เปิดบันทึก”กฤษฎีกา” ห้าม!ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

5 มกราคม 2550

เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พรทิพย์ จาละ ได้ลงนามในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกี่ยวกับเรื่องการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สรุปความได้ว่า สพฐ.ได้รับหนังสือขอหารือจากหน่วยงานในสังกัด ดังนี้

1.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ฉะเชิงเทรา เขต 1 หารือกรณีกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นเพิ่มเติม ดังนี้ ตำแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฉะเชิงเทรา ประธานที่ปรึกษานายก อบจ.ฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เมืองฉะเชิงเทรา

2.สพท.นนทบุรี เขต 2 หารือกรณีกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 ในส่วนของกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.นนทบุรี

สพฐ.จึงขอหารือว่า การที่กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามข้อ 3 (6) แห่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2546 หรือไม่ ??

ที่ประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ไว้ในบันทึก เรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ (4) ว่า หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น

ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมจะต้องประกอบไปด้วยการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามนัยมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 โดยเมื่อการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในความหมายของการบริหารราชการแผ่นดินด้วยแล้ว ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารหรือควบคุมการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 291 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติไว้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประเภทหนึ่ง ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ทั้งนี้ เพื่อมิให้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนในการหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับประเด็นที่ว่าเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” แล้ว บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น อันได้แก่ รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น จะอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วยหรือไม่ นั้น

เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 35/3 (7) และมาตรา 37/1 (8) หรือ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 อัฏฐ (9) และมาตรา 48 โสฬส (10) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่นในการอำนวยการบริหารหรือควบคุมการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามที่ผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมาย โดยผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง และเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนั้นๆ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย

และเมื่อเทียบเคียงกับข้าราชการการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองตามมาตรา 4 (11) แห่ง พ.ร.บ.ข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกัน และถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นกันแล้ว บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรณีที่กรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ย่อมมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามข้อ 3 (6) แห่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2546 ที่ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยในขณะเดียวกัน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/maticho

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2378&Key=hotnews

สมศ.ขอบคุณ”มติชน”จัด”I see U” เชิญทุกฝ่ายทำบุญการศึกษาเด็ก

5 มกราคม 2550

สมศ.หนุนมติชนจัดโครงการ “โรงเรียน I see U มติชน 30 ปี” ระบุเป็นผู้นำการทำบุญด้านการศึกษาแก่เด็ก เชิญชวนทุกฝ่ายร่วมบริจาค เตรียมประกาศผลประเมินสถานศึกษารอบสองในเดือน ก.พ. กว่า 2 พันแห่ง คาดคุณภาพดีขึ้น แต่ยังมีอีก 560 แห่งที่อยู่ระดับโคม่า เพราะคะแนนต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน่าเป็นห่วง ถ้าไม่ช่วยเหลือ คงไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินรอบสองอีกแน่

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “มติชน” ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิอาจารย์บรรจง พงศ์ศาสตร์ จัดโครงการ “โรงเรียน I see U มติชน 30 ปี” เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานจำนวน 100 แห่ง เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน มีอายุครบรอบการก่อตั้งปีที่ 30 ว่า ถือเป็นโครงการที่ดีมากและขอชื่นชมยินดีอย่างยิ่งกับมติชนที่เข้ามาช่วยเหลือโรงเรียน คิดว่าทุกฝ่ายควรต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยการศึกษาคงไม่มีคุณภาพและจะเป็นการศึกษาที่ยั่งยืนของประเทศไปไม่ได้

“ในนามของประชาชนคนไทยจึงขอขอบคุณและอยากขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยบริจาคด้วยซึ่งการทำบุญกับการศึกษาเป็นสิ่งดีมาก ถือว่ามติชนเป็นผู้นำเรื่องการทำบุญกับการศึกษากับเด็ก” ดร.สมหวังกล่าว

