ไฟเขียว 25 นิติกรรับเงินพิเศษ ‘4 – 6 พันบาท’

25 เมษายน 2556

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ก.ค.ศ.ได้ออกระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของบุคลากรทางการศึกษาในสายงานนิติการ พ.ศ.2553 และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรปฏิบัติการ นิติกรชำนาญการ นิติกรชำนาญการพิเศษให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ (พ.ต.ก.) นั้น ก.ค.ศ.มีมติอนุมัติให้นิติกรผู้ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถได้รับ พ.ต.ก. กรณีให้ได้รับ พ.ต.ก.ครั้งแรก ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด รวม 25 ราย

นางรัตนากล่าวต่อว่า โดยเป็นระดับชำนาญการ 11 ราย และระดับชำนาญการพิเศษ 14 ราย ดังนี้ ระดับชำนาญการ 11 ราย คือ นายภานุพัฒน์ หล้าปาวงศ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ลำปาง เขต 1 นางมนพัทธ์ รุ่งเช้า สพป.สุรินทร์ เขต 3 นางสาวรังสิมา ภู่แปลง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 42 นายบุญเลิศ ทิพย์รักษ์ สพป.พังงา นางสุรีย์พร สุกากิจ สพป.พิษณุโลก เขต 1 นายกษิดิ์เดช ชมบุตรศรี สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ด.ต.ธนัญชัย แก้วศรีงาม สพป.น่าน เขต 2 นางอารีรัตน์ อิสโร สพป.ระนอง นางสาวเดือนวิไล อู่ทรัพย์ สพป.อุตรดิตถ์ เขต 2 นายทนง ถวาย สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 3 และนายวัชรินทร์ ทับทิมจินต์ สพป.สกลนคร เขต 1 ได้รับ พ.ต.ก. ในอัตรา 4,500 บาทต่อเดือน

เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า ระดับชำนาญการพิเศษ 14 ราย คือ นายเสรี คงเจริญ สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 1 นายนเรศ สวัสดี สพป.จันทบุรี เขต 1 นายเสนอ เวียงบาล สพม. เขต 26 นายประทีป ปั้นอยู่ สพป.สระบุรี เขต 1 นางสาวอมรวรรณ กฤตานุพงศ์ สพป.กาญจนบุรี เขต 2 นายลิขิต ฟักธรรม สพป.นครสวรรค์ เขต 1 นายธีระ ประทุมชาติ สพป.หนองบัวลำภู เขต 1 นายเสถียร ลิขิตธนานันท์ สพป.ชลบุรี เขต 1 นายวีระยุทธ ศิริรัตน์ สพม. เขต 1 นางสิริพร ปานเจริญ สพป.ชัยนาท เขต 1
นายสวัสดิ์ แถวถาทำ สพป.เชียงราย เขต 1 นางนวลักษณ์ หมื่นพันธ์ สพป.พังงา นายนิยม ศรีอุดม สพป.อุดรธานี เขต 2 และนายสังคม ศรีแก้ว สพป.พะเยา เขต 2 ได้รับ พ.ต.ก. ในอัตรา 6,000 บาทต่อเดือน

–มติชน ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32510&Key=hotnews

 

การทำวิจัยระดับปริญญาเอก

research thailand
research thailand

มีเพื่อน share มาให้
ผมเก็บภาพนี้ไว้เป็น case study
ในวิชาที่สอนเกี่ยวกับการทำ project
ส่วนเนื้อหาในภาพก็ใช้คุยได้หลายวิชา
อาทิ การตลาด จริยธรรมคุณธรรม และกฎหมาย
ผมว่าการออกแบบเว็บเพจก็ยังเล่าให้นักศึกษาฟัง
เรื่อง การพัฒนาเว็บไซต์ได้อีกด้วย
แล้วก็ยังพูดถึงเรื่องการประกันคุณภาพของ สกอ.ได้

ชื่อโดเมนสวยมากครับ researchthailand.com

คนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
– ตัวนักศึกษาปริญญาเอก
– อาจารย์ที่ปรึกษา
– ผู้รับจ้าง
– สถาบันการศึกษา
– สกอ. ???

