห้อง ทุกคนต้องปฏิบัติตามหากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูก “เตะ” เป็นภาษาในการเล่นแคมฟรอก คือการถูกผู้ดูแลขับออกจากห้อง ตัวอย่างห้อง Thai GirL Move

“ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ โดยเฉพาะสาวๆ จะ move มาที่นี่แน่นอนครับ ห้องนี้มันเป็นกงกำกงเกวียน จากกันแล้วจะได้มาเจอกันอีก กฎของห้องนี้ ทุกคนควรอ่าน ห้ามบันทึกวิดีโอใดๆ ทุกชนิดจากภาพที่เผยแพร่ในห้องนี้โดยเด็ดขาด ห้ามพูดจาส่อเสียดให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือด่าดูหมิ่นผู้อื่นเด็ดขาด ห้ามสั่งสาวโชว์โดยเด็ดขาด และให้เกียรติสุภาพสตรีด้วย ห้ามนำโหวต โพสต์เว็บ แจกเบอร์โทร e-mail หน้าห้องโดยเด็ดขาด กฎต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า”

นอกเหนือไปจากนักแสดงสดผ่านทางเว็บแคมแล้ว ในแคมฟรอกยังรวบรวมดีเจเสียงใสๆ ที่มักเป็นผู้สร้างสรรค์เสียงเพลงที่กระตุ้นอารมณ์ ความครื้นเครง ของคนในห้องแชตรูมเอาไว้ โดยเนื้อเพลงที่เปิดจะเป็นเพลงใต้ดินที่นำมามิกซ์ให้มีเนื้อหาลามกหยาบคาย นอกจากนี้ยังมีข้อความชวนโหวต “ใครอยากให้น้อง hot girl ปลด กระดุมช่วยกด 1 ด้วยครับ” ชวนให้ติดตามและน่าขบคิดว่าผลโหวตจะออกมาเป็นอย่างไร หรืออยากรู้ตอนจบของผลโหวต เป็นการแสวงหาความต้องการบางสิ่งบางอย่างจากคนแปลกหน้าตามคำบอกเล่าผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

โปรแกรมแคมฟรอกนี้ไม่มีใครได้รับเงินตอบแทน กลุ่มคนที่เป็นเจ้าของสร้างขึ้นมา เพื่อความสนุกเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการนำโปรแกรมแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในทางที่ผิด สร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับวัยรุ่น และเป็นการทำลายวัฒนธรรมของไทย

ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้วโรแกรมแคมฟรอกสามารถนำมาใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมผ่านอินเทอร์เน็ต การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับผู้พิการทางด้านร่างกายโดยการคุยกันด้วยภาษามือ นอกจากนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์

แต่ก็อย่างว่า เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่มีคุณประโยชน์นานัปการ แต่ถ้านำมาใช้ในทางที่ผิดก็ยากที่จะควบคุมผลร้าย ซึ่งจะตามมา

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: กรุงเทพฯ-05 ม.ค.—โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2381&Key=hotnews

วิทยาลัยอาชีวสิงห์บุรีสอนทำปลาร้า-ขนมไทยหนุนธุรกิจท่องเที่ยวโฮมสเตย์สร้างงานชุมชน

5 มกราคม 2550

นางสาวดรุณี ญาณวัฒนา ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี กล่าวว่า จังหวัดสิงห์บุรี มียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ โดยมีกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทำขนมไทยไว้ใช้เลี้ยงคณะท่องเที่ยวที่เข้ามาพัก นอกจากนี้จะจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ฝึกทำขนมไทยอีกด้วย สำหรับการสอนทำอาหาร และขนมไทยนั้นถือเป็นอาชีพในการบริหารงานโฮมสเตย์ แล้วยังสามารถทำขายสู่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกให้มีคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกด้วย

โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรีได้เริ่มดำเนินการถ่ายทอดวิธีการทำขนมไทย ณ หมู่ที่ 1 ต.จักรสีห์ อ.เมืองสิงห์บุรีนอกจากทางวิทยาลัยฯ จะถ่ายทอดวิธีการทำขนมไทย

