Education News

ข่าวการศึกษา เน้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

เผยครูแหกคอกยอดพุ่ง

4 มกราคม 2550

เผยครูแหกคอกยอดพุ่ง

++ ก.ค.ศ.เร่งสร้างคุณธรรม-ย้ำบทลงโทษ

นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2549 สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้พิจารณาความผิดข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกดำเนินการทางวินัยยุติแล้วทั้งสิ้น 133 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ ที่ผ่านมา 53 ราย โดยเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยข้าราชการมากที่สุด 30 ราย รองลงมาได้แก่ ความผิดเชิงชู้สาวอนาจาร 25 ราย และความผิดทางการพนัน 22 ราย นอกจากนี้ยังพบว่า มีการกระทำผิดล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 5 รายด้วย โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู 63 ราย ผู้อำนวยการสถานศึกษา 48 ราย บุคลากรทางการศึกษา 16 ราย ทั้งนี้ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่จะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่วนการพิจารณาโทษนั้น มีผู้ได้รับโทษร้ายแรงถูกไล่ออกจากราชการ 11 ราย และปลดออกจากราชการ 9 ราย และโทษไม่ร้ายแรง ให้ลดขั้นเงินเดือน หรือตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์ 82 ราย และไม่มีโทษ 31 ราย

“การกระทำผิดของข้าราชการครู หากเรื่องมาถึงสำนักงานก.ค.ศ.จะไม่มีการช่วยเหลือกัน ซึ่งจะมีการพิจารณาโทษในรูปของคณะกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ครูล่วงละเมิดเพศต่อนักเรียน ซึ่งเป็นเรื่องล่อแหลมมาก และเป็นเรื่องที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ไม่มีการให้ลดโทษอย่างแน่นอน โดยขั้นต่ำต้องถูกปลดออกจากราชการ แต่หากผู้บังคับบัญชาปิดบังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาก็จะต้องได้รับโทษด้วย นอกจากนี้กรณีความผิดทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เช่นกัน เพราะเราต้องการให้วงการครูมีความโปร่งใส ซึ่งโทษขั้นต่ำคือ ไล่ออก และไม่มีการลดหย่อน เพราะข้าราชการครูไม่เพียงแต่มีวินัยข้าราชการกำกับ แต่ยังมีเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพครูที่ต้องยึดถืออีกด้วย” นายประเสริฐ กล่าว

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินนโยบายคุณธรรมนำความรู้ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้พยายามที่จะเสริมสร้างคุณธรรมให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับต้นสังกัดของครูมาโดยตลอด โดยเดือนม.ค.2550 จะมีการจัดอบรมพัฒนาคุณภาพการบริหารการศึกษาตามระบบคุณธรรม ซึ่งจะมีผู้บริหารสถานศึกษาเข้าร่วมการอบรมคุณธรรม 200 คน และเดือนก.พ.จะมีการอบรมผู้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยและปฏิบัติงานด้านวินัย 300 คน เพื่อไปขยายผลให้กับข้าราชการครูและบุคลากรในพื้นที่ ให้ตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรม และที่สำคัญเพื่อให้รับทราบถึงวินัยและโทษเมื่อกระทำผิด นอกจากนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้เปิดหลักสูตรออนไลน์สำหรับผู้ที่มีความสนใจงานทางด้านวินัยสามารถเข้ามาค้นคว้าข้อมูลได้ที่ www.moe.go.th/webtcs

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.siamrath.co.th

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2311&Key=hotnews

วิจิตร’ประธานเปิดยัดห่วง ยช.เอเชีย

3 มกราคม 2550

นางเนตทราย วงศ์อุปราช กรรมการผู้จัดการ บ.ไบรท์เบรน บิซิเนส จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่ได้รับมอบหมายจากสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้ดำเนินการด้านสิทธิประโยชน์ พิธีการเปิด-ปิด และกิจกรรมต่าง ๆ ในศึกบาสเกตบอลเยาวชนหญิงอายุไม่เกิน 18 ปี ชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งที่ 18 ระหว่าง 29 ม.ค.-5 ก.พ. นี้ ที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก กรุงเทพฯ ซึ่งสมาคมบาสเกตบอลฯ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในปีมหา มงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา นั้น ได้เตรียมการจัดพิธี เปิด-ปิด การแข่งขันให้ยิ่งใหญ่ที่สุด

สำหรับพีธีเปิดการแข่งขัน มี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน โดยกิจกรรมในวันเปิดการแข่งขันวันที่ 29 ม.ค. ที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก นั้น เริ่มเวลา 09.00-15.00 น. จะเป็นการแข่งขันบาสเกตบอล 3 คู่ในระดับดิวิชั่น 2 คือ มาเลเซีย-อินเดีย, ฮ่องกง – เวียดนาม และ ศรีลังกา-อินโดนีเซีย จากนั้นจะเป็นการประกวดกองเชียร์-ลีดเดอร์ ในรอบแรก เพื่อสร้างสีสันให้การแข่งขัน โดยคัดเอาแชมป์แต่ละภูมิภาคของไทยมาชิงชัยกันอีกครั้ง จนเวลา 15.30 น. จึงเริ่มเข้าสู่พิธีเปิดการแข่งขัน

ด้านการแสดงในพิธีเปิดนั้น ใช้นักเรียนกว่า 70 คน มาจากโรงเรียนที่คว้าอันดับ 1-5 ในการแข่งขันสปอร์ตแดนซ์ ฟอร์ เดอะ ควีนส์ จากการแข่งขันบาสเกตบอลนักเรียนอายุไม่เกิน 18 ปี ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รายการ “สปอนเซอร์ ไทยแลนด์ แชม เปี้ยนชิพ 2006” จากโรงเรียนปรีชานุศาสตร์ ชลบุรี, สตรีวิทยา 2, อู่แก้ววิทยา จ.อุดรธานี และ เซนต์แมรี ดอนมอสโก จ.อุดรธานี ซึ่งจะเป็นการแสดงชุดเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีการฝึกซ้อมมายาวนานเพื่องานนี้ จากนั้นเวลา 16.15-22.15 น. เป็นต้นไป เป็นการแข่งขันอีก 3 คู่ในระดับดิวิชั่น 1 ได้แก่คู่แรก ทีมเยาวชนสาวไทยเปิดสนามกับสิงคโปร์ และ ไต้หวัน พบ เกาหลีใต้ ปิดท้ายด้วยจีน พบ ญี่ปุ่น