มหา’ลัยวิจัย เซ็ง! ถูกตัดงบ 1 พันล้านบาท

24 เมษายน 2556

มหา’ลัยวิจัยเซ็ง! ถูกตัดงบ 1 พันล้านเหลือเงินได้รับอนุมัติปีงบ 57 แค่ 600 ล้านบาทเท่านั้น “พงศ์เทพ” ยันรัฐยินดีสนับสนุนงานวิจัยที่เกิดประโยชน์กับประเทศ พร้อมมอบกลับไปทำแผนงานวิจัยที่เกิดประโยชน์จริงมาเสนอในงานเสวนาสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 1-7 พ.ค.นี้

วานนี้ (23 เม.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังตัวแทนมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับงบประมาณของมหาวิทยาลัยวิจัย ว่า กลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติขอให้ช่วยผลักดันงบประมาณ ตามที่รัฐบาลเคยมีมติอนุมัติงบประมาณต่อเนื่อง พ.ศ.2553-2555 โดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมงานวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และรัฐบาลได้อนุมัติไปแล้ว จำนวน 3,333 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังเหลืองบประมาณที่รัฐบาลยังไม่ได้จัดสรรให้มหาวิทยาลัยวิจัยอีกจำนวน 1,667 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้ตั้งของบประมาณปี 2557 ไปแล้วและสำนักงบประมาณอนุมัติให้จำนวน 600 ล้านบาท ขณะที่ในภาพรวมงบประมาณปี 2557 ของศธ.อยู่ที่ 488,264,141,600 ล้านบาท

“ผมยืนยันว่ารัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการเกษตร ซึ่งผมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไปจัดทำแผนการดำเนินงานวิจัยที่สามารถเห็นผลกับการพัฒนาประเทศได้โดยเร็ว และนำมาเสนออีกครั้งในการประชุมเสวนาสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ค่อนข้างผิดหวังที่ถูกตัดงบวิจัยที่ค้างอยู่ไปถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะส่งผลให้งานวิจัยหยุดชะงักไป หลังจากที่ก่อนหน้าก็ชะลอไปแล้วพักหนึ่ง และอาจจะสงผลให้การดำเนินงานวิจัยไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงด้วย

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32504&Key=hotnews

นักเรียนร้องถูกแฮกข้อมูลสมัครแอดมิสชั่นส์

24 เมษายน 2556

สอท.เผยมี 10 รายร้องถูกแอบอ้างเปลี่ยนข้อมูล ชี้ปัญหาเด็กแกล้งกันเกิดขึ้นทุกปี ขู่คนทำผิดมีสิทธิ์โดนลงโทษ เตือนนักเรียนรักษาข้อมูลเลขบัตรประชาชนให้ดี

วันที่ 23 เม.ย.56 นางศศิธร อหิงสโก ผู้จัดการสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สอท.ได้เปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์กลาง ประจำปีการศึกษา 2556 เมื่อวันที่ 11-21เม.ย.ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ www.cuas.or.th และกำหนดชำระเงินถึงวันที่ 23 เม.ย.นั้น จากข้อมูลผู้สมัครตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งปิดระบบการรับสมัคร ปรากฏว่ามีผู้สมัคร 121,141 คน แต่มียอดชำระเงินถึงวันที่ 23 เม.ย.56 เวลา 16.00 น. จำนวน 100,000 คน ทั้งนี้ ผู้สมัครจะสามารถชำระเงินได้จนถึงเวลาปิดทำการของธนาคาร โดยข้อมูลจะถูกส่งถึง สอท.และนำขึ้นเว็บไซต์ ภายในวันที่ 24 เม.ย.56 เพื่อให้ผู้สมัครตรวจสอบสถานะการชำระเงิน

