กลไกที่ทำให้สังคมมั่นใจในคุณภาพบัณฑิต [itinlife389]

หมอรักษาเสือ
หมอรักษาเสือ

 

รมต.กระทรวงศึกษาธิการ เซ็นอนุมัติให้เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน แม้จะมีนักศึกษาหลายพันคน อันมีจุดเริ่มต้นมาจากข่าวขายปริญญาในปี 2554 (สุชาติ ธาดาธำรงเวช, 2555) เป็นสถาบันการศึกษาล่าสุดที่ถูกเพิกถอนด้วยเหตุผลเรื่องมาตรฐานการศึกษา และผลการตรวจสอบเงื่อนไขในวิชาชีพครู ซึ่งก่อนหน้านั้นมีวิทยาลัยบัณฑิตสกลนคร ปิดเมื่อปี 2540 และวิทยาลัยศรีอีสานปิดเมื่อปี 2533 นั่นแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีกลไกกำกับติดตามให้สถาบันการศึกษาดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถไปทำงานในสังคมได้ตรงกับที่กำหนดไว้

elephant

หลักสูตรที่เปิดสอนระดับอุดมศึกษาอาจจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ มีสภาวิชาชีพ และไม่มีสภาวิชาชีพ หมายความว่าหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพรับรองจะต้องจัดการเรียนการสอนตามที่สภาวิชาชีพเห็นชอบก่อนสอน เช่น เรียนวิชาอะไร เป็นเวลาเท่าใด คุณสมบัติอาจารย์ เครื่องมือที่พร้อม เงื่อนไขการฝึกงาน เป็นต้น เพราะหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว สภาวิชาชีพจะออกใบรับรองวิชาชีพให้ไปทำงาน ถ้าไม่มีใบรับรองก็ไม่สามารถทำวิชาชีพนั้นได้ อาทิ สัตวแพทย์ วิศวะ พยาบาล แพทย์ เป็นต้น การได้ใบรับรองวิชาชีพมีกระบวนการตั้งแต่ก่อนเปิดหลักสูตร ระหว่างจัดการเรียนการสอน และภายหลังจากสำเร็จการศึกษา

dog

กลางมีนาคม 2556 พบข่าวว่าหลักสูตรสัตวแพทย์ในสถาบันหนึ่ง ที่สภาวิชาชีพไปตรวจมาตรฐานครั้งแรก หลังเปิดหลักสูตรแล้ว 5 ปี พบว่าหลักสูตรไม่ผ่านหลังเปิดสอนแล้ว 5 รุ่น รวมทั้งสิ้น 170 คน ถ้าสภาฯ ไม่ออกใบรับรองให้จริงก็จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษากลุ่มนี้ไม่สามารถไปรักษาสัตว์ได้ อีกหลักสูตรคือ วิศวกรรมศาสตร์ที่อาจไม่ได้ใบรับรองวิชาชีพหากสภาวิชาชีพไม่รับรอง แต่บัณฑิตกลุ่มนี้สามารถนำความรู้ และปริญญาไปประกอบอาชีพแบบไม่มีใบรับรอง ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรนี้เป็นอีกเหตุการณ์ที่สะท้อนความเข้มงวดเรื่องคุณภาพการศึกษา ส่วนสาขาด้านไอทีนั้น ปัจจุบันยังไม่มีสภาวิชาชีพ แต่ผู้สำเร็จการศึกษามักกรองตนเองไปทำงานด้านอื่น เพราะตำแหน่ง web developer, mobile developer, developer, network admin, server admin ก็ล้วนต้องเข้าใจในเรื่องนั้นก่อนสมัครงาน เนื่องจากงานที่ทำจะวัดกันตั้งแต่วันที่เริ่มงาน ไม่มีลองผิดลองถูก หากไม่เข้าใจก็จะเริ่มต้นไม่ได้ ต่างกับอาชีพอื่นที่ค่อยเรียนรู้และฝึกฝนกันไป

 

http://th.wikipedia.org/wiki/รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303890331&grpid=01&catid=no

คะแนนเฉลี่ยสอบ NT เด็ก ป.3 ไม่ถึงครึ่งทุกวิชา สพฐ.เตรียมวิเคราะห์หาทางแก้ไข

20 มีนาคม 2556
สพฐ.เผยผลสอบ NT ม.3 หลังเปลี่ยนใช้แนวทางวัดผล 3 ด้านแบบ PISA พบคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่ง เตรียมวิเคราะห์แบบรายภาค และแบบเชิงลึกหาจุดอ่อนของนักเรียน พร้อมจัดทำเป็นคู่มือการเรียนการสอน หวังแก้ปัญหาให้ตรงจุด

วันนี้ (20 มี.ค. 2556) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ National Test (NT) ระดับชั้น ป.3 ปีการศึกษา 2555 จำนวนทั้งสิ้น 496,196 คน จาก 28,204 โรงเรียน โดยได้เปลี่ยนแนวข้อสอบไปใช้แนวทางการวัดผลของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ซึ่งเน้นการทดสอบ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา ด้านการคำนวณ และด้านเหตุผล ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่า ด้านภาษา มีคะแนนเฉลี่ย 42.94 โดยนักเรียนยังต้องปรับปรุงเรื่องการคาดคะเนเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่าน และการสรุปเรื่องราวจากเรื่องที่อ่าน รวมถึงการนำเรื่องที่อ่านไปใช้ในชีวิตประจำวัน ด้านการคำนวน มีคะแนนเฉลี่ย 37.45 ต้องปรับปรุงเรื่องการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลความน่าจะเป็น และด้านเหตุผล มีคะแนนเฉลี่ย 45.92 ซึ่งนักเรียนยังมีปัญหาอยู่คือ เรื่องการนำข้อมูลหรือสารสนเทศมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในการวางแผน

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ สพฐ.จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุง เพื่อจัดทำเป็นคู่มือและสื่อการเรียนการสอนสำหรับใช้ในปีการศึกษา 2556 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการวิเคราะห์ผลคะแนนเป็นรายภูมิภาค ยังคงเป็นคะแนนภาพรวมในเบื้องต้น แต่ก็พอจะทำให้ สพฐ. เห็นภาพรวมในรอบแรกแล้วว่า คุณภาพการศึกษาของนักเรียนเป็นอย่างไร ส่วนการวิเคราะห์ในเชิงลึกว่าจุดใดเป็นจุดอ่อนของนักเรียน และเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รวมถึงการจำแนกผลคะแนนตามกลุ่มพื้นที่ต่าง ๆ นั้น สพฐ.จะมีการดำเนินการวิเคราะห์ต่อไป เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด

สำหรับรายงานผลการประเมิน NT มีรายละเอียด ดังนี้
1.ความสามารถด้านภาษา
คะแนนเต็ม 30 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน สูงสุด 28 คะแนน
มีคะแนนเฉลี่ย 12.88 คิดเป็นร้อยละ 42.94
มีนักเรียนที่อยู่ในระดับปรับปรุง ร้อยละ 16.39
พอใช้ ร้อยละ 32.61
ดี ร้อยละ 35.02
และดีเยี่ยม ร้อยละ 15.98
2.ความสามารถด้านคำนวน
คะแนนเต็ม 30 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน สูงสุด 30 คะแนน
มีคะแนนเฉลี่ย 11.23 คิดเป็นร้อยละ 37.45
มีนักเรียนที่อยู่ในระดับปรับปรุง ร้อยละ 13.41
พอใช้ ร้อยละ 46.54
ดี ร้อยละ 22.05
และดีเยี่ยม ร้อยละ 17.99
3.ความสามารถด้านเหตุผล
คะแนนเต็ม 30 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน สูงสุด 30 คะแนน
มีคะแนนเฉลี่ย 13.77 คิดเป็นร้อยละ 45.92
มีนักเรียนอยู่ในระดับปรับปรุง ร้อยละ 21.54
พอใช้ ร้อยละ 27.24
ดี ร้อยละ 33.12
และดีเยี่ยม ร้อยละ 18.10

กรุงเทพฯ–20 มี.ค.–ASTVผู้จัดการออนไลน์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32160&Key=hotnews

ทุจริตสอบครู ปัญหาและทางออก

20 มีนาคม 2556

อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาประธาน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7

