สกอ.แจกทุนเด็กใต้

7 พฤษภาคม 2556

ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยถึง โครงการทุนอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด/ในกำกับ สกอ. ให้ทุนจำนวน 250 ทุน โดยให้แก่เด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.นักเรียนที่ไม่สามารถสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาได้หรือยังไม่มีที่เรียน 125 ทุน และ กลุ่มที่

2. นักเรียนที่สอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาได้แล้วในสาขาที่ขาดแคลน หรือสาขาที่เป็นความต้องการของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 125 ทุน โดยทุนที่ให้จะสนับสนุนค่าครองชีพตามระยะเวลาของการศึกษาของหลักสูตรประมาณคนละ 4,000 บาท ต่อเดือนระยะเวลา 10 เดือนต่อปีการศึกษา คือ เดือน มิ.ย. ถึงเดือน มี.ค.

ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า การรับสมัครจะรับสมัคร กลุ่มที่ 1 ก่อนโดยสมัครด้วยตนเอง วันที่ 10-12 พ.ค. 56 เวลา 08.30-15.30 น. ณ อาคารเรียนรวม (อาคาร 19) ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ วันที่ 23 พ.ค. 56 สอบสัมภาษณ์/รายงานตัวที่สถาบัน วันที่ 29-30 พ.ค.56 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษาและได้รับทุนค่าครองชีพ ภายในเดือนมิ.ย. 2556 ทางเว็บไซต์ www.mua.go.th ผู้สนใจดูรายละเอียดโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.mua.go.th หรือ สอบถามโทร. 0-2610-5419 สำหรับกลุ่มที่ 2 จะรับสมัครประมาณภาคการศึกษาที่ 2/2556.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32619&Key=hotnews

เชิดชูครูผู้เสียสละรับรางวัล’เจ้าฟ้าฯ’

7 พฤษภาคม 2556

ยึดมั่นตามรอยพระปณิธาน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นถึงความเสียสละของวิชาชีพครู โครง การพระเมตตาสมเด็จย่า ภายใต้ทุนการกุศลสมเด็จย่า ได้จัดพิธีมอบรางวัล “ครูเจ้าฟ้ากรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ ประจำปี 2556” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 5 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่ครูดีเด่นผู้เสียสละปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร พร้อมเผยแพร่ผลงาน คุณความดีในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาธารณชน และในปีนี้ถือเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันประสูติ 90 พรรษา ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะ “ครูของแผ่นดิน”

ภายในงานพิธีมอบรางวัลอันทรงเกียรติ เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (6 พ.ค.) ที่ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารมูลนิธิ พอ. สว. กรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับเกียรติจาก นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ประธานอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพร้อมกล่าวให้ข้อคิดแก่ครูผู้ได้รับรางวัลฯ ว่า ปัจจุบันโลกของเรามีทั้งคนดีและคนเลวเพิ่มขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้มีคนดีมากกว่าคนเลว ครูเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการสร้างคนดี ดังนั้นครูต้องปฏิบัติงานด้วยจิตอาสาอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อสร้างคนดีสู่สังคม

