สัปดาห์หน้าจับตัวการทุจริตสอบครูผู้ช่วย

3 พฤษภาคม 2556

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ได้มีการประชุมชี้แจงการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 โดยมีประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนครูใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 131 เขต รวม 393 คนร่วมรับฟัง ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอพบว่ามีการทุจริตสอบครูผู้ช่วยอย่างแน่นอน เพราะมีการเข้าสอบแทนกัน มีการทำเฉลยข้อสอบแจกจ่ายและนำเอาคำเฉลยมาส่งข้อความทางโทรศัพท์ มีการให้ท่องจำ หรือจดโพยเข้าไป ซึ่งสัปดาห์หน้าจะจับตัวคนที่เกี่ยวข้องได้อย่างแน่นอน

นายธาริต กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีผู้ที่สอบได้คะแนนสูงผิดปกติ 344 คนนั้น ข้อมูลจากการสอบสวนจะแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ข้อมูลจากการสอบสวนของดีเอสไอ ข้อมูลของนายชอบ ลีซอ อดีตผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลการสอบครูผู้ช่วย และข้อมูลของนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการทุจริตสอบครูผู้ช่วย ซึ่งดีเอสไอจะขอให้ทั้งสองคนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้นภายในสัปดาห์หน้าตนจะลงนามในหนังสือเพื่อส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมด รวมทั้งความเห็นของดีเอสไอที่จะระบุว่าสมควรพิจารณาดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิกการบรรจุและผลการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยไปให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 130 เขต และ 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษเพื่อใช้ประกอบการพิจารณายกเลิกและเพิกถอน ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะสามารถสั่งยกเลิกได้แน่นอนเพราะหนังสือแจ้งดังกล่าวของดีเอสไอถือเป็นหนังสือราชการจากหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนเรื่องนี้โดยตรง

“อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไม่ต้องกังวลเรื่องถูกฟ้องศาลปกครอง เพราะผมเชื่อว่าคนที่ทำทุจริตคงไม่กล้าไปฟ้องศาลปกครอง เพราะเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะถูกดำเนินคดีที่เบิกความเท็จด้วย ซึ่งเป็นคดีอาญามีโทษจำคุก ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลอะไร” นายธาริต กล่าวและว่า หลังจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ สั่งยกเลิกการบรรจุและผลการสอบคัดเลือกแล้วจะกันคนเหล่านั้นไว้เป็นพยานหากให้ความร่วมมือ เพื่อเอาตัวใหญ่มาลงโทษ

นายประเสริฐ บุญเรือง ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 กล่าวว่า สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 มีผู้สอบได้ 2 คน และมีคะแนนสูงมากถึง 198 คะแนนที่ถือว่าผิดปกติ ซึ่งหลังรับฟังการชี้แจงแล้ว ตนคิดว่าหากมีหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แจ้งมาว่าการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยที่ผ่านมามีการทุจริตก็คิดว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯบุรีรัมย์ เขต 1 จะสามารถพิจารณายกเลิกผลการสอบได้ หรือจะใช้เฉพาะหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่แจ้งผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนายชอบ ลีซอ อดีตผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลการสอบครูผู้ช่วยก็สามารถนำไปยกเลิกผลการสอบได้แล้ว โดยถือว่าเป็นการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 30 (13) ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32595&Key=hotnews