ดร.สมหวังกล่าวต่อว่า สำหรับคำจำกัดความของโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้น คือโรงเรียนที่ได้คะแนนจากการประเมินคุณภาพผู้เรียน ครู ผู้บริหารและการบริหารรวม 14 มาตรฐาน ในระดับปรับปรุงและพอใช้ โดยระดับปรับปรุง คือ 1 คะแนน ระดับพอใช้คือ 2 คะแนน และระดับดี คือ 3 คะแนน ซึ่งรอบแรก สมศ.ได้ประเมินสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวนรวม 38,000 แห่ง พบว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในระดับปรับปรุงและพอใช้ จำนวนรวม 20,000 แห่งซึ่งตนเรียกว่าไอซียูคือเป็นโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ และในจำนวนนี้มี 560 แห่งที่ตนเรียกว่าโคม่า เนื่องจากได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน่าเป็นห่วงคือได้ต่ำกว่า 1.75 คะแนนเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ช่วยเหลือ จะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานในรอบสองอีกแน่

ดร.สมหวังกล่าวว่า ในจำนวน 560 โรงเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถมฯขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 300 คน ขาดแคลนครู อุปกรณ์การเรียนการสอน อยู่ไกลตามชนบทชายขอบ งบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนรายหัวไม่เพียงพอ เมื่อขาดปัจจัยเหล่านั้นจึงส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ตามที่หลักสูตรกำหนด การใฝ่รู้ใฝ่เรียนไม่ได้มาตรฐาน และเนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ห่างไกล ครูและผู้บริหารจึงมักขอย้ายออกบ่อย และแม้จะมีครูก็มักจะเป็นครูที่ไม่มีคุณภาพ เพราะที่มีคุณภาพมักจะขอย้ายไปอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ จึงส่งผลต่อมาตรฐานการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารไม่ได้มาตรฐานด้วย

ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สมศ.ได้ตกลงในหลักการกับกระทรวงศึกษาธิการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนโคม่าทั้ง 560 แห่งเหล่านั้น เนื่องจากเห็นว่าถ้าไม่เข้าไปช่วย โรงเรียนจะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินในรอบสองอีกแน่ ซึ่งรอบสองเริ่มประเมินระหว่างปี 2549-2553 ทั้งนี้ เป็นโครงการช่วยเหลือ 3 ปี ระหว่างปี 2550-2552 เลื่อนจากเดิมเล็กน้อยเนื่องจากมีการเปลี่ยนคณะกรรมการของ ศธ.ที่ดูแลเรื่องนี้ คาดว่าจะลงตัวและเริ่มเดินหน้าต่อได้ในอีกราว 1 เดือน โดยหลักการคือจะเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนในลักษณะวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ช่วยจัดหาทรัพยากรอุปกรณ์สื่อการเรียน ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและอาจจะจัดจ้างครูเพิ่มหากจำเป็น โดยแต่ละโรงเรียน จะใช้งบฯเพื่อพัฒนาแห่งละ 3 แสนบาท แยกเป็น สมศ.ช่วย 2 แสนบาท และ ศธ.ช่วย 1 แสนบาท

ดร.สมหวังกล่าวอีกว่า สำหรับการประเมินรอบสองนั้น ขณะนี้เริ่มประเมินไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งปลายเดือนมกราคมนี้ จะเสนอคณะกรรมการบริหาร สมศ.พิจารณาเห็นชอบผลการประเมิน หลังจากนั้นจึงจะเผยแพร่ได้ คาดว่าล็อตแรกของรอบสองจะเผยแพร่ได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ประมาณ 2,300 แห่ง แยกเป็นสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐานประมาณ 2,000 แห่ง ระดับอุดมศึกษาประมาณ 30 แห่ง และที่เหลือเป็นระดับอาชีวะ เท่าที่ดูเบื้องต้นสถานศึกษาเหล่านั้นคุณภาพดีขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นน่าจะผ่านการประเมินโดยไม่มีปัญหาอะไร

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2373&Key=hotnews

ชี้ กยศ.-กรอ.มีดีคนละอย่าง

5 มกราคม 2550

ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณีที่นิสิตนักศึกษาที่กู้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในปีการศึกษา 2549 เรียกร้องขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การกู้และการชำระเงิน กรอ. มาเป็นรูปแบบของ กยศ.ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กยศ. ในวันที่ 11 ม.ค. นี้ จะมีการหารือเรื่องดังกล่าว เพื่อเปิดทางเลือกให้นักศึกษาได้เลือกแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่ในฐานะผู้ดูแลกองทุนต้องรับว่าภาระการบริหารงาน 2 กองทุนต้องมีความยุ่งยาก และอาจทำให้ผู้กู้เกิดความสับสนได้ แต่คงต้องยอมเพื่อสิ่งที่ดีสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตามการเลือกที่จะใช้กองทุนไหนนั้นต้องเป็นความสมัครใจของผู้กู้เป็นหลักว่าต้องการหลักเกณฑ์กู้จากกองทุนใด