การคัดเลือกครูดีเด่นประจำปีนี้ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกจาก 3 หน่วยงาน เข้ารับรางวัลหน่วยงานละ 3 รางวัล คือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ นายอนุศักดิ์ ฮงประยูร ครูศิลปะ ร.ร.บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย, จ.ส.ท.สัญญา สอนบุญทอง ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.บ้านห้วยเฮี๊ยะ ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอนและ นายสุเทพ เท่งประกิจ ครูชำนาญการ ร.ร.บ้านคลองน้ำใส ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา, สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้แก่ ด.ต.สุมน ขันติพิทักษ์กุล ครูใหญ่ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตุน ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน, ร.ต.อ.เกียรติศักดิ์ จิตวิจารณ์ ครูใหญ่ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนสังวาลย์วิท 8 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และ ส.ต.อ. วิโรจน์ ชูแหละ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้แก่ นายชัยณรงค์ คำอ้าย ครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านห้วยเฮียะ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, นายวัชรินทร์ แก้วมาลา ครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่ระมีดหลวง ต.อมก๋อย อ.อม ก๋อย จ.เชียงใหม่ และ นางสากีน๊ะ บิง ดอเล๊าะ ครูการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อ.รามัน สำนักงาน กศน. จ.ยะลาอ.รามัน สำนักงาน กศน. จ.ยะลา
หนึ่งในครูที่ได้รับรางวัลจากสังกัดสำนักงาน สพฐ. นายอนุศักดิ์ ฮงประยูร เผยว่า ตลอดระยะเวลา 24 ปี ของวิชาชีพครู ยึดมั่นพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ที่ว่า “เราช่วยเขา เพื่อให้เขาช่วยตัวเอง” โดยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาผสมผสานกับความรู้ด้านศิลปะ “เส้นสาย ลายศิลป์” ที่ตัวเองมีความชำนาญถ่ายทอดให้แก่เด็ก เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ขณะที่ ส.ต.อ.วิโรจน์ ชูแหละ ครูจากสังกัด ตชด. ที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ความไม่สงบ บอกว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสงสารเด็ก ๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากขาดแคลนครูจึงเข้ามาเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือ แม้เป็นระยะเวลาไม่นานในการทำหน้าที่ครูมีบางครั้งที่ท้อบ้าง แต่ไม่เคยคิดถอย ยิ่งได้รับรางวัลนี้ถือเป็นกำลังใจในการทำงานอย่างมาก เช่นเดียวกับ นางสากีน๊ะ บิงดอเล๊าะ ครูจากสำนักงาน กศน. ที่ปฏิบัติงานอย่างไม่ย่อท้อในพื้นที่ความไม่สงบ เผยความรู้สึกว่า ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับรางวัลนี้ ถือเป็นเกียรติแก่ชีวิตและครอบครัว ตัวเองจะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะพยายามเรียนรู้ แก้ไข และใช้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เป็นบทเรียนของชีวิต.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32618&Key=hotnews

วัดผลทำดีเลื่อนวิทยฐานะ

7 พฤษภาคม 2556

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ประชุมหารือถึงแผนการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในด้านวิชาการและคุณธรรมแบบบูรณาการ โดยจะส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาคุณธรรมนำวิชาการมากขึ้น ซึ่งผู้บริหาร และครูทุกคนจะต้องได้รับการอบรมคุณธรรม และจริยธรรม ผ่านภาคปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย สพฐ.ลงนามความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในโครงการเด็กดีมีที่เรียนแล้ว เชื่อว่าในปีการศึกษา 2556 จะมียอดโควตาเด็กที่ได้รับโอกาสโดยใช้คะแนนความประพฤติดีเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ยังมีข้อเสนอว่าอยากให้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูที่ได้รับการอบรมคุณธรรม จริยธรรมด้วย โดยขอให้กำหนดเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร หรือการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะต่างๆ ให้ประเมินด้านความดีเข้าไปด้วย สพฐ.กำลังพิจารณาการประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร ทั้งผู้บริหารโรงเรียน เขตพื้นที่ ครู จะเพิ่มองค์ประกอบความดีเข้าไปอีก ซึ่งจากเดิมที่ประเมินไว้ 3 ด้าน คือ ด้านวินัย ผลการปฏิบัติงาน และผลงานวิชาการ ซึ่งหลักฐานที่จะใช้ประเมินความดีจะต้องมาจากภาคปฏิบัติ การฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม สพฐ.จะจัดทำเป็นข้อเสนอ เข้าสู่ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาต่อไป

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

อาชีวะฝึกอบรมอาชีพช่วยคนด้อยโอกาส

7 พฤษภาคม 2556

โพสต์ทูเดย์ อาชีวะเล็งใช้ศูนย์ฝึกอาชีพช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาส-ผู้สูงอายุเตรียมรับเออีซี