ศธ.สั่งผลิตคนรับแผนพัฒนารถไฟ

3 พฤษภาคม 2556

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังโดยสารรถไฟจากอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กลับมายังสถานีรถไฟสามเสน กรุงเทพฯ ว่า ระยะทางจากทุ่งสงมากรุงเทพฯ กว่า 900 กิโลเมตร แต่รถไฟไทยใช้เวลาวิ่งถึง 13 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นต้องยอมรับความจริงว่ารถไฟไทยยังต้องพัฒนาทั้งเรื่องของระบบโครงสร้างและระยะเวลาการเดินทาง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณให้ซื้อหัวรถจักรใหม่หลาย 10 หัว แต่สาเหตุที่รถไฟไทยใช้เวลาเดินทางนานไม่ได้มาจากความล้าสมัยของหัวรถจักรอย่างเดียว แต่ยังต้องรอสับหลีกกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีโครงการที่จะจัดระบบขนส่งทางรางใหม่ เพื่อให้การเดินทางรถไฟมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นทางเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชน และทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาระบบขนส่งแบบรางอยู่ในยุทธ ศาสตร์ไทยแลนด์ 2020 ของรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของ ศธ.ได้รับมอบหมายให้เตรียมบุคลากรรองรับการสร้างรถไฟความเร็วสูง และรองรับการขยายบริการของการรถไฟในอนาคต ซึ่งตนได้หารือกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพยากรณ์ความต้องการของบุคลากรทางด้านนี้ในอนาคต รวมถึงพิจารณาด้วยว่าอุตสาหกรรมประเภทใดที่จะขยายตัว ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ศธ.จะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อให้ทั้ง 2 หน่วยงานปรับแผนการผลิตกำลังคนให้สอด คล้องกับความต้องการของประเทศต่อไป.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32594&Key=hotnews

 

ทปอ.หาทางกันลอกผลงาน

3 พฤษภาคม 2556

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณี ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ระบุถึงปัญหาการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ที่ยังไม่สามารถปราบปรามได้ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่งพยายามจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาอย่างเข้มข้น และมหาวิทยาลัยก็พอจะรู้ว่ามีบริษัทที่รับจ้างทำเรื่องเหล่านี้อยู่ ทั้งนี้มักจะพบปัญหาในกลุ่มนักศึกษาที่เรียนภาคพิเศษ ระดับผู้บริหารที่มาเรียน ส่วนใหญ่จะลอกผลงานมา แต่มหาวิทยาลัยก็สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการหารือกันว่า ในอนาคต วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทุกระดับจะต้องมีใบรับรองว่าผ่านการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้ลอกผลงานของคนอื่นมา จึงจะสามารถให้เข้าสอบและจบการศึกษาได้ และควรมีการแจ้งข้อห้ามในการทำวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาด้วย เช่น ห้ามคัดลอกผลงานผู้อื่นมาโดยไม่อ้างอิง เป็นต้น เพราะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ผิดกฎหมายและต้องถูกถอดปริญญา

ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจ้างทำวิทยานิพนธ์ หรือการลอกผลงานทางวิชาการของผู้อื่นเท่ากับการทุจริตทางวิชาการ ซึ่งน่าห่วง และปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมที่ทุกคนคิดว่าต้องมีปริญญาหลายใบเพื่อเพิ่มดีกรี และหลงผิดว่าจะได้มาโดยวิธีใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้อย่างแท้จริง ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้คนไปทำธุรกิจประเภทนี้ ถือว่าทำผิดทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง ดังนั้นหากจะเอาผิดก็ต้องเอาผิดทั้งคู่ เพื่อป้องกันไม่ให้วงวิชาการเสื่อมเสียไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์ฉบับภาษาไทยที่จุฬาฯ กำลังพัฒนานั้น คาดว่าจะใช้ได้ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32593&Key=hotnews

มสด.เยียวยาเลื่อนวิทยฐานะ

3 พฤษภาคม 2556

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการอบรมเรื่อง “หลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเยียวยาให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มสด. กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 และเขต 5 ว่า กคศ. มีนโยบายพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้มีโอกาสพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งเยียวยาให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้นเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งที่ผ่านมา กคศ.ได้รับการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้พิจารณาเลื่อนวิทยฐานะจากความสามารถที่แท้จริง แต่พิจารณาจากความถูกใจของคณะกรรมการที่อ่านผลงานมากกว่า ส่งผลให้ผู้ขอหลายคนไม่ผ่านการพิจารณา เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กคศ.จึงให้ดำเนินโครงการการเยียวยาผู้ที่ยังไม่ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวินัย คุณ ธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถพัฒนาคุณภาพ ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำผลงานทางวิชาการได้ และให้โอกาสผู้ผ่านการอบรมได้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32592&Key=hotnews