ในส่วนของการแข่งขัน จะแข่งพบกันหมดใน 2 ระดับคือ ระดับดิวิชั่น 1 ประกอบไปด้วย จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ไทย และ สิงคโปร์ ขณะที่ระดับดิวิชั่น 2 ประกอบไปด้วย มาเลเซีย, อินเดีย, ฮ่องกง, ศรีลังกา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, และ คาซัคสถาน ซึ่งทีมอันดับดีที่สุด 2 ทีมในดิวิชั่น 2 จะได้เลื่อนชั้น ส่วนทีมบ๊วย 2 อันดับในดิวิชั่น 1 จะตกชั้น โดยโปรแกรมของทีมสาวไทยนั้น วันที่ 29 ม.ค. เวลา 16.15 น. พบ สิงคโปร์, 30 ม.ค. เวลา 19.00 น. พบ เกาหลีใต้, 31 ม.ค. เวลา 19.00 น. พบ จีน, 1 ก.พ. เวลา 19.00 น. พบ ญี่ปุ่น, 3 ก.พ. เวลา 19.00 น. พบ ไต้หวัน ขณะที่วันที่ 4 ก.พ. เป็นรอบรองฯ วันที่ 5 ก.พ. เป็นรอบชิงฯ และพิธีปิดการแข่งขัน เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. จะมีการประกวดกองเชียร์-ลีดเดอร์ รอบชิงฯ และการแสดงวงโยธวาทิตของโรงเรียนสตรีวิทยา 2

ด้าน นายสุเทพ เบ็ญจโภคี นายกสมาคมบาสเกตบอลฯ เผยว่า ทางสมาคมฯ ได้ทำการคัดเลือกนักกีฬาเยาวชนหญิงของไทยที่ดีที่สุดไว้รับมือศึกนี้ โดยมีเป้าหมายว่าต้องได้ไม่น้อยกว่าอันดับ 4 เพื่อรักษาตำแหน่งในระดับดิวิชั่น 1 ต่อไป ซึ่งทีมไทยต้องเอาชนะทีมในระดับดิวิชั่น 1 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ทีม โดยเฉพาะนัดเปิดสนามกับสิงคโปร์นั้นมีความหมายมากที่ไทยต้องเอาชนะให้ได้ และในเกมเจอกับไต้หวันก็สูสีกับไทยมาก หากไทยเอาชนะไต้หวัน และสิงคโปร์ได้ โอกาสอยู่รอดในดิวิชั่น 1 ต่อไปก็มีสูง รวมทั้งเพื่อคัดนักบาสฯ ดาวรุ่งเข้าสู่ทีมชาติชุดซีเกมส์ ปลายปีนี้ด้วย อยากให้แฟนกีฬาเข้าไปเชียร์นักบาสฯ สาวไทยกันเยอะ ๆ เพราะรายการนี้ชมฟรี และจะมีการถ่ายทอดสดทางยูบีซีด้วย.

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: –เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ม.ค. 2550–

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2309&Key=hotnews

20ร.ร.มัธยมฯ”ขอนแก่น” ฟ้องเพิ่มศาลปกครอง เร่งโอนสถานศึกษา

3 มกราคม 2550

นายโสภณ รัตนา ประธานสมาพันธ์ครูกรมสามัญศึกษา (เดิม) แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ในบัญชีถ่ายโอนที่ 2 ซึ่งมีจำนวน 285 โรงเรียน แต่จนถึงขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังไม่มีการถ่ายโอนให้ว่า ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษได้ยื่นฟ้องศาลปกครองนครราชสีมา รวมถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคามได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอนแก่น กล่าวหาผู้บริหาร ศธ. สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดำเนินการถ่ายโอนโรงเรียนให้แก่ อปท.ล่าช้า โดยเวลานี้อยู่ระหว่างการไต่สวนและขอข้อมูลเพิ่มเติมของศาล นอกจากนี้ จะมีโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่นอีก 20 โรงเรียนจะยื่นฟ้องศาลปกครองขอนแก่นด้วย เพื่อบังคับให้ผู้บริหาร ศธ. สพฐ. และ สพท.เร่งถ่ายโอนโรงเรียนตามกฎหมาย

“ถึงเวลานี้แล้วผมไม่เห็นด้วยกับการที่ทาง สพฐ.จะสอบถามความสมัครใจกับทางสถานศึกษา และ อปท.ที่อยู่ในบัญชีถ่ายโอนที่ 2 อีกครั้ง เพราะได้เลยกระบวนการนี้มาแล้ว ดังนั้น ที่ต้องดำเนินการในขณะนี้คือ ต้องถ่ายโอนโรงเรียนไปตามกติกา การจะมาทำซ้ำน่าจะขัดต่อกฎหมาย” นายโสภณกล่าว และว่า ส่วนกรณีที่ทาง สพฐ.ระบุว่ามีโรงเรียนที่ขอเปลี่ยนใจกลับไปสังกัด สพฐ.นั้น ตนยังไม่เห็นว่ามีข้อมูลเรื่องนี้ แต่ในกรณีของครูที่เปลี่ยนใจมีอยู่จริง เนื่องจากกระบวนการตัดโอนอัตรากำลังต้องใช้เวลายาวนาน ครูที่ถ่ายโอนไป อปท.แล้วยังต้องสังกัดคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เนื่องจากยังตัดโอนอัตรากำลังไม่แล้วเสร็จ จึงรู้สึกสับสนวุ่นวาย