          ข่าวการทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครู สะเทือนความรู้สึกของคนในสังคมจำนวนมากว่า “เริ่มต้นจะเป็นครูก็โกงเสียแล้ว” “เด็กที่ครูเหล่านี้สอนจะเป็นอย่างไร” “วงการแม่พิมพ์ของชาติยังเป็นเช่นนี้แล้วจะไปหวังอะไรได้” และยังสะท้อนความล้มเหลวของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การทางราชการขนาดใหญ่มหึมา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีแนวคิดและกฎหมายในการบริหารจัดการองค์การในรูปแบบองค์คณะบุคคล หรือคณะกรรมการ กระจายอำนาจการบริหารจัดการไปยังเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษา (สพป., สพม.) ทั่วประเทศ (แต่ข้อเท็จจริงยังก้าวไม่พ้นการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง) ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ
ทำไมจึงมีคนอยากเป็นครูกันมาก ทำไมต้องโกง เขาโกงกันอย่างไร มีคนใน สพฐ. ร่วมขบวนการด้วยหรือไม่
ทางออกควรทำอย่างไร ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 (อ.ก.ค.ศ.) เคยจับกลโกงการทุจริตการสอบบรรจุข้าราชการครูมาตรา 38 ค (2) ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 7 จัดสอบได้ ได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดผู้ทุจริต และปรับ ผู้ทุจริต “ตก” ทุกราย และในฐานะอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จึงขอนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง
ทำไมจึงมีคนอยากเป็นครูกันมาก
จากข้อมูลการรับนักศึกษาสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า แต่ละปีมีทิศทางการรับนักศึกษาสาขาดังกล่าวมากขึ้น เริ่มจากปีการศึกษา 2551 มียอดรับเพียง 26,730 คน ปี 2552 มียอด 37,890 คน ปี 2553 มียอด 52,515 คน ปี 2554 มียอด 66,128 คน และปี 2555 มียอด 57,294 คน เมื่อนำยอดรับแต่ละปีมารวมกัน หรือคิดยอดรับปีการศึกษา 2555 ว่าจะไปศึกษาจบ ช่วงปี 2560 จะมีบัณฑิตครูที่จบการศึกษาไปไม่ต่ำกว่า 240,000 คน
นี่ยังไม่รวมผู้ที่เข้าเรียนตามหลักสูตร ประกาศ นียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) สาขาวิชาชีพครูทั้งของมหาวิทยาลัย ราชภัฏ มหาวิทยาลัยรัฐเดิมทั้งมหาวิทยาลัยเปิด-ปิด และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกจำนวนมาก
สาเหตุที่สำคัญคือเพราะครูมีบัญชีเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ของครูเอง และยังสามารถทะลุแท่งเงินเดือนกรณีเงินเดือนเต็ม มีเงินวิทยฐานะ ระดับชำนาญการ (3,500 บาท) ระดับชำนาญการพิเศษ (5,600 + 5,600 บาท) ระดับเชี่ยวชาญ (9,900 + 9,900 บาท) และระดับเชี่ยวชาญพิเศษ (13,000 + 13,000 ถึง 15,600 + 15,600 บาท) การเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ที่ปัจจุบันเปรียบเสมือนเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งของครูไปแล้ว มีปิดเทอม มีสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งคู่สมรส บิดา มารดา อาจกล่าวได้ว่าครูเป็นอาชีพที่อยู่กับพื้นที่แต่มีค่าตอบแทน และสวัสดิการอื่นๆ ที่ดีกว่าข้าราชการอื่นหลายหน่วยงาน และรวมทั้งดีกว่าอาจารย์มหา วิทยาลัยด้วย
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีคนสนใจอยากจะเป็นข้าราชการครูกันจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่โอกาสของลูกหลานจะ ได้รับราชการก็คือเป็นข้าราชการครูและตำรวจ เพราะสองอาชีพนี้ใช้ต้นทุนค่อนข้างต่ำในการส่งลูกเรียน (ส่วนใหญ่เรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏ) เมื่อเทียบ อาชีพอื่นๆ
ทำไมต้องโกง เขาโกงกันอย่างไร มีคนใน สพฐ.ร่วมขบวนการด้วยหรือไม่
เมื่อมีคนอยากเป็นครูกันมากแต่อัตราบรรจุมีน้อย หากจะสอบแข่งขันกันธรรมดาก็เป็นการยากที่จะสอบได้ การทุจริตสอบจึงเกิดขึ้น และยิ่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 47 ได้กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การ ศึกษา เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและ แต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อ.ก.ค.ศ.หลายเขตพื้นที่ได้ใช้อำนาจในทางมิชอบโดยเปิดสอบบรรจุและเรียก เงินผู้เข้าสอบหัวละหลายแสนบาท สร้างความบอบช้ำ และความอัปยศให้กับวงการศึกษาเป็นอย่างมาก แทบจะไม่มีใครเชื่อมั่นในการจัดสอบบรรจุของเขตพื้นที่เลย
ส.พ.ฐ.และ ก.ค.ศ. ปล่อยปละละเลย ไม่เคยเอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งการสอบบรรจุครู สอบผู้บริหาร ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานชัดเจน บางคนย้ายไปอยู่เขตไหนก็ถูกครูเดิน ขบวนไล่ทุกเขต แต่ สพฐ.และ กคศ.ก็ยังเลี้ยงอยู่ได้ แถมบางคนกลับได้ดิบได้ดีย้ายเข้าไปเป็นใหญ่เป็นโตในกระทรวงเสียอีก !! แล้วอย่างนี้ใครจะเชื่อมั่นกับ สพฐ.และ กคศ. จนมีเรื่องร้องเรียนจาก ส.ส.ภาค อีสาน สมัย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็น รมว.ศธ. จึงได้ใช้วิธีแบบมักง่าย ทำผิด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 รวบอำนาจไปให้ สพฐ.ดำเนินการทั้งสอบครูผู้ช่วย สอบบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2) และผู้บริหาร แต่ก็ไม่พ้นฝีมือของพวกทุจริต แถมยังขยายวงในการทุจริตออกไปเป็นวงกว้าง ฉาวโฉ่กันทั่วประเทศ
กลโกงในการทุจริตการสอบบรรจุครู กรณีเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการจัดสอบบรรจุเอง กลโกงไม่มีอะไรซับซ้อน คือ
1.โกงโดยผู้จัดสอบ (อ.ก.ค.ศ.) เช่น การบอกข้อสอบก่อนสอบ การเปลี่ยนกระดาษคำตอบภายหลังการสอบ การแก้ไขคะแนนผลการสอบ การโกงแบบนี้ต้องเป็นการฮั้วกันของ อ.ก.ค.ศ.ทั้งชุด เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ จึงทำได้โดยง่าย ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดคือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯ และประธาน อ.ก.ค.ศ.
2.โกงโดยผู้เข้าสอบ เนื่องจากแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาฯ ใช้ข้อสอบของเขตพื้นที่ตัวเอง ดังนั้น ข้อสอบแต่ละเขตจึงไม่เหมือนกัน แก๊งทุจริตทั้งหลายจึงไม่ลงทุนการโกงด้วยเทคโนโลยี เพราะกลุ่มเป้าหมายอยู่ในวงแคบ แต่โกงโดยให้มือปืนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอบ (ต้องเป็นคนเก่งแกมโกงด้วย) หาวิธี สมัครสอบให้ได้ที่นั่งในห้องสอบเดียวกันกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการส่งคำตอบให้ลอกโดยการส่งสัญญาณภาษากายเป็นท่าทางต่างๆ เพราะเขตพื้นที่ฯ ใช้ ข้อสอบเพียงชุดเดียว และมักจัดที่นั่งสอบตามหมายเลขผู้สมัคร กระทั่งในการจัดสอบบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554 สพฐ.ได้มีหนังสือสั่งการให้จัดผู้เข้าสอบเรียงรายชื่อตามลำดับพยัญชนะ แก๊งทุจริตเข้าสอบที่เขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 7 ถึงกับลงทุนไปเปลี่ยนชื่อนำหน้าให้เหมือนกับมือปืนเพื่อให้ ได้นั่งสอบในห้องเดียวกัน จนมีสามารถสอบติดอันดับ 1-8
ผู้เขียนในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ได้ไปแจ้งความเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานความผิดจากกฎหมายฉบับใดได้ อาศัยเพียงความเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ว่า เชื่อได้ว่ามีการทุจริตจริง มาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจปรับ ผู้เข้าสอบ ทั้ง 8 รายให้ตก และได้รายงานเรื่องให้ สพฐ.และ กคศ.ทราบ แต่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทั้งสิ้นจาก สพฐ.และ ก.ค.ศ. ในการนำเรื่องนี้ไปเป็นบทเรียน ไม่มีการให้คำปรึกษาในทางที่จะเอาผิดกับพวกทุจริต ไม่มีการให้กำลังใจ อ.ก.ค.ศ.ที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ มีแต่จะให้หมกเม็ดเรื่องนี้เอาไว้
ส่วนกลโกง กรณี สพฐ.รวบอำนาจไปออกข้อสอบเอง เนื่องจากทุกเขตพื้นที่ฯ ที่จัดสอบใช้ข้อสอบฉบับเดียวกันทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสทองของแก๊งทุจริตมืออาชีพ ผสมโรงกับแก๊งทุจริตในคราบของข้าราชการ สพฐ.ทั้งบิ๊กเนมและ โนเนม (หากไม่มีระดับบิ๊กเนม สพฐ.ร่วมด้วยข้อสอบ จะรั่วได้อย่างไร) ทุจริตทั้งแบบแมนนวลและเทคโนโลยี เช่น เข้าสอบแทน ส่งสัญญาณท่าทาง ใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ อยากให้ดูการป้องกันการทุจริตในการสอบตำรวจ ที่ใช้ข้อสอบ 3 ชุด ใช้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ ถอดเสื้อผ้าตรวจก่อนเข้าห้องสอบ ส่งข้อสอบให้สนามสอบทางเฮลิคอปเตอร์ ก็ยังโกงกันได้ ในขณะที่การสอบบรรจุครู ใช้ข้อสอบชุดเดียว ส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ ไม่มีการป้องกันการใช้สัญญาณโทรศัพท์ มันจะไปเหลืออะไร
ทางออกควรทำอย่างไร
ผู้เขียนเชื่อในเจตนาดีของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้การสอบบรรจุคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูเป็นครูผู้ช่วย เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม เพียงแต่ฝีมือในการบริหารจัดการเรื่องนี้ยังมือไม่ถึง ประกอบกับ สพฐ.และ กคศ. ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในเรื่องนี้ไม่เคยเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการทุจริตหลายๆเรื่องในวงการศึกษา ผู้ใหญ่ส่วนมากในกระทรวงศึกษาธิการ (และกระทรวงอื่นๆ) ล้วนเติบโตมาจากฝ่ายการเมือง จึงนึกถึงแต่ความอยู่รอดในตำแหน่งหน้าที่ของตนเองเป็นหลัก ไม่ได้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน บางครั้งยอมแม้กระทั่งการเลี่ยงบาลีทำผิดกฎหมาย หากฝ่ายการเมืองสั่ง ดังเช่น การจัดสอบบรรจุครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2) ที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 47 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่อย่างชัดเจน ส่วน ก.ค.ศ.มีอำนาจในการกำหนดหลักสูตร วิธีการสอบแข่งขัน และวิธีดำเนินการที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน ตลอดจนเกณฑ์ตัดสิน การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้น บัญชี เป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น และการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของ กฎหมายคือ เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ นำไปปฏิบัติ หาก ศธ.โดย สพฐ.และ กคศ.เห็นว่า จะให้ส่วนกลางโดย สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดมาตรฐาน มีความยุติธรรม (แต่ทำไม่ได้) ต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก่อน
ส่วนตัวผู้เขียนเองเห็นว่า ควรต้องคืนอำนาจการการดำเนินการสอบฯ ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ จะทำให้เขตพื้นที่ฯ เข้มแข็ง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดย สพฐ.ต้องมีนโยบายให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ มอบอำนาจให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่หรือใกล้เคียงดำเนินการด้านการออกข้อสอบ อ.ก.ค.ศ.ดำเนินการจัดสอบ สพฐ.ส่งตัวแทนเข้าไปควบคุมการสอบ
ที่สำคัญคือ หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญา อย่างจริงจังกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในฝ่ายรัฐบาลจะต้องตรา หรือแก้ไขกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งให้สามารถเอาผิดผู้ทุจริตการสอบทุกวิธีทั้งทางแพ่งและอาญา โดยเฉพาะผู้ที่สมัครเข้าสอบเพื่อให้บุคคลอื่นลอกคำตอบด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ยังไม่ปรากฏว่ามีฐานความผิดจากกฎหมายฉบับใดเอาผิดพวกนี้ ได้เลย

