IT in Daily Life

บทความเกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน (Information Technology in Life) ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เริ่มเขียนปลายปีพ.ศ. 2548 จนถึงมิถุนายน พ.ศ. 2560 รวมได้ 611 บทความมีโฮมเพจอยู่ที่ http://www.thaiall.com/itinlife และ http://www.thaiall.com/opinion เพื่อเป็นแหล่งแบ่งปันเรื่องราวที่ได้พบ ได้อ่าน ได้ปฏิบัติ แล้วนำมาเรียบเรียงแบ่งปันแก่เพื่อนชาวไทย และส่งให้กองบรรณาธิการนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง

คุณภาพการศึกษากับธุรกิจการศึกษา (itinlife398)

education business
education business

มีโอกาสเข้าอบรมเรื่อง CHEQA และมีประเด็นซักถามเรื่องการเผยแพร่เอกสารของสถาบันการศึกษาเพื่อใช้ตอบเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพราะมีสมมติฐานว่าสังคมต้องการดูเอกสารที่ใช้ตอบการมีคุณภาพการศึกษา แต่สถาบันการศึกษาหลายแห่งไม่เปิดเผยเอกสารที่ใช้ตอบว่าตนเองมีคุณภาพอย่างไร จะเปิดเผยเฉพาะช่วงที่ผู้ประเมินเข้าไปตรวจสอบเพียง 3 – 7 วันเท่านั้น ต่อมาเข้าอบรมเรื่องการขอรับความคุ้มครองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้เข้าใจว่าปัจจุบันการศึกษาแบ่งเป็นสองขั้วคือคุณภาพการศึกษากับธุรกิจการศึกษา เมื่อมีการแข่งขันย่อมทำให้ผู้บริหารในสถาบันการศึกษาบางแห่งเกรงว่าข้อมูลจะรั่วไหล และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน จึงไม่พร้อมเปิดเผยเอกสารแบบหมดเปลือก

หลังประกาศผล Admission 2556 นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเอกชนมีที่นั่งเหลือว่างกว่า 90,000 คน ยังเปิดรอรับนักเรียนที่สอบแอดมิชชั่นกลางไม่ได้ สถาบันของเอกชนรับนักศึกษาในระบบนี้ได้เพียงร้อยละ 10 แต่สถาบันของรัฐรับได้ร้อยละ 80 ของเป้าหมาย เพราะนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์มักเลือกสถาบันของรัฐ ย่อมทำให้เกิดการแข่งขันในการรับนักศึกษาระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากข้อมูลในสื่อพบว่าสถาบันการศึกษาของรัฐหลายแห่งยังเปิดรับตรงรอบพิเศษเพิ่มเพราะยังไม่ได้ตามเป้าที่กำหนด แล้วยังมีบางหลักสูตรเปิดภาคพิเศษเพิ่มและมีค่าเรียนสูงกว่าเอกชน

คุณภาพการศึกษาหมายถึงความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน และตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาตามพรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีผลต่อสถานศึกษาทุกระดับ ในสถาบันการศึกษาของรัฐเริ่มออกนอกระบบ เริ่มคิดแบบธุรกิจ จึงเป็นเหตุให้ต้องเปิดศูนย์นอกที่ตั้งไปแข่งขันกับภาคเอกชน แต่คุณภาพการศึกษากลับไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้เป็นสถาบันของรัฐก็อาจต้องถูกยุบศูนย์นอกที่ตั้งเนื่องจากจำนวนและคุณวุฒิอาจารย์ประจำไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด เพราะคุณภาพต้องมีความเข้าใจ การลงทุนและอาจไม่คุ้ม ทำให้สถาบันการศึกษาทั้งภาคเอกชน และภาครัฐที่ต้องออกนอกระบบต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษาเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้คุณภาพการศึกษาลดลง

 

http://www.enn.co.th/7173

http://thainame.net/edu/?p=1353

 

 

