ครม.ไฟเขียวให้ ศธ.แลกเปลี่ยนครูกับฟิลิปปินส์สอนพื้นฐาน – อาชีวศึกษา

1 พฤษภาคม 2556

ครม.อนุมัติ ศธ.ทำบันทึกข้อตกลงแลกเปลี่ยนครูกับฟิลิปปินส์ สอนในระดับพื้นฐาน-อาชีวศึกษา เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา ตั้งเป้าหลังลงนามเตรียมจะสรุปจำนวนครูและวิชาที่สอนเพื่อให้ทันเปิดเทอมปีการศึกษา 2556

วานนี้ (30 เม.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ ศธ.เสนอขออนุมัติจัดทำและลงนามบันทึกความตกลงระหว่างกระทรววงศึกษาธิการไทยและฟิลิปปินส์ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนครู โดยมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง ซึ่งสาระสำคัญของการบันทึกความตกลงดังกล่าว จะเกี่ยวกับการส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษา และการพัฒนาครูของประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์ โดยครูของทั้ง 2 ประเทศจะแลกเปลี่ยนเพื่อทำการเรียนการสอนในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา ในสาขาวิชาที่มีความตกลงร่วมกัน

“ได้เคยหารือทวิภาคีกับทางฟิลิปปินส์ ในการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ครั้งนั้นทั้งไทยและฟิลิปปินส์เห็นร่วมกันที่จะจัดให้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนครู โดยได้กำหนดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2556 ในประเทศไทย ซึ่งภายหลังลงนามร่วมกันแล้วจึงจะหารือในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งถึงจำนวนครูผู้สอน และวิชาที่จะสอนซึ่งตั้งเป้าว่าจะต้องดำเนินการให้ทันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2556”นายพงศ์เทพ กล่าวและว่า ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะทำให้ครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กับเพื่อนครู ทั้งในด้านเทคนิคการสอนในชั้นเรียน เนื้อหาวิชาเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ครูจะยังทำหน้าที่เสมือนทูตทางการศึกษาช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ และสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันของประชาคมอาเซียนด้วย

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32570&Key=hotnews

เด็กวิ่งรอกสอบน้อยลง แห่เข้า ม.เอกชนมากขึ้น

 1 พฤษภาคม 2556

                “พงษ์อินทร์” ฟุ้งปีนี้เด็กวิ่งรอกสอบตรงน้อยลง ระบุเพราะข้อมูลเคลียริงเฮาส์ชี้เด็กเลือกเรียนที่เดียว สะท้อนเด็กรู้ตัวเองมากขึ้น พร้อมพบสัญญาณแอดมิชชั่นปี 56 เด็กเริ่มสละสิทธิ์ไปเรียนเข้า ม.เอกชนจำนวนมาก

          นายพงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่ม ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า จากข้อมูลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบรับตรง หรือเคลียริงเฮาส์ ประจำปีการศึกษา 2556 พบว่า มีจำนวนที่นั่งที่สามารถยืนยันสิทธิ์สูงสุด 4 คณะ จำนวน 30 คน 3 คณะ จำนวน 260 คน 2 คณะ จำนวน 2,985 คน และ 1 คณะ จำนวน 36,575 คน ซึ่งตัวเลขที่นักเรียนสามารถยืนยันสิทธิ์สูงสุด 4 คณะ ถือว่าไม่มาก และมีเพียง 30 คนเท่านั้น ทั้งที่นักเรียนสามารถสมัครกี่แห่งก็ได้ แต่เมื่อชื่อเข้าสู่ระบบระบบเคลียริงเฮาส์แล้ว นักเรียนสามารถยืนยันสิทธิ์ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้ไปกันที่คนอื่น ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่า เดิมที่สังคมเข้าใจว่านักเรียนวิ่งสอบหลายที่ และเสียเงินค่าสมัครจำนวนมากนั้น จริงๆ ไม่ได้มีมากอย่างที่เข้าใจ เพราะข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนว่านักเรียนส่วนใหญ่เลือกสมัครเพียงคณะเดียว สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น ว่าต้องการเรียนอะไร

          นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังพบว่ามีตัวเลขนักเรียนสละสิทธิ์แอดมิชชั่น แล้วไปสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยเอกชนอีกจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้ในคณะที่อยากเรียน หรืออาจจะมีปัจจัยอื่นๆ แทรกเข้ามา ตรงนี้จะต้องไปวิเคราะห์หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรกันแน่ อย่างไรก็ดี ในอนาคตคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่มมีความหวังว่าจะทำให้การสอบเหลือเพียงระบบเดียว เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องสอบเยอะ แต่เท่าที่ดูคงเป็นไปได้ยาก เพราะนักเรียนยังมีพฤติกรรมเลือกสมัครหลายระบบอยู่