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2304&Key=hotnews

กศน.3จว.ใต้เร่งสอน”มลายู”

3 มกราคม 2550

นายจรัส หนุนอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด (ศนจ.) ปัตตานี เปิดเผยว่า ตามที่สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) มอบหมายให้ศนจ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สอนภาษามลายูท้องถิ่นให้แก่ข้าราชการ และผู้สนใจ ซึ่งในปี 2549 ที่ผ่านมา ศนจ.ปัตตานีได้จัดอบรมข้าราชการและผู้สนใจ จำนวน 529 คน มาจากข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครู ฝ่ายปกครอง ฯลฯ เรียนนอกเวลาราชการ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หลักสูตร 50 ชั่วโมง โดยใช้ครูอาสาสมัคร กศน.และครูชาวบ้านเป็นครูผู้สอน นอกจากนี้ ศนจ.ปัตตานีกำลังเปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปที่ฟังและพูดภาษามาลายูท้องถิ่นไม่ได้ และสนใจอยากเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประชาชนจากจังหวัดอื่นๆ ที่ย้ายเข้ามาประกอบอาชีพในจ.ปัตตานี ซึ่งยังไม่เข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และไม่สามารถสื่อสารภาษามลายูท้องถิ่นได้ ซึ่งหากสามารถใช้ภาษามลายูท้องถิ่นได้ก็จะเกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และการประสานงานที่ดียิ่งขึ้น ผู้สนใจติดต่อสอบถามและสมัครได้ที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือติดต่อที่ศนจ.ปัตตานี โทร.0-7333-3051 ศนจ.ยะลา โทร.0-7324-3156 และศนจ.นราธิวาส โทร.0-7351-4843

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2300&Key=hotnews

“มรภ.-มทร.”ยังไม่ออกนอกระบบ

3 มกราคม 2550

แจงเหตุผลความไม่พร้อม “ราชภัฏ”ขอเวลาอีก 10 ปี

ดร.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการผลักดันมหาวิทยาลัยรัฐออกนอกระบบราชการ ในรูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จากทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้ว และได้มอบหมายให้ฝ่ายนิติกรได้พิจารณา ซึ่งจะเร่งดำเนินการเพื่อส่งต่อไปให้คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ ศธ.พิจารณาต่อไป

ด้าน ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พิบูลสงคราม และรองประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ได้มีการหารือกันแล้วในเรื่องของการออกนอกระบบราชการ และเห็นว่าในภาพรวมของ มรภ.น่าจะยังขออยู่ในระบบราชการอีกต่อไปอย่างน้อย 10 ปี จึงค่อยมาพูดกันถึงเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ยกเว้น มรภ. 1-2 แห่งที่เห็นว่ามีความพร้อมที่จะออกนอกระบบราชการ ก็จะมีการเตรียมการเรื่องนี้ไว้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทั้งนี้ สาเหตุที่โดยภาพรวมของ มรภ.ยังขออยู่ในระบบราชการ เนื่องจากใน มรภ.มีพนักงานมหาวิทยาลัยเพียงแค่ 10 กว่าคน ซึ่งถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับบุคลากรส่วนใหญ่ที่เป็นข้าราชการ ต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่เวลานี้มีบุคลากรเกินกว่าครึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นต้องเร่งออกนอกระบบราชการ เพื่อให้มีกฎหมายมารองรับพนักงานมหาวิทยาลัยเหล่านี้

“อีกเหตุผล ทาง มรภ.มองในแง่ของวิชาการ โดยมองว่า มรภ.เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อช่วยประชาชน ดังนั้น การยังเป็นส่วนราชการอยู่น่าจะช่วยดูแลได้ดีกว่าการออกนอกระบบราชการ เพราะหากออกนอกระบบราชการไปแล้ว อาจทำให้การขึ้นค่าเล่าเรียนทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังอยู่ในระบบราชการก็ยังเปรียบเสมือนเป็นการศึกษาของชาติ บางสาขาวิชา เช่น นาฏศิลป์ ซึ่งมีคนเรียนน้อย 7-8 คน ก็ยังต้องเปิดสอนให้อยู่ เพราะถือเป็นบริการแก่ประชาชน โดยที่ไม่คิดกำไรขาดทุน แต่เมื่อออกนอกระบบราชการก็จำเป็นต้องมาคิดเรื่องกำไรขาดทุน เพราะอาจต้องหาเลี้ยงตัวเอง เนื่องจากรัฐบาลอาจผลักภาระให้ช่วยเหลือตัวเอง และถึงแม้รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลใหญ่ของการออกนอกระบบราชการก็คือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต้องเลี้ยงตัวเอง” ดร.สว่างกล่าว

ผศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และประธานกลุ่มอธิการบดี มทร. กล่าวว่า จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกลุ่มอธิการบดี มทร. เห็นว่าในส่วน มทร.โดยภาพรวมคงจะออกนอกระบบราชการหลังมหาวิทยาลัยรัฐ ซึ่งมีความพร้อมสูงกว่า และยังตอบไม่ได้ว่า มทร.จะออกนอกระบบราชการก่อนหรือหลังกลุ่ม มรภ. แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ มทร.ในระหว่างนี้ได้หารือกับผู้บริหาร มทร.แห่งอื่นๆ แล้วเห็นว่า ควรจะเอาหลักการและวิธีการเกี่ยวกับการบริหารของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมาใช้ไปพลางๆ ก่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการใน มทร. ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหารืออย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2550

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2295&Key=hotnews

คุณภาพนักเรียน3จว.ใต้ เรื่องใหญ่ที่รอรัฐบาลเยียวยา

3 มกราคม 2550

เด็กนักเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญทำให้คุณภาพนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

เห็นได้ชัดจากคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ทั้ง 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ฟ้องชัดเจนว่า นักเรียนในพื้นที่ดังกล่าวได้คะแนนต่ำที่สุดของประเทศมานานแล้วเพราะรูปแบบจัดการศึกษาที่รัฐจัดให้ ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่กว่า 80% นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามลายู

รวมทั้งตามหลักศาสนาเด็กๆ มุลสิมต้องเรียนศาสนาที่โรงเรียนตาดีกา จนจบตามหลักสูตรอิสลามศึกษาทั้ง 3 ระดับคือ อิลสามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮ์) อิสลามศึกษาตอนกลาง(มุตวัษซีเฎาะฮ์)และอิสลามศึกษาตอนปลาย(ซานวียะฮ์) เมื่อจบหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลายเรียกว่าจบอนุปริญญาด้านศาสนาอิสลาม สามารถเรียนศาสนาระดับสูงที่ต่างประเทศได้ ขณะที่รัฐบาลไทยออกกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)เด็กๆมุสลิมจึงต้องเรียนศาสนาที่ตาดีกาในช่วงเย็นหรือเสาร์-อาทิตย์ และเรียนสายวิชาสามัญวันจันทร์-ศุกร์

เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ เด็กมุสลิมหลายคนเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แทนที่จะเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมทั่วไปในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่สอนศาสนาในช่วงเช้า และสอนวิชาสามัญในช่วงบ่ายเพราะต้องการให้ลูกหลานได้เรียนศาสนา และตัวเด็กเองไม่ต้องทำงานหนัก

กระทรวงศึกษาธิการจึงส่งเสริมให้โรงเรียนของรัฐหัดเปิดหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อให้เด็กมุลสิมเรียนในโรงเรียนของรัฐ ขณะนี้นำร่องไปแล้วใน 142 โรงเรียน ก่อนจะขยายผลตามความสนใจของแต่ละโรงเรียนในปีการศึกษา 2550 และหลอมหลักสูตรสามัญกับหลักสูตรอิสลามศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อลดภาระการเรียนเด็กมุลสิม แต่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งคิดระบบเทียบโอนการศึกษาศาสนาด้วย โดยให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดปัตตานี (ศนจ.ปัตตานี) เป็นเจ้าภาพ

รวมทั้งส่งเสริมให้มีการสร้างวิธีการสอนภาษาไทยที่เหมาะสมกับภาคใต้ ให้โรงเรียนประถมศึกษาจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาเป็น 2 ภาษา ในชั้นเด็กเล็กให้ครูเปลี่ยนมาใช้ภาษามลายูถิ่นสื่อสารในห้องเรียนเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาไทย

มีการนำร่องวิธีการจัดการเรียนการสอน “สองภาษา” ไปแล้วในโรงเรียนประถม 12 แห่ง ก่อนที่จะมีการสรุปผลและขยายผลต่อไปรวมทั้งให้โรงเรียนเปิด “สอนภาษามลายูกลาง” ในโรงเรียน โดยเตรียมนำร่องที่โรงเรียนนราสิกขาลัย จ.นราธิวาส แต่ไม่ได้รับการตอบรับเพราะยึดทำตามนโยบายจากส่วนกลางเกินไป ไม่ได้คำนึงว่า วงจรชีวิตของชาวมุสลิมเจ้าของพื้นที่เป็นอย่างไรแล้วปรับให้สอดคล้องกัน

เพราะในความเป็นจริงระบบของการเรียนศาสนายังซ้ำซ้อน เด็กที่เรียนอิลสามศึกษาตอนต้นหรืออิบติดายะฮ์แล้ว เมื่อเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิลสาม ต้องเรียนอิบติดาอียะฮ์ซ้ำอีก บางครั้งจนจบ ม.6 แล้วเด็กยังเรียนไม่จบหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย ต้องเรียนอีก 1 ปีทำให้เสียโอกาสไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย และยังเป็นช่วงเวลาที่เด็กวัยรุ่นเหล่านี้ถูกชักจูงได้ เพราะพวกเขามีเวลาว่างหลังเรียนศาสนาอยู่มาก

ฉะนั้นหากเปิดโอกาสให้มี “การเทียบโอนวิชา” ที่พวกเขาเรียนมาแล้วได้ เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้ว ไม่ต้องเรียนซ้ำซ้อน ทำให้เขาเหลือเวลาที่จะเรียนวิชาการเสริมได้ ล่าสุด ศธ.ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปเปิดสอนระดับ ปวช.ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพิ่มช่องทางชีวิตให้นักเรียนของโรงเรียนกลุ่มนี้ หากไม่สามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยสามารถหางานทำได้ หรือเบนเข็มไปเรียนต่อด้านอาชีพแทน

หากทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ จะทำให้ผู้ปกครองเปลี่ยนแนวคิดส่งลูกเรียนต่อในประเทศไทย จากเดิมที่ไม่นิยมส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการแต่ให้เรียนศาสนา เพราะเชื่อว่าการส่งลูกเรียนศาสนาอย่างน้อยยังทำให้มีงานทำ เป็นครูสอนศาสนา ไปเรียนต่อต่างประเทศโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อย เพราะมหาวิทยาลัยที่สอนด้านศาสนามีทุนการศึกษาให้ เช่นที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ที่ประเทศอียิปต์ หรือถ้ามีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย

การทำให้คุณภาพนักเรียนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณจัดการศึกษา ให้เหมาะกับวิถีชีวิตมุสลิม ปรับระบบการเรียนการสอนที่เรียนได้ทั้งศาสนาและสามัญ เรียนจบแล้วมีงานทำ รวมทั้งมีระบบเทียบวุฒิการศึกษาให้นักเรียนที่ไปเรียนต่อศาสนาจากต่างประเทศ และมีงานรองรับ เมื่อกลับมาเมืองไทย จะมีชีวิตทีดีตามอัตภาพในสังคมที่เหมาะสมน่าจะทำให้ชาวไทยมุลสิมอยู่ได้อย่างพอเพียง ตามหลักการสอนของศาสนาอิสลาม