สร้างทางตัน หรือทางออก (itinlife395)

end road
end road

ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีเรื่องของทางเลือก (Decision) ที่คนเขียนโปรแกรมทุกคนต้องใช้คำสั่ง if สำหรับการเขียนโปรแกรมยุคใหม่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ไม่ใช่เงื่อนไขปกติ จะมีบริการตรวจสอบความผิดพลาดที่เป็นข้อยกเว้น (Exception) แล้วดำเนินการแบบพิเศษกับเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งการเขียนโปรแกรมก็จะต้องเขียนตามนโยบาย หรือความต้องการของผู้ใช้ อาทิ เขียนโปรแกรมตัดเกรด คุณครูก็ต้องกำหนดว่าจะตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ หรืออิงกลุ่ม ถ้าอิงเกณฑ์จะให้ A มีคะแนนเท่าใด หรืออิงกลุ่มจะใช้ค่าเบียงเบนมาตรฐานเท่าใด

http://www.oknation.net/blog/zumon/2011/07/05/entry-1

ในทางคอมพิวเตอร์มีทางออก และมีแนวทางแก้ไขเสมอ มีเหตุและมีผลทุกครั้ง ไม่มีหลักไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในอดีตตัวแปรภาษายังไม่ดีนัก เวลากำหนดให้โปรแกรมทำซ้ำตลอดกาลก็จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ค้างไม่ตอบสนองใด แล้วผู้ใช้ก็ต้องปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ เมื่อรู้ก็เข้าไปแก้ไขได้ไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่างกับปัญหาในชีวิตจริงที่ไม่สมเหตุสมผล อาทิ ในบางกิจกรรมบอกว่าเรามีเมตตาไปทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา จากนั้นไปทานอาหารร่วมกันบนโต๊ะอาหารก็มีปลาเผาไก่ย่างส้มตำ ซึ่งปลาก็ได้มาจากแม่น้ำหน้าวัดนั่นเอง หรือดื่มสุราทำให้เสียสุขภาพ แต่ก็เหมือนดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะดื่มกันบ่อยแล้วแบ่งปันผ่านเฟสบุ๊คมาให้ดูอย่างมีความสุข

ปัจจุบันเราพูดว่าปฏิเสธรถไฟความเร็วสูง ปฏิเสธเสื้อผ้ายี่ห้อ ปฏิเสธฟุตบอลนอก ปฏิเสธอาหารต่างชาติ ปฏิเสธยักค้าปลีก เพราะชาตินิยมสูง แต่พบว่าสถิติอุปโภคบริโภคไม่เป็นเช่นนั้น หากนึกไปถึงการปฏิเสธผู้นำ ถ้าคนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าผู้นำไม่ดี ไม่ชอบผลการเลือกตั้ง แล้วขอให้เลือกตั้งใหม่หลังรู้ผลเลือกตั้ง สังคมนั้นก็คงมีชีวิตอยู่ในทางตัน เพราะในชีวิตจริงไม่มีสังคมขนาดใหญ่สังคมใดยอมรับผู้นำที่ถูกเลือกตั้งร้อยละร้อย คงเพราะสามัญสำนึกของผู้คนรู้ว่าสังคมต้องมีผู้นำ แม้ไม่ถูกใจบ้างแต่เรือจะขาดกัปตันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้บริหารไปวาระหนึ่ง แล้วค่อยมาพิจารณากันใหม่ ในทางคอมพิวเตอร์ก็เช่นกันเทคโนโลยีใดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทดลองใช้ แล้วประเมินผล  หากผลประเมินไม่น่าพอใจก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ถ้าดีก็บอกต่อ แต่อย่างน้อยก็ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นไประยะหนึ่ง เมื่อมีของใหม่มาให้เลือกก็ค่อยพิจารณาทางเลือกนั้นอีกครั้ง

 

 

สะท้อนภาพจังหวัดผ่านคำขวัญ(itinlife394)

คำขวัญขี้เหล้า
คำขวัญขี้เหล้า

มีโอกาสได้อ่านอะไรในเฟซบุ๊คมากมาย แล้ววันหนึ่งก็มีเพื่อนในเฟสให้คำขวัญ(ขี้เหล้า)เมืองลำปาง  พบในแฟนเพจฮาคนเมือง เป็นการเขียนเชิงล้อเลียนเสมือนบ่นให้ฟังด้วยภาษาล้านนา อ่านแล้วก็เชื่อว่าคนต่างถิ่นไม่เข้าใจแน่ เพราะเป็นภาษาถิ่น และสถานที่ในท้องถิ่น มีนิยามศัพท์ดังนี้ เยี่ยวเหี้ยคือถ่ายเบาไม่เป็นที่ คืนฮุ่งคือตลอดทั้งคืน เตวคือเดิน คนขี้ฮ่อนคือคนที่รู้สึกร้อนง่าย ร้านอาหารกลางคืนได้แก่ มดแดง มดยิ้ม ปลาทูแช็ค กิ๊บบอน ลาบศรีชุม ตลาดได้แก่ตลาดอัศวิน กาดกองต้า คลองถม กาดมืด ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า แล้วก็พูดถึงหลักกิโลขนาดใหญ่ และฟาร์มแกะฮักยู