          ที่มา: http://www.thaipost.net

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32569&Key=hotnews

ครม.เห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด

1 พฤษภาคม 2556
      

          ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด โดยกำหนดให้ใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เป็นแบบมาตรฐานสำหรับหน่วยราชการ สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการเขียนหนังสือไทยให้เป็นระเบียบเดียวกัน

       โดยพจนานุกรมฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชำระพจนานุกรม โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำศัพท์ทั่วไป ซึ่งเป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทย และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม รวมทั้ง แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำศัพท์เฉพาะสาขาวิชา ได้แก่ ศัพท์กฎหมายไทย ศัพท์ประวัติศาสตร์ไทย ศัพท์พรรณพืชและพรรณสัตว์ ศัพท์ดนตรีไทย

          ศัพท์ดนตรีสากล และราชาศัพท์ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขานั้น ๆ และที่สำคัญ ได้มีการเก็บคำศัพท์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการพัฒนาเรื่องดิน น้ำ และป่าไม้ ประกอบด้วยคำว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา แกล้งดิน แก้มลิง ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง โครงการตามพระราชดำริ โครงการตามพระราชประสงค์
          โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ โครงการพระดาบส โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการหลวง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา
          รวมทั้งเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทยในปัจจุบัน สำหรับความเป็นมาของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 นั้น ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นในปี 2554 เนื่องจากเป็นปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ซึ่งโครงการจัดพิมพ์พจนานุกรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว
          ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 23 พ.ย.2554 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดพิมพ์พจนานุกรมฯ และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์พจนานุกรมฉบับดังกล่าว เพื่อแจกจ่ายไปยังสถาบันการศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
          ทั้งยังแจกจ่ายให้ สถาบันศาสนา หน่วยงานราชการ ตลอดจนคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสื่อมวลชน ให้ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานของการเขียนหนังสือไทย เพื่อให้เกิดเอกภาพในด้านภาษาอันเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ
          เพื่อให้หน่วยราชการและสถาบันการศึกษารวมทั้งประชาชนทั่วไปมีแบบมาตรฐานเดียวกันสำหรับใช้ในการเขียนหนังสือไทย สำหรับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นั้น เป็นฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขมาจาก พจนานุกรมฯ ฉบับปี 2542 และผ่านการพิจารณาของกรรมการชำระพจนานุกรม ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์ประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น นาย ประเสริฐ ณ นคร นาย จำนงค์ ทองประเสริฐ และ นางกาญจนา นาคสกุล เป็นต้น

          ที่มา: http://www.prachachat.net

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32568&Key=hotnews

สพฐ.จัดทำแผนพัฒนาเด็กปี 56

30 เมษายน 2556
  

         สพฐ.จัดทำแผนพัฒนาเด็กปี 56 จัดให้เป็นปีปฏิรูปการเรียนการสอน มี 4 กิจกรรม
          เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้มีการกำหนดแผนและเป้าหมายที่จะดำเนินการในปีการศึกษา 2556 โดยจะกำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่

          1.จัดทำคู่มือในการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนแบบครบวงจร โดยจะมีการจัดอบรมให้แก่ศึกษานิเทศก์ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ เพื่อนำไปขยายผลให้กับเขตพื้นที่การศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับคู่มือเล่มนี้จะมีการสอนเกี่ยวกับการให้การบ้าน และมอบงานที่เกี่ยวกับโครงงานต่างๆ แก่เด็ก เพื่อให้งานเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และไม่เป็นภาระแก่เด็ก

          2.จะนำทฤษฎีห้องเรียนกลับด้านมาใช้ โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม และจะมีการปรับโครงสร้างการใช้เวลาอย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีการนำสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เป็นตัวช่วยในการเรียนการสอน

         3.จัดทำแผนการพัฒนาคุณภาพของนักเรียน โดยนำผลการวิเคราะห์คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET และคะแนนการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ National Test (NT) ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงถึงจุดอ่อนของนักเรียนในทุกช่วงชั้น มาจัดทำเป็นแผนการพัฒนาที่มีเป้าหมาย เพื่อให้ครูได้เน้นย้ำลงไปในจุดที่เด็กมีปัญหาโดยตรง และ

        4.กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการพัฒนาทั้งด้านคุณธรรม และวิชาการควบคู่กันไป

