tv

ปอกเปลือกทีวีดิจิทัล (TV digital peel)

ปอกเปลือกทีวีดิจิทัล (TV digital peel)
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ เจ้าของวิทยานิพนธ์ Digital TV in Thailand
ที่มา: เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

! http://mediamonitor.in.th/archives/3708
! http://www.sikares.com/
! http://www.nstda.or.th/news/12133-nstda

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ Digital TV
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ Digital TV

หากถามถึงการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับ ระบบโทรทัศน์ใหม่ที่กำลังจะเกิดในประเทศไทยอย่าง ‘ระบบดิจิทัล’ หรือที่เราเรียกกันสั้นว่า ‘ทีวีดิจิทัล’ นั้น คนไทยส่วนมากก็พอจะรับทราบกันในระดับหนึ่ง และเป็นช่วงระยะเวลามาช่วงหนึ่งพอสมควร

ที่สำคัญ ล่าสุด ซึ่งคงถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยคือ มีการยืนยันจาก พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แล้วว่า คนไทยจะได้ชมภาพและฟังเสียงจาก ‘ทีวีดิจิทัล’ เป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม 2556 นี้อย่างแน่นอน

โดยในการประมูลช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 30 ช่อง ในช่วงปี 2556 นี้ จะแบ่งเป็นช่องธุรกิจ 24 ช่อง และช่องสาธารณะ 6 ช่อง จากทั้งหมดที่จัดสรร 12 ช่องในกลุ่มสาธารณะ ส่วนช่องอื่นๆ ที่เหลือรวมทั้งทีวีดิจิทัล ประเภทชุมชน จะมีการจัดสรรใบอนุญาตให้ในปีหน้าฟ้าใหม่ต่อไป รวมเป็น 48 ช่อง

อย่างไรก็ดี ยังมีแง่มุมของความห่วงใยจากนักวิชาการ ที่ต้องเรียกว่า เชี่ยวชาญด้านทีวีดิจิทัลเลยก็ว่าได้ นั่นคือ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ผู้เป็นเจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หัวข้อ Digital TV in Thailand ผู้ที่ได้ดีกรีดอกเตอร์ PhD in International Communication Macquarie University Sydney Australia

โดยระหว่างที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) คงกำลังคร่ำเคร่งให้การประมูลครั้งที่จะเกิดขึ้นผ่านไปด้วยดี นั้น ค่าที่ได้ศึกษาบทเรียนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในแต่ละประเทศอย่างลึกซึ้ง เนชั่นสุดสัปดาห์จึงได้โอกาสเข้าสัมภาษณ์ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ แนวคิด ความคิดเห็น ในเชิงเปรียบเทียบว่า ในการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลทีวี หรือเรียกว่า ‘อนาล็อคสวิทช์ออฟ ดิจิทัลสวิชท์โอเวอร์’ ที่กำลังจะเกิดในประเทศไทย แตกต่างหรือเหมือนหรือมีแนวโน้มที่จะเดินตามรอยทีวีดิจิทัลในต่างประเทศอย่างไร

เบื้องต้นต้องบอกว่า สิ่งที่ได้จาก ดร.สิขเรศ ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญไม่แค่เรื่องทีวีดิจิทัล แต่ยังรวมไปถึงนิวมีเดีย และองค์ความรู้ทางสื่อสารมวลชนในด้านต่างๆ คือการฉายภาพให้เข้าใจกันง่ายๆ พร้อมตั้งคำถามหลายๆ คำถามไปพร้อมๆ กัน เกี่ยวกับภาพของอนาคตทีวีดิจิทัลไทย แบบเป็น Scenario Thinking หรือ กระบวนการคิดและคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคต เนื่องจากได้ศึกษาทีวีดิจิทัลมาแล้วด้วยตัวเองถึงโมเดลของประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ

อนึ่ง ปัจจุบัน ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ มีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการ หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ‘การบริหารจัดการสื่อใหม่’ (Master of Communication Arts Program in New Media Management : NMM) ที่มหาวิทยาลัยเนชั่น อันเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่ใช้กรณีศึกษาจากที่เกิดขึ้นจริงในโลกนิวมีเดียสมัยใหม่มาให้นักศึกษาระดับปริญญาโทได้เรียนรู้การบริหารจัดการให้พัฒนาและอยู่รอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสื่อยุคใหม่ที่รวดเร็ว

ยังมีสาระข้อมูลอีกมากเกี่ยวกับนิวมีเดีย และกระบวนทัศน์ต่างๆ ทางสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสื่อฯ ที่ ดร.สิขเรศ นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ติดตามได้ที่ http://www.sikares-digitalmedia.blogspot.com, https://twitter.com/sikares และ https://www.facebook.com/drsikares อาจารย์ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Digital TV in Thailand ทำไมสนใจเรื่องนี้

ครับ ผมทำทีสิส (Thesis) เล่มนี้ในช่วงปี 2004-2007 โดยประมาณ แล้วด้วยความที่ผมทำงานด้านโปรดักชั่นมาก่อน จนถึงโปรดิวเซอร์ สิ่งที่สนใจอย่างน้อยๆ มันก็ต้องแบ็คกราวด์ของตัวเราเอง แบ็คกราวด์ของเราก็อยู่ในแวดวงโทรทัศน์ ภาพยนตร์มาก่อน เพราะฉะนั้นเลยเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และช่วงนั้นเป็นช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อคไปสู่ดิจิทัลพอดี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือออสเตรเลีย เหมือนบ้านเราตอนนี้ เขาเริ่มมีกระบวนทัศน์ตรงนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ทีนี้ เข้าเนื้อหาก็คือว่า กระบวนทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลบ้านเรา จริงๆ แล้วมีมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ก็คือช่วง 1998-99 ตอนนั้นเป็นช่วงที่เป็นการแข่งกันของเจ้าพ่อเทคโนโลยีของโลก เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นตอนนั้นเป็นเรื่องของการชิงธงความเป็นเจ้าพ่อทางด้านเทคโนโลยีบรอดคาสติ้ง จากยุคอนาล็อคมาสู่ยุคดิจิทัล

