สช.มั่นใจเด็กโรงเรียนเอกชนเพิ่ม

24 เมษายน 2556

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียน ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ปีการศึกษา 2556 ว่า ปกติแล้วจำนวนนักเรียนที่มาสมัครเรียนต่อในสถานศึกษาสังกัด สช. จะเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับอนุบาล และประถมศึกษา ซึ่งในปีนี้คาดว่าเด็กจะมาสมัครเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000-50,000 คน เหมือนเช่นทุกปีผ่านมา อย่างไรก็ตามขณะนี้โรงเรียนเอกชนยังคงเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อในทุกระดับชั้น โดยจะเปิดรับไปจนถึงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 หากผู้ปกครองคนใดสนใจที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียน ก็สามารถติดต่อไปยังโรงเรียนนั้น ๆ ได้โดยตรง ยกเว้นโรงเรียนเอกชนที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวจากรัฐบาล เพราะได้ปิดรับสมัครตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว

“แม้โรงเรียนเอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุน จะเปิดรับนักเรียนได้จนถึงเกือบเปิดเทอม แต่หากจำนวนเด็กเกินจากจำนวนเด็กต่อห้องที่ สช.กำหนด ก็จะต้องปิดรับสมัคร โดยห้องเรียนปกติจะรับเด็กได้ไม่เกิน 40 คน แต่ทางโรงเรียนสามารถขอขยายได้ไม่เกิน 45 คน เพราะต้องคำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนด้วย ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งเริ่มขอขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องมาที่ สช.บ้างแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเอกชนยังเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองเช่นเดียวกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” นายบัณฑิตย์ กล่าว

เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) นั้น แนวโน้มของจำนวนเด็กที่จะมาสมัครเรียนต่อในระดับ ปวช. ยังไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่คิดว่าหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดสอนระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2556 ก็เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้เด็กมาเรียนอาชีวะเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะ สช.ก็ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนเช่นเดียวกับ สอศ. ดังนั้นเด็กที่จบจากอาชีวะเอกชนก็สามารถไปเรียนต่อสถาบันการศึกษาของรัฐในระดับปริญญาตรีได้.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32499&Key=hotnews

ทยอยรอดข้อหาโกงสอบครู

24 เมษายน 2556

นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เรื่องการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ครั้งที่ผ่านมา แล้วประมาณ 30 กว่าเขตพื้นที่ฯ และอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นเรื่องที่ส่งมาจะเป็นมติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ พร้อมกับแนบรายละเอียดมาด้วย ซึ่งตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของ ก.ค.ศ.ตรวจสอบรายงานที่แต่ละ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯได้เสนอมา จากนั้นจะต้องนำมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ก.ค.ศ.ให้พิจารณาต่อไป

ด้าน นายพิสิษฐ์ ชดกิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3 กล่าวว่า จากการประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติไม่ยกเลิกผลการสอบครูผู้ช่วยเนื่องจากได้พิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงที่ สพป.นครราชสีมา เขต 3 ที่นำเสนอไม่พบพยานหลักฐานว่าการสอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมามีการทุจริต และจากการสอบสวนผู้ที่สอบบรรจุได้จำนวน 7 คน ก็ยืนยันว่าสาเหตุที่สอบได้ เป็นเพราะการอ่านหนังสือเอง โดยคะแนนของผู้ที่สอบได้ จะมีคะแนนสูงในบางวิชาเท่านั้นและวิชาอื่น ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์คะแนนปกติทั่วไป ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลการประชุมไปให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แล้ว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32498&Key=hotnews

 