          “ในปีการศึกษา 2556 สพฐ.จะพัฒนาโรงเรียนในเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมนำวิชาการ ซึ่งในปีการศึกษา 2555 ได้เริ่มนำร่องในโรงเรียนดีประจำตำบลไปแล้ว 6,500 แห่ง โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนดีศรีตำบล ดังนั้นในปีนี้จะขยายผลเพิ่มเติมไปยังโรงเรียนในฝันอีก 2,628 แห่ง โดยผู้บริหาร ครู และนักเรียน จะต้องผ่านการอบรมในเชิงคุณธรรม และจริยธรรมผ่านภาคปฏิบัติด้วย เพื่อให้ผู้เรียนมีความสมดุลทั้งด้านวิชาการ และจิตใจ” นายชินภัทร กล่าว..

          ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32564&Key=hotnews

สรอ. ตั้ง มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ

30 เมษายน 2556
      

          เพื่อขับเคลื่อน Smart Government ภายใต้นโยบาย Smart Thailand ของกระทรวงไอซีที ที่จะยกระดับการให้บริการประชาชน ผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ สานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จึงได้จัดทา “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ (Government Website Standard)” เพื่อช่วยให้การพัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยจะเริ่มจากจดทะเบียนชื่อและเป็นผู้ถือครองโดเมนเนม ภายใต้ชื่อ “data.go.th” และ “apps.go.th” ในการให้บริการเว็บไซต์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ และเป็นศูนย์กลางของแอพพลิเคชั่นภาครัฐ

          มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐจะมีการปรับปรุงตั้งแต่ องค์ประกอบเนื้อหาเว็บไซต์ คุณลักษณะของเว็บไซต์ภาครัฐที่ควรมี รวมถึงแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ซึ่งได้รวบรวมและประมวลจาก กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับในประเทศที่เกี่ยวข้อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และข้อกาหนดองค์การสหประชาชาติ ในการจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มประเทศสมาชิก ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับนานาชาติ

          จากนี้ไป เว็บไซต์ของ 7 กระทรวง และอีก 1 หน่วยงาน อันประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในรายการที่องค์การสหประชาชาติจะทาการตรวจประเมิน ดาเนินการพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานเว็บไซต์ และเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ AEC

Source – เทเลคอม เจอร์นัล (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32563&Key=hotnews

พงศ์เทพเด็ดขาดสั่งไม่เลี้ยงอาชีวะก่อเหตุ

30 เมษายน 2556
   

 

          “พงศ์เทพ” ชี้ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดกับเด็กอาชีวะที่ก่อเหตุรุนแรง ต้องออกจากโรงเรียน เพื่อจะได้สำนึกและส่งสัญญาณต่อไปยังเด็กรุ่นหลัง จิตแพทย์ระบุนักเรียนตีกันเป็นปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบน ก่อตัวตั้งแต่ระดับประถม

          ในการประชุมปฏิบัติการจัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุกการป้องกันและแก้ปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่ จ.ตรัง ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ซึ่งกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาได้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การวิจัยและวิเคราะห์ทางการแพทย์ถึงสาเหตุของพฤติกรรมเบี่ยงเบนในเด็กอาชีวศึกษา สำหรับการใช้มาตรการให้ออกจากโรงเรียน เด็กที่ก่อเหตุรุนแรงนั้น ตนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณให้นักเรียนที่ก่อเหตุรู้ว่า ถ้าทำแบบนี้จะได้รับผลกระทบอะไร เพราะถ้าเราไม่มีมาตรการ พฤติกรรมใช้ความรุนแรงก็จะเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กรุ่นหลังต่อไป ขณะที่บุคคลที่ก่อปัญหานั้น เราจะจัดระบบอื่นที่จะได้รับการศึกษา ซึ่งเขาจะไม่อยู่ในสังคมที่สามารถทำให้ประชาชนเดือนร้อน หรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตามแบบได้อย่างแน่นอน

          ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผอ.รพ.จิตเวช นครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้วิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเบี่ยงเบนของเด็กอาชีวศึกษาที่ใช้ความรุนแรงและต่อต้านกฎระเบียบ พบว่า 10% ของชั้นเรียน ส่วนใหญ่เป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ ระบบการศึกษาและค่านิยม ซึ่งระบบการศึกษาชั้นประถมศึกษา ส่วนหนึ่งทำให้เด็กมีปัญหาสมาธิสั้น ไม่สามารถปรับตัวกับระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกส่วนหนึ่งคือสติปัญญาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และภาวะไม่สามารถเรียนบางวิชาได้ ส่วนค่านิยมนั้นคือ ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่อยากให้เรียนสายสามัญมากกว่า รวมถึงเด็กที่เรียนหนังสือเก่งส่วนใหญ่ไม่เลือกเรียนต่อสายอาชีวศึกษา จึงทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งไปรวมอยู่สายอาชีพ

