nation university

รีวิว หลังออกจากที่ทำงานมาได้ 1 ปีพอดี

วันนี้ 3 ม.ค.2567 กลับไปที่ทำงานเก่า
ปีใหม่ปีนี้แล้วออกเที่ยวนอกบ้านกัน
ไปเที่ยวที่ทำงานเก่า #มหาวิทยาลัยเนชั่น
คิดถึงทุกคน
ได้พบเพื่อน ๆ ในแต่ละอาคาร
เห็นจัดที่ทำงาน จัดโต๊ะ ย้ายห้องกัน
ดูเป็นมืออาชีพเชิงบูรณาการ
ได้พบปะพูดคุยทักทายพอประมาณ
ถามถึงสารทุกข์สุขดิบ
อาการของผมก็เหมือน ๆ เดิม
ช่วงนี้เริ่มวิดพื้นเมื่อวันก่อน
กล้ามเนื้อก็จะเจ็บ ๆ หน่อย
นอกนั้นก็มีตะคิวจากการวิดพื้นอีกนิดนึง
ก่อนกลับ
เพื่อนวิ่งเอาของขวัญปีใหม่มาให้
ผมเองก็ไปตัวเปล่ามือเปล่า
ไม่มีอะไรไปสวัสดีปีใหม่เพื่อน ๆ เลย
ไปเที่ยวที่ทำงานในครั้งนี้
คิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ
เก็บภาพ และคลิปมาได้หลายมุม
ระหว่างเดินกลับ
ไปสะดุดหยุดยืน
อยู่หน้าห้องเลขาฯ คณะพยาบาลศาสตร์
ดูบอร์ดผลงานการเป็นผู้ประกอบการ
ของนิสิตพยาบาล
อ่านเพลินเลยครับ
เพราะออกแบบได้สวย
ดูเป็นมืออาชีพแบบที่ออกมาจาก canva
กำลังจะเก็บภาพผลงานนิสิต
แต่อาจารย์เบญที่รู้จักมักคุ้นกันดี
เดินมาทักทายพูดคุยด้วย
คุยกันเพลินจนลืมเก็บภาพบอร์ดเลย
สรุปว่า
ที่บ้านเตรียมผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์
ของ #mareemphouse
ให้ผมไปส่งให้ อาจารย์วรรณ
ซึ่งสรุปได้ว่าภารกิจนี้ลุล่วงด้วยดี

เพลงประกอบคลิปขึ้นบันได
1. ก้าวให้ไกลกว่าเดิม – ชวนอย่ายึดติด
2. ไม่เคย – น้ำตาซึมกันเลย
3. มองทำไม – สนุกซุกซน

อ่างตระพังดาว
บันไดขึ้นอาคาร

ปิดเทอม เหมือนนาฬิกาหยุดหมุน แต่เปิดเทอมนาฬิกาหมุนอีกล่ะ

ชีวิตก็เหมือนนาฬิกา เดินไปเรื่อย ๆ
ชีวิตหยุด นาฬิกาก็หยุด .. แต่ไม่อยากให้หยุดเลย
เรื่องหยุด ๆ ไม่ชอบเลย ไปเรื่องนักศึกษาดีกว่า

สำหรับชีวิตนักศึกษาแล้วไซร้
.. เหมือนมีกลางวัน กับกลางคืน
[กลางวัน]
.. เวลาเดินช้ามาก เหมือนเปิดภาคเรียน
กว่าแต่ละสัปดาห์จะผ่านไป รอสอบกลางภาค รอสอบปลายภาค
รอส่งงานโครงการ ไหนจะรอประกาศผลสอบ
[กลางคืน]
.. เวลาเดินเร็วมาก เหมือนปิดภาคเรียน
หลับยังไม่เต็มอิ่ม สะดุ้งตื่นขึ้นมาเปิดเรียนแล้ว
ยังงัวเงียอยู่เลย สัปดาห์แรกขออีกสัปดาห์ล่ะกัน .. ไรเงี้ย

ปฏิทินการศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น
ปฏิทินการศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น