–มติชน ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32152&Key=hotnews

12 ทักษะ เด็กไทยในอนาคต

21 มีนาคม 2556

12 ทักษะ เด็กไทยในอนาคต

ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ ได้สรุปเบื้องต้นร่างทักษะของเด็กไทยในอนาคตที่อยากเห็นจากหลักสูตรการศึกษาไทย ซึ่งมี 12 ทักษะ ดังนี้ 1. ทักษะในการเรียนรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สามารถหาความรู้ใหม่ได้ตลอดชีวิต 2. มีกระบวนการคิดแบบพิเคราะห์ 3. มีความคิดและความสามารถในการสร้างสรรค์ 4. มีความสามารถในการเผชิญปัญหา หาแนวทางและดำเนินการแก้ไขปัญหา 5. มีความสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประกอบการดำรงชีวิตในยุคใหม่ 6. มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น 7. มีความสามารถในการสื่อสาร ถ่ายทอดความคิด ความรู้ และสร้างความเข้าใจ 8. มีสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม 9. มีทักษะในการครองสติ เสริมสร้างจิตปัญญาและความดี 10. มีทักษะความเป็นไทย ซึ่งสามารถใช้ดำรงตนในโลกยุคใหม่ 11. มีทักษะประชาธิปไตย เคารพความคิดและความเห็นที่แตกต่าง สามารถบริหารความขัดแย้งได้ และ12. มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ มีความเป็นผู้ประกอบการและการมีอาชีพที่มีคุณภาพ
“12 ทักษะดังกล่าวดึงมาจากสิ่งที่หลายคนต้องการอยากจะเห็นในเด็กศตวรรษที่ 21 และเป็นสิ่งที่เด็กไทยยังขาดอยู่ โดยจะใช้เป็นแนวทางในการยกร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ที่กำหนดโครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาด้านวิชาการ กระบวนการเรียนการสอน และกิจกรรมประกอบหลักสูตร อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะนำร่างนี้เผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาสรุปเป็นร่างที่สมบูรณ์ต่อไป” ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32173&Key=hotnews

เร่งคลอดสถาบันอาชีวศึกษาเกษตร รมต.จ่อเซ็นหลักสูตรป.ตรี 4 ภาค – เล็งสอนปี’57

21 มีนาคม 2556

เร่งคลอดสถาบันอาชีวศึกษาเกษตร รมต.จ่อเซ็นหลักสูตรป.ตรี 4 ภาค – เล็งสอนปี’57

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ว่า ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือแจ้งให้ตนพิจารณายืนยันความเห็นร่างกฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร พ.ศ. …. นั้น ขณะนี้ตนได้แจ้งยืนยันความเห็นกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งข้อมูลไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ ก่อนเสนอ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนาม เพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวงต่อไป ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ตั้งเป้าที่จะเปิดการเรียนการสอนระดับปริญาตรี ในปีการศึกษา 2557 โดยระหว่างนี้ได้เตรียมความพร้อม ในการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรต่อไปอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ วษท.เชียงใหม่ วษท.แพร่ วษท.พะเยา วษท.ฉะเชิงเทรา และวิทยาลัยประมงปัตตานี ได้เข้าร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง นำร่องเปิดสอนปริญญาตรีในปีการศึกษา 2556 ไปแล้ว
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้มีสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 ภูมิภาค คือ 1.ภาคเหนือ ประกอบด้วย วษท.ตาก วษท.เชียงราย วษท.ลำพูน วษท.สุโขทัย วษท.กำแพงเพชร วษท.พิจิตร วษท.เพชรบูรณ์ วษท.นครสวรรค์ และวษท.อุทัยธานี 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย วษท.ร้อยเอ็ด วษท.อุดรธานี วษท.ขอนแก่น วษท.มหาสารคาม วษท.ศรีสะเกษ วษท.ยโสธร วษท.อุบลราชธานี วษท.นครราชสีมา วษท.ชัยภูมิ และวษท.บุรีรัมย์ 3.ภาคกลาง ประกอบด้วย วษท.สิงห์บุรี วษท.กาญจนบุรี วษท.ชัยนาท วษท.สุพรรณบุรี วษท.เพชรบุรี วษท.ราชบุรี วษท.ชลบุรี วษท.สระแก้ว วษท.ลพบุรี และวษท.ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และ 4.ภาคใต้ ประกอบด้วย วษท.นครศรีธรรมราช วษท.ชุมพร วษท.สุราษฎร์ธานี วษท.ระนอง วษท.พังงา วษท.กระบี่ วษท.ตรัง วษท.พัทลุง วษท.สงขลา วษท.สตูล วิทยาลัยประมงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32175&Key=hotnews