เป็นเจ้าพ่อเพื่ออะไร

ก็คือตอนนั้นใครที่จะสามารถโน้มน้าวใจ พูดง่ายๆว่า พวกนี้คือสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ทั้งหมด คำว่าเทคโนโลยีที่จริงก็คือสินค้านั่นเอง คือกระบวนการทุนนิยมนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะลองตีความนัยทางเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ได้ จะเห็นว่ามันเป็นกระบวนการที่เราจะผ่องถ่ายเทคโนโลยีตรงนี้มาอย่างไร ในที่สุดก็รบกันซักพักหนึ่ง แต่ละประเทศก็ใช้ระบบและวิธีคิดของตัวเอง จนมีการเปลี่ยนผ่านจริงๆ ก็ในช่วงปลายปี 1990-2000 เริ่มมีการก่อตัวของนโยบายสาธารณะ เริ่มมีการพูดคุยกันในรัฐสภาของแต่ละที่ เริ่มมีการวางแผนของเรกกูเลเตอร์ หรือว่าองค์กรกำกับดูแลของแต่ละที่

มาสู่ความสนใจเรื่องทีวีดิจิทัลของบ้านเรา

จากงานของผมจะเห็นว่า แต่ละประเทศมีประสบการณ์ในการเปลี่ยนผ่านมา มีทั้งประสบการณ์ความสำเร็จ ประสบการณ์ความล้มเหลว นี่จึงเป็นแรงจูงใจของผม ที่ผมคิดว่า เรื่อง อนาล็อคสวิทช์ออฟ ดิจิทัลสวิทช์โอเวอร์ หรือว่าการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบดิจิทัลมันน่าสนใจนะ มันสนุกและมันจะเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อาจารย์ตั้งหัวข้อในเชิงเปรียบเทียบ จากช่วงเวลาแล้ว ตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีทีวีดิจิทัลให้เปรียบเทียบหรือเปล่า

บ้านเราหลายคนเข้าใจผิดว่า โทรทัศน์ดิจิทัลมันเพิ่งเกิด และมันกำลังจะเกิด ไม่ใช่นะครับ(ยิ้ม) ประเด็นของเราถ้าพูดถึงคำว่าโทรทัศน์ดิจิทัล ผมอยากจะให้นิยามแก่คนอ่านให้ถูกต้องก่อนนิดหนึ่งก็คือว่า อันที่หนึ่งคำว่าโทรทัศน์ดิจิทัล ถ้าจะแบ่งตามแพลตฟอร์มหรือหมายถึงการแบ่งตามวิธีการส่งสัญญาณ ผมคิดว่าเราต้องมาบอกก่อนว่าโทรทัศน์ มันมีการส่งอยู่ 3-4 ลักษณะ หนึ่งส่งผ่านคลื่นความถี่ทางภาคพื้นดิน หรือ Terrestrial Television หรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั่นเอง สองคือผ่านดาวเทียม หรือ Satellite Television อันที่สามก็คือผ่านสายเคเบิล หรือเคเบิลทีวีนั่นเอง และมันยังมีรูปแบบอื่นๆ อีกนะ เช่น ไอพีทีวี หรือ Internet Protocal Television ก็คือโทรทัศน์ที่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แล้วยังมีเรื่องเกี่ยวกับ Second screen เพิ่มเติมเข้ามาอีก นี่คือระบบนิเวศของโทรทัศน์ มันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าจะแบ่งอย่างง่ายๆ 1.แบบใช้คลื่นความถี่ และ 2.แบบไม่ใช้คลื่นความถี่นั่นเอง

สิ่งที่เรากำลังพูดถึง คือ โทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน

ใช่ ถามว่า ทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน เพิ่งเริ่มมีการขยับเขยื้อนมีการปรับเปลี่ยน มีการทำตรงนี้ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ หลายคนรู้ ผู้ใหญ่ในวงการโทรทัศน์เรารู้ดี หลักฐานหนังสือช่วงปี 2543 มีการทดลอง ส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเกิดขึ้น กี่ปีมาแล้วครับ ปีนี้ กสทช. บอกว่าจะทำการส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล คือ 5 ธันวาคม 2556 ก็นับมาได้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เรามีแล้วทีวีดิจิทัล เป็นโมเดลคล้ายกัน การทดลองออกอากาศเหมือนกัน ผู้ประกอบการผู้บริหารสถานีใหญ่ๆ ทั้งหมดทุกท่านทราบอยู่แล้ว จะเข้าร่วมโครงการตรงนี้อยู่แล้ว ถามว่า โทรทัศน์ดิจิทัล ภาคพื้นดินเพิ่งมีในประเทศไทยหรือเปล่า ผมตอบเลยไม่ใช่นะ มีการรับทราบ มีการอิมพลีเมนเตชั่นมาเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เราเป็นประเทศในกลุ่มแรกๆ เสียด้วยซ้ำไป ที่ได้เริ่มสัมผัสกับเทคโนโลยีโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน

ความพร้อมของผู้ประกอบการในช่วงนั้นเป็นอย่างไร

ตอนนั้นผมทำวิทยานิพนธ์ปี 2004 -2007 โดยประมาณ ผมได้มีโอกาสไปสถานีโทรทัศน์ไทยเกือบทั้งหมด ได้มีโอกาสไปดูไปสังเกตการณ์ และได้คุยกับผู้บริหาร ซึ่งต้องขอขอบคุณ ถามว่าพร้อมไหม พร้อมนะครับ มันเหมือนกับการสับสวิทช์นะครับ ยกตัวอย่าง ช่วงนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเทคโนโลยีการผลิตของโทรทัศน์อนาล็อคไปสู่ดิจิทัล ช่วงนั้นสวิทเชอร์ทั้งหมดรออยู่แล้ว เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดแล้ว คือจะบอกว่าเป็นเชนที่ตลก คือสมัยนั้นเราทำงานทั้งหมดเลยด้วยเครื่องตัดต่อ ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ด้วยเวอร์ชวลสตูดิโอ อะไรทุกอย่าง แต่เวลาเราเอาท์พุท เราต้องเอาท์พุทด้วยเทปเบต้าแคมคืออนาล็อค ต้องไปใส่เทปเพลย์เยอร์แล้วส่งสัญญาณออกอากาศอีกทีหนึ่ง ซึ่งในการส่งสัญญาณออกอากาศบางทีเราส่งขึ้นดาวเทียมเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งดาวเทียมสมัยนั้น ไทยคมก็เป็นดิจิทัลเรียบร้อยแล้วเหมือนกัน

แต่บ้านเราไม่เกิดเพราะอะไรคงต้องย้ำกันอีกที

ครับ เพราะเป็นช่วงสุญญากาศของ กสทช. เรามีเต็มที่คือ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ก็ไม่สามารถจะทำ บทบาทอะไรบางอย่างของ กสทช.ได้ เพราะการเปลี่ยนผ่านมันต้องใช้กลไกทางกฎหมาย มันต้องใช้กลไกทางการบังคับบัญชา มันต้องใช้กลไกลทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะมาบอก เอ้าช่อง 3 ส่งเลยนะดิจิทัล ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในงานวิจัยของผมจึงบอกว่าถึงสิ่งเหล่านี้ว่า ที่เราไม่สามารถมีทีวีดิจิทัลได้เพราะเราไม่มีเรกกูเลเตอร์ หรือ กสทช. ที่มีอำนาจเปลี่ยนผ่านเด็ดขาด สิ่งเหล่านั้นคืออุปสรรค

ในต่างประเทศการเปลี่ยนผ่านของเขาติดปัญหาทำนองนี้ไหม

ร้อยแปดเหมือนกัน ยกตัวอย่างในอเมริกา แบบเขามีอีโก้ของตนเองมากในการเปลี่ยนผ่าน ช่วงปี 2002 เขาอยากจะทำ แต่ก็ทำไม่ได้ จนเลื่อนมาเรื่อยๆ จนปี 2009 คิดดูว่าเขาเริ่มพูดกันช่วงต้นปี 1999 กี่ปี ทศวรรษหนึ่งเลยนะ กว่าอเมริกาจะสวิทช์ออฟระบบอนาล็อคได้ เขามีเงินขนาดไหนเขายังใช้เวลา 10 ปีโดยประมาณ เพราะอะไร พูดเลยว่าเป็นแค่จุดเล็กๆ หลายเรื่องที่เราคิดไม่ถึง เช่น เพราะเขาไม่สามารถบริหารจัดการในการแจกคูปองสนับสนุนโทรทัศน์ดิจิทัลได้ และเซตท็อปบ๊อกซ์หรือกล่องรับสัญญาณ ไม่สามารถนำส่ง หรือไม่สามารถแจกจ่ายให้กับประชาชนได้ คือปัญหานี้ ต้องบอกเลยว่ามันคิดได้ไง (หัวเราะ)

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการยอมรับนวัตกรรม มันมีหลายระดับนะ สิ่งที่จูงใจของคนนะ อันที่ 1 ถ้ากลไกราคา ไม่เป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้บริโภค เขาก็ปฏิเสธ เพราะฉะนั้นอเมริกาก็พยายามคิดเรื่องแจกคูปอง อันที่ 2 ถ้าคุณลักษณะหรือคุณภาพของมันเปรียบเทียบไม่แตกต่าง ประชาชนก็ยอมรับนวัตกรรมตรงนี้ไม่ได้ แล้วเราอย่าลืมว่าในเส้นเคิฟของนวัตกรรม มันมีกลุ่มคน 4-5 กลุ่ม จากคนที่รับนวัตกรรมได้เลย จนถึงคนที่ไม่เอาเลย เพราะฉะนั้นที่อเมริกา ปลายปี 2009 ตอนแรกต้องสวิทช์ออฟกุมภาฯ 2009 เลื่อนไปเป็นมิถุนายน 2009 โอบาม่าคนเซ็นกุมขมับเลย เลื่อนเพราะอะไร เพราะในช่วงสุดท้ายเขาทำการสำรวจ มีประชากรอเมริกาประมาณร้อยละเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่สนใจการเปลี่ยนตรงนี้ ถือว่าเยอะนะครับ เพราะอเมริกาประเทศใหญ่ ผลคือบางบ้านเขายังพอใจระบบเดิมอยู่ แล้วก็เรื่องคูปองที่ตกสำรวจอะไรก็แล้วแต่ นี่แค่ประเทศเดียวนะ ทางญี่ปุ่นเขาก็เลื่อนๆ เหมือนกัน (หัวเราะ)