ไปพบปฏิทินการศึกษา ของมหาวิทยาลัยเนชั่น
ช่วงนี้ปิดภาคเรียนที่ 1/2559 เหมือนกลางคืนเลย
แผล็บเดียวก็จะต้องตื่นแต่ไก่โห่กันแล้ว
การเริ่มต้นกับภาคเรียนที่ 2/2559 กำลังคืบคลานเข้ามา
จะเริ่มในวันจันทร์ที่ 9 ม.ค.2560 นี้แล้วนะ
รายละเอียดที่ blog.nation.ac.th/?p=3959
พบปฏิทินการศึกษาของปีการศึกษา 2559
ในกลุ่ม Nation_University

มีกำหนด หรือ pin ที่สำคัญของ 2/2559 ดังนี้
– วันเปิดภาคเรียน 9 มกราคม 2560
– วันสอบกลางภาค 6 – 10 มีนาคม 2560
– วันสุดท้ายของการเรียน 30 เมษายน 2560
– วันสอบปลายภาค 1 – 8 พฤษภาคม 2560
– วันประกาศผลการเรียน 26 พฤษภาคม 2560

สำหรับแฟ้มกำหนดการในแบบ PDF ดาวน์โหลดมาเรียนรู้ได้จาก
ในกลุ่ม Nation_university
https://www.facebook.com/download/preview/276772365998741
ในกลุ่ม KM+ebook
https://www.facebook.com/download/preview/702417473256051

มหาวิทยาลัยเนชั่น มีเลขทะเบียนที่ปรึกษา คือ 4304

มหาวิทยาลัยเนชั่น มีเลขทะเบียนที่ปรึกษา คือ 4304
จากศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง (Thai Consultant Database Center)

เมื่อค้นจาก
http://www.thaiconsult.pdmo.go.th/ThaiConsult/mainframe/search
คลิ๊กที่ “รายชื่อที่ปรึกษาตามลำดับการจดทะเบียน”
เลือก ประเภทการจดทะเบียน = ในประเทศ
เลือก ประเภทที่ปรึกษา = บริษัทที่ปรึกษา
เลือก ประเภท Rating = B
แล้วกดปุ่ม “แสดงผล”
เลือกไปหน้าที่ 29

Nation university consultant
Nation university consultant

จะพบ ข้อมูลข้างล่างนี้
4304 มหาวิทยาลัยเนชั่น Rating=B สถานะ=สมาชิก
ที่อยู่ 444 ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท อำเภอเมือง ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง 52000

วันที่จดทะเบียน ครั้งแรก 25/03/2559
วันที่หมดอายุ 25/03/2561
โทรศัพท์ 02-3383861

ปล. ทราบข้อมูลจาก อ.ดร.ทันกวินท์   รัฐวัฒก์อังกูร
http://blog.nation.ac.th/?p=3453

การประชุมวิชาการระดับชาติ 2558 การศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ปีการศึกษา 2558 มีการประชุมวิชาการระดับชาติ (Nation University Conference)
ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 http://www.nation.ac.th/ntc2015/
Education for local sustainable development