          “เด็กเบี่ยงเบนไม่ใช่เป็นเด็กเลว แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร จึงต้องแสดงออกให้สังคมได้เห็นว่าเขามีพลัง บางคนมีอาการป่วยทางจิต ซึ่งหลายท่านไม่ทราบ ถ้ามองปัญหานี้เขาน่าสงสาร เราต้องร่วมมือกัน ใช้วิธีการป้องกันก่อนเกิดความรุนแรง โดยมอบหมายให้ครูที่มีความเข้าใจและใกล้ชิดกับเด็กให้เป็นทั้งพ่อแม่และเพื่อน เอาใจใส่และให้คำปรึกษา หรือมีจิตแพทย์พิเศษดูแล” นพ.พิทักษ์พลกล่าว

          ขณะที่ตัวแทนนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษากล่าวว่า สาเหตุที่มีการทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นเรื่องการปกป้องศักดิ์ศรีของสถาบัน จึงมีการใช้ความรุนแรงกับคู่อริ ส่วนใหญ่จะใช้อาวุธปืนและมีด ส่วนแนวทางการแก้ปัญหานั้น อยากให้เพิ่มจุดระวังให้มากกว่าเดิม และอยากให้ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์รีบแจ้งเบาะแสแก่ตำรวจทันที รวมถึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมที่แต่ละสถาบันสามารถทำร่วมกัน เช่น การเข้าค่าย เป็นต้น.

          ที่มา: http://www.thaipost.net

! http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32562&Key=hotnews

อาชีวะฯยึดกระแสพระราชดำรัช ยกระดับนร.อาชีวะ กับรัฐบาลจีน

30 เมษายน 2556
      

          นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ สอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการจัดการอาชีวศึกษากับตนว่า จากการที่ได้ทรงเสด็จฯทอดพระเนตรยังโรงเรียนมัธยมอาชีวศึกษาเจิ้นซ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรอาหารจีน เสริมสวย ถ่ายภาพ การโรงแรม พบว่าทำได้ดี มีความก้าวหน้าเอาจริงเอาจัง เพราะจีนเห็นความสำคัญการเรียนสายอาชีพ และสถานประกอบการก็ให้ความร่วมมือโดยการเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดการเรียนการสอนด้วย และยังเน้นจัดการเรียนการสอนอาชีพเฉพาะด้านอย่างลึกซึ้งตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและยังมีรูปแบบการเรียนที่ดี ที่สำคัญให้เด็กได้ไปฝึกงานในต่างประเทศเป็นปี ซึ่งจากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะนำมาขยายผลการจัดการศึกษาร่วมกับประเทศจีนโดยเฉพาะในสาขาที่ประเทศจีนมีความโดดเด่นและสั่งสมมาอย่างยาวนานจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก อาทิ สาขาการดูแลสุขภาพ การแพทย์แผนจีน อาหารจีน เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ผ่านมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยมีความร่วมมือกับวิทยาลัยของจีนในการส่งครูมาสอนภาษาจีน ปีละประมาณ 50 คน โดยครูจีนจะมาสอนเกี่ยวกับการสื่อสารภาษาจีน ภาษาจีนธุรกิจ แต่ไม่ได้สอนอาชีพที่เป็นจุดเด่นของจีน อย่างไรก็ตาม ในเร็ว ๆ นี้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเดินทางไปเจรจาความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการจีน ดังนั้นตนจะถือโอกาสนี้เดินทางไปด้วยเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาในสาขาที่จีนมีความเชี่ยวชาญ และอาจจะส่งครูมาสอนอาชีพนั้น ๆ รวมถึงให้เด็กอาชีวะไทยได้ไปฝึกงานที่ประเทศจีนด้วย โดยจะทำในลักษณะความร่วมมือระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะส่วนของวิทยาอาชีวศึกษาที่ดำเนินการกันเองเท่านั้น

          ที่มา: http://www.naewna.com

 http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32558&Key=hotnews

 
30 เมษายน 2556
      

ประสาน ศธ.ดึงนศ.เข้าสู่ตลาดแรงงาน 

          ประสานศธ.ดึงนศ.เข้าสู่ตลาดแรงงาน
          “เผดิมชัย”ชี้ขาดแรงงานมากกว่าตกงาน
          เชื่อเด็กไม่ค้าประเวณียกเว้นฟุ่มเฟือย