นางศศิธร กล่าวต่อไปว่าได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีนักเรียนเดินทางมาร้องเรียนที่ สอท.และโทรศัพท์มา สอบถามถึงกรณีถูกแอบอ้างใช้ชื่อและข้อมูลเข้าสมัครแอดมิสชั่นส์ จำนวน 10 ราย ขอชี้แจงว่ากรณีนี้ลักษณะนี้มีเกิดขึ้นทุกปี โดยเป็นเรื่องการแกล้งกันของนักเรียนซึ่งที่ผ่านมา สอท.ก็สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้สมัครทุกคนได้ ดังนั้นอยากฝากนักเรียนทุกคน หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นกับตนเอง ขอให้ส่งเรื่องร้องเรียนมายัง สอท.และไม่ต้องกังวล สอท.จะดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องและช่วยเหลือเต็มที่ พร้อมกันนี้ขอฝากนักเรียนไม่ควรบอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดกรณีถูกแกล้งอีก ส่วนนักเรียนที่เป็นผู้แอบอ้างข้อมูลทำการสมัครซ้ำในชื่อของเพื่อน หากมีการตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลใดก็จะมีบทลงโทษ เพราะต่อให้บอกว่าเป็นเรื่องการแกล้งเพื่อนก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ

“ยืนยันว่าไม่มีการแฮกข้อมูล หรือแฮกเว็บไซต์ของ สอท.แต่อย่างใด เพราะในระบบการสมัครนั้น หากมีเลขบัตรประชาชนก็สามารถเข้าไปสมัครได้แล้ว ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของการแกล้งกัน หรือจากที่เคยตรวจสอบมาพบว่าเด็กนักเรียนบางคน สมัครแทนเพื่อน เพราะอยากให้เพื่อนเข้าคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตัวเองต้องการ อยากให้เพื่อนไปเรียนกับตัวเอง แต่เพื่อนไม่อยากเรียน เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ขอเตือนนักเรียนให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลแก่ผู้อื่น รวมถึงนักเรียนที่พบปัญหาต่างๆ ในการสมัครแอดมิสชั่นส์ สามารถติดต่อได้ที่ 0-2354-5150-2 และ 0-2610-5434

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีที่นักเรียนร้องเรียนเข้ามา ได้แก่ กรณีของนักเรียนจากโรงเรียนศรีอยุธยา จำนวน 6 คน เดินทางมาร้องเรียนที่ สอท. และอีก 4 ราย ได้โทรศัพท์มาร้องเรียน มีบางรายระบุว่าถูกเปลี่ยนข้อมูลการสมัครหลังระบบปิดรับสมัคร ในวันที่ 21 เม.ย.56 ต่อกรณีนี้ได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ว่าก่อนการปิดรับสมัคร หากเจ้าหน้าที่ยังเห็นว่ามีนักเรียนทำการสมัครอยู่ ก็จะให้สมัครจนเสร็จ ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่การถูกแฮกข้อมูลหรือแฮกเว็บไซต์แต่อย่างใด

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32503&Key=hotnews

เสริมศักดิ์ มั่นใจกลาง พ.ค.นี้ เปิดโปงผู้เกี่ยวข้องคดีทุจริตสอบครูผู้ช่วย

24 เมษายน 2556

เบิกตัว “ชอบ ลีซอ” ชี้คะแนนแบบไหนสอบเอง/ทุจริต ระบุคำถามใครคือบุคลากรทางการศึกษา มีคนตอบผิดน่าสงสัย ด้านสพฐ.วอนแจ้งเบาะแสขบวนการโกงสอบรอบใหม่ หากมีปัญหาเขตพื้นที่ฯ ต้องรับผิดชอบ