สช.จัด “สุภาพบุรุษอาชีวะจิตอาสา เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รุ่นที่ ๓

21 มีนาคม 2556

สช.จัด “สุภาพบุรุษอาชีวะจิตอาสา เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รุ่นที่ ๓

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวถึง “กิจกรรมสุภาพบุรุษอาชีวะจิตอาสาเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ที่ทาง สช.โดยกลุ่มงานโรงเรียนอาชีวศึกษา ได้จัดขึ้น โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ ๓ ติดต่อกัน มีนักเรียน นักศึกษาสุภาพบุรุษอาชีวะเข้าร่วมจำนวน ๑๔๑ คน โดย รุ่นที่ ๑ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบบ้านคลองตะเคียนชัย อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว รุ่นที่ ๒ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งกบินทร์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สรแก้ว สองรุ่นนี้ได้ดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วและรุ่นที่ ๓ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาอิสาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ โดยมีครู นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวน ๕๗ คน รวมถึงครูฝึกจากโรงเรียนสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ด้วย
เลขาฯ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง สช.ได้ร่วมกับกองทัพบกและ ศอศ. ในการจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือทำ ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม ในการไปทำกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษาในแต่ละครั้ง ถือเป็นการฝึกความอดทน ฝึกปรือวิชาที่ได้เรียนมาและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการใช้ชีวิตในค่ายกิจกรรมร่วมกันกับบุคคลอื่นนั้น จะทำให้เด็กๆ รู้จักการปรับตัวและรู้จักมารยาทในการเข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนภายนอก และเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี แก่รุ่นน้องในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ กิจกรรมดีให้กับสังคมภายนอกได้รับรู้ อีกทั้ง กองทัพบก ก็เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมและพัฒนานักเรียน นักศึกษาสุภาพบุรุษอาชีวะเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ทาง สช.จึงเล็งเห็นว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะสามารถช่วยให้สังคมภายนอกได้รับรู้ และยอมรับในตัวนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา รวมถึงปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเด็กอาชีวะให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นอีกด้วย