ระหว่างนั่งฟังเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิพูดคุยภายใต้กรอบ (Theme)
“การศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ดร.พรสันต์ เลิศวิทยาวิวัฒน์  ผู้อำนวยการ โรงเรียนลำปางเทคโนโลยี (แลมป์-เทค)
นายเกรียงเดช สุทธภักติ รักษาการ นายกอบจ.ลำปาง
ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร วิทยากร
มีประเด็นมากมายที่พรั่งพรูออกมาจากผู้ทรงฯ ขอหยิบมาแบ่งปันเพียงส่วนหนึ่ง
– พูดถึงอุปสรรคในการพัฒนาประเทศเรื่องการซื้อเสียง
เล่าเป็นนิทาน ว่า อดีตผู้ว่าทำอ่างเก็บน้ำให้ชาวบ้าน
แล้วลงเลือกตั้ง สว. แต่คนแถวอ่างเลือกท่านเพียง 17 ใน 1000 คน
กลับไปถามก็ได้คำตอบว่า คู่แข่งแจกบัตรเติมเงิน
ก็คงต้องเลิกเล่นการเมืองไป เพราะไม่มีตังไปซื้อเสียง
– ผู้ทรงฯ เคยไปถามเด็กในโรงเรียนว่าอยากได้อะไร
เด็กบอกอยากได้ tablet เป็นความนิยมทางวัตถุ
– ผู้ทรงฯ อีกท่านมองต่างมุมว่า สมัยนี้ใคร ๆ ก็ต้องใช้เทคโนโลยี
ปัจจุบันเราปฏิเสธวัตถุไม่ได้ วัตถุไม่ใช่ปัญหา
แต่ปัญหาอยู่ที่การประยุกต์ใช้
ความต้องการมีวัตถุเทคโนโลยีไว้ใช้ คงไม่ใช่เรื่องผิด
– สิงค์โปร์สนใจเรื่อง community learning คือการเรียนรู้ชุมชน
– ออสเตรเลีย สอนเด็กคิด ให้นำเสนอหน้าชั้นทุกสัปดาห์
– ที่ ม.สงขลา เคยถามว่ามี 100 บาท ใช้ทำอะไรบ้าง
พบว่าใช้เพื่อการศึกษาจริง ๆ เพียง 10 บาท
– จะให้มีนวัตกรรมทางการศึกษา ต้องเบรคกรอบหลักสูตร
จะเรียกว่านวัตกรรมก็จะต้องมีคนนำไปใช้ ต้องคิดนอกกรอบเยอะ
รายงานของนักศึกษาในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องการ ไม่ตอบโจทย์สังคม
เป็นความต้องการของเรา ไม่ใช่ความต้องการของสังคม

ซึ่งพี่วุธ ถ่ายภาพไว้ถึง 78 ภาพที่
https://www.facebook.com/media/set/?set=oa.1055561207843082

ข้อมูลเชิงข่าวโดยพี่นิเวศน์
https://www.facebook.com/groups/nationu/permalink/1055411401191396/
มหาวิทยาลัยเนชั่น ประชุมวิชาการระดับชาติ ปีการศึกษา 2558 อุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ” ภายใต้กรอบ (Theme) เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ให้เป็นเวทีประชุมวิชาการเผยแพร่องค์ความรู้งานวิจัย งานวิชาการของอาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอุดมศึกษาไทยโดยบูรณาการกิจกรรมวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของนักเรียน นักศึกษาเข้าไว้ด้วยกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างฐานกำลังของการพัฒนาอุดมศึกษาไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากล
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเนชั่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น เป็นประธานในพิธีเปิด การประชุมวิชาการระดับชาติ ปีการศึกษา 2558 อุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ” ภายใต้กรอบ (Theme) โดยมี ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย เป็นผู้กล่าวรายงาน มหาวิทยาลัยเนชั่นในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตระหนักถึงพันธกิจสำคัญของความเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาติกับบทบาทการผลิตบัณฑิตคุณภาพอันพึงประสงค์ การสร้างผลงานวิจัยที่เกิดจากความรู้ ความสามารถของนักศึกษา คณาจารย์ ด้วยการนำองค์ความรู้ถ่ายทอดการปฏิบัติสู่สังคม ชุมชนในลักษณะการบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาการอุดมศึกษาไทยให้มีสัมฤทธิผลในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
การประชุมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดยมีคณาจารย์และนักศึกษาที่จำนำเสนอผลงานทางวิชาการในการประชุมครั้งนี้ จำนวน 76 ผลงาน จากหลากหลายสถาบัน แบ่งเป็นการนำเสนอด้วยวาจาที่มีบทความฉบับสมบูรณ์ จำนวน 47 บทความ และนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ จำนวน 29 บทความ โดยบทความดังกล่าวได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ อาทิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเอเซียอาคเนย์เป็นต้น
จากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ การศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ดร.พรสันต์ เลิศวิทยาวิวัฒน์ อุปนายกสมาคมอาชีวเอกชนแห่งประเทศไทย นายเกรียงเดช สุทธภักติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รักษาการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ผู้ดำเนินรายการโดย อ.ดร.สุจิรา หาผล ห้องเรียน AUDI อาคารคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเนชั่น
(ภาคเช้า)ได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการ กลุ่มที่ 1 (อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ได้แก่ ดร.สุจิรา หาผล, ดร.สุดา เนตรสว่าง, ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร, พลตรี ดร.วัลลภ มณีเชษฐา, ดร.ตะวันฉาย มิตรประชา) การนำเสนอผลงานวิชาการ กลุ่มที่ 2 (MPA.) (อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ได้แก่ ว่าที่ รต. ดร.ธนภณ ภู่มาลา, ดร.จุมพล ไชยวงศ์) การนำเสนอผลงานวิชาการ กลุ่มที่ 3 (M.Ed.) (อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ได้แก่ ดร.กาญจนา ภาสุรพันธ์, ผศ.ดร.ศิริพร เสริตานนท์, ดร.จุรีย์ สร้อยเพชร) ห้องเรียน AUDI นำเสนอ Oral = 4 คน ห้องเรียน 1203 นำเสนอ Oral = 4 คน ห้องเรียน 1205
(ภาคบ่าย)ได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการ กลุ่มที่ 1 (อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ได้แก่ ดร.สุจิรา หาผล, ดร.สุดา เนตรสว่าง, ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร, พลตรี ดร.วัลลภ มณีเชษฐา, ดร.ตะวันฉาย มิตรประชา) การนำเสนอผลงานวิชาการ กลุ่มที่ 2 (M.PA.) (อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ได้แก่ ว่าที่ รต. ดร.ธนภณ ภู่มาลา, ดร.จุมพล ไชยวงศ์) การนำเสนอผลงานวิชาการ กลุ่มที่ 3 (M.Ed.) (อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ได้แก่ ดร.กาญจนา ภาสุรพันธ์, ผศ.ดร.ศิริพร เสริตานนท์, ดร.จุรีย์ สร้อยเพชร) ห้องเรียน AUDI นำเสนอโปสเตอร์ 29 คน ห้องเรียน 1203 นำเสนอ Oral = 17 คน ห้องเรียน 1205 นำเสนอ Oral = 19 คน และการมอบเกียรติบัตร ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ปีการศึกษา 2558 อุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ” ภายใต้กรอบ (Theme) ในครั้งนี้