บ้านเราถ้าเอาเรื่องการยอมรับนวัตกรรม

บ้านเรายังไม่มีการสำรวจตัวเลขที่แท้จริงเรื่องการยอมรับนวัตกรรมตรงนี้ ว่าคนยอมรับเทคโนโลยีตรงนี้ขนาดไหน อย่างไร แต่เรามีนะ ยังมีคนที่ไม่ยอมรับ คนไม่สนใจเลย เพราะฉะนั้น ถ้าถามถึงโทรทัศน์ดิจิทัล ถ้ามองง่ายๆ ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเปลี่ยนผ่าน แค่สับสวิทช์ แต่ถ้ามองยากก็คือว่า เราอย่าลืมว่าเรายังมีคนไม่พร้อม ยอมรับนวัตกรรม อย่างอเมริกาคนที่เขาคอนเซอร์เวทีฟก็เยอะและคนที่เขาไม่มีความจำเป็นก็มี เอาง่ายๆ ร้านผัดข้าวข้างตึกเรา ป้าเขาขอเปิดแค่ฟังเสียงล่ะ เพราะฉะนั้นเราต้องยอมนับว่าเรามีประชาชนที่คิดแบบนี้ แล้วเราถูกหล่อหลอมมาด้วยโทรทัศน์ 3 5 7 9 มา 50-60 ปีแล้ว เราก็คิดว่าไม่จำเป็นไม่เป็นไร

ก็ไม่แปลกถ้าบ้านเราจะมีอุปสรรครออยู่

แน่นอน เหมือนกัน อย่างตอนนี้บ้านเราจะพูดคำว่า ‘สงครามแพลตฟอร์ม’ กันพร่ำเพรื่อ ผมจะบอกว่า ถ้าเราไม่เรกกูเลเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมให้ร่วมมือกัน ทั้งภาคอุตสาหกรรมโทรทัศน์ อุตสาหกรรมผู้ผลิต ผมคิดว่าการเปลี่ยนผ่านจะมีอุปสรรค เพราะทุกวันนี้ดู มีวาทกรรม มีแนวโน้ม หรือมีอะไรก็แล้วแต่ มีการขีดเส้นระหว่างโทรทัศน์ดาวเทียม โทรทัศน์เคเบิล และโทรทัศน์ภาคพื้นดิน อันนี้จะเป็นจุดวิกฤติที่เป็นอุปสรรค เลิกพูดเลยคำว่าสงครามแพลตฟอร์ม เลิกพูดได้แล้ว เราคิดว่าเรายิ่งใหญ่จนต้องมาขีดเส้นกันขนาดนั้นเลยเหรอ เพราะอะไร อังกฤษมีประสบการณ์นี้มาแล้วพยายามจะเตะคนออกไปจากวงโคจร คือสมัยที่เขาทำโทรทัศน์ดิจิทัลใหม่ๆ เขาล้มเลย ไอทีวียูเค คือถ้าเราเตะคนออกจากวงการ ลองคิดดูนะ เคเบิลกับแซทเทลไลท์จะเป็นตัวเล่นโทรทัศน์ภาคพื้นดินอย่างมาก เพราะตอนนี้ตัวเลขอยู่ 52 ความเป็นจริงไม่รู้เท่าไหร่ กลุ่มนี้มีพลังนะ ถึงแม้ว่าเราจะวิจารณ์เนื้อหาเขาว่าไร้สาระอะไรก็แล้วแต่ โทรทัศน์ป้าเช็งนะ โทรทัศน์โอนามิ อย่าไปดูถูกลีน่าจังนะ เพราะฉะนั้นเราจะมีวิธีไหนไหม ในการสมานพวกนี้เข้ามาด้วยกัน เพราะในที่สุดแล้วมันคือคอนเวอร์เจนซ์มันต้องรวมกันหมด ไอแพด สมาร์ทโฟนเป็นตัวอย่าง มันคอนเวอร์เจนท์กันหมดเรียบร้อยแล้ว ถ้าพูดคำว่าสงครามแพลตฟอร์ม มันคือแบ่งแยก เราต้องนิยามใหม่ แล้วมาคิดกันว่าเราจะไดรฟ์กันอย่างไรในอีก 15 ปีข้างหน้า ตามระยะเวลาของไลเซนส์ของทีวีจิทัลที่จะประมูลได้กัน

เรามีโอกาสเดินพลาดเหมือนประเทศต่างๆ ที่เล่ามานี้

การศึกษาเปรียบเทียบในสาขาที่ผมเรียนมาหรือว่าอินเตอร์เนชั่นแนลคอมมิวนิเคชั่น มันให้ข้อดีกับผมคือเราเรียนรู้ร่วมกัน คือตอนนี้สังคมไทยวิพากษ์อย่างเดียว ไม่เสนอทางออก ผมก็อยากจะนำเสนอทางออกในส่วนของคนเล็กๆ มุมเล็กๆ เป็นลูกชาวบ้านนี่แหละ ถามว่าผมสนับสนุนไหมทีวีดิจิทัล เต็มที่เลย แต่ผมไม่อยากให้ หนึ่ง-เราเสียเงินเปล่าโดยใช่เหตุ คิดดูนะครับ ราคาประมูลตั้งต้น 20,000 กว่าล้านมันมาจากไหน นอกจากนี้ยังมีค่ามัลติเพล็กซ์ คือค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณ ซึ่งยังไม่เปิดเผยข้อมูลที่มันเป็นทางการ ซึ่งถ้ามันราคาตามที่เราได้ยิน ผมว่าผู้ประกอบการตาย อันที่ 3 ค่าประกอบการ สามขา ไม่ว่าจะภาคไหน แต่ผมเนี่ย รักภาคประชาชนมากๆ แต่ถ้าใครบอกว่า ภาคพาณิชย์ ไม่ต้องพูดถึง ไม่ใช่นะ ภาคพาณิชย์ก็หมายถึงภาคประชาชนด้วย เพราะอะไร คือถ้าเขาเจ๊ง คนเป็นร้อยตกงานไหม