เคาะอัตราหักเงินกองทุนโรงเรียน

24 เมษายน 2556

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 2/2556 มีมติเห็นชอบตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 73 (1) ได้บัญญัติให้ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของ ร.ร.ในระบบส่งเงินสะสมสำหรับตนเอง ในอัตราที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละสามของเงินเดือนรายเดือนที่แต่ละคนได้รับ และต้องไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกองทุนจะเสนอร่างกำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนสำหรับร.ร.ในระบบ พ.ศ. …. ต่อที่ประชุม กช.ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ซึ่งที่ประชุมให้กองทุนทบทวน โดยเห็นว่าควรกำหนดเพดานส่งเงินสำหรับตนเองเข้ากองทุนในอัตราร้อยละสามของเงินเดือนที่ได้รับ ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนร.ร.ในระบบ พ.ศ. ….โดย ให้ผอ. ครูส่งเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท และผอ. ครู ในระบบรายใด ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนมาก่อนวันที่กฎกระทรวงบังคับใช้ ไม่ว่าอัตราและวงเงินเท่าใด นับแต่วันที่ใช้บังคับให้ผอ. ครู รายนั้นส่งเงินสะสมเข้ากองทุน ตามอัตราและวงเงินที่กำหนดไว้ตามข้อ 1

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32497&Key=hotnews

สอศ.ชง ครม.เพิ่มเงินอุดหนุนเรียนฟรี ชี้ค่าอุปกรณ์อาชีวะราคาสูง-พ่อแม่แบกภาระ

24 เมษายน 2556

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอปรับเพิ่มเงินอุดหนุนตามโครงการเรียนดี เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ

โดยเสนอขอเพิ่มเติมในส่วนของค่าอุปกรณ์ฝึกปฏิบัติการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน นักศึกษาสายอาชีพ เนื่องจากผู้เรียนสายอาชีวะทุกคนต้องมีเครื่องมือประจำตัว เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชา ซึ่ง สอศ.สำรวจพบว่าเครื่องมือในแต่ละสาขา มีราคาสูงกว่า 2,000 บาท ขณะที่ งบฯ ที่ได้รับอุดหนุนในส่วนของค่าอุปกรณ์การเรียนที่ผ่านมา จะได้รับเพียง 230 บาท ต่อคนต่อเทอม หรือแค่ 460 บาทต่อคนต่อปี ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนนี้ค่อนข้างมาก หลายคนบ่นว่าบุตรหลานไม่ได้เรียนฟรีจริง ขณะที่ผู้เรียนหลายคนที่เข้ามาเรียน ก็ออกกลางคันเนื่องจากไม่สามารถจ่ายเงินค่า เครื่องมือการเรียนที่เพิ่มเติมได้

“ค่าอุปกรณ์การเรียนของเด็กอาชีวะจะแตกต่างจากเด็กที่เรียนกับโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะอุปกรณ์การเรียนไม่ได้มีแค่ สมุด ปากกา ดินสอ ยางลบ หรือไม้บรรทัดเท่านั้น แต่จะต้องมีเครื่องมือพื้นฐานในการประกอบอาชีพของแต่ละสาขาวิชา ซึ่งจะต้องเป็นเครื่องมือประจำตัว ที่เป็นตัวตั้งต้นในการใช้ประกอบอาชีพได้จริง ส่งผลให้ถึงแม้ เด็ก ปวช.จะได้รับการอุดหนุนให้เรียนฟรีจริง แต่จะต้องหาเงินมาใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มเติม ดังนั้น สอศ.จึงต้องหางบฯ มาช่วยสนับสนุนตรงส่วนนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว การปรับเพิ่มคงไม่ทันในปีการศึกษานี้ แต่จะไปทันในปีการศึกษา 2557 แทน” เลขาธิการ กอศ.กล่าวและว่า ในส่วนของการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนที่ปกติได้รับอยู่ 900 บาทต่อคนต่อปีนั้น คงต้องดูผู้ประกอบการก่อนว่าได้ปรับเพิ่มหรือไม่ หากปรับเพิ่มแล้วเป็นเงินเท่าไหร่ ก่อนการตัดสินใจใดๆ

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32496&Key=hotnews

องค์ประกอบดี ผลลัพธ์ย่อมดี แปรผันตามกัน

ทัศนะวิจารณ์  ..  “องค์ประกอบชำรุด ผลลัพธ์ย่อมผิดรูปไป

 