ดร.เปรมประชา กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักการเงินคงต้องบอกกับเด็ก ๆ ว่าเงื่อนไขของ กยศ.ดีกว่า กรอ. เพราะปลอดดอกเบี้ยนานแบบไม่มีที่ไหนในโลกทำเช่นนี้ เช่น หากกู้เงินเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 จนเรียนจบปริญญาตรี และทำงาน 2 ปีก่อนถึงมาชำระเงินคืน รวมแล้วเป็นเวลา 9 ปีที่ปลอดดอกเบี้ยจึงจะเริ่มชำระเงินคืน และคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น และถ้าเทียบแล้วค่าใช้จ่ายของ กยศ. จะถูกกว่า กรอ. เพราะ กรอ.จะต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำสัญญา แต่รูปแบบของ กรอ.จะมีข้อดีตรงที่กว่าจะเริ่มชำระเงินคืนจะมีการให้เวลาผู้กู้ตั้งตัวได้ก่อน ซึ่งอาจจะต้องทำงานถึง 10 ปีก็ได้กว่าเงินเดือนจะถึง 16,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ถึงจะเริ่มชำระเงินคืน แต่เมื่อพิจารณาทุกแง่ทุกมุมแล้ว ตนก็บอกไม่ได้ว่า กยศ.หรือ กรอ.จะดีกว่ากัน แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้กู้แต่ละคนว่าจะเห็นอะไรดีกว่ากัน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2374&Key=hotnews

ออมสินทุ่ม 80 ล้านปลูกคุณธรรมในใจเด็ก จัดรณรงค์รู้จักออม-ใช้เงินรับปีมหามงคล

5 มกราคม 2550

นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปีนี้เป็นปีมหามงคล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.2550 ธนาคารออมสินมีแนวคิดจะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อปลูกจิตสำนึกในด้านคุณธรรม และจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้เข้าร่วมแข่งขันในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจะมีรางวัลเป็นเงินสดให้สำหรับโรงเรียนที่ชนะเลิศ ชื่อโครงการเบื้องต้นคือ “บูรณฉัตร คุณธรรม จริยธรรม ดีเยี่ยม” ซึ่งธนาคารจะขอพระราชทานชื่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดของการประกวด จะหารือกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป สำหรับวงเงินรางวัลตั้งไว้ 80 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ธนาคารยังจะได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักออม และรู้คุณค่าของการใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้น โดยจัดรูปแบบการออมขึ้นมาใน 3 ลักษณะ คือ 1. การออมเพื่อฉุกเฉิน 2. การออมเพื่อการศึกษา และ 3. การออมเพื่อการจับจ่ายใช้สอย โดยทั้ง 3 รูปแบบจะมีกระปุกออมสินแยกไปแต่ละแบบเพื่อเป็นแรงจูงใจการออมและเรียนรู้การใช้เงินอย่างถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน และจะจัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากตอนนี้สังคมไทยหันไปใช้บัตรเครดิตมากขึ้น จนลืมคุณค่าของเงิน ถ้าสามารถปลูกฝังให้รู้จักการออมตั้งแต่เด็ก ก็จะช่วยในเรื่องของการใช้จ่ายอย่างประหยัดเหมือนกับคนญี่ปุ่น

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2372&Key=hotnews

กระทรวงวัฒนธรรมตั้งโครงการ “นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่น.ร.พิการ”

5 มกราคม 2550

รายงานการศึกษา  กุมารี วัชชวงษ์

เพื่อเด็กๆ ผู้พิการทางร่างกายได้เปิดรับสุนทรียภาพ สัมผัสซาบซึ้งศิลปวัฒนธรรม ได้เล่นดนตรี ระบำรำฟ้อน โครงการ “เอื้ออาทรและห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” จึงก่อกำเนิดขึ้นโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เป็นโครงการนำร่องของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยจัดครูนาฏศิลป์และดนตรีไทยหลักสูตรระยะสั้นสอนนักเรียนผู้พิการ นอกจากความรู้ เด็กๆ ยังได้ผ่อนคลายความเครียด ใกล้ชิดศิลปะ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญ กระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้