เพราะฉะนั้นง่ายๆ เลย ผมถาม สูตร หรือฟอร์มูล่าในการประมูล เคยเปิดเผยก่อนที่จะประกาศไหม เมืองนอกไม่มีหรอกครับ จะโกรธผมก็ได้นะ เมืองนอกไม่มีหรอกนะที่จะจ้างที่เดียวให้ทำ เขาต้องมีจัดสาธารณะ หมายถึง เรื่องเกี่ยวกับงานวิจัย การตั้งราคาประมูล มันเหมือนกับ 3 จี ผมอ่านงานวิจัยสิบกว่าหน้า ผมเชื่อเลยว่า คณาจารย์ทั้งหมด หวังดีกับประเทศ และมีการนำเสนอออพชั่น มีการนำเสนอข้อมูลอย่างดี แต่อาจมีการหยิบยกแค่พารากราฟเดียว หน้าเดียว เอาไปใช้

ซึ่งโทรทัศน์ดิจิทัลยิ่งกว่าอีก คือผมไม่เคยเห็นเลย ถามว่ามันถึงจุดหนึ่ง มันก็ต้องมีการวิพากษ์กันทั้งนั้น ผมว่ามันทุกฝ่ายด้วยนะ ผู้ประกอบการจะได้ดีเฟนด์ได้ อุ๊ยราคาถูกไป ราคาสูงไป โอเคคุณจะเอาเศรษฐศาสตร์แบบไหนมาจับ ผมเชื่อว่าคนประเทศนี้เก่งเศรษฐศาสตร์และวิศวะที่คำนวณตรงนี้ได้เยอะมาก ซึ่งผมอาจจะแค่ปลายแถว แต่ผมถามว่าราคาตรงนี้มาจากไหน และกลไกอื่นๆ อีก

อาจารย์ศึกษาความล้มเหลวของต่างประเทศมา เห็นอะไรของบ้านเรา

สามส่วนนี้ คุณต้องมองซีนารีโออีก 15 ปี ของประเทศนี้ ถามว่ามันจะล้มไหม ผู้ประกอบการ กิจการ ผมเชื่อว่ามันจะมีล้ม มีลุกไหม มี ถามว่าอาจารย์ไปยุ่งอะไรกับเขา อาจารย์มาเข้าข้างเชิงพาณิชย์ไปไหม ผมก็คิดว่าโอย ถ้าอย่างนั้นไม่ถูกแล้ว ผมเป็นคนเดียวด้วยซ้ำไปในเวลานี้ ที่ขออนุญาตเลยนะ โทรทัศน์ชุมชน โทรทัศน์ภาคประชาชน ยังไม่มีใครพูดถึงเลย อย่างช่องสาธารณะที่ทำอยู่ มันก็ลับลวงพรางกันอยู่หรือเปล่า เพราะกำลังเงี้ยวๆๆ อยู่ แต่อีก 12 ช่องของประชาชนไม่มีใครพูดถึงเลย เหมือนกับประชาชนถูดเตะออกหมด เรามัวแต่เถียงกันเรื่องช่องสาธารณะ ช่องพาณิชย์ แต่ช่องบริการชุมชนล่ะ ผมกราบเรียน วิงวอนเถอะใครก็ได้ช่วยพูดเรื่องนี้ที ช่วยนำมาเป็นประเด็นสาธารณะในสังคมที
คำถาม คือ มันจะล้มได้ไหม อังกฤษล้มมาแล้ว สเปนล้มมาแล้ว เพราะเชื่อมั่นในตัวเองตัดสินใจผิด ฝรั่งเศสไปดูงานวิจัยของไทยพาณิชย์ 5-6 ปี กว่าผู้ประกอบการจะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ เหมือนกัน มันจะเป็นเคิฟเหวเลยครับ กว่าจะขึ้นมา บางประเทศเป็นรูปตัววี บางประเทศเป็นรูปตัวยู เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่ได้มาพูดเพื่อไซโค ถามว่าสิขเรศ คุณแหม ไม่ใช่ครับ ผมกำลังถามว่าพวกเรามาย้อนคิดกันอีกทีไหม ในส่วนที่เรายังไม่ได้กำหนดหรือประกาศอะไรก็แล้วแต่ มาช่วยกัน ได้ไหม

แต่ทุกอย่างไม่ได้มาฟรีๆ

ใช่ แต่ถามว่า 20,000 ล้านราคาตั้งต้น มาจากไหน หรือจะเอามาช่วยเรื่องเซตท็อปบ๊อกซ์ ถามว่ามันเป็นโมเดลอย่างนั้นใช่ไหม ถามประชาชนหรือยังว่าเขาอยากได้เซตท็อปบ็อกซ์หรือเปล่า มันมีวิธีอื่นไหมในการรับสัญญาณ โมเดลการแจกจ่ายทำไมถึงใช้โมเดลอเมริกา ยังมีโมเดลอังกฤษอีกนะ มันไม่มีเวทีสาธารณะให้นักวิชาการ หรือคนที่มีประสบการณ์อยู่ที่ประเทศนั้น หรือที่เขาผ่านประสบการณ์มาได้รู้ ว่ามันมีข้อดี-ข้อเสียอะไร ผมไม่เคยได้ยิน มีแต่มติออกมา มติออก มติออก ง่ายๆ เลยประชาพิจารณ์ ผมไปมาหลายที่ ตอนเช้าจบ ตอนบ่ายจบ มีคนพรีเซ้นต์ เปเปอร์ มีเวที เปิดไมค์แป๊บหนึ่ง ครึ่งวัน หรือเกือบวัน ผมว่าอันนี้ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ ไม่ใช่การรับฟัง