องค์ประกอบ และผลลัพธ์
องค์ประกอบ และผลลัพธ์

สิ่งมีชีวิตทั้งมวลล้วนเป็นไปตามกฎวัฏสงสาร มีเกิดมีดับเปลี่ยนไปตามภพภูมิ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แล้วก็กลับมาเกิดใหม่ แล้วทุกสถานะก็จะมีองค์ประกอบและค่าประจำองค์ของตน การเลื่อนไหลจากสถานะหนึ่งไปอีกสถานะหนึ่งล้วนมีที่มาที่ไป ซึ่งค่าขององค์ประกอบทั้งหมดจะถูกรวมและประเมินว่าจะไหลไปอยู่ที่ใดเป็นเวลาเท่าใด  เช่นเดียวกันกับคุณภาพการศึกษาที่ต้องมีองค์ประกอบเป็นปัจจัยว่าสถาบันจะรุ่ง หรือจะร่วง

ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการรวมกันขององค์ประกอบ เช่น ข้าวมันไก่จะประกอบด้วย ข้าว ไก่ น้ำจิ้ม น้ำซุป แต่จะมีลูกค้ามากน้อยเพียงใดย่อมมีอีกหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง สำหรับข้าวมันไก่ที่มีคุณภาพก็จะมีรสชาติและปริมาณใกล้เคียงกันทุกจาน หากกุ๊กทำมานับสิบปีที่เรียกว่ามืออาชีพก็มักมีมาตรฐาน คือ ปริมาณและรสชาติใกล้เคียงกันทุกจาน ส่วนร้านใดเปลี่ยนกุ๊กบ่อยก็คาดได้ว่าไม่มีมาตรฐาน คือ รสชาติเปลี่ยนตามแม่ครัว ลูกค้าก็มักทยอยหนีหายไปร้านอื่น

การศึกษายุคโบราณที่มีวัดเป็นโรงเรียนจะมีองค์ประกอบที่ต่างกับปัจจุบัน คือ มีพระสงฆ์ มีกระดานชนวน มีปั๊บสา มีศาลาวัดเป็นห้องเรียน ซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงคุณภาพหรือมาตรฐาน แต่ปัจจุบันโรงเรียนประกอบด้วย อาคารเรียน ครู ห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ หลักสูตร คุณภาพและมาตรฐาน เป็นต้น แล้วองค์ประกอบที่ทำให้โรงเรียนแตกต่างกันก็มีอยู่มากมาย เพื่อแยกความแตกต่างจึงมีการจัดลำดับโรงเรียน ก็มีทั้งจัดอันดับในจังหวัด ในประเทศ และในโลก เมื่อมีโรงเรียนที่เป็นเลิศก็ย่อมมีโรงเรียนที่อยู่ท้ายสุด ผู้จัดอันดับแต่ละรายก็จะสนใจองค์ประกอบที่เป็นที่มาของคะแนนแตกต่างกัน อาจพิจารณาจากจำนวนนักเรียนที่สอบเข้าในสถาบันการศึกษาของรัฐ จำนวนนักเรียนที่เป็นตัวแทนระดับชาติ หรือคะแนนเฉลี่ยจากการสอบวัดผลด้วยข้อสอบส่วนกลาง

ในระดับอุดมศึกษามีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดว่าสถาบันที่มีคุณภาพต้องประเมินองค์ประกอบคุณภาพทั้งหมด 9 องค์ประกอบ นอกจากนั้นก็ยังมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.) กำหนดว่ามาตรฐานคุณภาพต้องมี 18 มาตรฐาน หากลงไปในรายละเอียดก็จะพบว่ามีตัวบ่งชี้ และเกณฑ์คุณภาพอีกร้อยกว่าตัวที่ทุกหลักสูตรต้องปฏิบัติ ไม่มีหลักฐานมาแสดงก็จะไม่ได้คะแนนในส่วนนั้น ถ้าไม่ดำเนินการตามเกณฑ์ในระดับหนึ่งก็จะถูกประเมินว่าไม่มีคุณภาพ อาจมีผลพิจารณาจากต้นสังกัดว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดรับนักเรียนในปีต่อไป หากดื้อดึงยังรับนักศึกษาต่อไปก็จะไม่ส่งเรื่องให้สำนักงาน ก.พ. เป็นผลให้หลักสูตรที่มีบัณฑิตจบออกมานั้นไม่สามารถรับราชการได้