หน้าที่ของคำขวัญจังหวัดก็จะสะท้อนความภูมิใจ ความโดดเด่น เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของจังหวัด ให้ทราบว่าจังหวัดมีอะไรดี ลำปางมีคำว่าขวัญว่า ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก ซึ่งให้ข้อมูลว่าเป็นแหล่งที่มีถ่านหินสำหรับใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีรถม้าเพื่อการเดินทางและปัจจุบันหันมาเน้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มีดินขาวเป็นวัตถุดิบในจังหวัดจึงมีโรงงานเซรามิกจำนวนมากผลิตได้สวยงามและราคากันเอง มีวัดเก่าแก่และมีวัดสถาปัตยกรรมพม่าจำนวนมากที่สุดในไทย มีศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่จัดช้างแสดงให้นักท่องเที่ยวชม

เมื่อเวลาเปลี่ยนไปเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดก็มักจะเปลี่ยนตาม เช่น ส้มโอหวานของนครปฐม และทุเรียนของนนทบุรีก็เคยผ่านวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ทำให้สวนส้มโอเสียหายกว่าร้อยละ 70 สวนทุเรียนเสียหายกว่าร้อยละ 98 หรือฝึกช้างใช้ของลำปางก็หยุดฝึกช้างเป็นผลจากรัฐบาลประกาศเลิกสัมปทานทำไม้ปี 2532 หรือ โอ่งมังกรของราชบุรีก็ได้รับความนิยมลดลง หรืองาช้างและหน่อไม้ไร่ของอุทัยธานีก็หายไปจากคำขวัญใหม่แล้ว หรือดอกไม้งามสามฤดูก็ไม่มีในคำขวัญของเลยแล้ว โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่อง การปรับตัวปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมย่อมทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดังเช่นคำขวัญจังหวัด

have and have not
have and have not

http://www.oknation.net/blog/countrygirl/2012/04/23/entry-1

http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=10967

http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1973817

http://www.facebook.com/photo.php

http://www.thainame.net/รถม้

เฟสบุ๊คไม่ใช่ที่ส่วนตัวอีกต่อไป (itinlife393)

กรณีผู้จัดการโรงภาพยนตร์กับลูกค้า
กรณีผู้จัดการโรงภาพยนตร์กับลูกค้า

http://www.manager.co.th/lite/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046526

ผู้ใช้เฟสบุ๊คหลายคนคงเชื่อฝังหัวว่า เฟสบุ๊คคือพื้นที่ส่วนตัว จะบ่น จะด่าอะไรก็ได้ เป็นที่ระบายอารมณ์ให้เพื่อนฟังอย่างเสรี ไร้ปัญหาแน่นอน จะถ่มน้ำลายขึ้นฟ้า โทษฟ้า โทษดินก็ทำได้ เพราะไม่ใช้ชื่อจริง ไม่ใช้ภาพจริง แล้วหลายคนก็ประกาศไว้ว่าถ้าไม่อยากติดต่อ ไม่พอใจในการเป็นเพื่อนก็ให้กดปุ่ม unfriend ยกเลิกความสัมพันธ์ได้ทันที ซึ่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้นไปทั้งหมด มีกรณีปัญหาจากการโพสต์ไม่คิดเกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ ด่าเจ้านายก็ถูกไล่ออก ครูชายชมนักเรียนหญิงก็ถูกไล่ออก พนักงานด่าลูกค้าก็ถูกไล่ออก แม้ใช้ชื่อปลอม หรือภาพประจำตัวปลอมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ซึ่งสามกรณีข้างต้นเกิดขึ้น และถูกแบ่งปันกันอย่างแพร่หลาย