โรงเรียนในโครงการ ประกอบด้วย “โรงเรียนกาวิละอนุกูล” สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสมองและสติปัญญา คุณครูที่เข้าไปคือครูสอนการฟ้อนงิ้ว ศิลปะของภาคเหนือ สอนด้วยความเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่มักจะมีสมาธิสั้น จึงสลับด้วยการให้เล่มเกมสนุกสนาน ขณะที่ “โรงเรียนโสตอนุสารสุนทร” เป็นสถานศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางหู ก่อนจะมาคุณครูจึงต้องฝึกเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารอธิบายท่าทางการเต้นและการฟ้อนรำให้เด็กๆ และที่สุดก็รำได้สวยตามจังหวะทั้งที่ไม่ได้ยินดนตรี สุดท้ายคือ “โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ที่นี่ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ค้นพบช้างเผือก เด็กพิการทางสายตา 5 คน ได้เข้าเป็นนักเรียนเพื่อเป็นนักดนตรีไทยต่อไป

หลังจากลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการนำร่อง “เอื้ออาทรห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่จัดครูเข้าไปสอนเด็กผู้พิการตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา โดยวธ.ต้องการส่งเสริมสติปัญญา ดึงความสามารถของเด็กออกมา ที่สำคัญมีเด็กหลายคนที่มีความสามารถพิเศษด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย อย่างเด็กที่มีความพิการทางสายตาจะมีประสาทสัมผัสทางการได้ยินดีมาก บางรายเป็นอัจฉริยะทางดนตรีไทยได้เลยทีเดียว ดังนั้น วธ.จะสนับสนุนเด็กเหล่านี้โดยรับไว้เป็นนักเรียนในสังกัดวิทยาลัยนาฏศิลป์ และส่งเสริมให้ศึกษาต่อสาขาดนตรีในระดับอุดมศึกษา หากเด็กมีความตั้งใจและผลการเรียนดีก็จะหาทุนเพื่อส่งเสริมให้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอก เพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์สอนด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยต่อไป

“การสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้กับนักเรียนผู้พิการจะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าว และเด็กสามารถนำพื้นฐานจากนาฏศิลป์และดนตรีไทยไปปรับใช้ในชีวิตด้านอื่นๆ อาทิ เด็กหูหนวกบางคนมีความตั้งใจเรียนนาฏศิลป์และรำไทยมาก หากมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเด็กอาจเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและนำไปใช้ประกอบอาชีพ หรือเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนได้ด้วย ทางด้านครูที่เข้าไปก็พบว่าครูที่ไปสอนในวันเสาร์อาทิตย์นั้นทำด้วยใจจริงๆ โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่เป็นต้นแบบการสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้กับผู้พิการ มีการจัดทำคู่มือการเรียนดนตรีไทยเป็นอักษรเบรล ดังนั้น ผมจะขยายผลการจัดโครงการนี้ไปยังวิทยาลัยนาฏศิลป์กรุงเทพฯ และประสานความร่วมมือกับโรงเรียนเศรษฐเสถียรต่อไป” ปลัดวธ.กล่าว

ด้านนางเพียงแข จิตรทอง อาจารย์ผู้สอนนาฏศิลป์และการฟ้อนรำให้กับน้องๆ ผู้พิการทางหู เปิดเผยว่า ตนและอาจารย์จันทิวา เกษร เพื่อนครูที่ช่วยกันสอนนักเรียนหูหนวกต้องฝึกหัดเรียนภาษามือให้เข้าใจ ขณะเดียวกัน ก็จะมีอาจารย์ของโรงเรียนโสตอนุสารสุนทรช่วยแปลภาษามือสอนการรำให้กับนักเรียนอีกทอดหนึ่ง โดยครูจะสาธิตให้ดู ซึ่งแม้เด็กๆ จะมีการนับจังหวะท่ารำแตกต่างจากคนทั่วไป แต่สามารถนับจังหวะและเรียนรู้นาฏศิลป์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะความชื่นชอบ มีความสนใจ และมีพรสวรรค์ สามารถจดจำท่าได้เร็วไม่แพ้กัน