          “เผดิมชัย”ชี้ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าตกงาน เชื่อนศ.ไม่คิดเข้าสู่อาชีพค้าประเวณียกเว้นมีค่านิยมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สั่งก.แรงงานเก็บข้อมูลตำแหน่งงานทุกระดับการศึกษา แจ้งศธ.-สถานศึกษา ดึงนศ.ว่างงานเข้าสู่ตลาดแรงงาน ชี้รัฐลงทุน 2.2 ล้านล้าน ส่งเสริมจ้างงานเพิ่มขึ้น
          นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีนักวิชาการแสดงความเป็นห่วงเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ.2558 ที่มีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายคนได้อย่างเสรี จะทำให้ธุรกิจการค้าประเวณีขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะนักศึกษาระดับอุดมศึกษาประเทศต่างๆที่ตกงานจะเข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้นว่า ปัญหานักศึกษาไทยตกงานนั้นไม่น่าห่วงเพราะขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานสาขาต่างๆอย่างมาก และกระทรวงแรงงานจะสำรวจตำแหน่งงานว่างในสาขาต่างๆจากสถานประกอบการและจะส่งข้อมูลไปยังกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และสถานการศึกษาต่างๆเพื่อให้การผลิตกำลังคนสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและส่งเสริมให้ผู้ที่เรียนจบระดับปวช. ปวส. และปริญญาตรีมาสมัครงานในตำแหน่งงานว่าง เพื่อจะได้มีงานทำ นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมีโครงการลงทุนพัฒนาประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท จะช่วยให้เกิดการจ้างงานในสาขาต่างๆเป็นจำนวนมาก ทำให้นักศึกษามีงานทำเพิ่มขึ้น
          “ทุกวันนี้ประเทศไทยต้องการแรงงานเยอะมาก ปัญหานักศึกษาไทยตกงานจึงไม่น่าห่วง กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนตำแหน่งงานให้แก่นักศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศ ผมเชื่อว่านักศึกษาส่วนใหญ่คงไม่มีใครคิดอยากไปทำอาชีพค้าประเวณีต่างก็ต้องการมีงานดีๆทำทั้งนั้น ปัญหาการตกงานจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้นักศึกษาเลือกทางเดินไปสู่อาชีพค้าประเวณี แต่เป็นความต้องการส่วนตัว เนื่องจากมีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากกว่า” รมว.แรงงาน กล่าว
          นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหานักศึกษาจากประเทศต่างๆในอาเซียนจะไหลเข้ามาในไทยและเข้าสู่อาชีพค้าประเวณีในไทยนั้น กระทรวงแรงงานก็มีมาตรการดูแลอยู่แล้วโดยแรงงานจากประเทศต่างๆที่จะเข้ามาในไทยจะต้องมายื่นใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะต้องมีงานรองรับและนายจ้างชัดเจน จึงจะได้รับใบอนุญาต แต่หากเป็นการลักลอบเข้ามาค้าประเวณีก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของไทย

          ที่มา: http://www.naewna.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32557&Key=hotnews

มหา’ลัยขานรับ “บัณฑิตไทยไม่โกง”

29 เมษายน 2556

ที่ประชุมอธิการบดีฯ มอบ”นิด้า” ทำโพล “บัณฑิตไทยไม่โกง” ขยายผลบรรจุหลักสูตรสังคม นศ.ปี 1 ต้องเรียน ด้านจุฬาฯ ชงซอฟแวร์ตรวจจับการคัดลอกผลงานวิชาการภาคภาษาไทยพร้อมตั้งคณะตรวจสอบการใช้งบฯ 2.2 ล้านของรัฐบาลโปร่งใสหรือไม่ ส่วนยอดสมัครแอดมิสชั่นส์ปี 56 สรุปรวม 113,400 รายใกล้เคียงปีที่แล้ว

ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วันที่ 28 เม.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีการประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และลงนามความร่วมมือ”โครงการบัณฑิตไทยไม่โกง” โดยนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(สอท.)ได้สรุปยอดการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลางประจำปีการศึกษา 2556 มียอดสมัครทั้งหมด 113,400 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ก็ยังได้มีการรายงานยอดสมัครการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ประจำปี2556 จำนวน 31,710 คน โดยในปีนี้ มีผู้ที่ขอสละสิทธิ์ 11,735 คน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวสละสิทธิ์ น้อยกว่าปีที่ผ่านมาทำให้เห็นได้ว่าระบบเคลียสริ่งเฮาส์ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญทำให้นักศึกษาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