ในต่างประเทศเมื่อเกิดข้อพิพาทก็จะผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน แต่ที่ประเทศไทยเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้จัดการโรงภาพยนตร์กับลูกค้าย่านพระราม 3 เมื่อกลางเดือนเมษายน 2556 เป็นเหตุให้ผู้จัดการพิจารณาตนเองแล้วลาออกไป จากนั้นอีก 2 วันพนักงาน 2 คนก็ถูกให้ออก แบบประกาศผ่านเครือข่ายสังคม เพราะมีเหตุมาจากเครือข่ายสังคมที่พนักงานไปแสดงความเห็นว่าเบื่องาน และพูดถึงลูกค้าด้วยวาจาไม่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าผู้ถูกพิจารณาให้ออกงานจะไม่ยื่นอุทธรณ์ แล้วโรงภาพยนตร์ก็ประกาศเป็นการแสดงความรับผิดชอบ และแก้ไข เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าในการให้บริการที่มีคุณภาพต่อไป

เคยมีคนกล่าวว่า การเขียนในเครือข่ายสังคม โดยเฉพาะเฟสบุ๊คเสมือนเขียนด้วยปากกา ไม่ใช่ดินสอ เพราะเกิดเรื่องมาแล้วลบด้วยยางลบไม่ได้ แล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยก็จะเขียนด้วยสำนวนที่เป็นกันเองมากเกินไป เหมือนเขียนไว้อ่านคนเดียว ไม่คำนึงว่าเพื่อนนับร้อยนับพันที่เคยรับไว้เป็นเพื่อน นั้นมีเพื่อนของเพื่อน ญาติ ครู อาจารย์ ลูกค้า เจ้านาย หรือผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่มได้รับข้อความเหล่านั้น เมื่อเคยชินกับการใช้ถ้อยคำที่ไม่ได้กลั่นกรอง ก็อาจมีบางครั้งเขียนข้อความที่ผู้อ่านบางคนยอมรับไม่ได้ แล้วถ้าผู้อ่านคือหัวหน้า เจ้านาย หรือลูกค้าก็อาจนำไปเขียนซ้ำ (repost) แบ่งปัน (share) หรือเก็บจอภาพ (capture) ไปเผยแพร่ต่อ ย่อมเป็นความเสียหายที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ก็หวังว่าเพื่อนชาวไทยจะใช้ความระมัดระวังในการเขียนเรื่องราวลงไปในเครือข่ายสังคมเพิ่มขึ้น

 

 

แรงขับการแบ่งปันในเครือข่ายสังคม (itinlife392)

 

note อุดม แต้พาณิช ตอน อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค
note อุดม แต้พาณิช ตอน อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค

sharing and clickback
sharing and clickback

คำถาม .. อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เราแบ่งปันข้อมูลจากเว็บไซต์

ได้อ่านผลงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์พฤติกรรมการแบ่งปันเนื้อหาและคลิ๊กกลับในเว็บไซต์เครือข่ายสังคม ของ 33across.com และ tynt.com ที่เขียนใน zdnet.com โดย Eileen Brown พบว่าการแบ่งปันเนื้อหาจำแนกได้หลายกลุ่ม ในกลุ่มที่เพื่อนในเครือข่ายสังคมให้ความสนใจคลิ๊กกลับมากที่สุด คือ ข่าว กีฬา การเมือง การสรรเสริญ การเลี้ยงดู และบันเทิง ส่วนที่สนใจคลิ๊กกลับกันน้อยและแบ่งปันน้อยคือ รถยนต์ ช็อบปิ้ง และท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มคลิ๊กน้อยแต่แบ่งปันมากคือ ธุรกิจ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์

มี 2 คำที่น่าสนใจคือ แบ่งปัน (Share) และคลิ๊กกลับ (Clickback) พฤติกรรมของสมาชิกเครือข่ายสังคมเมื่อไปพบเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ในเว็บไซต์ก็ต้องการแบ่งปันให้เพื่อนของตนรู้ หรือมีส่วนร่วมก็จะทำใน 2 ลักษณะคือ คัดลอกแล้ววาง หรือ ใช้ปุ่มแชร์ ดังนั้นการแบ่งปัน คือ เราส่งข้อมูลเข้าเว็บไซต์เครือข่ายสังคม เพื่อให้เพื่อนรับรู้เรื่องของเรา เป็นข้อมูลสั้นและลิงค์ (Link) สำหรับคลิ๊กไปอ่านรายละเอียด ส่วนคลิ๊กกลับ คือ เพื่อนของเราอ่านข้อมูลสั้น แล้วรู้สึกสนใจจึงคลิ๊กลิงค์เปิดดูรายละเอียดจากเว็บไซต์