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32182&Key=hotnews

สพฐ.จ่อฟันอีก 10 เขต โกงสอบครู อานันท์แนะปฏิรูปแม่พิมพ์คุณภาพ

22 มีนาคม 2556

สพฐ.จ่อฟันอีก 10 เขต โกงสอบครู อานันท์แนะปฏิรูปแม่พิมพ์คุณภาพ

“สพฐ.” เตรียมตั้งกรรมการ 5 ชุด สอบทุจริตสอบครูผู้ช่วย 10 เขต รวมทั้ง4 เขต ที่ดีเอสไอชงโมฆะ “ผู้ตรวจราชการ ศธ.” จี้ ดีเอสไอ เร่งรับเป็นคดีพิเศษ หวั่นพยานไม่ปลอดภัย ด้าน “อานันท์” ชี้ไทยล้มเหลวการส่งเสริมสิทธิเด็ก แนะรัฐลงทุนพัฒนาทรัพยากรเด็กเป็น “ซุปเปอร์คิดส์” เพื่ออนาคตของประเทศ เผยเด็กภาคอีสาน 18 เปอร์เซ็นต์มีชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจน ขาดรักจากพ่อแม่ จี้ปฏิรูปครูคุณภาพปรับวิธีสอนใหม่พร้อมเสนอตั้งองค์กรภายนอกคุมรายการทีวี มีแต่ละครน้ำเน่าแฝงความรุนแรงเด็กซึมซับ-ลอกเลียนแบบอย่างแก๊งงฟันน้ำนม
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.56 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีทุจริตสอบครูผู้ช่วยว่า ขณะนี้ทางสพฐ.เตรียมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีก 5 ชุด เพื่อตรวจสอบข้อมูลใน 10 เขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วยสพป.อุดรธานี เขต 3, สพป.ยโสธร เขต1, สพป.นครราชสีมา เขต 2, สพป.หนองบัวลำภู เขต1, สพป.อุบลราชธานี เขต 5,สพป.ขอนแก่น เขต 4, สพป.ชัยภูมิ เขต1, สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2, สพป.กาฬสิทธุ์เขต 3 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการมัธยมศึกษา(สพม.)เขต 25 จ.ขอนแก่นเนื่องจากพบข้อมูลส่อทุจริต
ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มี 4 เขต ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอยกเลิกการสอบ ประกอบด้วย สพป.อุดรธานี เขต 3,สพป.ยโสธร เขต 1, สพป.นคร ราชสีมาเขต 2 และสพป.ขอนแก่น เขต 3 แต่เนื่องจากสพป.ขอนแก่น เขต 3 มีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยแล้ว จึงไม่ต้องมีกรรมการสอบข้อเท็จจริงอีก อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมการสอบจะดึงคนนอกมาทำหน้าเพื่อความโปร่งใส โดยใช้เวลาในตรวจสอบ 30 วัน
ขณะที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนารมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในวันที่ 22 มี.ค.เสียก่อน จะพิจารณาดำเนินการอย่างไร
ด้าน นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ในการประชุม ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาการทุจริตสอบครูผู้ช่วยควรจะยึดหลักคนทุจริตต้องถูกลงโทษ และคนบริสุทธิ์ต้องได้รับการดูแลตามหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาในภายหลังได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รู้สึกเป็นห่วงพยานปากสำคัญมาก เพราะกำลังถูกคุกคาม จึงอยากให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำคดีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษโดยเร็ว เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยพยาน พื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น
ด้านนายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในเรื่องดังกล่าวว่า อยากให้มีการตรวจสอบเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยอย่างเต็มที่ พร้อมดำเนินการตรวจสอบผู้ที่ผ่านการสอบบรรจุได้ 486 ราย ที่มีคะแนนสูงผิดปกติโดยเร็ว โดยไม่รอช้า และควรดำเนินการให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม หากตั้งใจทำจริงก็ตรวจสอบไม่ยาก เว้นแต่จะมีการซื้อเวลากันเท่านั้น ซึ่งเกรงว่าหากไม่เร่งดำเนินการจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนได้
วันเดียวกัน ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งเรื่อง การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนสู่ประชาคมอาเซียนว่า การที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนสู่ประชาคมอาเซียน ถือเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะเราจะต้องพัฒนาเพื่อสังคม และประเทศชาติของเราให้ดีก่อน ซึ่งการจะพัฒนาเด็กให้เป็นสุดยอดเด็ก (Super Kids) ด้วยบันได 3 ขั้น I am I have I can ก็เป็นเรื่องดี แต่เป็นดาบสองคมที่จะต้องระวังให้ดี เพราะ I can เป็นการให้อิสระในการคิด การทำอะไรบางอย่างโดยเด็กอาจจะลืมคำนึงถึงความรับผิดชอบ ดังนั้นจึงหวังว่าในอนาคตเด็กไทยจะไม่โตขึ้นมาแล้วพูดว่า “ผมโกงได้””โกหกได้” หรือ “หลอกคนอื่นได้”
“รัฐบาลยังต้องมีงานทำอีกมากในเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยซึ่งแม้ในภาพรวมจะดูว่ามีการส่งเสริมในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก แต่ในความเป็นจริงยังมีเด็กอีกหนึ่งกลุ่มที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลังเช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเด็กประมาณ 18% ต้องดำเนินชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจน ขาดสารอาหาร ไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่ จึงชี้ให้เห็นว่าไทยยังคงล้มเหลวในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพเด็กอีกมาก” นายอานันท์ กล่าวและว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเริ่มคิดว่าการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญระดับชาติ โดยปัจจุบันเด็กถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าจะละเลยไม่ได้แม้แต่คนเดียว ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน้าที่ที่จะต้องให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาเต็มตามศักยภาพของทุกคน และสนับสนุนงบประมาณในด้านนี้ให้มาก โดยเฉพาะเด็กในช่วงก่อนเข้าเรียน 5-7 ปี เพราะวัยนี้เป็นช่วงชีวิตที่ควรมีการเรียนรู้เรื่องการสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ต่อไป
นายอานันท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ควรจะต้องมีองค์กรภายนอกมาคอยดูแลในการนำเสนอรายการโทรทัศน์ และละครต่างๆ เพราะปัจจุบันละครน้ำเน่ามีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อพ่อแม่ดูเด็กก็จะดูตาม จนทำให้มีการลอกเลียนแบบและเกิดพฤติกรรมในทางที่ผิด เช่น การตั้งแก๊งฟันน้ำนมที่ขโมยรถ เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32187&Key=hotnews

ศธ.เตรียมมอบรางวัล ’สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

22 มีนาคม 2556

ศธ.เตรียมมอบรางวัล ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

ASTVผู้จัดการรายวัน – “พงศ์เทพ” พร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมสภาซีเมค ปี 58 และมอบรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” แก่สุดยอดครูจาก 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมมายุครบ 60 พรรษาซึ่งทรงอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษา
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ครั้งที่ 47 (47th SEAMEO Council Conference: SEAMEC) ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม2556 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่า ตนได้แจ้งที่ประชุมทราบว่า ปี 2558 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 ซึ่งในปีเดียวกันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยตลอดมาทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยดังนั้น เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงจัดมอบรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ให้แก่ครูผู้ทุ่มเทปฏิบัติงานและมีผลงานดีเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในวงกว้างต่อการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ ในการคัดเลือกจะให้สิทธิขาดแก่กระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศสมาชิกรวมไทยคัดเลือกครูที่มีคุณสมบัติตรงที่กำหนดประเทศละ 1 คน ซึ่งผู้ได้รับรางวัลจะได้รับประกาศเกียรติคุณ เงินรางวัล 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์การคัดเลือกนั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32188&Key=hotnews

 