องค์ประกอบของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพต้องมี 9 องค์ประกอบ คือ แผนการดำเนินการ การผลิตบัณฑิต การพัฒนานักศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การบริหาร การเงิน และการประกันคุณภาพ จากการกำกับให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้นำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของทุกสถาบันเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านระบบ CHEQA เมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลผลประเมินสถาบันการศึกษาในไทย พบว่า มีสถาบันการศึกษากลุ่มหนึ่งที่มีผลประเมินต่ำกว่าระดับดี โดยองค์ประกอบที่มีคะแนนต่ำคือ การผลิตบัณฑิต และการวิจัย

เมื่อเข้าไปดูผลการดำเนินงานของสถาบันที่มีผลประเมินในระดับต่ำในระบบ CHEQA ที่ สกอ. เผยแพร่ พบว่า ตัวบ่งชี้ของการผลิตบัณฑิตที่ได้คะแนนต่ำ คือ จำนวนอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอก และจำนวนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการมีน้อย ซึ่งสะท้อนได้ว่าจำนวนอาจารย์ที่พร้อมสอนในระดับนี้ยังขาดแคลน ส่วนตัวบ่งชี้ของการวิจัยที่ได้คะแนนต่ำ คือ วงเงินสนับสนุนงานวิจัย ถ้าหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอาจารย์ 5 ท่านจะต้องได้ทุนวิจัย 300,000 บาทต่อปี จึงจะได้คะแนนในระดับดีมาก

องค์ประกอบทั้งสองส่งผลถึงการผลิตบัณฑิตว่า ถ้าอาจารย์มีความพร้อมที่จะสอน ย่อมผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม ถ้าอาจารย์ทำวิจัยที่มีคุณภาพก็ย่อมจะได้องค์ความรู้ใหม่ และนำไปถ่ายทอดให้นักศึกษามีความรู้ใหม่ แล้วจบเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของสังคม แต่จากการติดตามข่าวเด่นประเด็นร้อนในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า สถาบันการศึกษาบางแห่งไม่ใส่ใจเรื่องคุณภาพการศึกษาจนเป็นเหตุให้ต้องถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย หรือบางแห่งต่างเรื่องคุณภาพอาจารย์จน สกอ. มีคำสั่งให้หยุดรับนักศึกษาใหม่ในหลักสูตรที่มีจำนวนอาจารย์วุฒิปริญญาเอกน้อย และตำแหน่งทางวิชาการน้อย

เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องที่มองได้หลายมุม คนที่กำหนดเกณฑ์เป็นคนกลุ่มหนึ่ง คนที่รักษากฎเป็นอีกกลุ่ม คนที่พิพากษาเป็นอีกกลุ่ม แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือคนที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทุกข้อให้ครบถ้วน ปัจจุบันพบว่ามีนักวิชาการไทยก็ยังเห็นต่างเรื่องคุณภาพการศึกษา อาทิ เน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาจนทำให้คุณภาพเสียไป เน้นเรียนกับมืออาชีพโดยใช้คนที่ทำงานในภาคธุรกิจมาเป็นอาจารย์พิเศษเป็นสัดส่วนที่มากเกินไปก็จะไม่เป็นตามเกณฑ์คุณภาพ
ประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา และอยู่ระหว่างพัฒนา ทั้งองค์ประกอบคุณภาพ มาตรฐานคุณภาพ และเกณฑ์คุณภาพมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาในช่วงเวลา 10 ปีนี้ และจะยังปรับเปลี่ยนต่อไป การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบใดอย่างไรย่อมทำให้ผลลัพธ์แปรผันตามกันไป ในอนาคตการศึกษาไทยอาจให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าวันนั้นมาถึงก็เชื่อได้ว่าบัณฑิตใหม่จะสวดมนต์ และฟ้อนรำเป็นทุกคน

แหล่งข้อมูล
http://www.cheqa.mua.go.th
http://www.mua.go.th
http://www.onesqa.or.th
http://www.moe.go.th

รายงานพิเศษ : อาชีวศึกษางัดไม้เด็ดจีบเด็กเรียนสายอาชีพ

23 เมษายน 2556

ชลธิชา  ภัทรสิริวรกุล ประเทศไทยกำลังต้องเตรียมระบบสาธารณูปโภคและกำลังคนเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม แต่ทว่ากำลังคนในสายปฏิบัติของไทยยังมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่นิยมเรียนสายสามัญและปริญญาตรีมากกว่า