กต.เมินยืดวีซ่าครูต่างชาติ

3 พฤษภาคม 2556

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ตามที่ ทปอ.ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังกระทรวง การต่างประเทศ (กต.) กรณีขอปรับแนวปฏิบัติหนังสืออนุญาต เข้าประเทศ หรือ วีซ่า สำหรับอาจารย์และนักศึกษาต่างชาติ ให้สามารถยืดระยะเวลาการอยู่ในประเทศจากกำหนดเวลาเดิมได้ โดยปัจจุบันพบว่าอาจารย์ขอวีซ่า 4 ปี แต่ได้ครั้งละ 1 ปี ส่วนนัก ศึกษาขอวีซ่า 1 ปี แต่ได้ครั้งละ 90 วัน โดยขณะนี้ กต.โดยอธิบดี กรมการกงสุลตอบหนังสือกลับมาแล้ว แต่ปฏิเสธในข้อร้องขอ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ ทปอ.เคยส่งหนังสือขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ก็ปฏิเสธกลับมาเช่นกัน

ประธาน ทปอ. กล่าวต่อว่า ทปอ.ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าการขอวีซ่าของกลุ่มคนดังกล่าวเป็นการตอบสนองของมหาวิทยาลัยต่อการเปิดประเทศ เพราะต้องรับคนที่มีคุณภาพมาเป็นอาจารย์ ส่วนนักศึกษาต่างชาติเราก็ดูแลดีพอสมควร สิ่งที่เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็เพื่อเป็นประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและประเทศเป็นส่วนรวม เพราะการต่ออายุวีซ่าบ่อยๆ เป็นเรื่องสิ้นเปลืองเวลาและกำลังคน จากนี้ไปจะเจรจาในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กต.ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32591&Key=hotnews

ศธ.จัดมหกรรมชุด น.ร. ราคาถูก

3 พฤษภาคม 2556

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถนนราชดำเนินนอก นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมชุดนักเรียนราคาถูกเพื่อลูกหลานไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-12 พฤษภาคม เวลา 09.00-19.00 น. โดยกล่าวว่า จัดงานมหกรรมชุดนักเรียนราคาถูกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น มีทั้งเครื่องแบบนักเรียน ชุดเนตรนารี ชุดลูกเสือ รองเท้า อุปกรณ์การแต่งกายจากร้านค้าต่างๆ ที่นำมาลดราคาจากป้าย 30-70% ทั้งหมดล้วนเป็นสินค้าคุณภาพ แต่นำมาจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด

“แม้จะใกล้เปิดเทอมแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีผู้ปกครองที่ต้องการซื้อชุดนักเรียนสำหรับลูกหลาน สำหรับต่างจังหวัด หากต้องการให้ ศธ.จัดมหกรรมชุดนักเรียนราคาถูก ขอให้แจ้งเข้ามา” นายเสริมศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ปกครองเดินทางมาทยอยซื้อ โดยนางเมตตา ชินสร้อย ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.4 กล่าวว่า มางานนี้เป็นปีแรก ยอมรับว่าชุดนักเรียนที่ขายในงานถูกกว่าในตลาด แต่ไม่มาก และเนื้อผ้าก็ไม่ได้ดีมากนัก ดังนั้นจึงคิดว่าราคาสมกับวัสดุที่ใช้แล้ว ซึ่งตนซื้อไปเพียงชุดเดียว และคงไปซื้อที่อื่น เพราะอยากให้ได้ชุดนักเรียนที่เนื้อผ้าดีๆ ราคาสูงกว่านิดหน่อย ไม่เป็นไร ทั้งนี้หากกรมการค้าภายในปรับราคาชุดนักเรียนจริง อยากให้ควบคุมเรื่องคุณภาพให้สมกับราคาสินค้า และหากรัฐบาลเพิ่มเงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียนด้วย ก็จะเป็นการดี เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32590&Key=hotnews