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2290&Key=hotnews

จีนบรรจุหลักสูตรกันเอดส์ให้เด็กม.ต้น

3 มกราคม 2550

พีเพิลเน็ต – คณะกรรมการการศึกษาของปักกิ่งบรรจุเรื่องเพศและการป้องกันโรคเอดส์ลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนมัธยมต้น โดยสอนให้นักเรียนรู้จักควบคุมอารมณ์ มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง ใช้ถุงยางอนามัยและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นเอดส์

ในที่สุดคำที่หลายคนคิดว่าเป็นคำที่อ่อนไหวอย่าง “หยุดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง” ปฏิเสธรักทางอินเทอร์เน็ต” การใช้ถุงยางอย่างถูกต้อง” ก็ได้ถูกบรรจุเข้ามาในแบบเรียนของนักเรียนมัธยมต้นจนได้

คณะกรรมการการศึกษาของปักกิ่งได้ระบุว่า ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิของปีนี้เป็นต้นไป ปักกิ่งจะเริ่มต้นเข็น “แบบเรียนการป้องกันโรคเอดส์ของนักเรียนประถมและมัธยม” ออกมาใช้ ซึ่งในปัจจุบันแบบเรียนดังกล่าวได้ถูกใช้ในกว่า 80% ของโรงเรียนมัธยมของปักกิ่งแล้ว

โดยแบบการเรียนการสอนจะสอนให้เด็กได้มีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และสอนให้หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และการมีความรักทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันโรคเอดส์

ในแบบเรียนได้มีบทที่ว่าด้วย “พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง” การมีเพศสัมพันธ์ที่ขาดการป้องกัน” โดยจะทำการสอนเป็นขั้นๆ เริ่มจากการควบคุมอารมณ์ การไม่หมกมุ่นกับเรื่องทางเพศ ความซื่อสัตย์ระหว่างสามีภรรยา และการใช้ถุงยางอนามัย

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัย มีอาจารย์หลายท่านที่รู้สึกว่าหาวิธีที่เหมาะสมมาสอนเด็กได้ยาก นายหม่าอิ๋นหัว หนึ่งในผู้เรียบเรียงตำราดังกล่าวได้แนะนำว่า “อาจารย์สามารถอาศัยการกสถานการณ์จริงมาวิเคราะห์การให้นักเรียนทำการสัมมนา หรือการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง”

นายหลิวอิ๋ง อีกหนึ่งผู้ร่วมเรียบเรียงตำราได้ระบุว่า “ถึงแม้จะมีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่ให้เหตุผลว่าเด็กยังเด็กไป ไม่ควรที่จะมีการเรียนการสอนเรื่องเพศให้ห้องเรียน แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ยังอยากจะให้ครูได้สอน”

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2285&Key=hotnews

คิดแต่สิ่งดี ทำแต่สิ่งดีแล้ว บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า

4 มกราคม 2550

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเรื่องสถานการณ์การเมืองที่เป็นช่วงวิกฤติ และไม่มีทางออกในการแก้ปัญหา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ และปรากฏภาพประชาชนแสดงความขอบคุณทหาร ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์และเป็นแห่งเดียวในโลก รวมถึงปัจจุบันที่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่หนักใจที่สุดเวลานี้ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจในบ้านเมือง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดนั้น ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถแก้ไขได้โดยการคิดดี และทำดี คือคิดแต่ในเรื่องที่จะทำให้ประเทศมีความก้าวหน้า พยายามหาแนวทางที่จะทำให้ประเทศมีกติกาที่ยอมรับได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความวุ่นวายซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการศึกษานับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การทำให้สังคมดีขึ้นได้ โดยทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขเรื่องมาตรฐานการศึกษาเป็นอันดับแรก เนื่องจากปัจจุบันบ้านเมืองยังมีโรงเรียนหลายแห่งที่ไม่ผ่านการประเมินเกณฑ์การศึกษามาตรฐาน ซึ่งหากสามารถแก้ไขในส่วนนี้ได้ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ตามมาได้ด้วย เพราะถ้าประชาชนมีความรู้ความสามารถ คิดแต่สิ่งดี ทำแต่สิ่งดีแล้ว บ้านเมืองก็จะมีความเจริญก้าวหน้าตามมา และนอกจากปัจจัยเรื่องการศึกษาที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำไปสู่การคิดดี ทำดีแล้ว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งสร้างคุณธรรมในจิตใจของประชาชนด้วย ซึ่งส่วนนี้ถ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขตามมา

“คนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ และคิดดี ทำแต่สิ่งดี ก็จะทำให้บ้านเมืองเราเจริญก้าวหน้า”

พร้อมกันนั้นในปีหน้าบ้านเมืองยังมีภารกิจสำคัญคือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกผู้บริหารบ้านเมืองต่อไป ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความสมบูรณ์เหมาะสมกับสภาพการณ์ของประชาชนในประเทศยิ่งขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ดีงามกลับมาที่ฝ่ายบริหาร เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง และถ้าหากปล่อยผ่านไปโดยที่ไม่สนใจแล้ว ก็อาจจะเกิดสิ่งไม่ดี ไม่งามตามมาอีก และก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ความขัดแย้งไปได้ แต่ถ้าทุกคนหันมาร่วมมือกัน ก็มั่นใจว่าจะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ และจะทำให้บ้านเมืองสงบสุขอีกครั้ง

ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจจริง และคิดแต่สิ่งดีที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอนถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ดังนั้นถ้าใครเห็นอะไรที่ไม่ดี ไม่งาม ก็อยากให้ช่วย คิดในสิ่งดี ทำแต่สิ่งดี หันมาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งสัญญาณกลับมาให้รับทราบข้อมูลการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ภาครัฐเข้าไปทำหน้าที่หาทางแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น โดยภาครัฐยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากทุกฝ่าย