ประเด็นคำถาม คือ เหตุผลที่เราแบ่งปันเนื้อหาไปนั้นมีอะไรเป็นเหตุปัจจัย แล้วพบว่า เราแบ่งปันเพราะถือมั่นต้องการแสดงตัวตน (ego) นั่นคือเราไม่ได้แบ่งปันเพราะคิดว่าเพื่อนสนใจ หัวข้อที่พบว่ามีการแบ่งปันจากเว็บไซต์มากที่สุดคือวิทยาศาสตร์ (Science) ซึ่งได้อธิบายว่าเป็นเรื่องที่ยากต่อความเข้าใจ และต้องการแสดงองค์ความรู้ของเรา ในประเด็นคลิ๊กกลับก็พบว่าเพื่อนของเราคลิ๊กดูวิทยาศาสตร์น้อยมาก แสดงว่าเราไม่สนใจว่าเพื่อนจะสนใจเรื่องของเราหรือไม่ ขอเพียงเราชอบ และอยากแบ่งปันก็พอ ส่วนข่าว (News) คือเรื่องที่เพื่อนสนใจคลิ๊กกลับมากที่สุด แต่เราจะแบ่งปันน้อย เพราะข่าวไม่ใช่เรื่องที่แสดงตัวตนของเรา ถึงตรงนี้หลายท่านอาจไม่เห็นด้วย แต่ทั้งหมดนี้เป็นผลการศึกษาในต่างประเทศ ถ้าศึกษาพฤติกรรมคนไทยอาจมีผลการศึกษาต่างไป เท่าที่สังเกตเราสนใจแบ่งปันเนื้อหาจากเว็บไซต์กันน้อย คนที่จะแบ่งปันก็จะเป็นตามอาชีพนั้น อาทิ นักข่าวก็จะแบ่งปันข่าวของสำนักของตน ส่วนราชการก็แบ่งปันกิจกรรมหรือผลงาน นักธุรกิจก็จะแบ่งปันข้อมูลสินค้าของตน แล้วท่านมีพฤติกรรมอย่างไรในเครือข่ายสังคม

 

 

http://www.thaiall.com/blog/burin/5087/

http://www.zdnet.com/new-research-highlights-that-social-sharing-is-driven-by-ego-7000013932/

นี่คือโลกของกู

การศึกษาไทยถ้าไม่เปลี่ยนอาจบ๊วย .. แน่นอน

ตอนนี้หากถามว่าภูมิใจกับอันดับด้านการศึกษาของประเทศไทยในเวทีโลกหรือไม่
ก็คงไม่มีใครไปตอบว่า “ดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว” ! http://bit.ly/17oaJI9

วัฒนธรรมการศึกษา (education culture)
วัฒนธรรมการศึกษา (education culture)

เพราะระบบการศึกษาของไทยอยู่อันดับที่ 37 จากทั้งหมด 40 ประเทศในปี 2555 จากผลการจัดอันดับโดยบริษัทด้านการศึกษา คือ เพียร์สัน (Pearson) และ อีไอยู (EIU = The Economist Intelligence Unit) ในทางกลับกันพบว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีสถิติการเข้าถึงเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊คเป็นอันดับหนึ่งในโลก เท่ากับ 12.7 ล้านคนจากทั้งหมด 7.8 ล้านคน มีบัญชีผู้ใช้เข้าถึงเกือบ 2 เท่าของจำนวนประชากร ก่อนถามคนไทยว่าภูมิใจหรือไม่กับการเป็นอันดับหนึ่ง ก็ต้องกลับไปทบทวนวรรณกรรมว่าสถิติแต่ละค่าเป็นตัวบ่งชี้ต่อการแผนพัฒนาประเทศในด้านใด แล้วการเข้าเฟซบุ๊คมากผิดปกติเช่นนี้จะทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาไปกว่าเดิมหรือไม่ ถ้ามีผลเป็นปฏิกิริยาต่อกันจะเป็นแนวแปรผันหรือแนวผกผัน