ทั้งนี้ ทปอ.ฝากถึงนักเรียนที่สมัครผ่านระบบแอดมิสชั่นส์ ให้รีบมาตรวจสอบข้อมูลใช้ในการคัดเลือกฯ และรายชื่อนักเรียนที่ถูกตัดสิทธิ์แอดมิสชั่นส์กลางให้มาตรวจสอบข้อมูล วันที่ 28-30 เม.ย.56 www.cuas.or.th ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายวันที่ 9 พ.ค.56 www.cuas.or.th สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย วันที่ 14-16 พ.ค.56 และมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาที่สอบได้ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา วันที่ 22 พ.ค.56 www.cuas.or.th นอกจากนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการศึกษา และจัดทำโครงการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย โดยมีนายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นประธาน

“ทปอ.ได้มีการหารือถึงกรณีที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการพัฒนาระบบการขนส่งจากระบบถนนไปสู่ระบบรางและระบบน้ำ จำนวน 2.2 ล้านล้าน มีมติเห็นชอบว่าควรจะต้องเข้าไปช่วยศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ รวมถึงผลิตกำลังคนรองรับโครงการดังกล่าว และที่สำคัญจะต้องมีการตรวจสอบการทุจริตในการดำเนินโครงการดังกล่าว”นายสมคิด กล่าว

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี นิด้า กล่าวว่า ทปอ.ได้มอบหมายให้นิด้าทำโพล โครงการบัณฑิตไทยไม่โกง เพื่อให้มีความต่อเนื่อง ทั้งนี้ ที่ผ่านมานิด้าได้ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้จัดทำหลักสูตรโตไปไม่โกงซึ่งประสบคงามสำเร็จ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีโรงเรียนอยู่ทั่วประเทศไม่มีการนำหลักสูตรนี้ไปใช้ จึงฝากให้ ศธ.เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย ในส่วนของอุดมศึกษาจะมีการกำหนดเรื่องดังกล่าวบรรจุในกลุ่มวิชาทั่วไป และวิชาสังคมศึกษาให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในระดับปริญญาตรีได้เรียน ขณะเดียวกัน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำซอฟแวร์ เพื่อตรวจสอบถึงการลอกผลงานทางวิชาการของนิสิตนักศึกษา และอาจารย์ ที่เป็นภาคภาษาไทย

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32539&Key=hotnews

คอลัมน์: มติชน มติครู : จัดระเบียบ..แก้ ‘ครู’ ขาดแคลน

29 เมษายน 2556

สุนทร เชี่ยวพานิช  ในขณะที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังตื่นตัว พร้อมระคนไปกับความละล้าละลังกับข้อกังขาในความชัดเจนชนิดที่อาจเรียกได้ว่า “ไร้” เอกภาพ โดยเฉพาะบนเส้นทางของการเตรียมการที่จะรับมือกับการเปลี่ยนถ่ายมิติในการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าสู่สังคมยุคใหม่ แต่ทุกอย่างก็ต้องก้าวผ่านไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในปี พ.ศ.2558

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นองค์กรหลักที่สำคัญในการสร้างเยาวชนของชาติ แม้ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมไว้คอยรับมือกับสภาพของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะได้พยายามที่จะเร่งพัฒนาระดับคุณภาพการศึกษา ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในด้านวิทยาการสมัยใหม่ให้แก่เด็กๆ ไทย ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้เป็นบุคลากรที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับสภาพของสังคมยุคไร้พรมแดน “อย่างไร้รอยต่อ” เช่น ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียน นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการเรียนการสอนรายวิชาอาเซียนศึกษา ทั้งในรูปแบบของการให้ความรู้เฉพาะเรื่อง และองค์รวมแห่งการเรียนรู้ อาทิ ให้รู้ถึงที่มาที่ไป และความจำเป็นของการที่จะต้องรวมกลุ่มกันเป็นประเทศอาเซียน บทบาทของการเป็นประเทศสมาชิก ตลอดจนในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมทั้งในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมในเชิงของการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าควรที่จะพัฒนาตนเองอย่างไร จึงจะทำให้สามารถดำรงชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งต่อคนไทยด้วยกันและต่อประชากรอาเซียนได้อย่างสร้างสรรค์ และมีความสุข