เด็กไทย 6 ใน 10 หลุดระบบการศึกษา ระดมศธ.-ยูเนสโกปฏิรูปหลักสูตร

22 มีนาคม 2556

เด็กไทย 6 ใน 10 หลุดระบบการศึกษา ระดมศธ.-ยูเนสโกปฏิรูปหลักสูตร

ผลการศึกษาเส้นทางชีวิตของเด็กไทย พบเด็ก 6 ใน 10 คน หลุดจากระบบการศึกษา เฉลี่ยอายุตั้งแต่ 18 ปี ขณะเด็ก 4 คนที่เหลือเข้ามหาวิทยาลัยเพียง 1 คน จบ ป.ตรีได้งานทำใน 1 ปี เล็งปฏิรูปหลักสูตรร่วมกับ “ศธ.-ยูเนสโก” เตรียมเด็กไทยสู่ตลาดแรงงานคุณภาพ
ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นักวิชาการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงผลการเรียนศึกษาเส้นทางชีวิจของเด็กไทย พบว่า แต่ละปีมีเด็กเกิดเฉลี่ย 8 แสน คน (เทียบอัตราส่วน 1:80,000) เปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนเป็นจำนวนเด็ก 10 คน ในแต่ละ รุ่นที่เกิดปีเดียวกัน พบว่าในจำนวนเด็ก 10 คน หรือเด็ ก 1 คน (13%) เรียนไม่จบ ม.3 หรือ ไม่จบแม้แต่การศึกษาภาคบังคับ, เด็ก 3 คน (30%) เรียบจบ ม.3 แล้วเลิดเรียน , เด็ก 2 คน (21%) เรียนจนจบ ม.6/ปวช. แล้วไม่ได้เรียน ต่ออุดมศึกษา เหลือเพียงเด็ก 4 คน (36%) ที่เรียนต่อขั้นอุดมศึกษา แต่พบว่า จบเพียง 3 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 คนที่จบมาแล้วมีงานทำภายใน 1 ปี
จากผลสำรวจสำมะโนประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 ผลสอดคล้องกับข้อมูลที่วิเคราะห์ข้างต้นคือประชาชนกรอายุ 15-19 ปี หากอยู่ในระบบจะอยู่ในระดับ ม.ปลาย ปวช. หรือเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงกลุ่มนี้จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ที่ต้องออกมาทำงาน อาชีพส่วนใหญ่ 3 อันดับแรก 1 .เกษตรกรและประมง 41% 2.งานพื้นฐาน เช่น แผงลอย เป็นต้น 17% และ 3.พนักงานบริการ/ขาย/เสมียน 15%
ดร.รุ่งนภากล่าวว่า ขณะที่เยาวชนอายุ 20 -24 ปี หากอยู่ในระบบก็จะเป็นระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพชั้นสูง แต่ผลการสำมะโนประชากรพบว่ากลุ่มนี้ออกมาทำงานจำนวน 2.8 ล้าน คน (61%) และไม่ทำงานจำนวน 1.7 ล้านคน (36%) ตัวเลขนี้จึงสอดคล้องกับการเปรียบเทียบเด็ก สิบคนที่พบว่า มีเพียง 4 ใน 10 คน เท่านั้นที่เรียนต่อ
ดร.รุ่งนภากล่าวว่า เด็กทุกรุ่นเมื่ออายุ 18 ปี พบว่า 6 ใน 10 คน ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยขาดการเตรียมความพร้อม ดังนั้น ขณะนี้ สสค. ได้ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรโดยมี ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน และร่วมกับยูเนสโก จัดประชุมถอดบทเรียนกรณีศึกษาการปฏิรูปหลักสูตรที่ประสบผลสำเร็จของประเทศต่าง ๆ รวมถึงกรณีศึกษาการจัดทำหลักสูตรที่สร้างทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิตที่ตอบโจทย์เรื่องจริงของเด็กไทยกลุ่มใหญ่ในสังคมที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีคุณภาพตั้งแต่วัยเยาว์ในวันที่ 29 มีนาคมนี้

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 22 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32189&Key=hotnews 

 

 