เมื่อเข้าอยู่ในสนามประลองย่อมต้องเหลียวซ้ายแลขวา และย้อนดูตนเองไปพร้อมกับการชำเรืองดูคู่แข่งขัน เพราะระบบการศึกษาของเราอยู่ในอันดับเกือบบ๊วย แล้ว 5 อันดับแรกคือใคร พบว่าเบอร์หนึ่งคือ ฟินแลนด์ ตามด้วย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ หลังผลการจัดอันดับออกมาแล้วพบว่ากระทรวงศึกษาธิการขยับในหลายเรื่อง อาทิเช่น ส่งหนังสือเวียนไปยังโรงเรียนให้ยกเลิกการบังคับนักเรียนชายตัดผมเกรียน นักเรียนหญิงตัดผมบ๊อบ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสั่งลดการบ้าน และหวังลดภาระนักเรียน เพื่อจะเน้นบูรณาการ ทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดผลประเมินผล และบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ไม่ให้ซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าถูกที่ ถูกทางแล้วใช่ไหม

รายงานของเพียร์สันในส่วนสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ได้เขียนคำแนะนำสำหรับผู้จัดทำนโยบายด้านการศึกษาทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งขอสรุปเป็นวลีสำคัญดังนี้ ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง สอนเด็กให้เลิศต้องสอนโดยครูที่เป็นเลิศ มีวัฒนธรรมที่ดีที่สนับสนุนการศึกษา พ่อแม่ต้องส่งเสริม สอนเรื่องที่นำไปใช้ในอนาคตได้ ซึ่ง 5 วลีนี้เป็นข้อเสนอในภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษา หลังจากอ่านแล้วอ่านอีกหลายรอบ ก็รู้สึกอื้ออึงในสมองซีกซ้ายเป็นคำถามว่ามีเรื่องใดแก้ไขได้เร็วที่สุดบ้าง เพราะทุกเรื่องล้วนเป็นปัญหาที่พบเห็นเป็นประจักษ์ แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าถ้าประเทศของเราไม่มีปัญหาดัง 5 ข้อนี้ เราก็คงไม่ได้ตำแหน่งเกือบบ๊วยเป็นแน่

สำหรับข้อที่ 3 ในคำแนะนำของเพียร์สันเป็นเรื่องกลาง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกอาชีพ และทุกวัยอย่างแท้จริง เกี่ยวตรงคำว่าวัฒนธรรม ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต รูปแบบของกิจกรรม ความสัมพันธ์ทางสังคม มุมมองต่อโลก และแนวการปฏิบัติของมนุษย์ ซึ่งวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษามีมากมาย อาทิเช่น อยากเรียนต้องได้เรียน สอบได้เป็นเรื่องตลกสอบตกเดี๋ยวก็สอบซ่อม จ่ายครบจบแน่ เชื่อในสิ่งที่เห็น เห็นแต่สิ่งที่อยากเชื่อ ชิงสุกก่อนห่าม ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ตั้งใจเรียนโตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน รีบเรียนให้จบนะลูกจะได้มาช่วยพ่อแม่ไถนา เรียนไปก็ตกงานจะตั้งใจเรียนไปทำไม เงินซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่ปริญญา สาธุขอให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ช่วยลูกช้างให้สอบผ่านทีเถอะ หมอดูในทีวีทักมาว่าราศีไม่ดีสอบปลายภาคตกแน่ ปล่อยให้หนูจบเถอะไม่งั้นอาจารย์เจอดีแน่

การเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านการศึกษาของคนไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ดังคำว่า กรุงโรมไม่อาจสร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ก็ไม่อาจพัฒนาการศึกษาให้สำเร็จได้ในปีเดียวฉันนั้น เพราะการเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาต้องเริ่มต้นจากการมีต้นแบบวัฒนธรรมที่ดีที่เป็นแบบอย่างได้ ถ้ายังไม่รู้ยังไม่มีวัฒนธรรมการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับทั้งสังคม ประเทศก็คงค่อยเดินค่อยคลานไปในความมืดโดยมีเป้าประสงค์ที่เลือนรางรออยู่ เพราะในสังคมไทยมีผู้คนที่เดินสวนทางกับวัฒนธรรมการศึกษาคุณภาพอยู่มากมาย โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบทันที ถ้าคนในสังคมเริ่มคิดเป็น ทำเป็น แล้วรู้จักเลือกอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้ไปอิงกับค่านิยม ความเชื่อ ตามอิทธิพลของสื่อ ตามคนหมู่มาก หรือแฟชั่นที่ฟุ้งเฟ้อ