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง จึงต้องพยายามงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อจูงใจให้เด็กหันมาเรียนอาชีวะสายปฏิบัติมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าว่าจะปรับสัดส่วนระหว่างเด็กสายสามัญกับสายอาชีวะให้เป็น 50:50 จากปัจจุบันที่มีเด็กเรียนอาชีวะเพียง 36% ของจำนวนเด็กทั้งหมด

ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ.กำลังขะมักเขม้นกับการหากลยุทธ์ดึงเด็ก โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขการสมัครเรียนอาชีวะของเด็กในปีการศึกษานี้ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะลดลงจากปกติมากถึง 16%  เบื้องต้นได้พยายามปรับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีพให้น่าสนใจขึ้น พร้อมการรับประกันคุณภาพการเรียน การันตีเรียนจบมีงานทำ 100%

มาตรการแรกเป็นเรื่องของการปรับภาพลักษณ์ โดยจัดงบประมาณเพิ่มเติม 150 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวิทยาลัยขนาดเล็กระดับอำเภอ และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้มีคุณภาพและมาตรฐานซึ่งจะเริ่มทยอยเห็นในปีการศึกษา 2556

มาตรการที่ 2 จัดสรรงบประมาณวงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อดูแลเด็กอาชีวะที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเลิกเรียนกลางคัน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 16% โดยจะจัดครูพี่เลี้ยงคอยดูแล
ช่วยเหลือ นอกจากจะช่วยดึงเด็กให้อยู่ในระบบต่อได้แล้วยังสามารถช่วยป้องกันปัญหายาเสพติดและการทะเลาะวิวาทได้ด้วย

มาตรการถัดมาคือ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ต้องการเรียนสายอาชีวะ แต่ยังติด ร. ติดศูนย์อยู่ สามารถมาเรียนอาชีวะได้ โดยเด็กจะได้เรียนต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้วุฒิจนกว่าจะแก้เกรดผ่าน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กับหลักสูตรพรีดีกรีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คาดว่ามาตรการนี้จะดึงเด็กให้มาเรียนอาชีวะได้ประมาณ1 หมื่นคน

อีกมาตรการคือ เปิดอาชีวะอำเภอ ซึ่งเป็นการลงไปแบบดาวกระจาย เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในระดับอำเภอมีเพียง 300 อำเภอ จากทั้งหมด 900 อำเภอ ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดนำร่องไปแล้ว 5 อำเภอ และปีนี้จะทยอยเปิดเพิ่มอีก 15 อำเภอ โดยจะเน้นอำเภอในพื้นที่ห่างไกล  การเปิดสถาบันอาชีวะให้ครอบคลุมอำเภอต่างๆ จะช่วยเกลี่ยให้เด็กที่เลือกเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาประจำอำเภอที่เต็ม มีโอกาสได้เรียนในสถาบันใกล้เคียง คาดว่าน่าจะช่วยดึงเด็กให้อยู่ในระบบได้อีกไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน

“มาตรการเหล่านี้น่าจะช่วยจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้สัดส่วนตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็น่าจะสามารถรักษาจำนวนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไว้ได้ที่ระดับ 1.88 แสนคน” ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ถือว่าน่าห่วงกว่าระดับ ปวช. เพราะตัวเลขล่าสุดทำได้แค่ 6.64 หมื่นคนห่างจากตัวเลขเดิมที่ระดับ 1.28 แสนคนประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้ สอศ.เตรียมมาตรการเสริมไว้รองรับ คือ อาจจะพิจารณาเพิ่มรอบรับสมัครเด็กในช่วงวันที่ 20-30 เม.ย.อีกรอบ

สอศ.ยังมีแผนที่จะเปิดปริญญาตรีสายเทคโนโลยีบัณฑิตใน 16 สาขาวิชา 85 วิทยาลัยที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและการประสานงานกับสถานประกอบการเอกชนในรูปแบบทวิภาคี โดยแต่ละแห่งจะรับเพียง 20 คนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 คน ที่สำคัญจะเปิดรับสมัครเฉพาะเด็กที่จบจากระดับ ปวช.มาเท่านั้น ซึ่งน่าจะช่วยปรับทัศนคติของเด็กและผู้ปกครองได้ระดับหนึ่ง