แก่ชุมชนแล้วทางวิทยาลัยฯ ยังมีโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปลาร้าให้กับชุมชนในจังหวัดสิงห์บุรี อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดสิงห์บุรี เป็นแหล่งน้ำจืดซึ่งมีปลาน้ำจืดอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดหลาย ๆ ด้านที่มีอาชีพเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่าย เช่น การทำปลาร้า เนื่องจากปลาร้าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมีธาตุอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะธาตุ อาหารโปรตีนและธาตุแคลเซียม ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและฟัน

วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรีจึงเริ่มดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตปลาร้า ให้แก่ชุมชนในจังหวัดสิงห์บุรี ณ บ้านบางสำราญ ต.บางมัญ อ.เมืองสิงห์บุรี, บ้านท่าข้าม ต.ท่าข้าม อ.ค่ายบางระจัน, บ้านพระงาม ต.พระงาม อ.พรหมบุรี ซึ่งทั้งสองโครงการเริ่มดำเนินงานตั้งแต่บัดนี้ จนถึงเดือนกันยายน 2550.

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: –เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2550–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2379&Key=hotnews

เปิดบันทึก”กฤษฎีกา” ห้าม!ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

5 มกราคม 2550

เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พรทิพย์ จาละ ได้ลงนามในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกี่ยวกับเรื่องการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สรุปความได้ว่า สพฐ.ได้รับหนังสือขอหารือจากหน่วยงานในสังกัด ดังนี้

1.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ฉะเชิงเทรา เขต 1 หารือกรณีกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นเพิ่มเติม ดังนี้ ตำแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฉะเชิงเทรา ประธานที่ปรึกษานายก อบจ.ฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เมืองฉะเชิงเทรา

2.สพท.นนทบุรี เขต 2 หารือกรณีกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 ในส่วนของกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.นนทบุรี

สพฐ.จึงขอหารือว่า การที่กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามข้อ 3 (6) แห่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2546 หรือไม่ ??

ที่ประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ไว้ในบันทึก เรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ (4) ว่า หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น

ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมจะต้องประกอบไปด้วยการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามนัยมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 โดยเมื่อการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในความหมายของการบริหารราชการแผ่นดินด้วยแล้ว ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารหรือควบคุมการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 291 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติไว้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประเภทหนึ่ง ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ทั้งนี้ เพื่อมิให้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนในการหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับประเด็นที่ว่าเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” แล้ว บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น อันได้แก่ รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น จะอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วยหรือไม่ นั้น

เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 35/3 (7) และมาตรา 37/1 (8) หรือ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 อัฏฐ (9) และมาตรา 48 โสฬส (10) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่นในการอำนวยการบริหารหรือควบคุมการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามที่ผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมาย โดยผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง และเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนั้นๆ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย

และเมื่อเทียบเคียงกับข้าราชการการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองตามมาตรา 4 (11) แห่ง พ.ร.บ.ข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกัน และถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นกันแล้ว บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรณีที่กรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ย่อมมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามข้อ 3 (6) แห่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2546 ที่ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยในขณะเดียวกัน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/maticho

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2378&Key=hotnews

สมศ.ขอบคุณ”มติชน”จัด”I see U” เชิญทุกฝ่ายทำบุญการศึกษาเด็ก

5 มกราคม 2550

สมศ.หนุนมติชนจัดโครงการ “โรงเรียน I see U มติชน 30 ปี” ระบุเป็นผู้นำการทำบุญด้านการศึกษาแก่เด็ก เชิญชวนทุกฝ่ายร่วมบริจาค เตรียมประกาศผลประเมินสถานศึกษารอบสองในเดือน ก.พ. กว่า 2 พันแห่ง คาดคุณภาพดีขึ้น แต่ยังมีอีก 560 แห่งที่อยู่ระดับโคม่า เพราะคะแนนต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน่าเป็นห่วง ถ้าไม่ช่วยเหลือ คงไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินรอบสองอีกแน่

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “มติชน” ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิอาจารย์บรรจง พงศ์ศาสตร์ จัดโครงการ “โรงเรียน I see U มติชน 30 ปี” เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานจำนวน 100 แห่ง เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน มีอายุครบรอบการก่อตั้งปีที่ 30 ว่า ถือเป็นโครงการที่ดีมากและขอชื่นชมยินดีอย่างยิ่งกับมติชนที่เข้ามาช่วยเหลือโรงเรียน คิดว่าทุกฝ่ายควรต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยการศึกษาคงไม่มีคุณภาพและจะเป็นการศึกษาที่ยั่งยืนของประเทศไปไม่ได้