! http://blog.nation.ac.th/?p=2563

news paper
news paper

http://www.facebook.com/photo.php?fbid=477721182295748&set=a.160162067384996.39239.100001736120394

แหล่งข้อมูล
http://thelearningcurve.pearson.com/
http://www.thairath.co.th/content/edu/325982
! http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMU56ZzJPRFl5T0E9PQ==
http://www.voathai.com/content/best-education-systems-ss/1557918.html
http://www.thaiall.com/blogacla/admin/2176/
http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsr-th/population_thai.html
http://www.socialbakers.com/facebook-statistics/cities/

ไซเบอร์โฮมหนุนการศึกษาไทยจริงหรือ (itinlife390)

game addiction
game addiction

มีนักวิชาการกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาขาดแคลนครูในหลายโรงเรียนของไทย เพราะปัจจุบันมีโรงเรียนที่ไม่มีครูเลย บางโรงเรียนมี 1 คน ซึ่งสถิติในภาพรวมของประเทศมีอัตราส่วนของครูต่อนักเรียนประมาณ 1 ต่อ 20 ซึ่งมีความเหมาะสม แต่มีปัญหาที่การกระจายครู พบว่า บางพื้นที่ก็กระจุก บางทีก็ไม่มีเลยสักคน แต่มีนักเรียนรอเรียนหนังสืออยู่ ประกอบกับความต่อเนื่องของนโยบายแท็บเล็ตพีซีที่จะมาเป็นปีที่สอง หนุนด้วยการขยายพื้นที่บริการวายไฟร์ (Wi-Fi) และอินเทอร์เน็ตฟรีของกระทรวงไอซีที ล้วนสนับสนุนคำว่าไซเบอร์โฮม (Cyber Home) ให้เป็นจริง

เมื่อมองการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กไทย ก็พบรายละเอียดในข่าวการจัดงานแข่งเกมออนไลน์เมื่อปลายมีนาคม 2556 ที่ให้ข้อมูลว่ามีคนไทยที่เข้าเกม Hon เดือนละเกือบ 2 ล้านคน โดยเกม Hon กับเกม Point Blank มีสัดส่วนในร้านเน็ตกว่าร้อยละ 80 ซึ่งสถิตินี้ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าเด็กไทยเข้าถึงโลกไซเบอร์ได้มากจนบริษัทเกมเลือกประเทศไทยเป็นเวทีหนึ่งในการจัดการแข่งขันของเกมเมอร์ (Gamer) แต่ทำไมเมื่อต้องแข่งขันทางวิชาการกลับพบว่าคะแนนอยู่รั้งท้ายของโลก เมื่อสพฐ.จัดสอบ National Test (NT) โดยใช้แนวข้อสอบแบบ PISA พบว่าด้านเหตุผลมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าด้านคำนวณและด้านภาษา แล้วไปพบหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่ฉายภาพว่าคุณครูยืนสอนอยู่หน้าชั้น แต่นักเรียนก็เปิดเฟซบุ๊คและเล่นเกมออนไลน์ อาจเป็นบรรยากาศที่ครูปล่อยให้นักเรียนเลือกเรียนรู้ด้วยตนเองมากเกินไป การใช้อินเทอร์เน็ตผิดวัตถุประสงค์แบบไม่ถูกที่ถูกเวลา โดยเฉพาะในขณะที่ครูกำลังพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ทางวิชาการเพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านการศึกษาไม่เป็นไปตามคาด

ที่น่าเป็นห่วงคือการขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของภาครัฐไปสู่ครัวเรือน แม้จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการนี้ได้ แต่ถ้าวันนั้นมาถึงก็จะมีคำถามว่ายังมีเด็กติดเกมอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็หมายความว่าอินเทอร์เน็ตเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การศึกษาล้มเหลว เพราะเด็กติดเกมก็จะไม่ใส่ใจกับการเรียน แต่จะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เล่นเกมในโลกไซเบอร์ทั้งวันทั้งคืน พฤติกรรมที่แต่งชุดนักเรียนออกบ้านไปร้านเกมก็จะเกิดขึ้นน้อยลง เพราะไซเบอร์โฮมก็เหมือนย้ายร้านเกมไปอยู่ที่บ้าน ส่วนโรงเรียนก็คงจะตั้งอยู่ที่เดิมต่อไป

http://suite101.com/article/video-game-addiction–how-much-video-gaming-is-too-much-a279998