“น้องเฟย”น.ส.สุดารัตน์ พนมพิบูลย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โสตอนุสารสุนทร ส่งภาษามือเล่าว่า ชอบเรียนนรำไทยมากเพราะทำให้บุลคิกภาพดีขึ้น อีกทั้งเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่สวยงาม และเยาวชนควรสืบสานต่อไป น้องเฟยไม่ชอบการเต้นสมัยใหม่ที่มีท่าทางยั่วยวนและใส่เสื้อผ้าโป๊เปลือย ซึ่งดารานักร้องในปัจจุบันเป็นตัวอย่างให้วัยรุ่นทำตาม ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากเคยเป็นสังคมที่เรียบร้อย มีมารยาท เปลี่ยนเป็นสังคมที่วุ่นวายยุ่งเหยิง เกิดปัญหาตามมา จึงอยากเชิญชวนให้เด็กรุ่นใหม่ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมไทยเอาไว้ แล้วเลือกเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกในด้านดีๆ จะเหมาะสมกว่า

นักเรียนจากโครงการ “เอื้ออาทรและห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” ฝากถึงเยาวชนทุกคน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2370&Key=hotnews

“คุณครูธรรมชาติ”ฟื้นรากเหง้าแห่งชีวิต

5 มกราคม 2550

เปิดตัวบริษัท มีเดีย เลิฟเวอร์ จำกัด พร้อมผลิต 2 รายการโทรทัศน์ บอสใหญ่ผู้กุมบังเหียน “เดียว”สุรชาติ ตั้งตระกูล เผยรายละเอียด

“รายการแรก “คุณครูธรรมชาติ” เป็นรายการแนว เอ็ดดูเทนเมนต์ รูปแบบใหม่ ที่จะนำผู้ชมกลับคืนสู่ธรรมชาติ เป็นมุมมองจากผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเกิดการการละเลย หรือห่างหายจากวิถีธรรมชาติ แต่กลับสนใจแต่เรื่องนวัตกรรมไอที และดำเนินชีวิตตามกลไกของวัตถุนิยมจนหลงลืมรากแท้ของชีวิต โดยเฉพาะธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ถือเป็นความรอบรู้ที่มีค่ามากที่สุด และจะเป็นครูที่ดีที่สุด โดยนำเสนอผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ที่ให้ทั้งสาระและความสนุกกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย เทปแรกจะออกอากาศวันอาทิตย์เวลา 17.05 น. ทางช่อง 5″

“ส่วนอีกรายการ “เที่ยวอย่าง…เดียว” รายการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “ฮิพจัง ตังค์พอไหว” เป็นรายการท่องเที่ยวที่นำเสนอการจัดงบประมาณการเดินทางเพื่อเป็นแนวทางการท่องเที่ยวทั้งหรูและลุยแบบไม่เดือดร้อนกระเป๋าสตางค์ จะพาผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดรูปแบบและวางแผนการเที่ยว เทปแรกออกอากาศวันเสาร์ที่ 6 ม.ค. เวลา 17.05 น. ทางช่อง 5 เช่นกัน”

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2371&Key=hotnews

ศรัทธาแห่งการศึกษา วิถีแห่งสันติภาพ

5 มกราคม 2550

คอลัมน์ เจาะใจจีน

โดย แทนคุณ จิตต์อิสระ eee004@hotmail.com

ความรู้คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งจะกำหนดชะตาอนาคตของโลกและมนุษย์ให้เป็นไปตามสิ่งที่รับรู้นั้นๆ ยิ่งสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามสภาวะคุกคามจากความรู้ที่ไหลบ่าเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระบบการศึกษาของไทยยังตั้งรับอย่างเชื่องช้า ไม่เพียงแต่ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงไปของกระแสโลก แต่ยังขาดระบบภูมิคุ้มกันที่ดีพอ

ดังสะท้อนผ่านภาพปัญหาความเครียดต่อการแข่งขันเสรีในระบบการศึกษา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยมีปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนดอย่างชัดเจน ในที่สุดผู้มีฐานะน้อยก็อาจจะกลายเป็นผู้ด้อยการศึกษาไป อีกด้านหนึ่งเป็นปัญหาการขาดระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียน นักศึกษา ทั้งการแต่งกาย พฤติกรรม ค่านิยม ความฟุ้งเฟ้อ โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายการแก่งแย่งแข่งขัน และการใช้ความรุนแรงของสังคมไทย ที่เยาวชนเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสะท้อนวิกฤตศรัทธาของการศึกษาบ้านเราทั้งสิ้น