วันที่ 23 เม.ย.56 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้กำชับให้ไปตรวจสอบกรณีที่พนักงานราชการคนหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบุว่าเริ่มมีขบวนการติดต่อครูอัตราจ้าง พนักงานราชการ ที่จะสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไปประจำปีการศึกษา 2556 โดยจะต้องจ่ายเงินประมาณ 4-5แสนบาท เพื่อให้สอบบรรจุได้เช่นเดียวกับการทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้จะต้องทำให้ทุกคนเกิดความเชื่อมั่นและคิดว่าจะต้องมีข่าวลักษณะนี้ออกมาเพราะขบวนการนี้เป็นขบวนการใหญ่ และไม่เกินกลางเดือน พ.ค.จะได้เห็นความชัดเจนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และน่าจะมีการสรุปผลการสอบ และเปิดโปงผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเรื่องนี้คงไม่เป็นมวยล้มต้มคนดูแน่นอน และอยากให้ขบวนการทุจริตที่คิดว่า ศธ.จะไม่สามารถจัดการอะไรได้เลยจะต้องรอดูกันต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้นายชอบ ลีซอ อดีตผู้ตรวจราชการศธ.ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดประเมินผล ได้นำผลการประเมินคะแนนการสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ครั้งที่ผ่านมานำเสนอให้ตนทราบว่าจากการวิเคราะห์คะแนนทั้งหมด อาศัยหลักวิชาการของการวัดประเมินผลมีการทุจริตอย่างแน่นอน โดยได้หารือกับนายพงศ์เทพ แล้วว่าในวันที่ 25 เม.ย.56 ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. ) จะนำเรื่องของการวิเคราะห์คะแนนตามหลักวิชาการของการวัดประเมินผล ของนายชอบ เข้าหารือและแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งอาจจะให้นายชอบ ได้เข้าชี้แจงและให้ข้อมูลแก่ที่ประชุม ก.ค.ศ.ด้วยว่า คะแนนแบบไหนจะเป็นคะแนนที่สอบเอง และคะแนนแบบไหนที่น่าจะเป็นการทุจริต

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นคนที่ได้คะแนนสูง มีการทุจริตการสอบอย่างแน่นอน เช่น คนที่ได้ 199 จากคะแนนเต็ม 200 คะแนนใน 4ชุดวิชาไม่มีทางเป็นไปได้ และอัตราส่วนที่จะเป็นไปได้ก็แค่ 1 ในร้อยล้าน ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการนำเฉลยออกมาก่อนที่จะมีการสอบในวันที่ 13 ม.ค.56 เพราะจากข้อมูลที่ได้พบว่ามีข้อสอบชุดหนึ่งในข้อ 34 มีการเฉลยที่ผิด และได้มีการแก้ไขเฉลยก่อนถึงวันสอบจริง แต่ขบวนการทุจริตได้นำเฉลยออกไปในวันที่ 5 ม.ค.56 ฉะนั้นจะพบว่าผู้ที่สอบคัดเลือกและทุจริตจะตอบข้อ 34 ผิดเหมือนกันหมด ทั้งที่เป็นข้อสอบที่ง่ายโดยถามว่า ครู ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ใครเป็นบุคคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งหากใครที่เป็นครูผู้ช่วยจะเข้าใจและตอบได้

“การประเมินของนายชอบ เป็นหลักทางวิชาการที่วิเคราะห์ตามหลักการประเมินผล และน่าจะเป็นข้อมูลที่จะส่งไปให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จะมีความมั่นใจและสามารถนำไปใช้พิจารณาการยกเลิกผลการสอบได้ ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติให้ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีคะแนนสูง 514 คน ผมเชื่อว่าจะทำให้วิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้นเพราะการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนนี้จะเป็นหลักฐานหนึ่งที่จะยืนยันการทุจริตได้”

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า นอกจากนี้จะแจ้งให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้รับทราบแนวทางที่ได้ให้ตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูลกับเขตพื้นที่การศึกษา ที่ต้องการข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการพิจารณายกเลิกการสอบครูผู้ช่วย

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สรุปผลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบใน 10 เขตพื้นที่การศึกษา และรายงานเข้ามาแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คงต้องมาดูว่าจะมีการดำเนินการอะไรต่อไปอย่างไร

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าขณะนี้เริ่มมีขบวนการไปหากลุ่มลูกค้าที่ต้องการจะสอบครูผู้ช่วยในเดือน พ.ค.นี้แล้วนั้น ในเรื่องนี้จะต้องว่ากันไปตามข้อมูลและเบาะแส ซึ่งหากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นที่ใดก็ขอให้แจ้งมายัง สพฐ.โดยทันที เพราะบางพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่จะต้องส่งข้อมูลเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามโดยหลักเกณฑ์และระเบียบระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องรับผิดชอบ แต่ทั้งนี้ สพฐ.ก็จะเข้าไปดูแลด้วยในกรณีที่มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32502&Key=hotnews