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายต่างเป็นห่วงกันมากในขณะนี้ก็คือ ปัญหาในเรื่องการ “ขาดแคลนครู” ที่นับวันจะมีจำนวนมากเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ครูนั้นถือเป็นตัวจักรที่สำคัญในระดับต้นๆ ของการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ตัวเด็ก จากข้อมูลพบว่าในปี พ.ศ.2560 จะมีครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกษียณอายุราชการจำนวนประมาณ 100,000 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่ไม่น้อย และหากจะนับรวมกับครูทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกษียณอายุราชการไปในห้วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่เกษียณอายุราชการปกติ และเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คน ที่จะต้องพ้นไปจากแวดวงการศึกษา

ที่สำคัญบรรดาครูที่ต้องเซย์กู๊ดบายไปทั้งก่อนหน้านี้ และที่กำลังจะโบกมืออำลาไปจากระบบการศึกษาเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากผลผลิตของภาครัฐในอดีต รวมทั้งยังได้รับการ “การันตี”จากสังคมมาเป็นอย่างดี ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนความมุ่งมั่น ความอดทน ความเสียสละ และอื่นๆ
ที่น่าสนใจก็คือบรรดาครูกลุ่มนี้ต่างก็ได้ผ่านการศึกษาเล่าเรียนอย่างเข้มข้นมาจากสถาบันที่ผลิตครูโดยเฉพาะ ในห้วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 โดยในช่วงนั้นปรากฏว่าประเทศไทย ได้มีกลุ่มเด็กที่จะต้องเข้าเรียนในระดับประถมศึกษามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องครูขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภาครัฐจึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนในสายวิชาชีพครูกันอย่างอึกทึก พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรต่างๆ ขึ้นมากมายสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นครู

ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของภาคประชาชนให้ทั่วถึง เช่น มีการรับผู้เรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.5) เข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา (ป.ป.) การเข้ารับการศึกษาภาคค่ำ (twilight) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ปกศ.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการชั้นสูง (ปกศ.สูง) ควบคู่ไปกับการเปิดให้เรียนภาคปกติในวิทยาลัยครู (เดิม) รวมทั้งยังได้จัดตั้งวิทยาลัยครูเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังได้มีการผลิตครูโดยคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่น่าสนใจก็คือในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา บรรดาครูที่จบการศึกษาในรุ่นที่รัฐผลักดันนี้ก็ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเป็นระบบทั้งในระดับ “ปัจเจก” และระดับ “มหภาค”ที่เหนืออื่นใด จุดเด่นของครูในรุ่นนี้ก็คือการแสดงออกถึงความเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนด้านทักษะและประสบการณ์ของความเป็นครูอย่างแท้จริง เช่น การสมัครเข้าสอบวิชาชุดครูทั้งในระดับประกาศนียบัตรพิเศษวิชาการศึกษา (พ.กศ.) ประกาศนียบัตรพิเศษวิชาครูมัธยมศึกษา (พ.ม.) สมัครสอบวิชาชุดครูทั้งสองระดับนี้ทางไปรษณีย์ การใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนไปเข้ารับการอบรมโครงการจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน (อศร.) เข้าอบรมภาคค่ำในระดับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ใช้เวลาในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และปิดภาคเรียนไปเข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตามโครงการการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศบป.) รวมทั้งเข้ารับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ จนทำให้มีครูจำนวนมากสามารถเรียนจบหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่สำคัญสามารถนำพาการศึกษาของชาติให้ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างพึงพอใจ

ทั้งนี้ เป็นเพราะเกิดจากการมีวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย กรมการฝึกหัดครู สภาการฝึกหัดครู คณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ คุรุสภา วิทยาลัยครู ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัดของครู ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความตื่นตัวและความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองของครูในรุ่นนั้น ที่สมควรจะได้จดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยยุคหนึ่ง
ครั้นต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาขึ้นในปี พ.ศ.2542 พร้อมทั้งได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขึ้นมาหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ พ.ศ.2547 ฯลฯ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่รับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาให้แก่เด็กไทยทั้งประเทศ จะได้มีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านนโยบายจากซีกการเมือง ที่นอกจากแกว่งไปแกว่งมาแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านข้อกฎหมายต่างๆ ฯลฯ จนทำให้เส้นทางในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่คาดหวัง
ประกอบกับในช่วงนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างในการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ทั้งระบบ สุดท้ายจึงทำให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรกที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี ส่วนใหญ่จึงเป็นไปในลักษณะของการแสวงหาคำตอบ ซึ่งผลที่ปรากฏออกมาก็คือ นอกจากจะส่งผลทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบผลอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังทำให้การจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาไม่เป็นที่พึงพอใจของสังคมที่ต่างก็คาดหวังกันไว้ค่อนข้างสูงที่ต้องการเห็นการปฏิรูปการศึกษาเป็นเบ้าหล่อหลอมเด็กๆ ไทยให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ควบคู่ไปกับด้านคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะก่อนที่ประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่เวทีของการแข่งขันยุคประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการใช้ภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ในด้านสมรรถนะที่สำคัญๆ เช่น การคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างมีเหตุผล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การรู้เท่าทันกระแสของสังคมยุคใหม่ การดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอาเซียน การดำรงชีวิตตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอื่นๆ