 

กลไกที่ทำให้สังคมมั่นใจในคุณภาพบัณฑิต [itinlife389]

หมอรักษาเสือ
หมอรักษาเสือ

 

รมต.กระทรวงศึกษาธิการ เซ็นอนุมัติให้เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน แม้จะมีนักศึกษาหลายพันคน อันมีจุดเริ่มต้นมาจากข่าวขายปริญญาในปี 2554 (สุชาติ ธาดาธำรงเวช, 2555) เป็นสถาบันการศึกษาล่าสุดที่ถูกเพิกถอนด้วยเหตุผลเรื่องมาตรฐานการศึกษา และผลการตรวจสอบเงื่อนไขในวิชาชีพครู ซึ่งก่อนหน้านั้นมีวิทยาลัยบัณฑิตสกลนคร ปิดเมื่อปี 2540 และวิทยาลัยศรีอีสานปิดเมื่อปี 2533 นั่นแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีกลไกกำกับติดตามให้สถาบันการศึกษาดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถไปทำงานในสังคมได้ตรงกับที่กำหนดไว้

elephant

หลักสูตรที่เปิดสอนระดับอุดมศึกษาอาจจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ มีสภาวิชาชีพ และไม่มีสภาวิชาชีพ หมายความว่าหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพรับรองจะต้องจัดการเรียนการสอนตามที่สภาวิชาชีพเห็นชอบก่อนสอน เช่น เรียนวิชาอะไร เป็นเวลาเท่าใด คุณสมบัติอาจารย์ เครื่องมือที่พร้อม เงื่อนไขการฝึกงาน เป็นต้น เพราะหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว สภาวิชาชีพจะออกใบรับรองวิชาชีพให้ไปทำงาน ถ้าไม่มีใบรับรองก็ไม่สามารถทำวิชาชีพนั้นได้ อาทิ สัตวแพทย์ วิศวะ พยาบาล แพทย์ เป็นต้น การได้ใบรับรองวิชาชีพมีกระบวนการตั้งแต่ก่อนเปิดหลักสูตร ระหว่างจัดการเรียนการสอน และภายหลังจากสำเร็จการศึกษา

dog

กลางมีนาคม 2556 พบข่าวว่าหลักสูตรสัตวแพทย์ในสถาบันหนึ่ง ที่สภาวิชาชีพไปตรวจมาตรฐานครั้งแรก หลังเปิดหลักสูตรแล้ว 5 ปี พบว่าหลักสูตรไม่ผ่านหลังเปิดสอนแล้ว 5 รุ่น รวมทั้งสิ้น 170 คน ถ้าสภาฯ ไม่ออกใบรับรองให้จริงก็จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษากลุ่มนี้ไม่สามารถไปรักษาสัตว์ได้ อีกหลักสูตรคือ วิศวกรรมศาสตร์ที่อาจไม่ได้ใบรับรองวิชาชีพหากสภาวิชาชีพไม่รับรอง แต่บัณฑิตกลุ่มนี้สามารถนำความรู้ และปริญญาไปประกอบอาชีพแบบไม่มีใบรับรอง ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรนี้เป็นอีกเหตุการณ์ที่สะท้อนความเข้มงวดเรื่องคุณภาพการศึกษา ส่วนสาขาด้านไอทีนั้น ปัจจุบันยังไม่มีสภาวิชาชีพ แต่ผู้สำเร็จการศึกษามักกรองตนเองไปทำงานด้านอื่น เพราะตำแหน่ง web developer, mobile developer, developer, network admin, server admin ก็ล้วนต้องเข้าใจในเรื่องนั้นก่อนสมัครงาน เนื่องจากงานที่ทำจะวัดกันตั้งแต่วันที่เริ่มงาน ไม่มีลองผิดลองถูก หากไม่เข้าใจก็จะเริ่มต้นไม่ได้ ต่างกับอาชีพอื่นที่ค่อยเรียนรู้และฝึกฝนกันไป

 

http://th.wikipedia.org/wiki/รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303890331&grpid=01&catid=no