สอศ.ร่อนหนังสือสั่งกวดขันรับน้อง จี้ป้องเหตุรุนแรง-ดึงพ่อแม่ร่วม-เปิดสายด่วน

3 พฤษภาคม 2556

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยมาตรการรับน้องในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 421 แห่ง ประจำปีการศึกษา 2556 ว่า กิจกรรมรับน้องที่ถูกต้องตามประเพณี คือ กิจกรรมที่มุ่งเน้นสานสัมพันธ์ให้นักศึกษารุ่นพี่และรุ่นน้องมีระเบียบวินัย มีความภาคภูมิใจในสถาบัน เกิดความสามัคคี รวมทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันพี่น้อง ดังนั้น สอศ.จึงกำหนดนโยบายและมาตรการ ทำหนังสือแจ้งให้สถานศึกษายึดเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อป้องปรามปัญหาต่างๆ เช่น การทะเลาะวิวาทจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ก่อให้เกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินตัวเองและผู้บริสุทธิ์ ในส่วนของนโยบายสอศ.แบ่งเป็น 3 เรื่องคือ

1.ไม่ให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมนอกสถานศึกษาเด็ดขาด

2.สถานศึกษาต้องเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม และไม่ขัดต่อระเบียบของวิทยาลัย โดยผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาต้องดูแลรับผิดชอบร่วมกัน และ

3.กิจกรรมที่จัดต้องเคารพเสรีภาพ รวมถึงหลักความเสมอภาคของเด็กและเยาวชน ห้ามล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจเด็ดขาด

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการ ประกอบด้วย

1.ให้สถานศึกษาจัดให้มีกลุ่มเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา ครูที่ปรึกษา ผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันดูแลพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษา และป้องกันการรับน้องภายนอกฯ

2.ให้สถานศึกษาประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น ตำรวจ สถานพยาบาล ชุมชน เพื่อเฝ้าระวังการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่

3.ให้สถานศึกษามีสายด่วนเพื่อให้ผู้ปกครองและหน่วยงานเครือข่ายติดต่อสื่อสารกับสถานศึกษาได้

4.หากเครือข่ายครูผู้ปกครองตลอดจนประชาชนผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถแจ้งข้อมูลโดยตรงกับวิทยาลัยต่างๆ ได้ ให้แจ้งไปที่สายด่วน สอศ. 1156 ตลอด 24 ชั่วโมง และ

5.ให้สถานศึกษากำหนดมาตรการป้องกันการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการ สอศ.โดยถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินตามนโยบายและมาตรการข้างต้นอย่างเคร่งครัด

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32589&Key=hotnews

สพป.นราฯรับสมัครครู ผช.คึก แห่สมัครแน่น พร้อมเปิดศูนย์ร้องเรียนทุจริต

2 พฤษภาคม 2556

นราธิวาส – บรรยากาศการรับสมัครครูผู้ช่วย สังกัด สพป.นราธิวาส เขต 2 ยังคึกคัก มีผู้สนใจจากหลายจังหวัดเดินทางมาสมัครเป็นจำนวนมาก เน้นสอบตามกฎเคร่งครัด หากพบส่อทุจริตตัดสิทธิ์ทันที พร้อมดำเนินตามกฎหมาย