หมายเหตุ : คำกล่าวของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คิดและทำแต่สิ่งดี ปีใหม่นี้เป็นสุขใจ” ในงานเลี้ยงแสดงความยินดีและเชิดชูเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นผู้ทรงเกียรติ โรงเรียนเซนต์ฟรังค์ซิสซาเวียร์ ( 26ธ.ค.49)

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.thannews.th.com

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2333&Key=hotnews

การศึกษาแนวเสรี บูรณาการความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิด

4 มกราคม 2550

“สฤณี อาชวาทนันกุล” นักวิชาการอิสระ เป็นอีกผู้หนึ่งในได้ร่ำเรียนทางด้าน liberal atrs education มา และได้เคยเขียนบทความเรื่องการศึกษาแนว liberal arts ลงในเว็บไซต์ onopen.com และเห็นว่ายังน่าสนใจอยู่จึงตัดตอนบางส่วนมา

“สฤณี” อธิบาย liberal arts education หรือเรียกสั้นๆ liberal education ว่า “การศึกษาแนวเสรี” การศึกษาแนวเสรี คือปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษาปรัชญาหนึ่ง ที่มีอิทธิพลครอบงำมหาวิทยาลัยเก่าแก่ชื่อดังของอเมริกาหลายแห่ง ปรัชญานี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า นอกเหนือจากวิชาเฉพาะด้านที่เลือกเรียน นักศึกษาปริญญาตรีควรได้รับความรู้เบื้องต้นในสาขาวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุม ตลอดจนมีความสนใจ เข้าใจ และนับถือในวิธีคิดของแต่ละสาขาวิชาเหล่านั้น เพื่อให้สามารถคิดได้อย่าง “บูรณาการ” คือสามารถนำความรู้จากสาขาวิชาอื่นมาประยุกต์ใช้ในสาขาที่ตนมีความชำนาญ

ในความหมายของปรัชญานี้ “liberal arts” ไม่ได้หมายความเฉพาะวิชาด้าน “ศิลปศาสตร์” ดังคำแปลปกติของศัพท์คำนี้ในภาษาไทย แต่มีความหมายครอบคลุมวิชาด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนข้อเท็จจริงว่า “วิทยาศาสตร์” และ “ศิลปศาสตร์” นั้น ไม่สามารถแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันอันซับซ้อน ที่ต้องอาศัยความรู้ และความเชี่ยวชาญหลายแขนงประกอบกัน ในการเข้าถึงสัจธรรมที่เป็นองค์รวม แก้ไขปัญหา และคิดค้นกระบวนการพัฒนาโลก ทั้งในมิติด้านวัตถุ และมิติด้านจิตใจ

หากมองอย่างผิวเผิน มหาวิทยาลัยของอเมริกาส่วนใหญ่ดูไม่ต่างกันมาก เพราะแต่ละแห่งก็บังคับให้นักศึกษาเรียน “วิชาบังคับ” จำนวนหนึ่ง ควบคู่ไปกับวิชาอื่นๆ ในภาควิชาที่ตนเลือก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนโดยปรัชญาการศึกษาแนวเสรีอย่างเข้มข้น แตกต่างจากมหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนโดยปรัชญาการศึกษาอื่นเป็นหลัก (ซึ่งในที่นี้จะนิยามว่า “การศึกษาแนววิชาชีพ” คือการศึกษากระแสหลัก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน) หลายประการด้วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่อนุรักษ์ปรัชญาการศึกษาแนวเสรีอย่างเหนียวแน่น ไม่อนุญาตให้นักศึกษาปริญญาตรี เลือกเรียนเอกในสาขาที่ถือว่าเป็น “วิชาชีพ” โดยตรง ดังนั้นนักศึกษาที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องการประกอบอาชีพอะไรหลังรับปริญญา จึงจำต้องเลือกเอกในสาขา “วิชาการ” ที่ใกล้เคียงที่สุดกับอาชีพเป้าหมายแทน เช่น ใครอยากเป็นหมอก็ต้องเอกชีวเคมี (biochemistry) อยากเป็นนักการเงินก็ต้องเอกเศรษฐศาสตร์ และถ้าอยากเป็นทนาย ก็ต้องเอกรัฐศาสตร์ (government) แทน

หลักสูตรการศึกษาแนวเสรีของฮาร์วาร์ด – ซึ่งวิชาทั้งหมดคิดเป็นหนึ่งในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมดที่นักศึกษาต้องเรียนก่อนจบปริญญาตรี – เรียกรวมๆ ว่า “core program” มีเป้าหมายที่อธิบายไว้ในเว็บไซต์ core program ดังนี้ :

“ปรัชญาของหลักสูตร core ของเรา ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า บัณฑิตปริญญาตรีจากฮาร์วาร์ดทุกคนควรได้รับการศึกษาในมุมกว้าง ควบคู่ไปกับความชำนาญเฉพาะด้านทางวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่ง ปรัชญานี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า นักศึกษาทุกคนควรได้รับคำชี้แนะในการบรรลุเป้าหมายนี้ และคณาจารย์มีหน้าที่นำพวกเขาไปสู่ความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิดที่เป็นคุณลักษณะของชายหญิงผู้มีการศึกษาทุกคน …แต่หลักสูตร core ของเราแตกต่างจากโปรแกรมการศึกษาทั่วไปที่อื่น ตรงที่เรามิได้กำหนดขอบเขตทางวิชาการไว้ที่ความรอบรู้เรื่องวรรณกรรมอมตะชุดใดชุดหนึ่ง ความรู้ลึกซึ้งด้านใดด้านหนึ่ง หรือแม้แต่ความรู้รอบตัวทันสมัยในบางสาขาวิชา แต่เราต้องการแนะนำกระบวนการค้นหาความรู้ ในสาขาวิชาที่เราเชื่อว่าขาดไม่ได้สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรนี้ต้องการแสดงให้นักศึกษาเห็นว่ามีความรู้ และวิธีการสืบค้นความรู้แบบใดบ้างในสาขาวิชาเหล่านี้ ตลอดจนชี้ให้เห็นวิธีการวิเคราะห์ ประโยชน์ และคุณค่าของแต่ละวิธี คอร์สต่างๆ ในแต่ละสาขาของหลักสูตรนี้ “เหมือนกัน” ตรงที่เน้นให้เข้าใจมุมมองและวิธีคิด แม้ว่าหัวข้อจะแตกต่างกัน”