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)กล่าวว่า สอศ.มีโครงการที่จะจัดโครงการฝึกอบรมอาชีพ โดยจะใช้ศูนย์อบรมอาชีพในสถานศึกษาของ สอศ. จำนวน 121 ศูนย์ทั่วประเทศเปิดอบรมให้บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สตรี และผู้สูงวัยที่ต้องการเรียนมาใช้เป็นสถานที่อบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ สอศ.ยังจะประสานกับสถานประกอบการ เพื่อดึงเด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) และต้องการทำงานแต่ติดปัญหากฎหมายแรงงาน ให้สามารถทำงานควบคู่กับการเรียนอาชีวะได้
ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาล ที่ให้วิทยาลัยที่มีศักยภาพโดดเด่นเฉพาะด้าน เปิดอบรมอาชีพแก่ประชาชนเช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เด่นเรื่องอาหารนานาชาติก็เปิดอบรมด้านอาหาร โดยแต่ละหลักสูตรใช้เวลาอบรมไม่น้อยกว่า 75 ชั่วโมง และการันตีว่านำไปประกอบอาชีพได้แน่

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพของสอศ.จะไม่ซ้ำซ้อนกับการฝึกอบรมอาชีพของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)เพราะ สอศ.มีจุดต่างในเรื่องความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือในการอบรมอาชีพเฉพาะด้าน เช่น สาขาช่างต่างๆ

นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า นอกจากการอบรมสร้างอาชีพแก่ผู้สูงอายุแล้ว สอศ.ได้พยายามผลิตกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ โดยเปิดสอนหลักสูตรการดูแลเด็กและผู้สูงอายุระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อรองรับความต้องการของอาเซียน หลังมีแนวโน้มเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะคนมองว่าอาชีพเมื่อเรียนจบไปยังไม่มั่นคงทั้งที่อาชีพบริการผู้สูงอายุในปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอาเซียนมาก

สำหรับปีการศึกษา 2555 มีสถานศึกษาเปิดสอน 4 แห่ง คือ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) เชียงราย มีผู้เรียน 17 คน วก.พละ 8 คน วิทยาลัยเทคนิค (วท.)เดชอุดม 3 คน และ วท.สุวรรณภูมิ 1 คนซึ่ง สอศ.ได้เตรียมจับมือกับผู้ประกอบการด้านนี้ต่อไป n

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32616&Key=hotnews

เผยเกษตรกร…แห่เทียบระดับกับ กศน.

7 พฤษภาคม 2556

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2556 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2556 ส่งผลให้นโยบายจบ ม.6 ภายใน 8 เดือนสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มตัวแล้ว เพราะทำให้การประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานมี 2 วิธี คือ 1. การประเมินระดับการศึกษา ซึ่งเป็นการประเมินความรู้ ความคิด โดยการสอบ สามารถประเมินได้ทีละระดับ และ 2. การประเมินเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการประเมินประสบการณ์ โดยกรรมการ 5 คน หรือ จบ ม.6 ใน 8 เดือน เนื่องจากการประเมินวิธีนี้สามารถประเมินข้ามระดับได้ และผู้ที่ผ่านการประเมินประสบการณ์จะสามารถสะสมผลการประเมินส่วนนี้ไว้ได้เป็นเวลา 5 ปี ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสจบได้ภายใน 8 เดือน อย่างไรก็ตามเมื่อมีวิธีการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2 วิธี ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ส่วนใครควรจะเข้ารับการประเมินด้วยระบบใดนั้นต้องเป็นหน้าที่ของศูนย์เทียบระดับที่จะต้องให้คำแนะนำหรือแนะแนวการศึกษาให้

รองเลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการประเมินเทียบระดับปีการศึกษาที่ 2/2555 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้ารับการประเมิน 6,536 คน ใน 356 สถานศึกษา พบว่า มีผู้ผ่านการประเมิน 4,819 คน หรือ ร้อยละ 73.73 เมื่อจำแนกตามระดับพบว่า ระดับประถม มีผู้สมัคร 1,049 คน ผ่าน 863 คน ม.ต้น สมัคร 2,397 คน ผ่าน 1,738 คน และ ม.ปลาย สมัคร 3,090 คน ผ่าน 2,432 คน ส่วนอายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้ารับการประเมินอยู่ที่ 40 ปีขึ้นไป สำหรับอาชีพที่เข้ารับการประเมินมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เกษตรกร ค้าขาย และ รับจ้าง