วานนี้ (1 พ.ค.) นายธวัช แซ่ฮ่ำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต2 ตรวจเยี่ยมการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2556 ที่โรงเรียนสุไหงโก-ลก ซึ่งเปิดรับในจำนวน 13 สาขา วิชาเอกดังนี้ 1. คณิตศาสตร์ 2. พลศึกษา 3. ภาษาอังกฤษ 4. วิทยาศาสตร์ 5. การศึกษาปฐมวัย 6. ภาษาไทย 7. เกษตรกรรม 8. นาฏศิลป์ 9. ประถมศึกษา 10. ดนตรีสากล 11. เทคโนโลยีทางการศึกษา 12.คอมพิวเตอร์ 13. สังคมศึกษา โดยในรอบแรกนี้จะบรรจุวิชาเอกละ1อัตรา และจะขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 กล่าวว่า การเปิดสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ เปิดรับสมัครบุคคลเข้ามาสอบจากทั่วประเทศโดยไม่ปิดกั้น ซึ่งจังหวัดนราธิวาสเปิดสอบสองแห่งคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2และ เขต 3 ทั้งนี้ ยืนยันกระบวนการรับสมัครและสอบแข่งขันครูผู้ช่วยเป็นไปอย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอน และขอเน้นย้ำให้ผู้สอบตระหนักว่าหลักเกณฑ์ในการสอบครั้งนี้ทุกคนสามารถเลือกสมัครสอบได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งหากพบว่ามีชื่อไปสมัครมากกว่าหนึ่งแห่งจะถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าสอบทันที พร้อมกันนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 จะเปิดศูนย์อำนวยการเพื่อรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตการสอบครูผู้ช่วย และคาดโทษสำหรับบุคลากรในสังกัด รวมทั้งกลุ่มมิจฉาชีพที่กระทำการทุจริตโดยหลอกลวง แอบอ้างหรือเรียกรับเงินจากผู้สอบที่หวังสอบผ่านในครั้งนี้ หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายทันที
ด้านนายวินัย บินสือนิ ครูจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจาก ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเข้าสมัครสอบเป็นครั้งแรก ยอมรับห่วงว่าจะมีการทุจริตการสอบเหมือนที่เกิดขึ้นที่สนามสอบกลาง จึงฝากถึงผู้สมัครทุกคนขอให้คำนึงถึงจรรยาบรรณของความเป็นครู และใช้ความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อให้ได้ตำแหน่งนี้มาอย่างโปร่งใส ทั้งนี้นายวินัยไม่กังวลหากต้องทำงานท่ามกลางความเสี่ยงของสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่นี้อยู่แล้ว

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32583&Key=hotnews

เปิดเทอมผู้ปกครองจุก วัตถุดิบค่าแรงดันชุดนักเรียน-อุปกรณ์การเรียนพุ่ง

2 พฤษภาคม 2556

ตลาดชุดนักเรียน/อุปกรณ์การเรียนตบเท้าปรับราคาขึ้นรับเปิดเทอม ผู้ผลิตโอดต้นทุนค่าวัตถุดิบ – ค่าแรงขึ้นแบกรับไม่ไหว “แบรนด์จุฬา” เผยต้องปรับราคา 20 บาทต่อชุด พร้อมอัดกลยุทธ์เรียกความมั่นใจแข่งแบรนด์ดัง

ขณะที่ “สเต็ดเล่อร์” ซุ่มขึ้นราคาตั้งแต่ปลายปีก่อนหลังราคาไม้ทะยานขึ้น ด้านนันยาง ย้ำไม่ปรับราคาขึ้น เหตุคุมเข้มต้นทุน ด้านโรงเรียนเอกชน ชี้งบสนับสนุนรัฐสุดเขียม ชุดอนุบาลแค่ 300 บาท ส่วนชุดประถมแค่ 360 บาท

นางชญาณิศา ลิ้มดำเนิน ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดนักเรียนแบรนด์ “จุฬา” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดชุดนักเรียนได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนวัตถุดิบสำหรับการตัดเย็บชุดนักเรียน อาทิ ผ้า , กระดุม เป็นต้น ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อนในอัตรา 5-10% ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ที่มีต้นทุนค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน ส่งผลให้ต้องปรับราคาขายเพิ่มเป็น 10 บาทต่อชิ้นหรือ 20 บาทต่อชุด โดยปัจจุบันชุดนักเรียนแบรนด์จุฬามีราคาชุดละ 185 -340 บาท

ทั้งนี้ราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้ชุดนักเรียน “จุฬา” ต้องวางแผนปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ โดยเน้นการขายส่งให้กับร้านค้าเพิ่มขึ้น พร้อมกับการให้สิทธิ์ในการสั่งจองชุดนักเรียนล่วงหน้าโดยยังไม่ต้องชำระเงินก่อน ขณะที่ชุดนักเรียนแบรนด์อื่นจะต้องชำระเงินทันทีที่มีการสั่งจองชุดนักเรียนเพื่อนำไปขาย นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำชุดนักเรียนตัวอย่างเพื่อให้ผู้ปกครองทำการเปรียบเทียบเนื้อผ้าระหว่างแบรนด์จุฬา และชุดนักเรียนแบรนด์อื่น เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกซื้อชุดนักเรียนของผู้ปกครอง ยังยึดติดกับแบรนด์สินค้า จึงต้องให้ลูกค้าเห็นคุณภาพที่ไม่แตกต่างกัน