เพราะเมื่อการศึกษาไม่สามารถสร้างอุปนิสัยที่ดีให้กับมนุษย์ได้ ตรงกันข้ามกลับเป็นต้นทางแห่งความแตกต่างและแตกแยก ในที่สุดความรุนแรงในมิติต่างๆ จึงระเบิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็นฝักฝ่าย พรรคพวก เป็นสถาบันนั้นสถาบันนี้ มหาวิทยาลัยนั้นมหาวิทยาลัยนี้ พวกนั้นพวกนี้ เป็นต้น

เมื่อมองเห็นปัญหา ต้องมองหาสาเหตุ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เมื่อปัญหาของการศึกษาเกิดจากความไม่มั่นใจ หรือไม่ได้รับคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา ซึ่งควรหมายถึง วิธีการสร้างและขยายองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนามนุษย์และสังคม ให้การลดความเห็นแก่ตัว ประสานสามัคคี และสมประโยชน์ คือสังคมได้รับประโยชน์ มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จิตใจและปัญญาสูงขึ้น การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติและประสบการณ์ของผู้เรียนให้เกิดแรงบันดาลใจที่ดี และมีการสร้างเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้อยู่เสมอ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาต้องมีคุณธรรม และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภูมิปัญญา ที่ได้จากพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้าน ที่สังกัดกลุ่มหรือเครือข่ายท้องถิ่น และดำเนินการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ชนรุ่นหลัง

ผมยังเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของไทยเราที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ที่ดีงามให้กับเยาวชนในแต่ละภูมิภาคได้ภาคภูมิใจได้ โดยไม่ต้องหมุนไปตามกระแสที่สังคมเมืองกำหนดหรือครอบงำระบบคิดของพวกเขา ซึ่งจะทำให้เยาวชนของเรามีความมั่นใจในความเพียรพยายามและประสบความสำเร็จได้ โดยบูรณาการความรู้รอบตัวกับความรู้ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นภาคการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด ผ่านกิจกรรมที่พวกเขาควรจะมีสิทธิในการเลือกแนวทางที่ตนชอบและเชื่อมั่น ทั้งการเกษตร การแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การอนามัยและสาธารณสุข การป้องกันยาเสพติด และสิทธิชุมชน เป็นต้น

ผมเชื่อในการศึกษาหาความรู้ที่มีคุณค่าและความงดงามเสมอ ยิ่งในสังคมไทยปัจจุบันความรู้ที่นำพาสันติภาพมาสู่ผู้คนในสังคมยิ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างที่สุด ความรู้และการศึกษาต้องมีเป้าหมาย และเป้าหมายนั้นต้องรวดเร็วและเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการองค์ความรู้และความคิด ปลูกฝังคุณธรรม และค่านิยมที่ดี เพื่อคุ้มครองเยาวชนให้พ้นจากภัยจากสื่อละครโทรทัศน์ที่ไม่สร้างสรรค์และพัฒนาเท่าที่ควร เต็มไปด้วยความรุนแรง ฉากตบตีกัน ความฟุ่มเฟือย ราคะวิสัย ชิงรักหักสวาท ที่มีให้เห็นทุกวันจนกลายเป็นรอยพิมพ์ฝังใจให้เลียนแบบ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้พวกเขาให้ได้

ผมหวังว่า ปีใหม่เราจะได้สิ่งใหม่ๆ ขึ้นในระบบการศึกษาที่ต้องเน้นคุณธรรม จริยธรรมในเชิงการปฏิบัติการ ส่งเสริมการเรียนรู้และการค้นพบความชอบหรือศรัทธาแห่งการศึกษาด้วยตัวของพวกเขาเอง ที่สำคัญที่สุดการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วย การศึกษา เพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ครับ