ทั้งนี้ โดยต่างก็ได้ฝากความหวังทั้งหมดนี้ไว้กับ “ครู” เหตุผลก็เพราะยังมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ครูเท่านั้นจะเป็นผู้ที่สามารถประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ไปสู่ตัวเด็กๆ ได้ดีที่สุด ทั้งนี้ โดยไม่เข้าใจถึงสภาพข้อเท็จจริงของกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ว่านอกจากจะต้องมีครูที่มีศักยภาพเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เด็กแล้ว ยังจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เอื้อ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ สื่อการเรียนการสอน รวมทั้งความร่วมมือจากภาคสังคม และอื่นๆ ที่เหนืออื่นใดก็คือ นโยบายในด้านการจัดการศึกษาจะต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านๆ มา ดูเหมือนกระทรวงศึกษาธิการกลับมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกันเป็นว่าเล่น ดังนั้น จึงทำให้การดำเนินงานด้านการศึกษาของชาติต้องเกิดอาการสะดุดและไม่ต่อเนื่อง ที่สำคัญยังได้ส่งผลทำให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ นอกจากจะเกิดอาการสับสนในด้านนโยบายแล้ว ต่างยังเกิดอาการอ่อนล้าไปตามๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องครูสังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะเกษียณอายุราชการภายในปี พ.ศ.2560 จำนวนประมาณ 100,000 คน รวมกับครูทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้เกษียณอายุราชการย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คนนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ล้อเล่น เพราะนี่ถือเป็น “หลุมดำหลุมใหญ่” ที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต

หากกระทรวงศึกษาธิการเองยังไม่มียุทธ ศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มครูที่เกษียณอายุราชการกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่จะมีจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังมีประวัติและที่มาที่ไปที่ไม่ธรรมดา ดังนั้น การแก้ปัญหาครูขาดแคลนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งถือเป็นยุคของการแข่งขันนี้ จึงควรที่จะต้องกระทำกันอย่างพิถีพิถัน ที่สำคัญจะต้องเตรียมการกันเสียแต่เนิ่นๆ และมีมาตรฐาน ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพจริงๆ มาทำงานด้านการศึกษาอย่างสมน้ำสมเนื้อ

ดังนั้น จึงต้องฝากให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย และยังเป็นนักการเมืองน้ำดีที่สังคมต่างให้การเชื่อถือ จึงควรที่จะใช้โอกาสนี้สร้างมิติใหม่ที่เป็นคุณประโยชน์ ทั้งต่อการศึกษาและประเทศชาติ คือนอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาในเรื่องการขาดแคลนครูนี้อย่างจริงจังแล้ว ยังควรที่จะต้องเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู ไม่ว่าจะเป็นคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยเปิด รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ และหน่วยงาน อื่นๆ มาร่วมกัน “จัดระเบียบ” ในการผลิตครูใหม่ทั้งระบบ เพื่อจะได้วางแผนในการสร้างครูยุค “โลกไซเบอร์” ที่มีคุณภาพจริงๆ เพื่อนำไปทดแทนครูรุ่น “เราสู้” ที่กำลังจะอำลาไปจากแวดวงการศึกษาในอีกไม่ช้า

อย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านการศึกษาให้ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะถ้าหากสามารถคัดเลือกคนที่มีคุณภาพเข้าไปทำหน้าที่เป็นครู และที่เหนืออื่นใดในการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นครูนั้น จะต้องมีการกำหนด “สเปก” ไว้ให้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะมาเป็นครูได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นคนที่มีความรักและความศรัทธาต่อวิชาชีพครูเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้ที่มีทั้งบุคลิกภาพ มีความมุ่งมั่น มีความทุ่มเท และความเสียสละที่จะมาทำงานด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาเป็นครู

สุดท้ายจะได้ไม่ต้องมาโทษกันไปโทษกันมาถึงเรื่อง “คุณภาพ” การศึกษาที่ “ตกต่ำ” เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32540&Key=hotnews