ด้านนางอภิวันท์ มงคลชัยดิษฐ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สเต็ดเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียน “สเต็ดเล่อร์” กล่าวว่า ราคาต้นทุนวัตถุดิบโดยรวมได้มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไม้ ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตเครื่องเขียน ทั้งดินสี ดินสอสี ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น 30-40% ส่งให้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาบรรดาผู้ประกอบการหลายรายในตลาดเครื่องเขียนทยอยปรับราคาขึ้น 5% แต่บริษัทยังไม่มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด เนื่องจากยังเตรียมไม้ไว้เพียงพอต่อการผลิตสินค้าออกจำหน่ายในช่วงครึ่งปีแรก แต่บริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้าแล้วช่วงปลายปีที่ผ่านมาในอัตรา 5% ในสินค้าบางตัวจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

สำหรับแนวทางการทำตลาดของสเต็ดเล่อร์นั้น จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในช่องทางต่างๆ ตลอดทั้งปี โดยในช่วงต้นปีจะเน้นจำหน่ายผ่านช่องทางดีลเลอร์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ ขณะที่ในช่วงเทศกาลเปิดเทอมบริษัทจะเน้นทำตลาดผ่านช่องทางค้าปลีก โดยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ร้านอุปกรณ์เครื่องเขียนชั้นนำต่างๆ อาทิ บีทูเอส, เดอะ มอลล์ ,7-11,บิ๊กซี เป็นต้น ในการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย ซึ่งถือเป็นช่วงซีซันของตลาดอุปกรณ์เครื่องเขียน

ขณะเดียวกันยังได้ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาทในการจัดแคมเปญ “Staedtler school tour” ในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน นี้ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายตามโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ โดยแคมเปญดังกล่าวบริษัทได้ดำเนินการต่อเนื่องมา 2-3 ปี และสามารถสร้างยอดขายเพิ่มเติมจากช่วงปกติได้ 10% พร้อมกันนี้ยังได้หันมาจับตลาดระดับกลาง-ล่าง โดยใช้กลุ่มดินสอสีเป็นตัวทำตลาด หลังจากที่ผ่านมาบริษัทเน้นการทำตลาดในระดับบนเป็นหลัก ทั้งนี้การหันมาลงแข่งขันในตลาดระดับกลาง-ล่าง ที่มีราคาถูกกว่าดินสอสีในกลุ่มบนเกือบ 100 % ซึ่งถือเป็นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มนักเรียนทั่วประเทศในต่างจังหวัดให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นายจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ นันยาง กล่าวว่า ราคาของรองเท้านันยางในปีนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด แม้ว่าราคาต้นทุนโดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งทางบริษัทเน้นการบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริหารต้นทุนได้ดีระดับหนึ่งจนไม่ต้องปรับราคารองเท้าขึ้น โดยปัจจุบันยังคงขายรองเท้าในราคาเริ่มต้นที่คู่ละ 285 บาท

ส่วนบรรยากาศการซื้อขายรองเท้านักเรียนนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงก่อนสงกรานต์ 2. ช่วงหลังสงกรานต์ถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม และ 3. ช่วงก่อนเปิดภาคเรียน 1 สัปดาห์และต่อเนื่องไปหลังเปิดเรียน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีกำลังซื้อจากผู้ปกครองเข้ามาแล้ว เห็นได้จากร้านค้าตัวแทนจำหน่ายของบริษัทมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป้าหมายที่บริษัทคาดว่าจะเติบโต 12% ในช่วงเปิดเทอมน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับตลาดรองเท้านักเรียนปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นรองเท้าผ้าใบนักเรียน ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด พลศึกษา และอุดมศึกษา มูลค่า 3 พันล้านบาท หรือสัดส่วนประมาณ 61% ที่เหลือเป็นรองเท้านักเรียนหนังดำสำหรับนักเรียนหญิงประมาณ 38% และที่เหลือเป็นรองเท้าบางโรงเรียน โดยตลาดรวมรองเท้าปีนี้น่าจะมีการเติบโตปีละ 5-6%