สรุปง่ายๆ คนไทยยังไม่รู้อะไรอีกเยอะ ที่ควรรับรู้ นอกเหนือจากฉันจะมีทีวีดูชัดขึ้น จะได้กล่องแจกฟรี

เอาภาพกว้างนะ ต่างประเทศที่ผมศึกษามา เขาจะเน้นเลยว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ประสบความสำเร็จคืออะไร สิ่งหนึ่งเลยคือ การรณรงค์โครงการสื่อสารให้ภาคประชาชนได้รับทราบ ที่ไม่ใช่งานเปิดผ้าคลุมป้ายอย่างเดียว หรืองานตัดริบบิ้น หรืองานจัดโชว์ที่ศูนย์การประชุมใหญ่ๆ อย่างเดียว มันต้องมีกลยุทธ์ในเชิงรุก ที่ กสทช. บางทีรับงานอะไรจนล้นภาระจนเกินไป ตัวเองน่าจะทำเรื่องการวางกรอบนโยบายให้ดีและมีเหตุผลที่สุด เป็นผู้คุมกฎที่ดีที่สุด เมืองนอกทุกที่ครับ เขาใช้หน่วยงานภาคเอกชน เขาให้เอกชนเป็นตัวไดรฟ์ เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการการรณรงค์ รัฐก็เปิดทางไฟเขียว แล้วก็ดึงภาคอุตสาหกรรมมา เช่น ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ กับผู้ประกอบการของภาคอุตสาหกรรมเครื่องรับโทรทัศน์ ตั้งเป็นกลุ่มขับเคลื่อนโทรทัศน์ดิจิทัล และมีหน่วยงานที่คุ้มครองสิทธิประชาชน คุ้มครองผู้บริโภค แล้วจัดตั้งหน่วยงานแบบ ดิจิทัลยูเค คือเขามีกันแล้วทุกประเทศ ออสเตรเลียก็มี อเมริกาก็มี เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนพลวัตของโทรทัศน์ดิจิทัลภาคประชาชน เพื่อทำแคมเปญ เดินสาย โรดโชว์ ให้ข้อมูล คอลเซ็นเตอร์ วิทยากร ทุกอย่าง

ยังมีเรื่องเซตท็อปบ๊อกซ์ เพราะตอนนี้ มีหากกล่องหลากสีมาก เซตท็อปบ๊อกซ์มาจากไหน เสิ่นเจิ้นอินดัสตรีไหม มันคืออะไร มันคือเงินทองรั่วไหลไป ผมไม่เชื่อหรอกว่าประเทศไทยผลิตไม่ได้ ทำไมภาครัฐไม่เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเรา การที่เราอยู่ดีๆ ให้ล็อตใหญ่ บิ๊กล็อต สั่งมาจากเมืองจีน อันนี้ผมคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญนะครับ สิทธิของนักวิชาการ สามารถพูดได้ไม่ต้องมาฟ้องนะครับ คืออะไร เราพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเราสิ เรารู้อยู่แล้ว แต่เรามีวิธีไหนไหมที่เราจะเอาเงินมาผ่องถ่ายตรงนี้ สัก 30% เป็นค่าแรงงานของคนในประเทศ 30% ของหมื่นล้านได้เท่าไหร่

ยังมีอะไรจะฝากถึง กสทช. อีกไหม

ที่จะฝากนะ กสทช. ไปเอาโมเดลของอเมริกาที่สิบปีที่แล้ว ซึ่งมันไม่เข้ากับสังคม ตอนนี้ถ้าจะมองซีนาริโอแบบหยาบๆ นะ โมเดลมันมีอยู่ 4 กลุ่มเรียบร้อยแล้ว (ทีวีภาคพื้นดิน ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ไอพีทีวี ) แล้วยังมีจอที่สองอีก ถ้าคุณจะเอาโมเดล 48 ช่อง แบบสมัยโบราณ ยกตัวอย่าง ‘ฮอร์โมนส์’ผมถามเด็กที่ผมสอนเลยว่าดูยังไง เขาบอกแนวมาก เขาบอกว่ารีโมทหาไม่เจอแล้ว แต่ดูย้อนหลังผ่านยูทูบ ถามว่าดูบนไหน ดูบนจอที่สอง คือ แทบเล็ต สมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจกันใหม่เรื่อง ภูมิสถาปัตย์ หรือระบบนิเวศของสื่อมันเปลี่ยนไปแล้ว ผมยังไม่รู้เลยว่า ประมูลมาเพื่ออะไร แต่ถามผมว่าทีวีดิจิทัล ดีไหม ผมสนับสนุนทำเลย แต่ทำยังไงล่ะที่บอก ทำให้ดี ถ้าสถานีโทรทัศน์เราล้มรายหนึ่ง เกิดอะไรขึ้น เอาง่ายๆ ของเนชั่น พนักงานกี่คน เป็นพันไหม (ยิ้ม) ส่งเงินให้พ่อ-แม่กี่คน เลี้ยงลูกกี่คน แล้วมันไม่ใช่แต่สถานีอย่างเดียว ยังมี เอเยนซี โปรดักชั่นเฮาส์ ทั้งหมดนี้ แค่ไม่จ่ายเงินเดือนๆ เดียว พังทั้งระบบ นี่ล่อไป 48 ช่อง ตัวอย่างมันมีอยู่แล้ว ไอทีวีของอังกฤษล้ม เป็นหมื่นๆ ล้านเลยเงินตรงนี้