วทท.เพื่อเยาวชน สร้างแรงบันดาลใจให้นักวิทย์รุ่นใหม่ เกิดพลังเปลี่ยน

22 มีนาคม 2556

วทท.เพื่อเยาวชน สร้างแรงบันดาลใจให้นักวิทย์รุ่นใหม่ เกิดพลังเปลี่ยน

การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท. เพื่อเยาวชน) ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์” โดยความร่วมมือของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีเรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย
ดร.พรชัย อินทร์ฉาย ผู้อำนวยการสาขาพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สาขา พสวท. และ สควค.) ของ สสวท. กล่าวว่า หากประเทศไทยพัฒนากำลังคนไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ จะทำให้ไม่มีนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่จะแข่งขันกับต่างชาติได้เลย สสวท.จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริม ผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาเยาวชน
นอกจากนี้ สสวท.ยังมี “ห้องเรียนพิเศษ” ในระดับมัธยมศึกษา เช่น ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้ผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น แม้ว่านักเรียนจะไปเรียนสาขาใดๆ ก็อยากจะให้เป็นนักวิจัยด้วย เช่น เป็นวิศวกรที่สามารถผลิตชิ้นงานขึ้นมาเองได้ เรียกว่าวิศวกรนักวิจัย หรือเป็นแพทย์นักวิจัย เป็นต้น จะทำให้เราเท่าทันและก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องมือมากมายที่นำมาใช้ในประเทศ
“งาน วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 8 เริ่มต้นจากการที่ สสวท.เปิดเวทีให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทุน พสวท. ได้นำเสนอ ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้เยาวชน ทุนอื่นๆ และเยาวชนทั้งไทยและต่างประเทศที่ไม่ใช่นักเรียนทุนแต่มีผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจเข้าร่วมนำเสนอผลงาน นอกจากนั้นภายในงานนี้ยังมีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีงานวิจัยที่เด่นๆ เชิงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอยากให้เยาวชนและผู้สนใจได้ไปเห็นว่าพี่ๆ เขาคิดอะไรกัน แล้วทำให้เกิดผลงานที่ขายสู่ห้าง หรือสู่การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจสังคมใน วงกว้างได้อย่างไร”
นอกจากนั้น ดร.พรชัย ยังกล่าวต่อไปว่า ผลงานวิจัยของเยาวชนที่มานำเสนอในงานนี้กว่า 400 ชิ้นงาน มีความ หลากหลายมาก ซึ่งจะมีประโยชน์ตรงที่เยาวชนและผู้สนใจด้านนี้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นการผลักดันและสร้าง แรงจูงใจให้กลุ่มเยาวชนที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์นี้ได้เข้าเรียนต่อยอดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และคิดค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ สสวท.ต้องการ
บางครั้งการทำผลงานบางชิ้น นักเรียนยังไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไร แต่คนที่มาเห็นนั้น ได้ทำอุตสาหกรรมด้านนี้อยู่ เกิดความสนใจ ก็เกิดการขยายผลสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โครงงานไตปลาผงของนักเรียนทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ศูนย์โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ที่ได้ผลิตและส่งออกต่างประเทศแล้ว และถ้าเกิดแบบผลงานนี้มากขึ้น ประเทศก็จะมีการพัฒนาขึ้นในระยะยาว
ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรีเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ทางด้านชีววิทยา ที่ปรึกษาสมาคมนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สทวท.) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดนักวิทยาศาสตร์ทุกสาขาชัดเจน แต่ถ้าเราจะเป็นประเทศที่จะพุ่งไปข้างหน้าได้ และเป็นส่วนหนึ่งของ AEC รวมทั้งของโลก ต้องใช้นวัตกรรม ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย วันนี้ถ้าเราต้องการแข่งขันกับต่างประเทศ เราจะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้ เราจึงต้องมีโครงการลักษณะนี้อีกมาก เพื่อสร้างคน และทำให้เขารู้ว่าเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางอาชีพ ไม่ใช่ว่าได้รับทุนและมาเรียนหนังสือเฉยๆ ต้องมีการสร้างผลงาน มาเจอเพื่อน และแลกเปลี่ยน 10-20 ปีข้างหน้าจะมีนักวิทยาศาสตร์ออกมาอีกมาก และแม้ว่าผลงานต่างๆ ที่นำเสนอในงาน วทท. เพื่อเยาวชน จะยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับผลงานวิจัยระดับโลก แต่ต่อไปในภายภาคหน้าเด็กๆ เหล่านี้จะเติบโตมาพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ
“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เวลาเกิดปัญหาในบ้านเมือง เริ่มเห็นว่านักวิทยาศาสตร์ออกมาตอบคำถามมากขึ้น เช่น เจองูประหลาดสีฟ้า หรือวันสิ้นโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถให้คำตอบได้ วันนี้เราจะเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไทยเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มตอบโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้นได้ วิทยาศาสตร์เริ่มเป็นที่พึ่งได้ แต่กว่าที่วิทยาศาสตร์จะเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้นั้น ต้องเริ่มมาจากเด็กๆ ซึ่งเริ่มจากการเข้าค่าย ฝึกทำโครงงาน เรียนหนังสือ นำเสนองานวิจัย ที่น่าสนุกคือการนำเสนองานวิจัยแบบนี้มาจากทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เรามีเพื่อนอยู่ทั่วประเทศ มีเพื่อน มีเครือข่ายกัน ซึ่งเราหวังว่าจะเห็นภาพแบบนี้กับเด็ก รุ่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ”
ในส่วนของสมาคม สทวท. ต่อการผลักดันเยาวชนให้เดินไปในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ เราก็จะช่วยในมุมของการที่เป็นบัณฑิต พสวท. เป็นศิษย์เก่าที่มาร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันเยาวชนให้เดินไปในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ ในหลายๆ กิจกรรม เช่น การเข้าร่วมงาน วทท. เพื่อเยาวชน ในครั้งนี้ ก็ได้เข้ามาดำเนินงานในส่วนของการเป็นกรรมการตามห้องต่างๆ คอยชี้แนะ แนะนำ วิจารณ์ ติชม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแก้ไขผลงานของเยาวชนที่มานำเสนอในงานนี้ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมอื่นๆ ของงาน เช่น แนะแนวการศึกษา การตัดสินรางวัลประกวดโปสเตอร์ ซึ่งสิ่งที่เราหวังจะเห็นคือเราอยากให้น้องๆ กลับมาเป็นเหมือนเราบ้าง และต้องพัฒนามากขึ้นกว่าเรา
“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องของคนทั้งโลก ฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่นักเรียนทุนเท่านั้น อยากให้เด็กไทยเริ่มชอบวิทยาศาสตร์ ไปเรียนวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศมากขึ้น และเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ช่วยกันพัฒนาทั้งโลก วิทยาศาสตร์เป็น สิ่งที่อยู่รอบตัว เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก มีเรื่องสนุกๆ อีกเยอะ ซึ่งจะทำให้เรามีอิสระทางความคิด สามารถคิดค้น สร้างสิ่งต่างๆ ได้เจอเรื่องใหม่ๆ ทุกวัน ทำให้เราสนุก และเกิดการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้ชัดเจนขึ้น วิทยาศาสตร์เป็นการเปลี่ยนแปลง และกระแสของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเราจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้รู้เท่าทัน”
ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง รักษาราชการแทนรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าภาพร่วมจัดงาน วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 8 ซึ่งท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนจากโครงการ พสวท. เช่นกัน และได้วิจัยสร้างงานวิจัยที่น่าสนใจหลายชิ้น กล่าวถึงบทบาทของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดกับ สสวท. ได้จัดให้มีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ในการจัดงานดูแล ฝ่ายพิธีการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์งาน และเตรียมงานจัดนิทรรศการที่น่าสนใจมากๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรมี ชื่อเสียงโดดเด่นอยู่แล้วในด้านการสร้างสรรค์ และบางคนอาจจะคิดว่าวิทยาศาสตร์กับศิลปะสร้างสรรค์เป็นคนละส่วนกัน แต่จริงๆ เป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมโยงและส่งเสริมกัน วิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์ต้องไปด้วยกัน ซึ่งวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ และศิลปะการสร้างสรรค์ก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์
“วิทยาศาสตร์มีส่วนส่งเสริมพัฒนางานวิจัยที่เชื่อมโยง สร้างคุณค่าต่อการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน การที่เราได้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ทำให้เวลาที่เรามองและการแก้ปัญหาเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น วิทยาศาสตร์สามารถใช้ประโยชน์ได้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวัน การกินอยู่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การประกอบอาชีพ ไม่เฉพาะอาชีพวิศวกรรม แพทย์ ยังรวมไปถึงการทำเกษตรกรรมด้วย”
สำหรับคุณสมบัติทั่วไปของการเป็นนักวิจัยนั้น เยาวชนต้องมีความสนใจในสิ่งรอบตัว การเป็นนักวิจัยต้องเริ่มจากการเป็นคนช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น พร้อมกับการมุ่งมั่นค้นคว้าหาคำตอบ และเด็กๆ คนไหนอยากเรียนวิทยาศาสตร์ ก็มีทุนต่างๆ ที่ส่งเสริมในการเรียนวิทยาศาสตร์ เช่น ทุนโครงการ พสวท. ทุนเรียนวิทยาศาสตร์ ทุนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในคณะวิทยาศาสตร์
“งาน วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 8 นี้ ตั้งใจจัดขึ้นสำหรับเยาวชนให้มานำเสนอผลงาน ได้แสดงออก ให้เห็นเชิงประจักษ์ เกิดแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ และ นักวิชาการท่านอื่นๆ นอกจากนั้นยังมุ่งให้เยาวชนและประชาชนที่มาชมผลงานได้เกิดแรงบันดาลใจ และได้เห็นความเป็นจริงของวิทยาศาสตร์ ว่ามีความน่าสนใจ มีความสนุก น่าค้นหา มีความสวยงาม มีศิลปะ มาผสมผสานกัน วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว พิสูจน์ได้ และอยากให้สังคมเราคิดอย่างเป็นระบบ แบบวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก” ผศ.ดร.เชาวรีย์ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32190&Key=hotnews