“ในนามของประชาชนคนไทยจึงขอขอบคุณและอยากขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยบริจาคด้วยซึ่งการทำบุญกับการศึกษาเป็นสิ่งดีมาก ถือว่ามติชนเป็นผู้นำเรื่องการทำบุญกับการศึกษากับเด็ก” ดร.สมหวังกล่าว

ดร.สมหวังกล่าวต่อว่า สำหรับคำจำกัดความของโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้น คือโรงเรียนที่ได้คะแนนจากการประเมินคุณภาพผู้เรียน ครู ผู้บริหารและการบริหารรวม 14 มาตรฐาน ในระดับปรับปรุงและพอใช้ โดยระดับปรับปรุง คือ 1 คะแนน ระดับพอใช้คือ 2 คะแนน และระดับดี คือ 3 คะแนน ซึ่งรอบแรก สมศ.ได้ประเมินสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวนรวม 38,000 แห่ง พบว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในระดับปรับปรุงและพอใช้ จำนวนรวม 20,000 แห่งซึ่งตนเรียกว่าไอซียูคือเป็นโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ และในจำนวนนี้มี 560 แห่งที่ตนเรียกว่าโคม่า เนื่องจากได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน่าเป็นห่วงคือได้ต่ำกว่า 1.75 คะแนนเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ช่วยเหลือ จะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานในรอบสองอีกแน่

ดร.สมหวังกล่าวว่า ในจำนวน 560 โรงเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถมฯขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 300 คน ขาดแคลนครู อุปกรณ์การเรียนการสอน อยู่ไกลตามชนบทชายขอบ งบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนรายหัวไม่เพียงพอ เมื่อขาดปัจจัยเหล่านั้นจึงส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ตามที่หลักสูตรกำหนด การใฝ่รู้ใฝ่เรียนไม่ได้มาตรฐาน และเนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ห่างไกล ครูและผู้บริหารจึงมักขอย้ายออกบ่อย และแม้จะมีครูก็มักจะเป็นครูที่ไม่มีคุณภาพ เพราะที่มีคุณภาพมักจะขอย้ายไปอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ จึงส่งผลต่อมาตรฐานการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารไม่ได้มาตรฐานด้วย

ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สมศ.ได้ตกลงในหลักการกับกระทรวงศึกษาธิการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนโคม่าทั้ง 560 แห่งเหล่านั้น เนื่องจากเห็นว่าถ้าไม่เข้าไปช่วย โรงเรียนจะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินในรอบสองอีกแน่ ซึ่งรอบสองเริ่มประเมินระหว่างปี 2549-2553 ทั้งนี้ เป็นโครงการช่วยเหลือ 3 ปี ระหว่างปี 2550-2552 เลื่อนจากเดิมเล็กน้อยเนื่องจากมีการเปลี่ยนคณะกรรมการของ ศธ.ที่ดูแลเรื่องนี้ คาดว่าจะลงตัวและเริ่มเดินหน้าต่อได้ในอีกราว 1 เดือน โดยหลักการคือจะเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนในลักษณะวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ช่วยจัดหาทรัพยากรอุปกรณ์สื่อการเรียน ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและอาจจะจัดจ้างครูเพิ่มหากจำเป็น โดยแต่ละโรงเรียน จะใช้งบฯเพื่อพัฒนาแห่งละ 3 แสนบาท แยกเป็น สมศ.ช่วย 2 แสนบาท และ ศธ.ช่วย 1 แสนบาท

ดร.สมหวังกล่าวอีกว่า สำหรับการประเมินรอบสองนั้น ขณะนี้เริ่มประเมินไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งปลายเดือนมกราคมนี้ จะเสนอคณะกรรมการบริหาร สมศ.พิจารณาเห็นชอบผลการประเมิน หลังจากนั้นจึงจะเผยแพร่ได้ คาดว่าล็อตแรกของรอบสองจะเผยแพร่ได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ประมาณ 2,300 แห่ง แยกเป็นสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐานประมาณ 2,000 แห่ง ระดับอุดมศึกษาประมาณ 30 แห่ง และที่เหลือเป็นระดับอาชีวะ เท่าที่ดูเบื้องต้นสถานศึกษาเหล่านั้นคุณภาพดีขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นน่าจะผ่านการประเมินโดยไม่มีปัญหาอะไร