ปรัชญาของการศึกษาแนวเสรี สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในการออกแบบคอร์สต่างๆ ใน core program ของฮาร์วาร์ด ซึ่งปัจจุบันบังคับให้นักศึก ษาเรียนอย่างน้อยหนึ่งคอร์ส ในแต่ละสาขาต่อไปนี้ :

– วัฒนธรรมต่างชาติ (foreign cultures) – ประวัติศาสตร์ศึกษา (historical study) – วรรณกรรมและศิลปะ (literature and arts) – การใช้เหตุผลเชิงคุณธรรม (moral reasoning) – การใช้เหตุผลเชิงตัวเลข (quantitative reasoning) – วิทยาศาสตร์ (science) – สังคมวิทยา (social analysis) คอร์สที่บรรจุอยู่ใน core program ของฮาร์วาร์ดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น “วิชาพื้นฐาน” เช่น ประวัติศาสตร์โลก 101 หรือวรรณกรรม 101 หรือศิลปะ 101 แบบที่นักเรียนไทยคุ้นเคย แต่เป็นวิชาเกี่ยวกับหัวข้อหรือประเด็นแคบๆ เช่น “ฟลอเรนซ์สมัยเรอเนสซองส์” หรือ “แนวคิดเรื่องฮีโร่ในวรรณกรรมกรีกโบราณ” หรือ “สถาปนิกเอก แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์” คอร์สเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้น่าติดตาม สอนโดยอาจารย์ที่เก่งที่สุดของภาควิชาต่างๆ เปรียบเสมือนเป็น “คอร์สแม่เหล็ก” ดึงดูดให้นักศึกษาใหม่เลือกเรียนเอกในภาควิชาของตน

นอกจากนี้ core program ยังเป็น “พื้นที่แนวร่วม” ให้อาจารย์ต่างสาขา ต่างคณะ มาร่วมสอนนักเรียนด้วยกันแบบ “บูรณาการ” เพื่อชี้ให้เห็นวิธีมองประเด็นต่างๆ จากมุมมองของแต่ละสาขา คอร์สแบบนี้ส่วนใหญ่ได้รับความนิยมมาก อาทิ คอร์ส core ชื่อ “Thinking about Thinking” (คิดเกี่ยวกับคิด) สอนพร้อมกันโดยอาจารย์สามคนจากสามภาควิชา ได้แก่ กฎหมาย วิทยาศาสตร์ และเทววิทยา (theology) มุ่งเน้นการตีกรอบ ให้นิยามคำว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” และ “ความจริง” ในแต่ละสาขา ตลอดจนกระบวนการต่างๆ สาขาเหล่านี้ใช้ค้นหาความจริงเหล่านั้น สไตล์การสอนของคอร์สนี้คือ ในแต่ละวันอาจารย์สามคนจะหยิบยกประเด็นขึ้นมาถกกันหนึ่งเรื่อง เช่น ความยุติธรรม ความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ การแสดงความเห็นต่างของพลเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล และความน่าจะเป็น ฯลฯ

กว่าคอร์สนี้จะจบ นักศึกษาไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีคิดของนักคิดในสามสาขานี้เท่านั้น แต่ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ในโลก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการหลากหลายสาขา ในการสำรวจ วิเคราะห์ และอภิปราย เพื่อพัฒนาสังคมมนุษย์

เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาแนวเสรี คือ ทักษะในการคิด คุณธรรมที่มั่นคง และวุฒิภาวะทางอารมณ์

เพราะวิธีปฏิบัติของปรัชญาการศึกษาแนวเสรีคือการบังคับให้นักศึกษาเรียนคอร์สต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเชื่อว่า จะช่วยให้พวกเขามี “…ความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิด” ในภาษาของฮาร์วาร์ด เป้าหมายของการศึกษาแนวเสรี จึงเป็นได้มากกว่า – และควรเป็นมากกว่า – การศึกษาแนววิชาชีพ

กล่าวคือ ถ้าเราคิดว่านักศึกษาควรมีคุณสมบัติอื่น นอกเหนือจากทักษะการใช้เหตุผล เช่น คุณธรรมหรือศีลธรรม และวุฒิภาวะทางอารมณ์ เราก็ควรรวมคุณสมบัติเหล่านี้เข้าเป็น “เป้าหมาย” ของการศึกษาแนวเสรี และออกแบบหลักสูตรมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายนี้

การ “ขยาย” ขอบเขตของเป้าหมาย และโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาแนวเสรีไปในแนวนี้ จะไม่กระทบกระเทือนหลักสูตรการศึกษาแนววิชาชีพ ซึ่งเป็นส่วนของ “วิชาเอก” ที่นักศึกษาต้องเรียนอยู่แล้วก่อนจบปริญญา

หากเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาแนววิชาชีพ (สามในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมด) คือการผลิต “ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพ” ในสาขาต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน เป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาแนวเสรี (หนึ่งในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมด) ควรเป็นการผลิต “ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม” เพื่อสนองความต้องการของสังคมและโลก ซึ่งกำลังถูกกลบด้วยเสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ของตลาดแรงงาน

เพราะ “ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพ” และ “ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม” นั้น ควรเป็นคุณสมบัติของคนคนเดียวกัน ไม่เช่นนั้นสังคมก็จะมีแต่ผู้เชี่ยวชาญที่ไร้คุณธรรม ใช้ความฉลาดและความรู้เพื่อรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตัวเองถ่ายเดียว