มติ ครม.แก้ ก.ม.กบข.ให้ ขรก.เลือกวิธีรับบำนาญ

24 เมษายน 2556

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขกฎหมายกองทุน กบข. เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ และข้าราชการบำนาญก่อนปี 2540 ตัดสินใจเลือกว่า จะกลับไปใช้รับเงินบำนาญตามกฎหมายเดิม หรือว่าจะเลือกเป็นสมาชิก กบข.ต่อไป โดยมีข้าราชการสามารถใช้สิทธิดังกล่าวประมาณ 9.7 ล้านคน แยกเป็นข้าราชการปัจจุบันกว่า 700,000 คน และข้าราชการบำนาญ 2.5 แสนคน คาดว่าจะมีข้าราชการใช้สิทธิ เพื่อกลับไปรับบำนาญแบบเดิมประมาณ 700,000 คน รัฐบาลตั้งงบประมาณรองรับการเลือกกลับไปใช้บำนาญของข้าราชการปีแรกประมาณ 1,014 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่จะรับประโยชน์มากกว่าการเป็นสมาชิกของ กบข.ควรมีอายุราชการ 40 ปีขึ้นไป การมีอายุราชการทวีคูณ จำนวนมาก เนื่องจากไปปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นทุรกันดาร เช่น ทหาร ตำรวจ ครู สาธารณสุข โดยจะเริ่มให้ตัดสินใจเลือกในช่วงกลางปีหน้า เพื่อเริ่มใช้สิทธิในปีงบประมาณ 2558 หากใครเลือกแนวทางกลับไปใช้บำนาญเดิมจะต้องคืนเงินสมทบจากรัฐบาล และเงินทุนประเดิม
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังเดินหน้าสมทบเงินเข้ากองทุน กบข.เพิ่มเติมทุกปี รองรับข้าราชการเกษียญอายุมากขึ้นในปีต่อไปในอนาคตหลายแสนล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนปัจจบันมีอยู่ 1.5 แสนล้านบาท สำหรับสูตรการคำนวณผลตอบแทนหลังเกษียณอายุจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบงบประมาณปี 2557 โดยประมาณการรายรับ 2.275 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 2.525 ล้านล้านบาท โดยจัดสรรสำหรับคืนเงินรถยนต์คันแรก 30,000 ล้านบาท ยืนยันยังมีเงินเพียงพอรองรับดูแลสังคม ทั้งสาธารณสุข และด้านการศึกษา และยังจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6.2 แสนล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 27.28 ของรายได้รัฐ

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32501&Key=hotnews

สพฐ.ตั้งเป้าปี 56 ยกเครื่องระบบดูแลช่วยเหลือ นร.ให้เข้มข้น

24 เมษายน 2556

“ชินภัทร” เผยข้อมูลคัดกรอง นร.และกรมสุขภาพจิต ชี้เด็กกลุ่มพิเศษมีเพิ่มขึ้นถึง 20% ยอมรับการยกระดับคุณภาพผู้เรียนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องเริ่มคัดกรองแต่ต้นโดยจะนำระบบดูแลช่วยเหลือ นร.มาใช้ ตั้งเป้าปี 56 ยกเครื่องระบบ ให้เข้มข้นขึ้น