ทั้งหมดนี้เพื่อดึงเด็กให้หันมาเรียนสายปฏิบัติมากขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการตลาดแรงงาน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32490&Key=hotnews

สพป.นครราชสีมา เขต 3 ไม่ยกเลิกบรรจุครูผู้ช่วย ระบุไม่พบพยาน-หลักฐานการทุจริต

23 เมษายน 2556

นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่าขณะนี้สำนักงานก.ค.ศ.ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษาเรื่องการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ครั้งที่ผ่านมาแล้วประมาณ 30 กว่าเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว และอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นเรื่องที่ส่งมาจะเป็นมติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ พร้อมกับแนบรายละเอียดมาด้วย ส่วนจะมีที่ไหนที่สั่งยกเลิกผลการสอบเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รายงานว่ามี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ใดบ้าง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ไปตรวจสอบรายงานที่แต่ละอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้เสนอมาจากนั้นจะต้องนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอที่ประชุมก.ค.ศ.ให้พิจารณาต่อไป

นายพิสิษฐ์ ชดกิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 3 กล่าวว่าจากการประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีมติไม่ยกเลิกผลการสอบครูผู้ช่วย เนื่องจากได้พิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงที่ สพป.นครราชสีมา เขต 3 ที่ได้นำเสนอไม่พบพยาน หลักฐานว่าการสอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมามีการทุจริต และจากการสอบสวนผู้ที่สอบบรรจุได้จำนวน 7 คน ก็ยืนยันว่าสาเหตุที่สอบได้เป็นเพราะการอ่านหนังสือเอง โดยคะแนนของผู้ที่สอบได้นั้นจะมีคะแนนสูงในบางวิชาเท่านั้น และวิชาอื่นๆ ก็อยู่ในเกณฑ์คะแนนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ส่งผลการประชุมไปให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แล้ว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32489&Key=hotnews

สอท.เร่งนักเรียนจ่ายเงินค่าสมัครแอดมิชชั่น

23 เมษายน 2556

สอท.เร่งนักเรียนจ่ายเงินค่าสมัครแอดมิชชั่น ก่อนปิดรับชำระเงิน 23 เม.ย. นี้. ย้ำนักเรียนที่ติดรับตรงแล้ว อย่ามาแอดมิชชั่น เพราะเสียเวลาและถูกตัดสิทธิ์

วานนี้(22เม.ย.) นางศศิธร อหิงสโก ผู้จัดการสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ตามที่สอท.ได้เปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่นกลาง ประจำปีการศึกษา 2556 เมื่อวันที่ 11-21เม.ย.ที่ผ่านมาทางเว็บไซด์ www.cuas.or.th และกำหนดชำระเงินถึงวันที่ 23 เม.ย.นั้น จากข้อมูลผู้สมัครตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งปิดระบบการรับสมัคร ปรากฏว่ามีผู้สมัคร 121,141 คน แต่มียอดชำระเงินถึงวันที่ 22 เม.ย. ประมาณ 90,000 คน ซึ่งคาดว่ายอดผู้ชำระเงินจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวันรับสมัครช่วงสุดท้ายตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้นผู้สมัครคงกำลังตัดสินใจอยู่ และในวันที่ 23 เม.ย.นี้จะเป็นการชำระเงินวันสุดท้าย ตามเวลาปิดทำการของธนาคารทั่วไป และตามเวลาปิดของธนาคารในห้างสรรพสินค้า ดังนั้นผู้สมัครจะต้องตัดสินใจและรีบดำเนินการชำระเงินเพื่อให้การสมัครครบถ้วนสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามคาดว่าจำนวนผู้สมัครปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือประมาณ 1 แสนคน

นางศศิธร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ปี 2556 นั้น ขณะนื้มหาวิทยาลัยที่รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ จำนวน 18 สถาบัน ได้ส่งรายชื่อของนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกมาให้เรียบร้อยแล้วเพื่อตัดสิทธิ์ออกจากแอดมิชชั่นกลาง ซึ่งตนอยากย้ำว่าเรื่องการตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นกลางนั้นเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆส่งรายชื่อของนักเรียนมาให้สอท. ดังนั้นหากนักเรียนคนใดมีปัญหาเรื่องของการรับตรงจะต้องติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะสอท.ไม่มีอำนาจที่จะคืนสิทธิ์แอดมิชชั่นกลางให้แก่นักเรียนได้ ส่วนนักเรียนที่ติดรับตรงแล้วก็ไม่ต้องมาแอดมิชชั่นกลางอีก เพราะจะเป็นการเสียเวลาและจะถูกตัดสิทธ์แน่นอนอยู่แล้ว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32488&Key=hotnews