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2373&Key=hotnews

ชี้ กยศ.-กรอ.มีดีคนละอย่าง

5 มกราคม 2550

ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณีที่นิสิตนักศึกษาที่กู้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในปีการศึกษา 2549 เรียกร้องขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การกู้และการชำระเงิน กรอ. มาเป็นรูปแบบของ กยศ.ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กยศ. ในวันที่ 11 ม.ค. นี้ จะมีการหารือเรื่องดังกล่าว เพื่อเปิดทางเลือกให้นักศึกษาได้เลือกแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่ในฐานะผู้ดูแลกองทุนต้องรับว่าภาระการบริหารงาน 2 กองทุนต้องมีความยุ่งยาก และอาจทำให้ผู้กู้เกิดความสับสนได้ แต่คงต้องยอมเพื่อสิ่งที่ดีสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตามการเลือกที่จะใช้กองทุนไหนนั้นต้องเป็นความสมัครใจของผู้กู้เป็นหลักว่าต้องการหลักเกณฑ์กู้จากกองทุนใด

ดร.เปรมประชา กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักการเงินคงต้องบอกกับเด็ก ๆ ว่าเงื่อนไขของ กยศ.ดีกว่า กรอ. เพราะปลอดดอกเบี้ยนานแบบไม่มีที่ไหนในโลกทำเช่นนี้ เช่น หากกู้เงินเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 จนเรียนจบปริญญาตรี และทำงาน 2 ปีก่อนถึงมาชำระเงินคืน รวมแล้วเป็นเวลา 9 ปีที่ปลอดดอกเบี้ยจึงจะเริ่มชำระเงินคืน และคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น และถ้าเทียบแล้วค่าใช้จ่ายของ กยศ. จะถูกกว่า กรอ. เพราะ กรอ.จะต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำสัญญา แต่รูปแบบของ กรอ.จะมีข้อดีตรงที่กว่าจะเริ่มชำระเงินคืนจะมีการให้เวลาผู้กู้ตั้งตัวได้ก่อน ซึ่งอาจจะต้องทำงานถึง 10 ปีก็ได้กว่าเงินเดือนจะถึง 16,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ถึงจะเริ่มชำระเงินคืน แต่เมื่อพิจารณาทุกแง่ทุกมุมแล้ว ตนก็บอกไม่ได้ว่า กยศ.หรือ กรอ.จะดีกว่ากัน แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้กู้แต่ละคนว่าจะเห็นอะไรดีกว่ากัน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2374&Key=hotnews

ออมสินทุ่ม 80 ล้านปลูกคุณธรรมในใจเด็ก จัดรณรงค์รู้จักออม-ใช้เงินรับปีมหามงคล

5 มกราคม 2550

นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปีนี้เป็นปีมหามงคล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.2550 ธนาคารออมสินมีแนวคิดจะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อปลูกจิตสำนึกในด้านคุณธรรม และจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้เข้าร่วมแข่งขันในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจะมีรางวัลเป็นเงินสดให้สำหรับโรงเรียนที่ชนะเลิศ ชื่อโครงการเบื้องต้นคือ “บูรณฉัตร คุณธรรม จริยธรรม ดีเยี่ยม” ซึ่งธนาคารจะขอพระราชทานชื่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดของการประกวด จะหารือกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป สำหรับวงเงินรางวัลตั้งไว้ 80 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ธนาคารยังจะได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักออม และรู้คุณค่าของการใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้น โดยจัดรูปแบบการออมขึ้นมาใน 3 ลักษณะ คือ 1. การออมเพื่อฉุกเฉิน 2. การออมเพื่อการศึกษา และ 3. การออมเพื่อการจับจ่ายใช้สอย โดยทั้ง 3 รูปแบบจะมีกระปุกออมสินแยกไปแต่ละแบบเพื่อเป็นแรงจูงใจการออมและเรียนรู้การใช้เงินอย่างถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน และจะจัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากตอนนี้สังคมไทยหันไปใช้บัตรเครดิตมากขึ้น จนลืมคุณค่าของเงิน ถ้าสามารถปลูกฝังให้รู้จักการออมตั้งแต่เด็ก ก็จะช่วยในเรื่องของการใช้จ่ายอย่างประหยัดเหมือนกับคนญี่ปุ่น

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2372&Key=hotnews