ด้านผู้บริหารระดับสูงโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีงบอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนระดับอนุบาลรายละ 300 บาท และระดับประถมศึกษารายละ 360 บาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอสำหรับนักเรียนแต่ละคน เพราะราคาชุดนักเรียนมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี และเด็กนักเรียนแต่ละคนจะต้องมีชุดนักเรียนไม่ต่ำกว่าคนละ 2 ชุดเป็นอย่างน้อยด้วย โดยในปีนี้ราคาชุดนักเรียนยังคงปรับขึ้นไม่เกินชุดละ 50 บาท เพราะผู้ผลิตแจ้งในเบื้องต้นว่าต้นทุนในปีนี้ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับราคาชุดนักเรียนที่ทางโรงเรียนนำมาจำหน่ายนั้น จะจำหน่ายชุดละไม่เกิน 400 บาท โดยราคาเสื้อนักเรียนจะมีราคาตามขนาด อาทิ เสื้อ ไซซ์ S ราคา 145 บาท M ราคา 165 บาท L ราคา 185 บาท และ XL ราคา 195 บาท ส่วนกางเกงและกระโปรงจะมีระดับราคา 145-285 บาท ส่วนอุปกรณ์การเรียนผู้ผลิตยังไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,840 วันที่ 2-4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ที่มา: http://www.thanonline.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32582&Key=hotnews

ผลสอบวีเน็ต ปวส. น่าพอใจ-เด็กรู้พื้นฐานวิชาชีพดี

2 พฤษภาคม 2556

สทศ.เผยผลสอบวีเน็ต ปวส.2 ปี2555 น่าพอใจ เด็กทำคะแนนได้ดี เหตุสอบปีที่ 2ทำให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมดี ผลคะแนนชี้ชัดเด็กมีความรู้วิชาชีพพื้นฐานอย่างดี

วานนี้(1พ.ค.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยค่าสถิติพื้นฐานคะแนนสูงสุด คะแนนต่ำสุด และค่าเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษาหรือวีเน็ต ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง( ปวส.) 2 ปีการศึกษา 2555 ซึ่งประกาศผลไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า สำหรับองค์ประกอบการสื่อสารรู้เรื่องด้วยภาษาไทยในงานอาชีพ มีผู้เข้าสอบ 83,345 คน คะแนนเต็ม 30 คะแนน คะแนนสูงสุด 26.00 คะแนน คะแนนต่ำสุด 0.00 โดยคะแนนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.39 คะแนน การสื่อสารรู้เรื่องด้วยภาษาอังกฤษในงานอาชีพ เข้าสอบ 83,345 คน เต็ม 40.00 คะแนน สูงสุด 40.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00 ค่าเฉลี่ย 10.90 คะแนน กลุ่มสังคมศาสตร์ เข้าสอบ 83,345 คน เต็ม 15.00 คะแนน สูงสุด 15.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00 คะแนน ค่าเฉลี่ย 7.16 คะแนน กลุ่มมนุษยศาสตร์ เข้าสอบ 83,345 คน เต็ม 15.00 คะแนน สูงสุด12.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00 คะแนน ค่าเฉลี่ย3.51 คะแนน การอ่าน เขียน คิดเชิงวิเคราะห์ เข้าสอบ 84,374 คน เต็ม 35.00 คะแนน สูงสุด 35.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00 คะแนน ค่าเฉลี่ย 15.30คะแนน และ ความมีเหตุผลและการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์,วิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 84,374 คน เต็ม65.00 คะแนน สูงสุด52.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00คะแนน และค่าเฉลี่ย16.35 คะแนน

“จากผลการสอบพบว่านักศึกษาทำคะแนนสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสถานศึกษามีการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษามากขึ้น เนื่องจากปีนี้เป็นการสอบครั้งที่ 2 และคะแนนที่นักศึกษาทำได้ถือว่าดี แสดงว่านักศึกษามีความรู้พื้นฐานวิชาชีพดี “ รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32581&Key=hotnews