“ที่ผ่านมาผู้ที่เข้ารับการประเมินเทียบระดับ กับ กศน. จะมีทั้งที่นำผลการเทียบไปใช้ในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องการคะแนนทดสอบความถนัดทั่วไป หรือแกต และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือแพต ขณะที่จำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ใช้เรียนต่อ แต่ก็เป็นการสร้างความภาคภูมิใจว่าสามารถเรียนจบ ม.ปลาย อย่างไรก็ตามคงต้องมีการทำวิจัย เพื่อดูว่ามีการนำผลการเทียบระดับไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง” ดร.ชัยยศ กล่าว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32615&Key=hotnews

หวั่นเด็กใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องแนะเร่งปลูกฝังการใช้หลักภาษาที่ถูกต้อง

7 พฤษภาคม 2556

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ คณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวถึง การใช้ภาษาของวัยรุ่นในปัจจุบัน ว่า เป็นเรื่องของการใช้สนทนากันระหว่างกลุ่มและเข้าใจเฉพาะกลุ่ม ซึ่งคำต่างๆ นั้นจะพบมากในสื่อออนไลน์ เช่น ชิมิจุงเบย บองตง เป็นต้น โดยคำพวกนี้จะเป็นที่นิยมเพียงระยะหนึ่ง และเปลี่ยนหาคำสื่อสารอื่นๆ ขึ้นมาแทน เพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและเพลิดเพลินระหว่างกลุ่มเพื่อน แต่สิ่งที่ควรเฝ้าระวัง คือการนำคำพวกนี้มาใช้ในภาษาเขียน จะทำให้เกิดความสับสน เช่น คำว่า ครับ ซึ่งในสื่อออนไลน์จะเขียน คับ ไม่มี ร.เรือ และถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการใช้ภาษาที่ผิด และอาจให้เกิดความสับสนได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เด็กในยุคปัจจุบัน การเขียนจดหมาย เรียงความ จะไม่มีความสละสลวยในการใช้ภาษา มีการใช้ภาษาอย่างไม่ถูกกาลเทศะ ไม่มีการใช้ภาษาเรียบเรียงเหมือนเช่นสมัยก่อน เช่น คำขึ้นต้นในจดหมาย ไม่สามารถแยกระหว่างเรียนเชิญ กราบเรียนเชิญ เพราะเด็กใช้คำที่ใช้การสื่อสารจนเกิดความเคยชิน ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า หากเด็กกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่ จะทำให้คำสุภาพหรือคำที่เป็นทางการหายไป จะทำให้เกิดปัญหากับภาษาไทยอย่างแน่นอน ดังนั้น ในขณะนี้สถานศึกษาจึงควรเร่งปลูกฝังการใช้ภาษาที่ถูกวิธีให้กับเด็กนักเรียน

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32614&Key=hotnews

ปรับระบบ ชพค./ชพส. 30 วัน ถึงทายาท

7 พฤษภาคม 2556

นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยถึงการปรับปรุงการจ่ายเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ให้เร็วขึ้นว่า ที่ผ่านมาทั้งช.พ.ค. และ ช.พ.ส. กว่าจะมีการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ทายาท ต้องใช้เวลานานเป็นปี ซึ่งในสมัยนายเกษมกลั่นยิ่ง เลขาธิการ สกสค.คนแรก ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขให้สามารถจ่ายได้ใน 90 วัน แต่ปัจจุบัน สกสค.มีนโยบายที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้รวดเร็ว ทันใจ ทันเหตุการณ์โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 56 นี้