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการตรวจราชการ จากผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ สพฐ.ได้หยิบยกมาหารือในที่ประชุม คือ ประเด็นการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเข้มแข็งและมีกลไกที่จะช่วยดูแล คัดกรอง และส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีข้อมูลผลการคัดกรองนักเรียนและข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่าขณะนี้ภาพรวมของเด็กที่อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ต้องการได้รับการดูแลพิเศษ หรือเด็กกลุ่มพิเศษ ซึ่งอยู่ในขอบข่ายที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ.ทำหน้าที่ดูแลอยู่นั้น มีจำนวนถึง 20% แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1.กลุ่มที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หรือ แอลดี ประมาณ 10-15%
2.กลุ่มเด็กสมาธิสั้น มีประมาณ 8%
3.กลุ่มเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ ประมาณ 5% 
4.กลุ่มเด็กออทิสติก พบ 1 ใน 88 คน คิดเป็น 1.13% และ
5.กลุ่มที่มีความพิการทางกายภาพ ได้แก่ หูหนวก ตาบอด ร่างกายพิการ และยังบกพร่องทางสติปัญญา ประมาณ 2%

“ เด็กทั้ง 5 กลุ่มเหล่านี้อาจจะมีความบกพร่องทับซ้อนกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วมีจำนวนประมาณ 20% ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ให้ สพฐ.ทราบว่าการดำเนินการเพื่อสร้างและพัฒนาระบบดูแลและช่วยเหลือนักเรียนนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพบว่าปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยไม่ได้ดูที่ต้นเหตุของปัญหาจะทำให้แก้ไขได้ยาก เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มค้นหาต้นเหตุหรือสาเหตุของปัญหาแกละแก้ไขตั้งแต่ระยะต้น นั่นคือ ต้องคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาและพัฒนาช่วยเหลือซึ่งทำให้การดูแลมีประสิทธิภาพมากกว่าตามแก้ปัญหาภายหลัง”เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะต้องทำระบบคัดกรองเด็กและการส่งต่อเด็กที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา โดยเสนอว่าควรจะมีคณะกรรมการช่วยเหลือนักเรียนของสถานศึกษา 1 ชุดและมีเจ้าหน้าที่จากภายนอกคอยให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ จะต้องสร้างกลไกช่วยเหลือดูแลนักเรียนในลักษณะองค์รวม เช่น กรณีเกิดเหตุการณ์กระทำรุนแรงต่อเด็ก โรงเรียนจะมีหน้าที่ดูแลเบื้องต้น มีเขตพื้นที่การศึกษาคอยให้การสนับสนุน และสพฐ.เป็นหน่วยงานประสาน ทั้งนี้ เบื้องต้น สพฐ.จะขยายผลโดยใช้หน่วยเฉพาะกิจดูแลช่วยเหลือนักเรียน (ฉกชน.) ของ สพฐ. และ ฉกชน.ประจำเขตพื้นที่การศึกษาฯ ก่อนและในอนาคตที่หากโรงเรียนมีคณะกรรมการช่วยเหลือนักเรียนประจำโรงเรียนแล้วทั้งหมดจะทำงานช่วยเหลือกัน พร้อมกันนี้ ต้องทำหลักสูตร คู่มือสำหรับครูที่เป็นองค์ความรู้ในเรื่องการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครอบคลุมการควบคุมพฤติกรรมของนักเรียน เช่น เรื่องการลงโทษอะไรที่ทำได้ อะไรทำไม่ได้ เป็น เพราะฉะนั้น ในปีการศึกษา 2556 การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจะเป็นจุดเน้นสำคัญที่ สพฐ.ต้องดำเนินการยกระดับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32500&Key=hotnews

สช.มั่นใจเด็กโรงเรียนเอกชนเพิ่ม

24 เมษายน 2556

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียน ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ปีการศึกษา 2556 ว่า ปกติแล้วจำนวนนักเรียนที่มาสมัครเรียนต่อในสถานศึกษาสังกัด สช. จะเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับอนุบาล และประถมศึกษา ซึ่งในปีนี้คาดว่าเด็กจะมาสมัครเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000-50,000 คน เหมือนเช่นทุกปีผ่านมา อย่างไรก็ตามขณะนี้โรงเรียนเอกชนยังคงเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อในทุกระดับชั้น โดยจะเปิดรับไปจนถึงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 หากผู้ปกครองคนใดสนใจที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียน ก็สามารถติดต่อไปยังโรงเรียนนั้น ๆ ได้โดยตรง ยกเว้นโรงเรียนเอกชนที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวจากรัฐบาล เพราะได้ปิดรับสมัครตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว

“แม้โรงเรียนเอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุน จะเปิดรับนักเรียนได้จนถึงเกือบเปิดเทอม แต่หากจำนวนเด็กเกินจากจำนวนเด็กต่อห้องที่ สช.กำหนด ก็จะต้องปิดรับสมัคร โดยห้องเรียนปกติจะรับเด็กได้ไม่เกิน 40 คน แต่ทางโรงเรียนสามารถขอขยายได้ไม่เกิน 45 คน เพราะต้องคำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนด้วย ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งเริ่มขอขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องมาที่ สช.บ้างแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเอกชนยังเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองเช่นเดียวกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” นายบัณฑิตย์ กล่าว

เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) นั้น แนวโน้มของจำนวนเด็กที่จะมาสมัครเรียนต่อในระดับ ปวช. ยังไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่คิดว่าหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดสอนระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2556 ก็เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้เด็กมาเรียนอาชีวะเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะ สช.ก็ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนเช่นเดียวกับ สอศ. ดังนั้นเด็กที่จบจากอาชีวะเอกชนก็สามารถไปเรียนต่อสถาบันการศึกษาของรัฐในระดับปริญญาตรีได้.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32499&Key=hotnews

ทยอยรอดข้อหาโกงสอบครู

24 เมษายน 2556

นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เรื่องการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ครั้งที่ผ่านมา แล้วประมาณ 30 กว่าเขตพื้นที่ฯ และอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นเรื่องที่ส่งมาจะเป็นมติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ พร้อมกับแนบรายละเอียดมาด้วย ซึ่งตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของ ก.ค.ศ.ตรวจสอบรายงานที่แต่ละ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯได้เสนอมา จากนั้นจะต้องนำมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ก.ค.ศ.ให้พิจารณาต่อไป

ด้าน นายพิสิษฐ์ ชดกิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3 กล่าวว่า จากการประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติไม่ยกเลิกผลการสอบครูผู้ช่วยเนื่องจากได้พิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงที่ สพป.นครราชสีมา เขต 3 ที่นำเสนอไม่พบพยานหลักฐานว่าการสอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมามีการทุจริต และจากการสอบสวนผู้ที่สอบบรรจุได้จำนวน 7 คน ก็ยืนยันว่าสาเหตุที่สอบได้ เป็นเพราะการอ่านหนังสือเอง โดยคะแนนของผู้ที่สอบได้ จะมีคะแนนสูงในบางวิชาเท่านั้นและวิชาอื่น ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์คะแนนปกติทั่วไป ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลการประชุมไปให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แล้ว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32498&Key=hotnews

 

เคาะอัตราหักเงินกองทุนโรงเรียน

24 เมษายน 2556

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 2/2556 มีมติเห็นชอบตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 73 (1) ได้บัญญัติให้ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของ ร.ร.ในระบบส่งเงินสะสมสำหรับตนเอง ในอัตราที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละสามของเงินเดือนรายเดือนที่แต่ละคนได้รับ และต้องไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกองทุนจะเสนอร่างกำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนสำหรับร.ร.ในระบบ พ.ศ. …. ต่อที่ประชุม กช.ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ซึ่งที่ประชุมให้กองทุนทบทวน โดยเห็นว่าควรกำหนดเพดานส่งเงินสำหรับตนเองเข้ากองทุนในอัตราร้อยละสามของเงินเดือนที่ได้รับ ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนร.ร.ในระบบ พ.ศ. ….โดย ให้ผอ. ครูส่งเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท และผอ. ครู ในระบบรายใด ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนมาก่อนวันที่กฎกระทรวงบังคับใช้ ไม่ว่าอัตราและวงเงินเท่าใด นับแต่วันที่ใช้บังคับให้ผอ. ครู รายนั้นส่งเงินสะสมเข้ากองทุน ตามอัตราและวงเงินที่กำหนดไว้ตามข้อ 1

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32497&Key=hotnews