วิกฤตครูจ่อเกษียณเกือบแสนคน 56-60 แนะผลิตรองรับ

ศิษย์มีครู
ศิษย์มีครู

23 เม.ย.56 รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่าจำนวนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2556-2560 มีจำนวน 97,254 คน มีรายละเอียดดังนี้ ปี 2556 จำนวน 10,932 คน ได้แก่ อันดับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (คศ.) 1 จำนวน 11 คน อันดับ คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ จำนวน 3,929 คน อันดับ คศ.3 วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จำนวน 6,556 คน อันดับ คศ.4 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวน 260 คน อันดับ คศ.5 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ 9 คน บุคลากรทางการศึกษาอื่น 38 ค (2) จำนวน 167 คน ปี 2557 จำนวน 15,541 คน ได้แก่ คศ. 1 จำนวน 6 คน อันดับ คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ จำนวน 5,774 คน อันดับ คศ.3 วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จำนวน 9,239 คน อันดับ คศ.4 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวน 275 คน อันดับ คศ.5 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ 10 คน บุคลากรทางการศึกษาอื่น 38ค (2) จำนวน 237 คน

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับ ปี 2558 จำนวน 20,661 คน ได้แก่ คศ.1 จำนวน 23 คน อันดับ คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ จำนวน 7,612 คน อันดับ คศ.3 วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จำนวน 12,546 คน อันดับ คศ.4 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวน 206 คน อันดับ คศ.5 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ 10 คน บุคลากรทางการศึกษาอื่น 38 ค(2) จำนวน 264 คน

ปี 2559 จำนวน 24,689 คน ได้แก่ คศ.1 จำนวน 28 คน อันดับ คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ จำนวน 9,165 คน อันดับ คศ.3 วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จำนวน 15,019 คน อันดับ คศ.4 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวน 174 คน อันดับ คศ.5 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ 5 คน บุคลากรทางการศึกษาอื่น 38 ค (2) จำนวน 298 คน และ ปี 2560 จำนวน 25,431 คน ได้แก่ คศ.1 จำนวน 42 คน อันดับ คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ จำนวน 9,057 คน อันดับ คศ.3 วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จำนวน 15,865 คน อันดับ คศ.4 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวน 146 คน อันดับ คศ.5 วิทยฐานะเชี่ยวชาญ 2 คน บุคลากรทางการศึกษาอื่น 38ค (2) จำนวน 319 คน

นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า เรื่องนี้หน่วยผลิตบัณฑิตสายครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ จะต้องมาขอข้อมูลเพื่อผลิตบัณฑิตให้เพียงพอทดแทนกับข้าราชการครูที่จะเกษียณอายุราชการในช่วงปี 2556-2560 ซึ่งจะต้องมาดูว่า จะต้องผลิตบัณฑิตในสาขาอะไรบ้าง และจะต้องเริ่มวางแผนการผลิตตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 นี้ โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการประสานหรือขอข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานที่ข้าราชการครูเหล่านี้ปฏิบัติงานอยู่ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ก็ไม่สามารถกำหนดอัตรามาทดแทนได้ เพราะตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ

(คปร.) ได้กำหนดให้มีการคืนอัตราเกษียณอายุราชการให้ ศธ.100% จนถึงปี 2556 นี้และหลังจากนั้นจะเหลืออัตราคืนให้เพียง 20% ของอัตราเกษียณในแต่ละปี โดยเมื่อพิจารณาตั้งแต่ปี 2557-2560 แล้ว จะได้อัตราเกษียณคืนมาประมาณ 20,000 อัตราเท่านั้น ฉะนั้น หากไม่มีการวางแผนแล้ว ก็จะมีปัญหาการขาดแคลนข้าราชการครู อย่างแน่นอน