นายสุรเดช พรหมโชติ รองเลขาธิการ สกสค.ซึ่งกำกับดูแลงานของสำนักสวัสดิภาพครู กล่าวว่าคณะกรรมการ ช.พ.ค. มีมติกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินสงเคราะห์ใหม่ โดยจะใช้เงินทุนสำรองจ่ายไปก่อนเพื่อให้ครอบครัวของสมาชิกที่ถึงแก่กรรมได้รับเงินสงเคราะห์เร็วยิ่งขึ้น โดยกรณีสมาชิกที่ถึงแก่กรรมและไม่มีภาระหนี้สินจากโครงการสวัสดิการเงินกู้ และหรือไม่มีการโต้แย้งสิทธิ์ในการรับเงินสงเคราะห์ ทางครอบครัวหรือทายาทผู้มีสิทธิ์จะได้รับเงินภายใน 30 วันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศรายชื่อ แต่สำหรับกรณีสมาชิกที่มีภาระหนี้สินจากโครงการสวัสดิการเงินกู้ และ/หรือมีการโต้แย้งสิทธิ์ จะได้รับเงินภายใน30 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มีการชำระหนี้ถูกต้องครบถ้วนหรือมีการยุติข้อโต้แย้งอันเป็นการสิ้นสุดแล้ว โดยหลักเกณฑ์ใหม่ได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้กำชับผู้อำนวยการทั้งส่วนกลาง และสกสค. จังหวัดให้เอาใจใส่อย่างดีด้วย

ทั้งนี้ โครงการ ช.พ.ค. เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในปีพ.ศ.2494 ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิก 21,957 ราย โดยจะมีสมาชิกเสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 32 ราย ซึ่งทายาทจะได้รับค่าจัดการศพ 2,000 บาท และค่าสงเคราะห์ศพ7,795 บาท แต่ปัจจุบันมีสมาชิก 974,649 ราย และสมาชิกเสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 500 ราย ทายาทได้รับค่าจัดการศพ 200,000 บาท และค่าสงเคราะห์ศพ734,000 บาท ส่วน ช.พ.ส. เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ.2518 ปัจจุบันมีสมาชิก 392,820 ราย เสียชีวิตเฉลี่ย 230 ราย ได้รับค่าจัดการศพ 100,000 บาท และค่าสงเคราะห์ศพ 277,000 บาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32613&Key=hotnews

เล็งติดเซ็นเซอร์เตือนล็อกรถร.ร. สช.หวั่นซ้ำรอย’น้องเอย’-ชงศธ.เร่งแก้ระเบียบ

7 พฤษภาคม 2556

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกระเบียบให้รถรับส่งนักเรียนระดับต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ลงมา โดยเฉพาะรถตู้โรงเรียน ติดอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ หรือระบบเซ็นเซอร์ ไว้ในรถทุกคัน ซึ่งตัวเซ็นเซอร์นี้จะส่งสัญญาณทันที ถ้าล็อกรถแล้วพบว่ายังมีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ภายในรถ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอย ด.ญ.มนัสนันท์ ทองภู่ หรือ น้องเอย ที่ถูกครูลืมไว้บนรถตู้จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“ระเบียบของศธ.ที่ใช้ควบคุมดูแลรถโรงเรียน คือ ระเบียบศธ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน ปี 2536 นั้น ก็มีความรัดกุมอยู่แล้ว แต่ถ้าแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการติดเซ็นเซอร์ในรถโรงเรียนเข้าไป ก็จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับเด็กเล็กมากขึ้น อย่าลืมว่าเด็กเล็ก ถ้าถูกลืมไว้บนรถ เด็กจะไม่สามารถช่วยตัวเองได้เหมือนเด็กโต เด็กเล็กจะไม่รู้จักร้องเรียกให้คนมาช่วย แต่ถ้าในรถมีระบบเซ็นเซอร์ก็จะส่งเสียงสัญญาณเตือนที่ล็อกรถ ว่ายังมีคนตกค้างอยู่ภายในรถ ขณะที่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์นี้ก็ไม่สูงแล้ว” นายบัณฑิตย์ กล่าว

เลขาธิการ สช.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สช.กำลังทำเรื่องขอแก้ไขระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียนปี 2536 อยู่ แต่ระหว่างนี้ สช.มีหนังสือไปถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนทุกแห่ง ให้ซักซ้อมความเข้าใจตามแนวปฏิบัติในระเบียบดังกล่าว โดย เฉพาะการเช็กชื่อนักเรียนที่รับ-ส่งให้ครบถ้วน ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ดูแลนักเรียนด้วยความรอบคอบอยู่แล้ว และสช.ยังได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนเอกชนทุกแห่ง ติดตั้งอุปกรณ์จับสัญญาณในรถโรงเรียนด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32612&Key=hotnews