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2369&Key=hotnews

กรมศาสนาเคาะประตูบ้านชวนคนเข้าวัด

5 มกราคม 2550

จับมือ”อปท.”สำรวจทุกครัวเรือน ตั้งเป้าปี”50พบพระเดือนละ2หน

นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงแผนปฏิบัติงานของกรมการศาสนา ในปีงบประมาณ 2550 ว่า ในปีงบประมาณ 2550 กรมการศาสนาได้รับงบฯเพิ่มจากปีงบฯที่แล้ว 50% โดยได้รับ 560 ล้านบาท นอกจากนี้ จะขออนุมัติงบกลางจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นค่าสอนศีลธรรมอีกประมาณ 260 ล้านบาท ซึ่งถือว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในเรื่องของศาสนาอย่างแท้จริง ส่วนแผนปฏิบัติงานของกรมการศาสนานั้น ได้วางหลักในเรื่องการวิเคราะห์และส่งเสริมศีลธรรมในประชาชน โดยจะหาและใช้วิถีทางต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าวัดปฏิบัติธรรม อย่างน้อยให้พาครอบครัวเข้าวัดเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งจะใช้มาตรการเชิงรุกร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตรวจสอบรายชื่อว่าบ้านไหนยังไม่เข้าวัด ก็จะเข้าไปพูดคุยและเชิญชวนให้เข้าวัด นอกจากนี้ ในกลุ่มข้าราชการจะส่งเสริมโดยเสนอขอให้มีมติ ครม.ให้ข้าราชการทุกหน่วยงานเข้าไปปฏิบัติธรรมอย่างน้อย 5 วัน 5 คืน ในช่วงเวลา 1 ปี ส่วนกลุ่มเด็กและเยาวชน จะใช้ครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษาที่ปัจจุบันมีจำนวน 1 หมื่นรูปทั่วประเทศ และขณะนี้กำลังขออนุมัติ ครม.เพิ่มครูพระอีก 1 หมื่นรูป ก็จะได้ครูพระสอนศีลธรรมในเกือบทุกสถานศึกษา

“นอกจากนี้แล้ว กรมการศาสนายังจะส่งเสริมศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งเวลานี้ยังมีไม่ครบทุกพื้นที่ ปีนี้ก็จะพยายามเปิดให้ได้ใน 2 พันตำบล รวมของเดิมเป็น 4 พันตำบล จากทั้งหมด 8 พันตำบลทั่วประเทศ และจะให้มีพระมาสอนศีลธรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้เด็กได้เรียนธรรมศึกษา รวมไปถึงการสอบธรรมศึกษาชั้นตรี โท และเอกในสถานศึกษาด้วย รวมทั้งกำลังจะประสานกับทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้หมายเหตุในสมุดพกนักเรียนด้วยว่าเด็กที่จบ ป.6 หรือ ม.3 และม.6 คนใดที่สอบธรรมศึกษาได้ในระดับใดด้วย เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการสมัครเรียนต่อหรือไปสมัครทำงาน โดยควรต้องให้โอกาสพิเศษกับนักเรียนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนสนใจในธรรมศึกษา” อธิบดีกรมการศาสนากล่าว

นายปรีชากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีนักเรียนประมาณ 1 ล้านคน ที่เรียนธรรมศึกษาในแต่ละปี จากจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งหมดประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนน้อย ตนอยากจะเห็นมีนักเรียนสัก 10 ล้านคน ที่สอบธรรมศึกษาต่อปี ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็จะส่งผลให้หลวงพ่อตามวัดต่างๆ จำนวน 2-3 หมื่นรูป ได้มีโอกาสมาสอนเด็ก แต่ทุกวันนี้หลวงพ่ออยากจะสอน แต่เด็กไม่อยากจะเรียน เพราะเรียนแล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ถ้าทำให้การเรียนมีความหมายดังกล่าวก็จะทำให้เด็กๆ ให้ความสนใจกันมากขึ้น

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2366&Key=hotnews

“การศึกษา” รากฐานแห่งความ “พอเพียง”

5 มกราคม 2550

เป็นที่ทราบกับดีว่าหลักความ “พอเพียง” สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งใดก็ได้ ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้วและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นลำดับต่อไป…”

ดั่งพระราชดำริที่ทรงเน้นว่า “การพัฒนาความเจริญต้องพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานที่มั่นคง” ซึ่ง…พื้นฐานจะมั่นคงได้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ “การศึกษา” เนื่องในโอกาสพิเศษคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานปีใหม่รังสรรค์สิ่งดีเพื่อชีวิตสดใส ได้รับเกียรติจาก รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับสถานศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายขวัญแก้วบอกว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนมีการศึกษา ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้ดี ทัดเทียมกันหมด ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ดี

“การศึกษาเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นมาก จะเห็นได้จากทรงมีพระบรมราโชบายให้เปิดโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เมื่อปี 2531 ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยจัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ ป.1-ม.6 และให้โรงเรียนดำเนินการตามพระบรมราโชบาย คือ สอนให้นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด เริ่มตั้งแต่ ป.1 พระองค์ทรงเน้นให้เด็กรักความสะอาด เด็กต้องรู้จักซักผ้าเอง ทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำให้สะอาด เพราะพระองค์ทรงถือว่า ห้องน้ำเหมือนห้องรับแขก ทุกอย่างเด็กต้องทำได้ด้วยตัวเอง”

นายขวัญแก้วเล่าว่า เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะมีพระราชประสงค์ให้เด็ก “รู้จักการช่วยเหลือตนเอง” ซึ่งเป็นสิ่ง “สำคัญที่สุด”

“อีกข้อที่ทรงเน้นคือ การอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดี มีเมตตากรุณา ดั่งที่สมเด็จย่าตรัสว่า ความเมตตาคือความสงสาร ส่วนความกรุณา คือ ช่วยตามกำลังความสามารถของตนเอง ไม่ใช่ช่วยเพราะอำนาจ เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน แทนที่มีน้อยจะทำน้อย กลับไปยืมเงินคนอื่นมาทำเกินฐานะ”

รองเลาขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บอกอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชประสงค์ให้ปลูกฝัง ความประพฤติเรียบร้อย กตัญญูกตเวที ความขยันหมั่นเพียร มีจิตใจโอบอ้อมอารี และรู้รักสามัคคคีเพื่อสันติสุข

“เรื่องสุดท้ายที่ทรงเน้นคือ ให้นักเรียนดำรงชีวิตโดยยึดหลักพอเพียง คือ เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้วสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงอธิบายว่า ถ้าหากจบมหาวิทยาลัยแล้วเดินเตะฝุ่น นี่ไม่ใช่พระราชประสงค์ แต่ถ้าจบมัธยมแต่สามารถอยู่ได้ด้วยลำแข้งตนเอง สิ่งนี้ต่างหากที่ถือว่าเยี่ยม”

นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ “นักเรียน-นักศึกษา” สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็น “ผู้ใหญ่” ที่รู้จักความ “พอเพียง” อย่างลึกซึ้ง

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2368&Key=hotnews

“ดร.สว่าง”ประธาน”ทปอ.มรภ.”คนใหม่ ชูยกมาตรฐาน”ราชภัฏ”เทียบชั้นม.รัฐ

5 มกราคม 2550

ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พิบูลสงคราม และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ทปอ.มรภ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เลือกประธาน ทปอ.มรภ.คนใหม่ แทน รศ.ดร.สุพล วุฒิเสน อธิการบดี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่หมดวาระลงเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2549 โดยผลการคัดเลือกให้ตนเป็นประธาน ทปอ.มรภ.คนใหม่ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป ส่วนนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ยังไม่ได้หารือรายละเอียดในที่ประชุม ทปอ.มรภ. แต่เบื้องต้นตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ น่าจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มทำเรื่องที่เหมือนๆ กัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันในทุกเรื่อง เช่น เรื่องการวิจัยเพื่อชุมชน เรื่องนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และเรื่องโครงการพระราชดำริ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนเพื่อวัตถุประสงค์ในการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ ทั้งในแง่ของอัตรากำลังคน และงบประมาณ รวมถึงเพื่อดำเนินการให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐทั่วไป เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสอง

“เราต้องการอยู่ในมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐทั่วไป แต่ไม่จำเป็นต้องเป็น World Class University ซึ่งในปัจจุบันทางสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็เริ่มพูดถึงเรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฉะนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งใดที่ดำเนินงานในลักษณะทำไร่เลื่อนลอย หรือเปิดศูนย์และวิทยาเขตโดยไม่ได้คุณภาพ ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ซึ่งผมจะหยิบยกปัญหาเรื่องนี้มาพูดคุยกันในที่ประชุม ทปอ.มรภ.ในโอกาสต่อๆ ไป” ดร.สว่างกล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2364&Key=hotnews