ดังนั้น คอร์สที่บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาแนวเสรี จึงไม่ควรเป็นแค่ “วิชาเบื้องต้น” ของภาควิชาต่างๆ เท่านั้น หากควรถูกออกแบบมาอย่างประณีต เฉพาะเจาะจง และคำนึงถึงมิติด้านคุณธรรม และอารมณ์เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น คอร์สสาขา moral reasoning ใน core program ของฮาร์วาร์ด เป็นตัวอย่างของความพยายามให้นักศึกษามองเห็นมุมมองด้านศีลธรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่คอร์สสาขา foreign cultures พยายามสอนให้นักศึกษามองเห็น เข้าใจ และนับถือแนวคิดและคุณค่าต่างๆ ในวัฒนธรรมที่ต่างจากพื้นเพของตน

หลักสูตรการศึกษาแนวเสรีที่ดี ไม่ควรพยายาม “บังคับ” ให้คนเป็นคน “ดี” ในกรอบที่อาจารย์หรือสังคมตีความ (เช่น ด้วยการบังคับให้จำว่าศีล 5 มีอะไรบ้าง ฯลฯ) แต่เน้นที่หลักเหตุผล และบริบทของประเด็นทางคุณธรรมมากกว่า ว่าทำไมมุมมองนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับที่ไม่ควรบังคับให้นักศึกษาท่องจำปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์ แต่เน้นการอภิปรายเรื่องบริบท เหตุผล และประเด็นต่างๆ ในเหตุการณ์เหล่านั้นแทน

ซึ่งแน่นอน ก่อนที่เราจะสอนแบบนี้ได้ สังคมไทยและสถาบันการศึกษาเองจะต้องเลิก “ยึดติด” อยู่กับแบบแผนการสอนในอดีต ซึ่งสอนเพียง “ประวัติศาสตร์กษัตริย์ไทย” ในฐานะ “ความจริงตายตัว” ที่ไม่อนุญาตให้ใครซักถามหรือตีความ ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยในขอบเขตประเทศไทย” อย่างที่วิชาประวัติศาสตร์ควรจะเป็น

“สฤณี” ตั้งคำถามว่า…

เราต้องการให้บัณฑิตปริญญาตรีไทยเป็นคนฉลาด เก่งภาษาอังกฤษ มีทักษะความรู้พอที่จะหางานทำ เอาตัวรอดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้ เท่านั้นเองหรือ ?

เราคิดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ มีหน้าที่ “ป้อน” ลูกจ้างที่มีศักยภาพให้กับตลาดแรงงาน เท่านั้นเองหรือ ?

ถ้าเป้าหมายของการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเพียงแค่นี้ เราจะหา “พลเมืองดี” รุ่นใหม่ ที่มีคุณธรรม มีสำนึกทางสังคม รู้ทันนักการเมืองขี้โกง พร้อมสละเวลามาช่วยวิเคราะห์แก้ไขปัญหาบ้านเมืองเมื่อชาติต้องการ ได้จากที่ไหน ?

หรือเราจะโทษแต่พ่อแม่และผู้นำทางศาสนา ว่าอบรมบ่มนิสัยเยาวชนมาไม่ดีพอ โทษสภาพแวดล้อม ค่านิยม และนามธรรมอื่นๆ ที่จับต้องไม่ได้ ว่าทำให้เขาเสียคน หรือโทษตัวเด็กเองว่า ไม่เข้มแข็งพอที่จะทนแรงดึงดูดอันเย้ายวนของลัทธิบริโภคนิยมสุดขั้วได้ ?

ขอบข่าย “ความรับผิดชอบ” ของสถาบันการศึกษาไทย เริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหน ?

ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะเริ่มอภิปรายกันอย่างจริงจังว่า “เป้าหมาย” หรือ “ปรัชญา” ของการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น คืออะไรกันแน่ ?

ทุกคนรู้ดีว่า ระบบการศึกษาไทยต้องมีการปฏิรูปขนานใหญ่ แต่มีน้อยคนที่เสนอว่า เป้าหมายของการปฏิรูปนั้นคืออะไร รูปแบบของการศึกษาที่เราอยากเห็นนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2319&Key=hotnews

“วิจิตร” ฟื้นทุนส่งครูเรียนเอก เร่งพัฒนาการศึกษาม.ราชภัฏ

4 มกราคม 2550

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)ให้เป็นที่ยอมรับในคุณภาพการศึกษาทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นว่า การจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นจะต้องเร่งพัฒนาคณาจารย์ให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการเพิ่มจำนวนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน มรภ.เริ่มเปิดสอนเกือบทุกสาขาวิชา ทั้งที่ไม่มีการเพิ่มจำนวนอาจารย์ ทำให้อาจารย์ มรภ.มีภาระด้านการสอนค่อนข้างหนัก ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถทำได้ทั้งสองส่วนจะทำให้คุณภาพมาตรฐานของ มรภ.ดีขึ้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ทาง มรภ.ก็จะต้องเร่งพัฒนาตนเองให้เข้าสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย เพราะจนถึงวันนี้กลายเป็น มรภ.แล้ว แต่โครงสร้าง กระบวนการบริหาร และกระบวนการจัดการก็ยังไม่ใช่ในรูปแบบของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเร่งรัดพัฒนาผู้บริหารด้วย เนื่องจากผู้บริหารซึ่งมีบทบาทเป็นภาวะผู้นำถือเป็นตัวแปรสำคัญของการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเติบโตเร็วหรือช้า

“มันเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาตนเอง และอีกส่วนหนึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มอัตรากำลัง การเพิ่มงบประมาณ การพัฒนาอาจารย์ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องรื้อฟื้นโครงการเดิมที่มีการจัดสรรทุนให้กับอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ และเมื่อจบปริญญาเอกมาแล้วก็จะจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ผมได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปดูแลเรื่องนี้ และการจัดทำแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาวแล้ว เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐบาลต่อไป” นายวิจิตร กล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.siamrath.co.th

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2315&Key=hotnews