เปิดหลักสูตรเทคโนบัณฑิต

7 พฤษภาคม 2556

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม กอศ.เห็นชอบเปิดสอนหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ของ 9 สถาบันการอาชีวศึกษา 43 วิทยาลัย 6 ประเภทวิชา 16 สาขาวิชา โดยเสนอปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเทคโนโลยี ป.ตรี สายปฏิบัติการจริงๆ และระบุให้ชัดว่า เด็กแต่ละคนเมื่อเรียนจบจะเชี่ยวชาญด้านใด โดยให้มีหน่วยกิตการเรียนภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ 1 ปี และในหมวดวิชาทักษะชีวิตควรตัดวิชาที่เด็กไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเพิ่มเติมเรื่องที่จะผูกโยงกับการปฏิบัติอาชีพจริงๆ

ส่วนการเรียนการสอนทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ ต้องทำข้อตกลงเพื่อระบุให้เด็กฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ 1 ภาคเรียน โดยได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการ ทั้งนี้ให้ทุกสถาบันไปดำเนินการตามข้อเสนอแนะของบอร์ด และเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 วันที่ 10 มิ.ย.นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32611&Key=hotnews

มข.ปลื้มรับจัดสรรงบ ’57 เพิ่ม 4 พันล้าน ผุดพิพิธภัณฑ์วิทย์-เสริมภาษา น.ศ. ถก ‘พงศ์เทพ’ 7 พ.ค. ขอเงินวิจัยเพิ่ม

7 พฤษภาคม 2556

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 มข.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 ที่ได้รับจัดสรร 3.7 พันล้านบาท โดยงบที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นงบก่อสร้าง โดยจะก่อสร้างอาคารฟิสิกส์หลังใหม่ เพราะอาคารหลังเดิมเก่ามาก ปรับปรุงระบบประปาในมหาวิทยาลัย และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อรองรับการประชุมนานาชาติด้านพันธุกรรม ในปี 2558 และเพื่อให้เด็กและเยาวชนในภูมิภาคได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ โดยจะสร้างในรูปแบบเดียวกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี

นายกิตติชัยกล่าวว่า แต่ที่น่าสนใจคือการจัดสรรงบ ในปี 2557 รัฐบาลให้งบเกี่ยวกับอาเซียน และ สหกิจศึกษาเพิ่มขึ้นประมาณ 50-60 ล้านบาท โดยงบเกี่ยวกับอาเซียนได้รับจัดสรร 30-40 ล้านบาท ส่วนงบสหกิจศึกษาได้ประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนงบวิจัยและพัฒนา ยังไม่ทราบว่าจะได้รับจัดสรรเท่าไร ต้องรอหารือกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันที่ 7-8 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลมีพันธสัญญาว่าจะให้งบวิจัยและพัฒนากับมหาวิทยาลัย 9 พันล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้เพิ่งจัดสรรให้เพียง 6 พันล้านบาท อย่างปีที่ผ่านมา มข.ได้ของบวิจัยไป 300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรเพียง 220 ล้านบาท จึงได้นำเงินรายได้ของ มข.สมทบลงไป

“เนื่องจาก มข.ต้องการส่งเสริมให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ตลาดแรงงานไม่ได้อยู่ในประเทศเท่านั้น ถ้าอยากได้งานดีๆ มีรายได้ดี ก็ต้องไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในเวียดนาม ที่ขณะนี้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก และเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เด็กไทย มข.จึงจัดงบส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนภาษาของประเทศในอาเซียน ซึ่งภาษาที่นักศึกษาให้ความนิยมมากที่สุดคือ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอังกฤษ โดยนักศึกษานิยมเรียนภาษาเวียดนามมากที่สุด โดยเมื่อปีการศึกษา 2555 มีเรียนเพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ จากเดิมมีไม่กี่สิบคน เพิ่มขึ้นเป็น 500 กว่าคน ส่วนการสอนภาษาอังกฤษ มข.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีโดยให้สถาบันสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งมีทั้งอาจารย์ต่างชาติ และอาจารย์ไทย ซึ่งจะพัฒนาการเรียนการสอนแบบใหม่ เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อ” นาย กิตติชัยกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32610&Key=hotnews