Nation University Conference ปี 2557 มี 2 ครั้ง
คือ 24 – 26 มกราคม 2557 และ 13 – 14 ธันวาคม 2557
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.964692886878176.1073741937.506818005999002

การประชุมวิชาการระดับชาติ (Nation University Conference)
การประชุมวิชาการระดับชาติ (Nation University Conference)

ปีการศึกษา 2558 มี Nation University Conference
ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558
ซึ่งพี่นิเวศน์ ถ่ายภาพไว้ถึง 40 กว่าภาพที่
https://www.facebook.com/media/set/?set=oa.1055411404524729

การประชุมวิชาการระดับชาติ (Nation University Conference)
การประชุมวิชาการระดับชาติ (Nation University Conference)

ทัวร์อาคารเรียน ห้องประชุม และห้องเรียน

15 ม.ค.57 พาชมห้องเรียน และห้องประชุม
บริเวณชั้น 2 ในอาคารบริหารธุรกิจ
รวม 9 ห้อง มีที่นั่งทั้งหมด 643 ที่นั่ง

ประกอบด้วย
1. ห้อง Auditorium = 309 ที่นั่ง
2. ห้อง 1203 = 54 ที่นั่ง
3. ห้อง 1204 = 24 ที่นั่ง
4. ห้อง 1205 = 30 ที่นั่ง
5. ห้อง 1206 = 40 ที่นั่ง
6. ห้อง 1207 = 40 ที่นั่ง
7. ห้อง 1208 = 66 ที่นั่ง
8. ห้อง Lab3 = 50 ที่นั่ง
9. ห้อง 1209 = 30 ที่นั่ง

เป็นข้อมูลสำหรับนักวิชาการ หรือผู้สนใจที่ต้องการ
มาใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดประชุม

P ตัวที่ 5 ของอิชิตัน ในตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม

ผมชอบประโยคของ อ.ดรรชกร  ศรีไพศาล

ดรรชกร ศรีไพศาล - Datchakorn
ดรรชกร ศรีไพศาล – Datchakorn

ในบรรทัดสุดท้ายที่ทิ้งท้ายไว้ว่า “วันใดที่ตัน ภาสกรนที ถอนตัวจากอิชิตันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด” อาจรวมถึงคุณตันขาย อิชิตัน แล้วไปตั้งบริษัทชาใหม่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็จะตามไปดื่มชายี่ห้อใหม่ของคุณตันไงครับ แล้วอิชิตันก็คงจะขาด P ตัวที่ 5 ไป

โดย ดรรชกร ศรีไพศาล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/133OI04
! http://blog.nation.ac.th/?p=2827

หากย้อนประวัติของที่มาการแข่งขันที่เสมือนศึกสายเลือด อันมีที่มาจากต้นทางเดียวกันระหว่างโออิชิ และอิชิตัน

ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเบียร์ช้างเป็นเครื่องหมายการค้าสำคัญ ได้เข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ ของตัน ภาสกรนที ในปี พ.ศ. 2549 ด้วยมูลค่า และข้อเสนอที่ตัน ภาสกรนที ยากที่จะปฏิเสธ

แต่ด้วยวิสัยความเป็นผู้ประกอบการ ประเภท “เถ้าแก่” ที่กล้าได้ กล้าเสีย กอปรกับความคุ้นเคย และเข้าใจในธุรกิจเครื่องดื่มพร้อมดื่มประเภทต่างๆ ในประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการกลับสู่ตลาด พร้อมกับผลิตภัณฑ์ใน Brand ใหม่ ชื่อ อิชิตัน แต่คงกลิ่นอายเดิม ทั้งรสชาติของเครื่องดื่มชาเขียว ที่ใช้สูตรในการปรุงรสชาติมาจากบุคคลคนเดียวกันกับผู้ปรุงรสชาติชาเขียวให้กับโออิชิ และรูปแบบการสร้างปรากฏการณ์ทางการตลาด ด้วย Campaign ที่เป็นสีสันของสังคมแบบโดนใจผู้บริโภค ทั้งการแจกเงิน แจกทอง เป็นต้น

เพียงไม่นานนับจากการหวนเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม ในปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2556 ตัน ภาสกรนที และอิชิตัน สามารถก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของตลาด ด้วยสัดส่วนทางการตลาดร้อยละ 44 ในขณะที่ผู้นำตลาดรายเดิม คือ โออิชิ ตามมาเป็นอันดับสอง สัดส่วนร้อยละ 37 ของตลาด และเป็นที่คาดการณ์ว่าตลาด จะมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 25 ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท

ความสำเร็จของอิชิตัน ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ (Product) หรือรสชาติของชาเขียวก็ยังไม่โดดเด่น เพราะคงยากที่จะหาผู้ใดมาให้ความเห็นเกี่ยวกับรสชาติของชาเขียวพร้อมดื่ม 2 Brand นี้ ว่า Brand ใด จะหวานหรือขมกว่ากัน หรือ Brand ใด จะมีรสชาติถูกปากคนไทยมากกว่ากัน

ปัจจัยด้านราคา (Price) ซึ่งตัน ภาสกรนที เลือกใช้ในการเปิดตัวสู่ตลาดให้แก่อิชิตัน ด้วยราคาที่ถูกกว่าของคู่แข่งขันทุกรายในตลาด นับเป็นส่วนผลักดันสำคัญให้อิชิตัน สามารถเบียดแย่งพื้นที่บนชั้นวาง และตู้แช่เครื่องดื่มในร้านค้าต่างๆ จากคู่แข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น Key Success ของการเข้าสู่ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในระยะเปิดตัวของอิชิตัน จึงหมายถึง ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) ที่ครอบคุลมตลาด และ สอดรับกับ Life Style ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าไทยเบฟฯ ย่อมต้องพยายามปกป้องการกระจายตัวของอิชิตันอย่างเข้มข้น กระทั่ง อาจจะนำกลยุทธ์เดียวกับที่เคยใช้ได้ผลในอดีต มาประยุกต์หรือปรับใช้อีกครั้งในศึกชาเขียวพร้อมดื่มครั้งนี้ ด้วยการใช้สายสัมพันธ์กับร้านค้าโชห่วย กว่า 300,000 แห่ง ทั่วประเทศ