อีกกลุ่มคือ โทรทัศน์ภาคประชาชน หรือชุมชนที่อาจารย์บอกก็ห่วง กสทช. จะทำยังไง

ผมคิดว่าคนที่จะต้องเข้ามาช่วยจริงๆ เลยนะ ผมแหย่จริงๆ เลยนะ คือแทนที่ กสทช.สุภิญญา จะมาแง้ว ๆ ๆ อยู่ตลอดเวลานะ ถ้าเป็นผม ผมจะเดินเกมตรงนี้ให้ชัด เพราะตอนนี้ถ้าดูแล้ว กสทช. สุภิญญา กับ หมอประวิทย์นะ (สุภิญญากลางณรงค์ กรรมการกสทช และนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค) แพ้ทุกรูป โหวต ก็ 8 ต่อ 2 หรือ 4 ต่อ 1 หรือ 3 ต่อ 2 ยังไงคุณก็แพ้ ถ้าเอาประเด็นเรื่องทีวีดิจิทัล ขอกลับมาตั้งหลัก ผมส่งสัญญาณเลยนะ รีบกลับมาตั้งหลักเลย มาช่วยกันดูโทรทัศน์บริการชุมชนซะตั้งแต่วันนี้เลย ช่วยโพรเทค ช่วยมาสร้างระบบอย่างที่บอก มันต้องมีเฟรมมิ่งก่อนนะ มันต้องมีการพัฒนาก่อน

แต่ยังไงเสียเดือนธันวาคมนี้เราจะได้เห็นทีวีดิจิทัล แน่ๆ ใช่ไหม

ผมเชื่อว่าในความหมายของ กสทช. ที่เขาอยากจะให้เกิด มันเกิดได้ มันแพร่ภาพได้แน่นอน ในเชิงเทคนิค ดีเดย์วันนั้นก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ฝากง่ายๆ เลย ว่า ผมยังไม่เคยเห็น สวิทช์โอเวอร์โพลิซี หรือแผนการเปลี่ยนผ่าน จริงๆ ผมยังไม่เห็นเลยว่าเฟสต่างๆ ที่ทำมันเป็นยังไง มีอะไรบ้าง ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมอยากจะเห็นโรดแมพจริงๆ กลวิธี มันมีเยอะหลายโมเดลในการสวิทช์ออฟอนาล็อค คุณช่วยนำเสนอสู่สาธารณะนิดหนึ่งสิ เอาโมเดลของคุณแหละ และตีโจทย์อื่นๆ เช่น เซตท็อปบอกซ์ ทำไมเอาโมเดลอเมริกา คุณถอดองค์ความรู้ของโมเดลอเมริกามามากน้อยขนาดไหน ยังมีเรื่องอื่นอีกนะที่ไม่ได้พูด ถามว่าธันวานี้ไปได้ไหม ไปได้ แต่ไปได้อย่างประเทศได้ประโยชน์หรือเปล่า ผมไม่ค่อยแน่ใจ สุดท้ายขีดเส้นใต้ ผมสนับสนุนทีวีดิจิทัลร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจทุกซีนาริโอว่าทำไมมันต้องเปลี่ยน แต่ไส้กลางที่ต้องนำมาวิพากษ์กันสู่สาธารณะ คือประโยชน์ของชาติ

ปอกเปลือกทีวีดิจิทัล โดย ดร.สิขเรศ ศิรากานต์
ปอกเปลือกทีวีดิจิทัล โดย ดร.สิขเรศ ศิรากานต์

เกณฑ์คัดเลือกช่องทีวีสาธารณะในระบบดิจิทัล

วนิดา วินิจจะกูล
วนิดา วินิจจะกูล

เป็นข่าวกันไปพอสมควรแล้ว สำหรับ ทีวีสาธารณะในระบบดิจิทัล ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.

เปิดเผยว่าจะมีทั้งหมด 12 ช่อง โดยกำหนดค่อนข้างแน่นอนแล้ว 6 ช่อง โดย 4 ช่องแรกเป็นช่องที่เราคุ้นเคยกันอยู่ คือ 5, 7,11 และ ไทยพีบีเอส (ภายใต้เงื่อนไขต้องคืนคลื่นอนาล็อกก่อน) ส่วนอีก 2 สำหรับช่องเพื่อความปลอดภัย และช่องเพื่อความมั่นคง ว่ากันว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.กลาโหม

! http://bit.ly/10DG6aJ
ทั้ง 6 ช่องนี้ สมควรได้รับจัดสรรคลื่นโดยอัตโนมัติหรือไม่ เป็นประเด็นที่ยังต้องถามหาความชอบธรรม

ส่วนที่เหลืออีก 6 ช่อง ที่ กสทช. จะพิจารณาให้องค์กรหรือหน่วยงานใดนั้น ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์กติกาการคัดเลือกแต่อย่างใด แต่สุภิญญา กลางณรงค์ เสียงข้างน้อยอีกเช่นเคย เห็นว่า กสทช. ควรมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เพื่อความโปร่งใส กรรมการตัดสินจะได้มีหลักยึด ดังนั้น การจัดเวทีระดมสมองเรื่อง “เกณฑ์การคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ” หรือรู้จักกันในชื่อ “บิวตี้คอนเทสต์” ที่ กสทช. สุภิญญา ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง พยายามทำให้การตัดสินใจของ กสทช. ต่อเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่สามารถนำไปหามูลค่าได้มหาศาล มีความโปร่งใส สังคมตรวจสอบได้