หน่วยผลิตสามารถเสนอขอข้อมูลมายัง ก.ค.ศ.เพื่อให้วิเคราะห์รายละเอียดข้าราชการครูที่จะเกษียณอายุราชการช่วงปี 2556-2560 จำแนกตามสาขาวิชาเอกได้ จะได้เป็นประโยชน์ในการผลิตบัณฑิตให้เพียงพอ ในส่วนของ สพฐ.นั้น ก็อาจจะต้องสรรหาครูให้ตรงและเพียงพอกับสาขาที่ขาดแคลน เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน http://www.prachachat.net

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32487&Key=hotnews

ศธ.เตรียมเปิดรับ 1 อำเภอ 1 ทุนรุ่น 4 รอบ 2

23 เมษายน 2556

ศธ.เตรียมเปิดรับ 1 อำเภอ 1 ทุนรุ่น 4 รอบ2 พงศ์เทพอ้างเด็กสอบผ่านน้อยเพราะมุ่งแอดมิสชชั่นส์

วานนี้ ( 22 เม.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดรับสมัครผู้เข้ารับคัดเลือกโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น 4 (ปีงบประมาณ 2556-2563) และได้ทำการสอบข้อเขียน โดยมีผู้สอบผ่านข้อเขียนเพียง 137 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 20,381 คน แบ่งเป็น ผู้สอบผ่านข้อเขียนทุนประเภทที่ 1 เรียนดี ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท ไปศึกษาในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จำนวน 14 คน จากผู้สมัคร 5,053 คน ทุนประเภทที่ 2 เรียนดี ไม่จำกัดรายได้ครอบครัว ไปศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ้งเน้นสาขาที่ขาดแคลนด้านวิทยาศาสตร์ สอบผ่านจำนวน 123 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 15,328 คน นั้นถือว่ามีผู้สอบผ่านน้อยมาก ดังนั้นจะต้องมีการเปิดรับสมัครรอบใหม่ โดยเร็ว ๆ นี้ตนจะนัดหารือกับคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน โดย เน้นว่าการสอบคัดเลือกจะต้องสามารถคัดผู้เข้าร่วมโครงการฯที่มีความรู้ความ สามารถและเป็นไปตามมาตรฐานที่ศธ.กำหนด เพราะนักเรียนที่ไปจะต้องไปเรียนต่างประเทศ ดังนั้นต้องมีความรู้ระดับหนึ่ง ถ้าไปเรียนและความรู้ไม่ถึงก็จะมีปัญหาในการเรียน

“ที่ผ่านมาที่เด็กสอบผ่านข้อเขียนได้น้อยนั้น อาจจะเป็นเพราะนักเรียนไปทุ่มเทกับการสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าโอกาสที่จะสอบคัดเลือกผ่านมีมากกว่า และโครงการฯนี้ จะมีโอกาสเพียง 2 คนต่อ 1 อำเภอเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ทุกคนมีโอกาสทั้งนั้น ดังนั้นผมจึงอยากเชิญชวนนักเรียนให้มาสมัครเข้าร่วมโครงการฯนี้ เพราะโอกาสได้ทุนมีสูงและยังเหลือที่อีกจำนวนมาก และกระจายไปทั่วประเทศ แม้กระทั่งคนที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วก็มีสิทธิมาสมัครสอบได้”
นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า โครงการฯนี้ถือว่าเป็นการให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียนอย่างทั่วถึง โดยในแต่ละปีรัฐบาลให้ทุนนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อคน และข้อผูกพันน้อยมากเพราะต้องการจะส่งเสริมให้นักเรียนที่เรียนดีได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ ส่วน ในการสอบรอบสองนั้นจะมีการปรับลดเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนนสอบลงหรือไม่ ตนขอหารือกับคณะกรรมการโครงการฯก่อน เพราะการจะปรับอะไรต้องคำนึงถึงมาตรฐานเป็นสำคัญ หากกระบวนการคัดเลือกไม่ได้มาตรฐานนักเรียนที่ไปเรียนจะมีปัญหา แต่ถ้าได้เด็กที่มีคุณภาพไปเรียน เขาก็จะกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย และตนเชื่อว่าเด็กไทยมีความสามารถ แต่ที่สอบผ่านน้อยเพราะไปทุ่มเทกับการสอบอย่างอื่น

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32486&Key=hotnews