แต่ ตัน ภาสกรนที รู้ดีถึงจุดอ่อนสำคัญของอิชิตันในเวลานั้น ที่อาจจะถูกโออิชิ ของไทยเบฟฯ ใช้ความพร้อมที่เหนือกว่า เบียดแย่งพื้นจนอาจจะไร้ที่ยืนในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มได้ จึงได้หาและสร้างพันธมิตรธุรกิจที่จะขจัดจุดอ่อนด้านช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับอิชิตัน และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างอิชิตัน ของตัน ภาสกรนที กับกลุ่มบุญรอดฯ เจ้าของผลิตภัณฑ์เบียร์สิงห์ ที่มี Dealer กว่า 200 รายในตลาด และพร้อมที่จะเป็นผู้จัดกระจายอิชิตัน สู่ร้านค้าโชห่วยกว่า 100,000 ราย ในขณะที่การเข้าสู่ร้านค้าประเภท Modern Trade ทั่วประเทศ เป็นหน้าที่ของดีทแฮล์ม

การส่งเสริมการตลาด และส่งเสริมการขาย (Promotion) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภค และนักการตลาดทั่วไป สามารถจับกระแสความรุนแรงของการแข่งขันระหว่างโออิชิ และอิชิตันได้อย่างชัดเจน มากกว่าการศึกษาจากปัจจัยทางการตลาดด้านอื่นๆ

ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ทั้งการแจกเงิน แจกทอง แจกรถ หรือแม้แต่การพาไปท่องเที่ยว พร้อม Pocket Money อย่างจุใจ ฯลฯ ที่สำคัญ คือ ทั้งโออิชิ และอิชิตัน ต่างใช้ Promotion อย่างต่อเนื่อง ด้วยความถี่ระดับสูง จนไม่อาจจะนำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไปเปรียบเทียบในตำราการตลาดใดๆ ได้

อย่างไรก็ดี ดูเสมือนว่าการสร้างสรรค์ Campaign การ Promotion ของโออิชิ จะมีจังหวะที่ช้ากว่าอิชิตันอย่างน้อย 1 จังหวะอยู่เสมอ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ในปัจจัยด้านการ Promotion คือ Key Success สำคัญของอิชิตันอย่างแท้จริง ที่ทำให้สามารถก้าวแซงหน้าโออิชิได้อย่างเด่นชัด โดยมีส่วนการถือครองตลาดในปัจจุบันเป็นเครื่องยืนยัน และยังเป็นสิ่งยืนยันให้ทราบถึงความสำคัญของอีกหนึ่งปัจจัย ที่อยู่นอกเหนือจากปัจจัยการตลาดทั้ง 4 ในข้างต้น นั่นคือ P ตัวที่ 5 หรือ People

รูปแบบการบริหารโออิชิ ของไทยเบฟฯ ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารขององค์กรใหญ่ จึงอาจจะขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนงานการตลาด ให้สอดรับกับกลยุทธ์การแข่งขันของคู่แข่งขันในตลาด โดยเฉพาะกับคู่แข่งขัน เช่น ตัน ภาสกรนที ที่มีรูปแบบการบริหารในลักษณะของเถ้าแก่ ที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และที่สำคัญ คือ รู้ ที่จะใช้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นกับบรรดา Celebrity ในสังคม ทั้งอุดม แต้พานิช หรือสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้ช่วยผลักดัน Contents หรือ Story ต่างๆ ที่ตัน ภาสกรนที ได้สร้างขึ้นในแต่ละวาระ ให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วน “โดน” ใจผู้บริโภคคนชั้นกลางเป็นอย่างมาก

การก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มของอิชิตันในวันนี้ เกิดขึ้นจาก P ตัวที่ 5 ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างโออิชิ ของไทยเบฟฯ และอิชิตัน ของตัน ภาสกรนที และน่าคิดต่อไปว่า วันใดที่ตัน ภาสกรนที ถอนตัวจากอิชิตันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เสน่ห์ของอิชิตัน จะยังหลงเหลือไว้ผูกใจผู้บริโภคได้อีกหรือไม่

โดย ดรรชกร ศรีไพศาล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/133OI04
! http://blog.nation.ac.th/?p=2827