เกณฑ์การคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ในกิจการสาธารณะ ที่ทีมงาน กสทช.สุภิญญา จัดทำเป็นร่างมาให้เวทีระดมความคิดเห็นนั้น ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ 2. การผลิตรายการและที่มาของเนื้อหารายการ 3. ความทั่วถึง 4. แหล่งเงินทุนและการใช้เงินทุน 5.กลไกการติดตามตรวจสอบภายในองค์กร และ 6.การมีส่วนร่วมและการคุ้มครองผู้บริโภค

ในเวทีได้อภิปรายและเสนอข้อคิดเห็นมากมาย แต่โดยส่วนตัวนั้น สนใจมากๆ ใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ เรื่องเกี่ยวกับศักยภาพหน่วยงานที่จะเสนอตัว ซึ่งเวทีเสนอในประเด็นนี้ค่อนข้างเยอะ

ประเด็นที่สอง คือ เรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์” ที่ดูเหมือนจะไม่มีตัวอักษรใดในร่างที่สื่อถึงเรื่องนี้เลย ในตอนท้าย ตัวเองจึงได้เสนอความเห็นไปว่า…

คิดว่าการกำหนดเกณฑ์เหล่านี้ไม่ควรเป็นไปเพื่อการหาทีวีสาธารณะที่ดีที่สุด แต่ต้องหาทีวีสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ฉะนั้นการเข้าถึงก็ดี เกณฑ์คุณภาพต่างๆ ที่พูดถึงก็ดี รู้สึกว่ากำลังจะได้ช่องที่ลงทุนไปแล้วจะไม่มีคนดูมากนัก อยากให้ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะถ่วงดุลให้ได้ระหว่าง 3 มุมนี้ คือ

หนึ่ง ทำอย่างไรให้ผู้เสนอตัว มีทุนที่จะยืนระยะได้ หมายความว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนอยากเข้ามาชมรายการคุณภาพ คุ้มค่ากับการเผาเวลาไปนาทีละ 2 แสน หรือวันละ 5 ล้าน (ข้อมูลจากเวที) มันมหาศาลนะ ฉะนั้นถ้าให้เขามาลงทุนแล้วบอกไม่ให้หากำไร ไม่ให้หารายได้ หรือหาได้เท่าที่จำเป็น แล้วใครจะเข้ามาเพราะว่ามันไม่น่าจูงใจเลย ฉะนั้น ทำอย่างไรให้ผู้เสนอมีรายได้พอที่จะยืนระยะในการพัฒนารายการและสถานีให้ดีขึ้นในอนาคต ซึ่ง กสทช.อาจจะดูเรื่องการให้ทุนอุดหนุนบางส่วน หรือให้มีโฆษณาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผลิตรายการที่ด้อยคุณภาพหรือเรียกแต่เรตติ้ง

สอง ที่ต้องให้น้ำหนักด้วย คือ “คุณค่าต่อสังคม” ทั้งการเป็น “พลเมือง” หรือการให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้ามาใช้หรือเกิดประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ประเด็นนี้พูดกันค่อนข้างเยอะแล้ว

สาม ที่ไม่ค่อยมีคนพูดกัน แต่คิดว่าต้องให้ความสำคัญมากที่สุดอีกมุมหนึ่งด้วย คือ เรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ ที่รายการออกมาแล้วดูสนุก หรือทำออกมาแล้วมีคนอยากดู จะเรียกว่าเรตติ้งก็ได้ พูดถึงเรตติ้งอาจจะดูเป็นเชิงลบ แต่ความคิดสร้างสรรค์อยู่ในเกณฑ์ข้อไหน เพราะร่างที่ทีมงาน กสทช.สุภิญญา นำเสนอมา ยังไม่เห็นประเด็นนี้

ตอนนี้ประชาชนเลือกดูทีละรายการแล้ว เขาดูยูทูป เขาไม่ดูทั้งสถานี ไม่ดูทั้ง 24 ชั่วโมง ไม่ดูตามเวลาที่ออกอากาศ แต่เข้ามาเลือกดูภายหลังได้ ในรายการที่เขาชอบ ฉะนั้น การที่เขาจะเข้ามาดูช่องทีวีสาธารณะ นั่นแปลว่ารายการต้องโดนเขาจริงๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องให้น้ำหนักให้ได้ระหว่าง 3 มุมที่ว่านี้ คือ 1.ให้มีเงินทุนที่จะยืนระยะได้จริงและมีแผนเลี้ยงตัวเองได้จากแหล่งไหนก็ตาม 2.คุณค่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่แค่เกิดช่องละครหรือรายการที่มีอยู่แล้วในกระแสหลัก และ 3.เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้คนเข้ามาชมรายการมีคุณภาพอย่างที่ตั้งใจกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะทำให้เกิดประสิทธิภาพจริง ๆ ของการลงทุนและการใช้ทรัพยากรสาธารณะ

สุดท้ายที่ประชุมสรุปเกณฑ์ออกมาได้ 5 ด้าน คือ ด้านที่เกี่ยวกับองค์กร ด้านเทคนิค ด้านเนื้อหา ด้านการเงิน และด้านธรรมาภิบาล ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรติดตามได้จากผลการประชุมของบอร์ด กสทช.เร็ว ๆ นี้

เขียนโดย วนิดา วินิจจะกูล ในกรุงเทพธุรกิจ

! http://blog.nation.ac.th/?p=2633